เทศมองไทย : ฝันร้ายของอีอีซี และไทยแลนด์ 4.0

ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาลไทยนั้น ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งรัฐบาลผลักดันเขตเศรษฐกิจอีอีซีเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเท่าใด การก้าวไปสู่สถานะไทยแลนด์ 4.0 ตามยุทธศาสตร์ ก็จะยิ่งใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้นเท่านั้น

“อีอีซี” จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางหรือฮับของบริการและการผลิตเชิงเทคโนโลยีของไทย นับตั้งแต่ปี 2021 ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงทั้งอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนภายในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษกว่า 13,000 ตารางกิโลเมตรที่ครอบคลุมเนื้อที่ของ 3 จังหวัดทางภาคตะวันออกของไทยอย่างฉะเชิงเทรา, ชลบุรี และระยอง สำหรับใครก็ตามที่ต้องการเข้ามาลงทุนใน “อุตสาหกรรมสำคัญ” ที่อยู่บนพื้นฐานของเทคโนโลยีทันสมัย ที่รวมทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, ระบบเกษตรกรรมก้าวหน้า และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นต้น

แต่โดรา เฮง แห่ง “อาเซียนทูเดย์” เตือนเอาไว้ว่า การเตรียมการเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 นั้นกำลังเจอฝันร้ายเข้าเต็มเปา

 

“มีความกังวลกันถึงเรื่องของการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ (skilled labour) เพราะแรงงานประเภทนี้เท่าที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ” สาเหตุเพราะ “ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความต้องการแรงงงานฝีมือในอีอีซีจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 475,000 คน ในขณะที่ระบบการศึกษาในปัจจุบัน ภายในพื้นที่ 3 จังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของอีอีซี สามารถตอบสนองได้เพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณแรงงานมีฝีมือที่ต้องการเท่านั้นเอง”

ผู้เขียนระบุว่า ภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือในเวลานี้ แสดงให้เห็นชัดเจนในหลายอุตสาหกรรม ที่ชัดเจนเป็นพิเศษก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์

ผลลัพธ์ของการขาดแคลนนี้ก็คือ นักลงทุนต่างชาติที่ต้องการมาลงทุนอาจตัดสินใจเลี่ยงไม่มาลงทุนในอีอีซีเอาได้ในที่สุด

โดรา เฮง ยังขยายความต่อเอาไว้ด้วยว่า สภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือในไทยนี้สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนช่างเทคนิคและอาชีวศึกษาในไทยลดน้อยลง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอีกประการ

“ตามข้อมูลขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) สัดส่วนของการเข้าเรียนในสถาบันอาชีวศึกษาในไทยลดลงจาก 40 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนักเรียนที่ศึกษาต่อในระดับมัธยมทั้งหมดในปี 2008 เหลือเพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นในปี 2017”

ที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นก็คือ “อาเซียนทูเดย์” ชี้ให้เห็นด้วยว่า ในจำนวนที่เหลือ 20 เปอร์เซ็นต์นั้นก็ยังมีสภาพน่าวิตก อันเนื่องมาจาก “คุณภาพ” ของการศึกษาและการฝึกงานในสถาบันอาชีวศึกษาที่เด็กๆ เหล่านั้นได้รับ

“ผลการศึกษาวิจัยที่ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยการบริหารจัดการแห่งสิงคโปร์ (เอสเอ็มยู) ชิ้นหนึ่งพบว่าผู้ที่สำเร็จการศึกษาตามโครงการอาชีวศึกษาเป็นจำนวนมาก ยังคงไม่มีทักษะที่จำเป็นทั้งหลายที่เหมาะสมกับการเข้าสู่การทำงานในภาคอุตสาหกรรมสำคัญทั้งหลาย”

 

สาเหตุอีกด้านหนึ่งมาจากทัศนคติในทางลบที่คนไทย “ยังคง” มีต่อการอาชีวศึกษา “อย่างต่อเนื่อง” แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (โอวีอีซี) ยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าจะปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียนการสอนก็ตามที

“พ่อ-แม่จำนวนมากยังคงมองการอาชีวศึกษาว่าเป็นทางเลือกหนทางสุดท้ายสำหรับลูกๆ ของตนเอง พวกเขามองว่า การฝึกงานอาชีพสู้การฝึกฝนทางวิชาการไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องไต่เต้าสู่เส้นทางการศึกษาขั้นสูงต่อไป ทัศนคติดังกล่าวนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่โรงเรียนเทคนิคและสถาบันอาชีวศึกษามีครูและผู้ทำหน้าที่ฝึกอาชีพจำนวนมากมีคุณภาพอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง”

“อาเซียนทูเดย์” ยอมรับว่า รัฐบาลไทยเองตระหนักดีใน “ความเร่งด่วน” ของการแก้ไขปัญหา “ทรัพยากรมนุษย์” ของตนเอง และพยายามริเริ่มแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาภาวะขาดแคลนแรงงานฝีมือ รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติต่อการศึกษาด้านเทคนิคและอาชีวะ ซึ่งรวมถึงการตั้งงบฯ 861 ล้านบาทไว้สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ภายในอีอีซีโดยเฉพาะ

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็เริ่มนำเสนอหลักสูตรที่เกี่ยวเนื่องกับนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเทคโนโลยีก้าวหน้า อาทิ ออโตเมชั่นและโรโบติกส์, การลงนามร่วมกับเพียร์สัน บริษัทผู้ให้บริการการศึกษาดิจิตอลจากสหราชอาณาจักร เพื่อเสริมสร้างคุณสมบัติที่เหมาะสมสำหรับการเป็นนักธุรกิจและผู้พัฒนาเทคโนโลยี เรื่อยไปจนถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะจำเพาะที่เป็นที่ต้องการของเอกชนในแต่ละสาขา ภายในพื้นที่อีอีซี เป็นต้น

ไม่รู้ว่าจะแก้ไขฝันร้ายก่อนที่จะกลายเป็นความจริงได้หรือเปล่า