คุยกับทูต ‘ไบรอัน เดวิดสัน’ บทบาทที่มากขึ้นของอังกฤษต่ออาเซียน

คุยกับทูต ไบรอัน เดวิดสัน ก่อนอำลาสู่สถานทูตอังกฤษแห่งใหม่ที่ทันสมัยกว่าบนถนนสาทร (3)

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายกิจการเอเชียและแปซิฟิก ได้พบกับเอกอัครราชทูตและข้าหลวงใหญ่จากประเทศสมาชิกอาเซียนประจำกรุงลอนดอน เพื่อเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหราชอาณาจักรในการเป็นพันธมิตรกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และบทบาทของสหราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาคนี้

มร. ไบรอัน เดวิดสัน (H.E. Mr. Brian Davidson) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย เล่า
ถึงความสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรกับอาเซียนว่า “ประชาคมอาเซียน  (ASEAN  Community)  เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นชุมชนที่มีความแข็งแกร่ง มีประชากรมากกว่า 650 ล้านคน อาเซียนจึงมีความสำคัญต่อโลกอย่างแท้จริง เพราะเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งสหราชอาณาจักรกำลังผลักดันให้เกิดความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น”

“ในปีนี้ สหราชอาณาจักรสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของไทยโดยการจัดผู้เชี่ยวชาญมาช่วยสนับสนุนการจัดงาน ซึ่งสำเร็จลงอย่างน่าประทับใจ และการประกาศโครงการเศรษฐกิจดิจิทัลแบบใหม่ในอาเซียนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหราชอาณาจักร”

สหราชอาณาจักรให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการผลักดันการค้าเสรี ในฐานะที่สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี โดยการร่วมงานกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) เพื่อพัฒนาการค้าระหว่างประเทศไปสู่ระบบดิจิทัล โดยผ่านโครงการการค้าโลก (Global Trade Programme) ของสหราชอาณาจักร ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นหนึ่งในโครงการอีกหลากหลายที่สหราชอาณาจักรมุ่งหมายจะดำเนินร่วมกันกับอาเซียน

โครงการการค้าโลก (Global Trade Programme) ของสหราชอาณาจักร เป็นโครงการระดับโลกที่มีจุดประสงค์เพื่อลดต้นทุนในการทำการค้า เพิ่มปริมาณการค้าขาย เสริมสร้างโอกาสและความสามารถให้ SME มีโอกาสทำการค้าและขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น

การค้าระหว่างสหราชอาณาจักรกับอาเซียนมีมูลค่าราว 37,000 ล้านปอนด์ต่อปี และความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นนี้จะทำให้ธุรกิจอังกฤษมีโอกาสค้าขายกับอาเซียนเพิ่มขึ้นหลังจากสหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และยังมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นในระดับบุคคลผ่านความร่วมมือด้านการศึกษาและการค้นคว้าวิจัย รวมทั้งความร่วมมือด้านความมั่นคงและการทหารที่สำคัญกับหลายประเทศในอาเซียน

“นอกจากนี้ เรายังได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรแห่งใหม่ประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อดูแลความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศอาเซียน”

ปีค.ศ. 2019 ถือเป็นส่วนหนึ่งของการขยายเครือข่ายทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความมุ่งมั่นในการสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับอาเซียน เพราะสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในยุโรป ที่มีสถานเอกอัครราชทูตหรือสำนักงานข้าหลวงใหญ่ประจำอยู่ในทุกประเทศสมาชิกอาเซียน

“นอกจากนี้โครงการพลังงานคาร์บอนต่ำของอาเซียนและโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจอาเซียนยังคงส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค”

จากรายงานโดย คณะวิจัยโครงการการพัฒนารูปแบบการดำรงชีวิตคาร์บอนต่ำในอาเซียน สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนหนึ่งได้กล่าวว่า ปัจจุบัน นานาประเทศได้ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ (Anthropogenic Greenhouse Gas Emission) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์

เพื่อเป็นแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเกิดแนวคิดในการสร้าง “สังคมคาร์บอนต่ำ” (Low-carbon Society) และจากแนวคิดดังกล่าวได้นำไปสู่การจัดการระดับพื้นที่ (Area-based) หรือที่เรียกว่า “เมืองคาร์บอนต่ำ” (Low-carbon City) กล่าวคือเป็นการจัดการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเมืองใดเมืองหนึ่งจากฐานเดิมที่ไม่เคยมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก่อน

การขับเคลื่อนแนวคิดเกี่ยวกับเมืองคาร์บอนต่ำ ได้รับความสนใจจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งจากในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่มีและไม่มีข้อตกลงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามพันธกรณีของสหประชาชาติตามพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) โดยในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและเป็นกลุ่มประเทศตามภาคผนวก 1 (Annex I Parties) ของพิธีสารเกียวโต ได้ดำเนินการขับเคลื่อนแนวคิดสังคมคาร์บอนต่ำกันอย่างเข้มแข็ง เช่น ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร แคนาดา สหรัฐอเมริกา เยอรมัน กลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างเช่น ประเทศจีน เป็นต้น

“มีโอกาสทางการค้ามากมายสำหรับหน่วยงานภาคธุรกิจจากสหราชอาณาจักรทั่วอาเซียน ทีมงานจากกรมการค้าระหว่างประเทศ (DIT) ของเราทั่วทั้งภูมิภาค จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถานทูตอาเซียนของเราเพื่อให้แน่ใจว่าสหราชอาณาจักรพร้อมที่จะเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าในภูมิภาค โดยมีความคืบหน้าอย่างมากในปีแห่งการเป็นประธานอาเซียนของประเทศไทย และนี่เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับการเจรจาข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ระหว่าง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนและพันธมิตรการค้าเสรี 6 ประเทศ (RCEP)” ท่านทูตเดวิดสันชี้แจง

“ส่วนพื้นที่อื่นที่ภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักรได้รับการเชิญชวนคือ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) อันเป็นฐานการผลิตที่มีศักยภาพตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งไทยมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการให้บริการของภูมิภาคอาเซียน ก็ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักร”

การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เป็นในด้านโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน แผนยกระดับการบริการสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี การจัดการขยะในพื้นที่ อีอีซีสู่ต้นแบบการกำจัดขยะอย่างยั่งยืน และการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล

โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาด้านต่าง ๆ มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจจากแผนดำเนินงานและมาตรการที่ชัดเจน ในแง่ของการค้าทวิภาคี “ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของเรานอกสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย นับเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหราชอาณาจักร เพราะเราค้าขายกับประเทศไทยมากกว่าที่เราค้าขายกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ เช่น บราซิล” ท่านทูตชี้แจง

“ในปีค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา เราได้เห็นการเติบโตของการนำเข้าและส่งออก การส่งออกสินค้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 20% เป็น 1.5 พันล้านปอนด์ ในขณะที่การนำเข้าใกล้เคียงกับปีก่อนที่อยู่ในระดับมากกว่า 3 พันล้านปอนด์ การส่งออกของสหราชอาณาจักรขยายตัวประมาณ 15% และมีมูลค่า 0.7 พันล้านปอนด์ ในขณะที่การนำเข้าจากประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านปอนด์ ซึ่งมากขึ้น5%”

“การทำงานระหว่างกรมการค้าระหว่างประเทศ (DIT) และคู่ค้าไทยของเราในกรมเจรจาการค้ามุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจในความสลับซับซ้อนของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอังกฤษกับไทยและการแสวงหาโอกาสต่าง ๆ ซึ่งมีบางส่วนทับซ้อนกับงานกองทุนความมั่งคั่งของเรา”

“ตัวอย่างเช่น เราหวังที่จะแสวงหาโอกาสในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับประเทศไทยในด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลในเร็วๆนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สหราชอาณาจักรมีความแข็งแกร่ง เรามีความร่วมมือด้านนวัตกรรมและวิทยาศาสตร์ระหว่างกันอยู่แล้ว ได้แก่การที่สหราชอาณาจักรทำงานร่วมกับประเทศไทยเพื่อพัฒนาวัคซีนใหม่และข้าวพันธุ์ใหม่”

“และที่กรุงเทพ เรากำลังทำงานร่วมกับกรมโยธาธิการ ทางด้านผังเมือง กำหนดข้อมูลสำหรับการตัดสินใจ และการจัดการน้ำท่วม”

สำหรับแผนงานสำคัญของสถานทูตในปีใหม่ที่ใกล้จะถึงนี้ “เรามีกิจกรรมตลอดเวลา แต่งานยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราทำทุกปีคือ The Queen Party ซึ่งครั้งต่อไปจะจัดในเดือนมิถุนายน ดังนั้น เราจึงต้องเริ่มคิดและวางแผน แน่นอน เมื่อเราย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านใหม่ จะมีงานเลี้ยงรับรองและดินเนอร์จำนวนมากตามมา สำหรับงานและธุรกิจต่าง ๆที่เรากำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้บางอย่าง อาจยังไม่มีรายละเอียดแน่ชัด เพราะเราอยู่ในระหว่างการเลือกตั้ง (12 ธันวาคม ค.ศ. 2019) ซึ่งก็ต้องรอรัฐบาลใหม่”

“ที่สำคัญ เราจะต้องทำงานหลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในที่สุด สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมกับประเทศอิตาลีในปี ค.ศ. 2026 ดังนั้น ในปีหน้า ค.ศ. 2020 เราจึงมุ่งเน้น เรื่องการเมืองด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเด็นเหล่านี้นับว่าไม่ได้ห่างไกลจากประเทศไทย”

“รวมถึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีงานครบรอบ 75 ปี วันมีชัยเหนือญี่ปุ่น หรือ วันวี-เจ ซึ่งเป็นวันสำคัญสำหรับทหารผ่านศึกจำนวนมาก ดังนั้นจะมีเหตุการณ์มากมายเกิดขึ้นในปีหน้า”

ภาพถ่าย VJ day kiss ถ่ายโดย Alfred Eisenstaedt ช่างภาพนิตยสาร LIFE ในวัน V-J วันชัยเหนือญี่ปุ่น ค.ศ.1945

ภาพ VJ day kiss ซื่งถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร LIFE ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความปิติยินดีของชาวอเมริกันและคนทั่วโลกที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง โดย Alfred Eisenstaedt ช่างภาพนิตยสาร LIFE บันทึกภาพนี้ ณ จัตุรัสไทมส์ สแควร์ ในกรุงนิวยอร์ก ขณะที่ George Mendonsa ทหารเรือหนุ่มชาวอเมริกัน ได้คว้าตัวพยาบาลสาว Greta Friedman ไปจูบด้วยความดีใจ เพื่อฉลองชัยชนะที่ประเทศตนชนะสงครามในวันชัยเหนือญี่ปุ่น V-J Day หรือ Victory over Japan Day วันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ.1945

มีการเฉลิมฉลองวันแห่งความสุขในชัยชนะเหนือญี่ปุ่นกันอย่างมากมายทั่วโลกเมื่อวันที่ 15สิงหาคม ค.ศ. 1945 และประธานาธิบดีสหรัฐแฮร์รี่ เอส. ทรูแมน (Harry S. Truman) ได้ประกาศให้วันนี้เป็นวันชัยชนะเหนือญี่ปุ่น (Victory over Japan Day / V-J Day) ในงานแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว

ทั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีการลงนามยอมแพ้อย่างเป็นทางการ ใน วันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945 สองสัปดาห์หลังจากวันที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงคราม @@@