อภิญญา ตะวันออก : หมู่บ้านหนูของลุงมิชซัง

อภิญญา ตะวันออก

แม้หนังสือ “กึ่งศตวรรษในหมู่คนไทยและคนลาว” (1) และภาพยนตร์เรื่อง “เดอะ มิชชั่น” จะมีส่วนกระตุ้นความสนใจต่อมิชชันนารีที่เต็มไปด้วยพลังงานอันพิเศษบางคน แต่ความคิดของฉันที่มีต่อกัมพูชาก่อนปีสหัสวรรษนั้นมิได้มีอะไรที่เกี่ยวกับคริสตังแม้แต่น้อย นอกจากพุทธสินะ-ให้ตายสิ

แต่มันก็น่าแปลก ที่ผ่านมาเป็นชาติแล้ว ฉันกลับนึกถึงบันทึกมิชชันนารีเก่าแก่เล่มหนึ่ง ที่ฉันพบโดยบังเอิญจากห้องสมุดสมาคมฝรั่งเศสพนมเปญอย่างรำลึก อาลัย ราวกับพลัดพรากจากองค์ความรู้ที่ไม่มีอยู่อีกแล้วอันเกี่ยวกับตัวตนของคาทอลิกเขมรบนแผ่นดินและชนเผ่าที่ลึกลับของกัมพูชา

และทำให้ฉันเอารำลึกหรือฝันกลางวันอย่างอาลัยเมื่อนึกถึงเมืองรัตนคีรี หนึ่งในกลุ่มชุมชนแขฺมร์เลอจังหวัดท้ายๆ ของ “ป่าแห่งตะวันออก” ที่ฉันได้สัมผัสผ่านการเดินป่าแต่ลำพังในเช้าวันหยุดอย่างต่อเนื่องร่วม 8 เดือน

บางทีฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีอะไรนำพาให้ฉันไปอยู่ที่นั่น บนแผ่นดินที่ราบสูงของกัมพูชาซึ่งชุมด้วยไข้ป่า แต่ฉันก็เชื่อว่าเราจะไม่พ่ายแพ้แก่โรคนี้ หลังจากที่เคยป่วยมาแล้วถึง 2 ครั้งในเมืองไทย

แน่นอน เราได้สัมผัสถึงความสงบงามของรัตนคีรี แต่บางครั้งก็แฝงด้วยความป่าเถื่อน ซึ่งฉันจะเล่าทีหลัง วกกลับมาสู่ “ป่าตะวันออก” นั่นเถอะ และว่า ทำไมเราถึงออกไปเดินมันได้อย่างบ่อยครั้ง และทำให้ฉันคิดว่า นั่นเอง ภารกิจหลักประจำวันของพวกมิชชันนารี! ที่เคยอยู่ในป่าตะวันออก!

แผ่นดินหรือภูมิหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งเป็นที่อยู่ของหนู-กะตอล ชาวชนตัวเล็กๆ ผู้ถูกรังแกทางอัตลักษณ์และความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากทาสไพร่

กะตอลยังเป็นชื่อชุมชนหมู่บ้านแห่งแรกๆ ของชาวเขมรบน/แขฺมร์เลอที่หลุดพ้นจากความเป็นทาสในราวปี 1877/2420 และด้วยที่มาแห่งความเป็นไทนี้มิใช่เรื่องง่าย แต่มันผลักให้พวกเขาต้องเข้มแข็ง และหันไปสู่ที่พึ่งอันใหม่ นั่นก็คือศาสนาแห่งคาทอลิก

แต่ทำไมต้องเป็นกะตอล ในศตวรรษที่ 19?

 

กะตอลคือหมู่บ้านของเขมรป่าดง ซึ่งน่าจะตรงกับความหมายเดิมในเบื้องต้น กระทั่งคนกลุ่มนี้เริ่มจะเคลื่อนย้ายไปอยู่ในเขตที่ราบสูงซึ่งมีป่าดงดิบกั้นกลางระหว่างชาวเขมรพื้นราบ และนั่นทำให้พวกเขาถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า แขฺมร์เลอ (เขมรบน)

หรือคนที่ถูกรังแกจากรัฐอำนาจอย่างทุกขเวทนาโดยปมปัญหาทางอัตลักษณ์ความเป็นชนชาติ

การเกิดขึ้นของชุมชนกะตอลจึงมีความหมายสำคัญที่บ่งบอกถึงการมีตัวตนของชนกลุ่มน้อย ที่ครั้งหนึ่งพวกเขาถูกคุกคามและกดขี่ ถูกซื้อขายไม่ต่างจากทาสไพร่ในตลาดมืด ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหุบเขาและที่ราบแม่น้ำโขงฝั่งตะวันออก ไม่ไกลจากชุมชนภูมิกะตอลของจังหวัดกระแจะ แต่ปัจจุบันขึ้นตรงกับกำปงจาม และน่าจะถูกลบเลือนชื่อเดิมไปแล้ว

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ มีตัวตนอยู่ในศตวรรษที่ 19 แต่คุณเชื่อไหม? แม้แต่ทุกวันนี้ที่ผ่านมาร่วม 2 ศตวรรษแล้ว ลูกหลานชาวกะตอล-ชนกลุ่มน้อยก็ยังถูกคุกคาม โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกินที่พวกเขาถูกคุกคามจากเขมรล่างและกลุ่มทุน

นั่นเอง มันทำให้ฉันอดจะนึกถึงเพลงพื้นบ้านบทหนึ่งที่ขับร้องจากหญิงตุมปวนจากมณฑลคีรี เธอขับขานเพลงนี้ขณะที่พวกเราอยู่กันที่จังหวัดกระแจะอย่างน่าหลงใหล และฉันพบว่า แม้จะไม่เข้าใจในภาษาเลย แต่ความน่าหลงใหลนั่น ก็ทำให้เราสัมผัสถึงพลังอันยิ่งใหญ่ของผืนดินและแผ่นน้ำที่พวกเขาเทิดทูน

สำหรับใครก็ตามที่จะจินตนาอันรุ่มร้อนต่อความเจ็บปวดในผู้คน เขาและเธอย่อมถูกสะกดไว้ด้วยมนต์รำพันของชาวตุมปวน และแน่ละในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น บรรพบุรุษของเธอเคยสะกดจิตมิชชันนารีฝรั่งเศสผู้รุ่มร้อนต่อมนุษย์ร่วมโลก และภารกิจทางศาสนา

แต่ในปัจจุบัน อนิจจา โอว่า ชนกลุ่มน้อยเขมรบนที่สูงเหล่านี้ ดูจะไร้ที่พึ่งพา

 

แต่ “กะตอล” ยังเป็นชื่อของหุบเขาแห่งความหวังของชุมชนเขมรป่าดง-แขฺมร์เดิม (เขมรผู้มาก่อน) และแขฺมร์เลอ (คำเรียกซึ่งมีที่มาในภายหลัง) ที่ล้วนแต่เคยถูกสักเลก มีชนักเป็นทาสติดตัว บ้างตั้งแต่เกิดตกทอดมาจากพ่อ-แม่เลยทีเดียว

เมื่อได้รับการปลดปล่อยเลิกทาสนั้น ต่างพากันเข้าป่าไปตั้งรกรากในหุบเขาแห่งความหวังเป็นกลุ่มแรกๆ (1877) อันปรากฏอยู่ในบันทึกอันรุ่มร้อนและเต็มไปด้วยชีวิตชีวา ของบาทหลวงลาซาร์ด (Jean Joseph Lazard)

อย่างราวกับว่าจะไม่สิ้นหวังต่อความหมายในการเป็นมนุษย์ของคนเล็กๆ กลุ่มนี้ อีกยังผดุงไว้ซึ่งความก้าวหน้าของคาทอลิกซึ่งเป็นภารกิจของมิชชันนารีท่านนี้

อันพบว่า ประกอบด้วยชนชาติต่างๆ เวลานั้น เช่น มนอง (พนอง) จราย ตุมปวน สะเตียง และอื่นๆ ซึ่งล้วนถูกขายเป็นไพร่ทาส บำเรอชาวเขมรพื้นราบโดยทั้งสิ้น

มาดูกันเถิดว่า กัมพูชาเริ่มเลิกทาสเมื่อใด?

เริ่มจริงจังในครั้งที่ 3 (2440/1897) (2) เมื่อข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำกัมพูชา ฮ็อง เดอ แวร์เนวิลล์ (huyn de Verneville) บังคับกษัตริย์นโรดมยินยอม “มอบพระราชอำนาจส่วนพระองค์” ให้แก่ “รัฐสภา” (ฟอร์เรสและออสบอร์น) (3)

แน่นอน พระบาทนโรดมทรงไม่พอพระทัย และอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นการทำรัฐประหารครั้งแรกหรือไม่ในกัมพูชา? แต่การลดพระราชอำนาจของกษัตริย์ครั้งนี้ ได้นำไปสู่ข้อบังคับในการเลิกทาสในกัมพูชาอย่างจริงจัง หลังฝรั่งเศสเริ่มให้การอารักขากัมพูชามาตั้งแต่ปี ค.ศ.1863 และหาทางตรากฎหมายเลิกทาส

แต่หลังจากนั้นไม่นาน เกิดการลุกฮือต่อต้านโดยการหนุนหลังของกษัตริย์และจีนแมนดาริน ซึ่งคุกรุ่นมาตั้งแต่สมัยที่ข้าหลวงใหญ่ทอมสันแขวงโคซินจีน บังคับพระบาทนโรดมลงพระปรมาภิไทย ในสนธิสัญญาฉบับใหม่ (1884) เพื่อแก้ไขฉบับเดิม (1863) ด้วยเพิ่มเติมข้อความว่า “ห้ามการเป็นทาส”

ถ้าดูจากหลักฐานทางกฎหมาย น่าจะถือว่า 1884 หรือ พ.ศ.2427 กัมพูชาได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการเลิกทาสเป็นครั้งแรก

 

ก่อนจะมาถึงกรณี 1897 จอร์จ ก็องโดมินาส นักชาติพันธุ์วิทยายุค 80 เคยให้คำนิยามระบบการพึ่งพาอาศัยในวรรณะทาสของกัมพูชาว่าเป็น “รูปแบบของความสุดโต่ง”

และเป็นสิ่งที่ข้าหลวงฝรั่งเศสตั้งใจจะกำจัดล้างระบบนี้ในทันทีที่ได้เป็นอาณานิคม (1863)

เริ่มจาก ค.ศ.1877 ที่พระบาทนโรดมจำยอมลงพระปรมาภิไธยแก้ไขระบอบการปกครองทาส โดยเริ่มจาก

1.เปิดให้มีการไถ่ถอนคืนสิทธิของทาสไพร่

2.ยกเลิกระบบทาสทางสายเลือดจากพ่อแม่สู่ลูก

3.ห้ามมิให้มีการค้ามนุษย์

และพระราชบัญญัติเพิ่มเติม 1884 ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ (1877/1884) นี้ มิได้รับการปฏิบัติจากชนชั้นปกครองฝ่ายกัมพูชาอย่างสิ้นเชิงก็ว่าได้ ดังนี้ การค้าทาสในเขมรจึงยังมีอยู่ต่อไป

ด้วยเหตุนี้ จึงพบว่า ช่างเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญสักปานใดที่จะทำให้ทาสไพร่เหล่านั้นมีโอกาสได้เป็นไทอย่างแท้จริง เว้นเสียแต่ในกลุ่มของทาสรุ่นใหม่ที่ถูกกฎหมายบังคับให้ยอมรับว่า “ไม่ใช่การซื้อ-ขายเพื่อนำไปเป็นทาส แต่เป็นลูกจ้างที่ถูกต้องตามกฎหมาย”

กระนั้นก็จะยากอย่างมากสำหรับชาวทาสอิสระที่จะต่อสู้ดำรงชีพด้วยตัวเองให้อยู่รอด ดังปรากฏแล้วที่ภูมิกะตอล-หมู่บ้านของคนตัวเล็กๆ ที่เคยถูกเอาเปรียบและย่ำยีในกัมพูชา และเป็นเหมือน “หุบเขา” แห่งอิสรภาพ สัญลักษณ์แห่งความหวัง หนึ่งเดียวที่มนุษย์ปรารถนา

นั่นคือความเท่าเทียมซึ่งกันและกันที่ยังเป็นปัญหา

————————————————————————————————————————–
(1) อัตชีวประวัติเดเนียล แมกกิลวารี, สนพ.ดอกหญ้า : 2537 จิตราภรณ์ ตันรัตนกุล : แปล
(2) ทั้ง พ.ศ.2427 และ 2440 นี้ ล้วนมีมาก่อนการเลิกทาสของสยาม ซึ่งเกิดขึ้น ร.ศ.124/2448 : อนึ่ง ฤๅการเลิกทาสของสยาม จะมีปมบางประการที่มาจากกัมพูชา?
(3) แมทธิว เกอแร็ง และเจราร์ด โวแก็ง “ชุมชนอิสระ : เอกลักษณ์และศาสนาของหมู่บ้านกะตอล” (As?anie : Sciences humaines As?anie en Asie du Sud-Est; d?cembre; 2007)