นับวันความรู้สึกของ ปชช. ที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์” ยิ่งชี้ชัดขึ้นเรื่อยๆในทางไม่นิยม

“ตกต่ำ” แค่เรื่องของกระแส

นับวันความรู้สึกนึกคิดของประชาชนที่มีต่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยิ่งมีตัวบ่งชี้ชัดขึ้นเรื่อยๆ

ในทางไม่นิยม

ไม่ใช่แค่ “วิ่งไล่ลุง” ที่ผู้คนให้ความสนใจกันล้นหลาม ทั้งที่เป็นการประกาศเจตนารมณ์ชัดเจนในทางต่อต้านการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของ “บิ๊กตู่” ซึ่งถึงแม้ก่อนหน้านั้นจะมีกิจกรรมทำนองนี้มาหลายครั้ง แต่ทุกครั้งที่ผ่านมาไม่ได้รับความสนใจเท่าครั้งนี้ และส่วนใหญ่คนที่ออกมาร่วมจะไม่แสดงตัวล่วงหน้า

ความเกรงกลัวจะถูกกลไกอำนาจเข้าจัดการยังมีอยู่

แต่คราวนี้ไม่เป็นอย่างนั้น เปิดลงทะเบียนออนไลน์กันแต่ละครั้งมีคนแห่เข้ามาขอสมัครเข้าร่วมจนระบบการรับสมัครล่ม

อารมณ์ความรู้สึกของผู้คนมาถึงจุดนี้แล้ว

ทําให้ “นิด้าโพล” ล่าสุดในเรื่อง “คะแนนนิยมทางการเมือง” ที่ผลออกมาว่า “ธนาธร” ทิ้งห่าง “บิ๊กตู่” ไม่เป็นที่แปลกใจนัก

ในคำถามที่ว่า “วันนี้ท่านสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี” ร้อยละ 31.42 ตอบว่า “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ร้อยละ 23.74 ตอบ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ร้อยละ 17.32 บอกยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ ขณะที่ร้อยละ 11.95 เลือกคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

คนที่เหลือได้ไม่ถึงร้อยละ 5 อย่าง “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เหลือแค่ร้อยละ 0.67, นายชวน หลีกภัย ร้อยละ 0.56

เช่นเดียวกันเมื่อถามว่า “วันนี้ท่านสนับสนุนพรรคการเมืองใด” ร้อยละ 30.27 ตอบว่าอนาคตใหม่, ร้อยละ 19.95 พรรคเพื่อไทย, ร้อยละ 16.69 พรรคพลังประชารัฐ, ร้อยละ 13.46 ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย, ร้อยละ 10.83 พรรคประชาธิปัตย์

พรรคที่เหลือล้วนต่ำกว่าร้อยละ 5

นั่นเป็นความชัดเจนว่า หากประชาธิปไตยไทยเป็นไปเหมือนที่สากลโลกเขาเป็นกันคือ “ประชาชนมีอำนาจในการกำหนดว่าจะให้ใครเป็นผู้บริหารประเทศ”

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” และพรรคแกนนำรัฐบาล ย่อมรู้ตัวแล้วว่าได้สูญเสียอำนาจไปแล้ว การอยู่ในตำแหน่งต่อไปเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ให้การยอมรับ

ในสถานการณ์แบบนี้ ท่าทีของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะต้องเปลี่ยนแปลงไปมาก ด้วยความตระหนักรู้ถึงการไม่ยอมรับของประชาชน

แต่ที่ความเป็นไปกลับไม่เป็นเช่นนั้น

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ยังมีความมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่าอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้โดยไม่มีอะไรมาทำให้สะดุ้งสะเทือน

ทั้งนี้ เพราะ “อำนาจประชาชน” เป็นแค่เงื่อนไขเล็กในโครงสร้างอำนาจของประเทศที่ถูกออกแบบมาใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทั้งการได้มาซึ่งอำนาจ และการควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจ

ล้วนแล้วแต่แทบไม่มีส่วนที่ประชาชนกำหนด

ดังนั้น ไม่ว่าประชาชนจะรู้สึกอย่างไร กระแสจะเป็นแบบไหน

ย่อมไม่ส่งผลให้ผู้นำประเทศต้องกังวล

ผู้ครอบครองอำนาจอาจจะรู้สึกหงุดหงิดบ้าง ก็แค่เพราะอยากได้การยอมรับจากคนส่วนใหญ่ อยากให้คนเชื่อว่ามีความสามารถในการบริหารจัดการประเทศ แต่ไม่สมอยาก

หงุดหงิดเพราะความไม่สมอยากของตัวเอง ไม่ได้รู้สึกกังวลว่าจะทำให้ตัวเองเป็นใหญ่ต่อไปไม่ได้

เพราะไม่ว่ากระแสจะเป็นอย่างไร

ความเป็นใหญ่ไม่เกี่ยวกับกระแส