ธงทอง จันทรางศุ | ฮาวทูทิ้ง (ไม่ลง)

ในโอกาสสิ้นปีพุทธศักราช 2562 และเถลิงศกใหม่ 2563 คราวนี้ เวลาค่ำของวันสิ้นปีหลังจากรับประทานอาหารกับครอบครัวเรียบร้อยแล้ว ผมได้ปลีกวิเวกไปชมภาพยนตร์เรื่องหนึ่งเป็นการฉลองปีใหม่ส่วนตัวโดยลำพัง

หนังที่เลือกดูเป็นเรื่องที่วัยรุ่นนิยมชมชื่น ซึ่งนั่นหมายความว่าเหมาะกับผมมากชื่อ “ฮาวทูทิ้ง” ครับ

เพื่อไม่ให้เป็นการสปอยล์หรือทำร้ายท่านที่คิดจะไปชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันข้างหน้ามากเกินไป ผมจะไม่เล่าเรื่องในรายละเอียดหรอกนะครับ

แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า คุณนางเอกของเรื่องต้องการจะปรับปรุงบ้านหลังเดิมที่มีมาเก่าก่อนให้กลายเป็นสำนักงานสมัยใหม่แบบมินิมอลล์ (Minimal) ตามสไตล์สแกนดิเนเวียที่เธอเคยไปใช้ชีวิตที่นั่นมาหลายปี

เพื่อการนี้จึงต้องทิ้งของออกจากบ้านจำนวนมหาศาล มีทั้งที่เป็นของตัวเองและเลยเถิดไปจนถึงสมบัติของพี่ชายและของแม่ด้วย

แรกทีเดียวที่คุณนางเอกทิ้งของลงถุงดำโดยอุปมาว่าเหมือนกับการเอาสมบัติทุกอย่างฝังไว้กับหลุมดำแล้วทิ้งออกไปให้ไกลตัวที่สุด

เรื่องก็ไม่เป็นปัญหาอะไร จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งมาเห็นของที่คุณนางเอกกำลังจะทิ้ง ปรากฏว่าเป็นของขวัญที่เพื่อนคนนั้นเคยมอบให้คุณนางเอกมาแต่เก่าก่อน

ดราม่าทั้งปวงจึงเริ่มเกิดขึ้น

หนังเรื่องนี้เองทำให้ผมมีเวลาฉุกคิดว่า สมบัติที่หลายรอบตัวเราอยู่ในบ้านนั้นล้วนแต่มีที่มาและมีประวัติที่เป็นต้นสายปลายเหตุทั้งสิ้น การจะตัดสินใจทิ้งอะไรหรือไม่ทิ้งอะไรออกไปให้พ้นก็เราจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องอาศัยการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยวอยู่พอสมควร

คนที่ชอบวนเวียนอยู่กับอดีตเช่นผมจึงมีบ้านที่รกมาก

เมื่อมีใครถือกระดาษหนึ่งชิ้นเดินเข้ามาในห้องทำงานของผม ผมจะต้องกำชับกำชาเด็ดขาดว่าอย่าได้วางกระดาษแผ่นนั้นลงบนโต๊ะทำงานของผมเป็นอันขาด มิเช่นนั้นแล้วกระดาษดังกล่าวจะกลายเป็นกระดาษหนึ่งแผ่นท่ามกลางกระดาษอีกหลายร้อยแผ่นที่ทับซ้อนกันอยู่ระเกะระกะบนโต๊ะทำงานแล้ว

ใครจะไปหาเจอล่ะครับ

ถ้าจะให้ผมจัดลำดับความรกของบ้านผมแล้ว สมบัติบ้าที่รกคู่เคียงกันชนิดไม่สามารถชี้ขาดได้ว่าใครจะแพ้ใครจะชนะ คือกระดาษทั้งหลายและหนังสือทั้งปวง

ในหนังเรื่องฮาวทูทิ้ง คุณนางเอกได้ทิ้งสมุดพกลงถุงดำไปอย่างง่ายดาย

แต่สมุดพกของผมที่เก็บรักษาอยู่ในบ้านนี้ ต้องยกให้เป็นเครดิตของแม่ผมครับ เพราะมีตั้งแต่ชั้นประถมหนึ่งจนจบมหาวิทยาลัยเลยทีเดียว

ในวันข้างหน้าถ้าเอกสารแบบนี้ได้ไปอยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติแล้วละก็ เจ้าหน้าที่จดหมายเหตุต้องชื่นชมมากทีเดียว

ไม่ได้ชื่นชมเพราะเป็นของผมหรอกนะครับ

แต่เราสามารถอ่านความหมายและเรื่องราวอีกมากมายได้จากสมุดพกเหล่านี้

อย่างน้อยเราก็ได้รู้ว่าเมื่อเกือบ 60 ปีมาแล้ว หรือ 50 ปีก่อน คนยุคนั้นเขาเรียนวิชาอะไรกันบ้าง

วิธีการให้คะแนนก็เปลี่ยนไปครับ จากการให้คะแนนแบบร้อยละ เปลี่ยนมาเป็นแบบหน่วยกิต

แม้สมุดพกของผมจะไม่ได้อยู่ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ แต่บางที บางทีนะครับ คนที่มีหน้าที่ต้องทำหนังสืองานศพของผมก็คงได้รับความสะดวกเป็นอันมากที่จะสืบสาวราวเรื่องประวัติของผมว่า ที่ผมกลายเป็นตัวตนอย่างทุกวันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร

นี่! คิดเพ้อสมบัติบ้าไปถึงขนาดนั้นแล้วจะทิ้งอะไรได้ลงล่ะครับ

เมื่อเวลาที่ไปเรียนหนังสือชั้นปริญญาโทที่นครนิวยอร์กเมื่อประมาณสี่สิบปีมาแล้ว ถ้าไม่ใช่ช่วงเวลาใกล้สอบหรือวันสอบ ผมจะเขียนจดหมายถึงพ่อแม่ที่บ้านเมืองไทยทุกวัน วันละหนึ่งฉบับ แม่ผมเก็บจดหมายเหล่านั้นเอาไว้ได้ครบถ้วนไม่หล่นหายไปเลยแม้แต่ฉบับเดียว

เวลานำจดหมายเก่าเก็บเหล่านี้มาอ่าน รายละเอียดทุกอย่างของการเป็นนักเรียนต่างประเทศที่จากบ้านไปไกลเป็นครั้งแรกของชีวิตที่ได้บันทึกไว้ครบถ้วนก็ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันก็บอกเล่าเหตุการณ์ทั้งในเมืองไทยและในอเมริกาควบคู่กันไปด้วย

รายการนี้ก็ทิ้งไม่ลงเหมือนกัน

หันมาดูหนังสือกันบ้าง หนังสือที่มีอยู่ในบ้านผมเป็นจำนวนน่าจะกว่าหนึ่งหมื่นเล่ม ถ้าจะโละออกจากบ้านก็ต้องเป็นหนังสือที่มีมากเกินกว่าหนึ่งเล่ม คือมีซ้ำนั่นแหละครับถึงจะตัดใจขาดจากกันได้ แถมยังไม่ได้เป็นหนังสือของผมคนเดียวนะครับ ยังมีหนังสือของคุณปู่และของแม่รวมอยู่ในนี้ด้วย

หลายเล่มมีลายมือของคุณปู่ลงลายมือชื่อแสดงความเป็นเจ้าของเอาไว้

หลายเล่มมีลายมือของท่านผู้เขียนตัวจริงเสียงจริงกำกับไว้ที่หนังสือด้วย

สรุปว่าทิ้งไม่ได้สักเล่มเดียว รอเอาไว้จัดการแบบเสร็จสรรพตอนผมไม่อยู่ก็แล้วกัน

นอกจากกระดาษและหนังสือแล้ว ของเล็กของน้อยอีกหลายอย่างก็มีความหมายสำหรับมนุษย์เช่นผมเหมือนกัน เช่น ช้างกระเบื้องตัวนี้ พ่อซื้อมาจากเวียดนามเมื่อตอนที่พ่อไปราชการสงครามเวียดนามในราวพุทธศักราช 2514

หรือรูปวาดรูปนี้ เพื่อนผู้เป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ เป็นผู้วาดแล้วนำมามอบให้เมื่อตอนขึ้นบ้านใหม่เมื่อพุทธศักราช 2530

หันไปทางโน้นก็ถ้วยชงชา ฝีมือปั้นของตัวเองเมื่อตอนไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เลขไทยที่เขียนอยู่ข้างถ้วยว่า 36 ก็เป็นอายุของตัวเองในเวลานั้น

เวลานี้อายุเลย 63 ไปถึงไหนๆ แล้วก็ยังเก็บถ้วยใบนั้นไว้เป็นอย่างดี

นิทานเรื่องนี้หรือภาพยนตร์เรื่องนี้จึงสอนให้เรารู้ว่า การจะทิ้งของหนึ่งชิ้นนั้น ถ้าคิดซับซ้อนแบบผมก็จะกลายเป็นเรื่องยุ่งยากขึ้นมาทันที เพราะเราจะมัวอาลัยอาวรณ์ไปหมด ทิ้งอะไรไม่ได้สักอย่าง

แต่ถ้าคิดด้วยเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์เข้ามาประกอบแล้วเราก็จะพบว่าในพื้นที่บ้านที่มีอยู่จำกัด เราไม่สามารถเก็บทุกอย่างเอาไว้ได้ตลอดไป แล้วเราจะทำอย่างไรกันดี

แรกทีเดียวเมื่อเราเข้าไปอยู่ในบ้านหรือในห้อง สมบัติก็มีแต่เพียงแค่พอใช้งานได้ ผ่านไปนานวันเข้า บ้านหรือห้องก็รกขึ้นทุกที

ขึ้นปีใหม่ปีนี้ผมควรจะตั้งใจทิ้งอะไรเสียบ้างแล้วใช่ไหมครับ

โน่น! รถซาเล้งมาพอดี ได้การล่ะ

คุณซาเล้ง มีอะไรมาขายผมบ้าง ขอดูหน่อย ฮา!