จรัญ มะลูลีม : อิทธิพลทางความคิดของมุสลิม ที่มีต่อตะวันตกระยะแรก

จรัญ มะลูลีม

โดยทั่วไปนักคิดตะวันตก
มีความรู้สึกอย่างไรต่ออิสลาม

ปรัชญาของมุสลิมมีอิทธิพลต่อความคิดของตะวันตกในหลายทางด้วยกัน เช่น เริ่มก่อรูปขบวนการมนุษยนิยมขึ้นในตะวันตก นำเอาประวัติศาสตร์เข้าไปช่วยนักวิชาการตะวันตกให้รวมปรัชญาเข้ากับความศรัทธาได้อย่างกลมกลืน กระตุ้นลัทธินิยมความลี้ลับของตะวันตก วางรากฐานสมัยปุณภพของอิตาลีและเป็นแม่พิมพ์ของนักคิดสมัยใหม่ของตะวันตกจนถึงสมัยของเอ็มมานูเอล คานต์ (Emmanuel Kant) ในบางทิศทาง แม้แต่ในสมัยหลังจากนั้น

ชาวมุสลิมเป็นนักมนุษยนิยมรุ่นแรก จึงให้แนวโน้มทางมนุษยนิยมแก่ความคิดของตะวันตก เป็นพวกแรกที่เปิดเผยแก่ตะวันตกว่าข้างนอกโบสถ์คาทอลิก มันมิได้มืดมนและป่าเถื่อนไปหมดดอก แต่เต็มไปด้วยความรู้มากมาย

พวกเขาจับเอาความสำเร็จทางปัญญาของกรีกมาพัฒนาและถ่ายทอดให้ตะวันตกก่อนใครเพื่อน เพราะอิทธิพลของพวกเขาคนโบราณและคนร่วมสมัยที่อยู่นอกดินแดนตะวันตกของคริสเตียนก็ได้เริ่มมองดูมนุษย์ว่ามีอารยธรรมที่สูงกว่าที่คิด

ภายใน 8 ปีจากการสร้างกรุงบัฆดาดหรือแบกแดด มุสลิมได้ถ่ายทอดงานของอริสโตเติล เพลโต กลุ่มเพลโตใหม่ ฮิปโปเครติส กาเลน ยูคลิด ปโตเลมีและนักเขียนนักวิจารณ์คนอื่นๆ รวมทั้งงานเขียนด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์และจริยธรรมของนักวิชาการเปอร์เซียและอินเดียอีกหลายคนตั้งแต่สมัยที่ตะวันตกยังไม่รู้จักความคิดของกรีก

 

ลัทธิมนุษยนิยมเผยแพร่ไปในยุโรปตะวันตกโดยการติดต่อระหว่างชาวมุสลิมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในสเปน ไปยังอิตาลีและทั่วยุโรป โดยความประทับใจในวัฒนธรรมที่สูงกว่าซึ่งได้รับมาจากพวกครูเสดในซีเรียและเอเชียไมเนอร์

อัล-กุรอานยอมรับคริสต์ศาสนาและศาสนาจูดาห์ว่าเป็นศาสนาของพระเจ้า ดังนั้น จึงไม่ส่งเสริมให้มีการต่อสู้กับสองศาสนานี้ อย่างไรก็ตาม ตอนแรกคริสต์ศาสนากลับถือว่าอิสลามเป็นคู่แข่งของตนจึงโจมตีอิสลามโดยตรง

นิกายเนสตอเรีย (Nestorian) และแอเรีย (Arian) มีความคิดที่ดีต่ออิสลาม (เพราะนับถือพระเจ้าองค์เดียวเหมือนกัน) ในเวลาต่อมาแนวความคิดเรื่องพระเจ้าสามองค์ของคริสเตียนนั้นทำให้เกิดการสักการบูชา ตำแหน่งของเทพโบราณ เช่น จูปิเตอร์ อปอลโล ถูกโอนมาให้แก่พระเจ้าพระคริสต์และพระนางแมรี่

 

ปฏิกิริยาที่ชาวคริสเตียนมีต่ออิสลามในตะวันตกกับตะวันออกมีรูปแบบแตกต่างกัน ทัพแรกคือพวกที่วิพากษ์วิจารณ์อิสลามอย่างรุนแรง ไม่ยอมรับว่าอิสลามเป็นศาสนา จอห์นแห่งดามัสกัสถือว่าอิสลามเป็นเรื่องนอกรีต

นักเขียนไบแซนไตน์คนแรกที่เขียนถึงท่านศาสดามุฮัมมัดคือธีโอฟาเนส (Theophanes) ก็โจมตีอิสลามอย่างรุนแรงเช่นกัน มีข้อยกเว้นคือ Hisdubert de Lemans กล่าวว่าศาสดามุฮัมมัดเป็นศาสดาที่แท้จริงไม่ใช้ปาฏิหาริย์ ส่วนหนังสือของ Guilaume ที่เขียนถึงอิสลามก็เต็มไปด้วยความเกลียดชังอย่างสุดโต่งและก้าวร้าวอย่างยิ่ง มีแต่เรื่องไม่จริง

Peter de Cluny (สิ้นชีวิต ฮ.ศ.551/ค.ศ.1156) แปลอัล-กุรอานเป็นภาษาละตินเป็นครั้งแรก นับเป็นรากฐานของการโจมตีอิสลามของนักบุญ Thomas เขาเป็นคนแรกที่วิจารณ์อิสลามในทิศทางปรัชญา

Raymond Lull (มีชีวิตอยู่ระหว่าง ฮ.ศ.633-716/ค.ศ.1235-1316) ได้ศึกษาภาษาอาหรับและปรัชญาอิสลามมา เขาได้แนะนำให้ผู้เป็นโป๊ปในตอนนั้นเริ่มสงครามครูเสดทางศีลธรรมกับอิสลาม ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นฐานของขบวนการมิชชันนารี

ในเวลาเดียวกัน Constantine Porphyrogenitus กลับเขียนถึงท่านศาสดาด้วยความเคารพนับถือ แต่กระนั้นความตึงเครียดด้านศีลธรรมของสองศาสนานี้ก็ยังดำเนินต่อไป

Dante ได้บรรยายถึงท่านศาสดาไว้ในเรื่อง Divine Comedy ตอน Inferno (นรก) ของเขาในลักษณะที่ร้ายกาจมาก

ในตอนแรกเป็นการยากลำบากสำหรับนักปรัชญาตะวันตกที่จะปลอดจากอคติทางศาสนาทางการเมืองและทางเชื้อชาติและมองดูอิสลามด้วยความเข้าใจ

ตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นไป ทัศนคติของนักคิดอิสระตะวันตกกลับมีลักษณะมนุษยนิยมอย่างแท้จริง ในคำนำหนังสือคำแปลอัล-กุรอานของ Edward Sale ในปี 1734 ได้ชมเชยปรัชญา ทรรศนะด้านการเมืองและแนวคิดที่เป็นไปในทางสัจนิยมของท่านศาสดา

ส่วน Boulainvilliers ก็เขียนไว้ในหนังสือของเขาชื่อ The Life of the Prophet โดยพยายามจะพิสูจน์ว่าศาสนาอิสลามเป็นเรื่องของเหตุผล ความเป็นจริงและความสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ Savory ก็เขียนในคำนำบทแปลกุรอานของเขาที่เขียนจบไปในปี 1783 โดยบรรยายถึงท่านศาสดาว่าเป็นบุคคลมหัศจรรย์ซึ่งจะปรากฏขึ้นในโลกเป็นระยะๆ

 

แต่ทัศนคติที่เห็นอกเห็นใจอิสลามนี้กลับก่อให้เกิดปฏิกิริยาอย่างแรงขึ้น โดยวอลแตร์ได้กล่าวถึงอิสลามและท่านศาสดามุฮัมมัดอย่างก้าวร้าวที่สุด ส่วน Kant กลับยกย่องท่านศาสดามุฮัมมัดไว้ในหนังสือ La Religion dans les limites de la simple reason ไว้ดังนี้

อิสลามแยกตนเองด้วยความภาคภูมิใจและความกล้าหาญ เพราะอิสลามกล่าวถึงความศรัทธามิใช่โดยปาฏิหาริย์แต่โดยการพิชิต อิสลามวางอยู่บนลัทธินิยมความลี้ลับที่กล้าหาญ

ปรากฏการณ์อันสำคัญนี้เกิดจากคำสอนของพระเจ้าเรื่องเอกภาพของพระเจ้า สปิริตของอิสลามถูกชี้ให้เห็นมิใช่ในความสอดคล้องโดยไม่มีเจตนา แต่ด้วยการยึดโยงกับเจตนารมณ์ของพระเจ้า และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือคุณสมบัติอันดีงามที่มีมาตรฐานสูง

ในหนังสือเรื่อง Mahonut Goethe ได้บรรยายถึงพลังอำนาจของศาสนาอิสลามอย่างกระตือรือร้นและเห็นอกเห็นใจ งานของเกอเต้ชิ้นนี้เป็นคำตอบแก่งานของวอลแตร์ซึ่งมีชื่อเดียวกัน

เกอเต้อ่านอัล-กุรอานในปี 1770 และได้อธิบายถึงบางโองการ ในตอนนี้ท่านศาสดาของอิสลามเป็นที่รู้จักกันในเยอรมนีว่าเป็นผู้สร้าง “ศาสนาธรรมชาติ”

คำแปลอัล-กุรอานของ Mergalin (ปี 1772) และ Boysen (ปี 1773) รวมทั้งหนังสือเรื่อง The Life of Mohammad ของ Turpin ซึ่งท่านศาสดามุฮัมมัดถูกบรรยายว่าเป็นศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ คนที่มีจิตใจเต็มไปด้วยพลังอำนาจ เป็นผู้ศรัทธาที่แท้จริง Auguste Comte ถือว่าอิสลามเป็นขั้นตอนที่ก้าวหน้าที่สุดในขั้นตอนศาสนวิทยาของเขา

และถือว่าเป็นขั้นเตรียมที่จะก้าวไปยังขั้นตอนอภิปรัชญา

 

ถึงแม้ว่า Neitzche จะโจมตีคริสต์ศาสนาอย่างรุนแรงในงานทุกชิ้นของเขาก็ตามแต่ไม่ได้รวมอิสลามไว้ในการโจมตีด้วยเลย แต่กลับยกย่องชมเชย Eduard von Hartmaun ได้เขียนไว้ในหนังสือ The Religion of the Future ของเขาว่า ถึงแม้ว่าศาสนาจูดาห์จะก้าวหน้าไปกว่าลัทธิป่าเถื่อน (Paganism) เขาสรุปว่าลัทธิพระเจ้าองค์เดียวพบวิธีแสดงออกที่มีพลังที่สุดในศาสนาอิสลาม

หลังจากศตวรรษที่ 18 ผู้ที่มีความรู้มากในภาษาอาหรับเริ่มศึกษาศาสตร์ต่างๆ ของอิสลาม หลักการของอิสลาม และประวัติศาสตร์ชนชาติอิสลาม

นี้แสดงว่าตะวันตกค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาในเส้นทางมนุษยนิยมสู่วัฒนธรรมอิสลาม

แต่ทัศนคตินี้มิได้นำมาสู่อิสลามเท่านั้นแต่มาสู่ศาสนาตะวันออกอื่นๆ ด้วย