สถานีต่อไป-ศึกซักฟอก ฝ่ายค้านขึ้นบัญชีเชือด ล็อกเป้านายกฯ-4 รมต. ย้อนเช็กบิลรัฐบาล คสช.

หลังสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 วาระ 2 และ 3 สถานีต่อไปคือยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือที่เรียกว่าศึกซักฟอก

ช่วงปีใหม่ นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคฝ่ายค้าน ระบุถึงการทำงานของฝ่ายค้านในสภาปี 2563 ว่าจะเข้าสู่โหมดตรวจสอบรัฐบาลแบบเข้มข้น

เนื่องจากปี 2562 อยู่ในโหมดช่วยประคับประคองให้สภาเดินไปได้ ให้โอกาสรัฐบาลทำงาน ยังไม่เล่นบทหนัก การลงแส้ไม่เข้มข้น ถึงปี 2563 ฝ่ายค้านให้เวลามาพอสมควร จึงต้องปรับการทำงานให้เข้มข้น

ในปีนี้ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ถึง 2 ครั้ง อาจใช้ตรงนี้เป็นประโยชน์

เชื่อว่าปีนี้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล 3 ระดับ ระดับแรก เปลี่ยนแปลงวิธีคิดและประสิทธิภาพการทำงาน ระดับสอง ปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปจนถึงขั้นลาออก และระดับสาม ยุบสภา

พรรคเพื่อไทยแกนนำฝ่ายค้านแต่งตั้ง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษ (กพศ.) มีนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ นายอดิศร เพียงเกษ นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เป็นต้น ร่วมเป็นกรรมการ

ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลเตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล นำเสนอให้กับอีก 6 พรรคร่วมฝ่ายค้าน และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ พิจารณา

จากการประชุมหลายครั้งได้ข้อสรุปรายชื่อรัฐมนตรีที่จะถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เบื้องต้นในส่วนพรรคเพื่อไทยขึ้นบัญชีไว้ 5 คน ได้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ควบหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย

รายชื่อรัฐมนตรีเป้าซักฟอกจะมีเพิ่มเติมจาก 5 คนหรือไม่ พรรคเพื่อไทยต้องรอการเสนอจากพรรคฝ่ายค้านอื่น ซึ่งจะประชุมหารือกันอีกครั้งหลังผ่านศึกอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไปแล้ว

มีข่าวพรรคเสรีรวมไทยต้องการยื่นอภิปราย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงด้วย พรรคประชาชาติของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ก็มีเป้าหมายนอกเหนือจาก 5 รายชื่อเช่นกัน

คาดว่าต้นสัปดาห์หน้า ฝ่ายค้านสามารถปิดบัญชีได้ว่าจะยื่นอภิปรายรัฐมนตรีทั้งหมดกี่คน

สำหรับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายตั้งไว้วันที่ 16 มกราคม และต้องการให้ประธานสภาบรรจุวาระอภิปรายช่วงปลายมกราคมหรือต้นกุมภาพันธ์ เพื่อหลีกเลี่ยงเทศกาลตรุษจีน

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย เผยว่า คณะกรรมการกิจการพิเศษจัดเตรียมขุนพลอภิปรายไว้แล้ว 25 คน จัดหมวดหมู่ แบ่งลักษณะพฤติกรรมและการกระทำที่นำไปสู่การไม่ไว้วางใจ 5 รัฐมนตรี อย่างน้อย 4 หมวด ประกอบด้วย

การทุจริตเชิงนโยบายในช่วงเป็นรัฐบาล คสช. 5 ปี, ความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทับซ้อนของแกนนำรัฐบาลและ คสช., การใช้พวกพ้องและเครือข่ายใกล้ชิดไปดำเนินการที่ไม่เหมาะสม และการกระทำความผิดที่สืบทอดจนถึงปัจจุบัน

“พล.อ.ประยุทธ์และผู้ถูกอภิปรายต้องตอบคำถามด้วยตัวเอง นอกจากจำนวนมือที่จะโหวตไม่ไว้วางใจในสภา นอกสภาประชาชนจะตัดสินว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อ หรือต้องพอแค่นี้” โฆษกเพื่อไทยระบุ

ล่าสุดพรรคเพื่อไทยยังล็อกเป้าไว้ที่ 5 รัฐมนตรี มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเป้าหลัก

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง “ฉายหนังตัวอย่าง” ประเด็นการอภิปราย 2 เรื่อง คือ

นายดอน ปรมัตถ์วินัย และนายวิษณุ เครืองาม กรณีเอื้อประโยชน์ให้บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ที่สำแดงราคาสินค้านำเข้าเท็จ รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ส่งเรื่องให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไข พ.ร.บ.ศุลกากร 2549

อีกประเด็น กรณีนายกฯ เอื้อประโยชน์ให้กับพ่อค้ารายใหญ่ที่ขายเหล้าขายเบียร์ และพ่อค้านั้นก็เอื้อประโยชน์ให้รัฐบาล

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง โพสต์เฟซบุ๊กแจกแจงรายละเอียดข้อมูลซักฟอก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีการซื้อขายที่ดิน 660 ล้าน สรุปใจความได้ว่า

บิดา พล.อ.ประยุทธ์ ขายที่ดินในแขวงบางบอน เขตบางบอน กรุงเทพฯ จำนวน 9 แปลง เนื้อที่ 50-3-08 ไร่ ให้แก่บริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ในราคา 600 ล้านบาทเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ทั้งที่ราคาประเมินตามราคาราชการอยู่ที่ 197 ล้านบาท

โดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่รับซื้อเพิ่งจดทะเบียนจัดตั้งวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 ก่อนซื้อที่ดินดังกล่าวเพียง 7 วัน ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นสำคัญ 2 รายของบริษัทดังกล่าวยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการบริษัทในอีกหลายแห่ง คนแรก เป็นกรรมการ 26 บริษัท อีกคน 27 บริษัท และทั้งสองรายเป็นกรรมการร่วมกันใน 22 บริษัท ซึ่งเชื่อมโยงถึงเจ้าสัวคนดังระดับประเทศ

และกรณีแก้ไขสัญญาร่วมทุนการบริหารและดำเนินกิจการศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ในขั้นตอนเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

ได้ปรากฏกระแสข่าวความขัดแย้งภายในพรรคเพื่อไทย ระหว่างทีมคณะกรรมการกิจการพิเศษของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กับทีมยุทธศาสตร์พรรคของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์

ซึ่งต่อมาได้รับการปฏิเสธจาก ร.ต.อ.เฉลิมและบรรดาแกนนำพรรค

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ให้สัมภาษณ์เปิดใจยืนยันไม่มีปัญหากับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค หรือแม้แต่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ก็ไม่ได้มีปัญหากัน

“ร.ต.อ.เฉลิมเป็นดาวสภา ท่านมาช่วยงานอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็ถือเป็นเรื่องดีเพราะเป็นงานถนัด เราแบ่งงานกันทำในพรรค ยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไร และดิฉันก็เป็นคนที่พร้อมรับฟังเสมอ” ประธานคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยกล่าว

นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ซึ่งเข้าหารือร่วมกับคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า พรรคแบ่งวิธีการทำงานออกเป็น 2 ทีม

ทีมคณะกรรมการกิจการพิเศษจะรวบรวมข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาล

ส่วนทีมคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคจะรวบรวมข้อมูลเรื่องความล้มเหลว ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ทั้งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การบริหารประเทศ การทุจริตเชิงนโยบายและผลประโยชน์ทับซ้อน ทั้งสองทีมจะนำข้อมูลมารวมกันอีกครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของฝ่ายค้านว่า ไม่ต้องการให้นำเรื่องเก่าในยุครัฐบาล คสช.มาอภิปราย

“เพิ่งทำงานมา 5 เดือน รัฐบาลนี้ 5 เดือนจำไว้ รัฐบาลที่แล้วก็รัฐบาลที่แล้ว รัฐบาลนี้ 5 เดือน ฉะนั้น การอภิปรายครั้งนี้เป็นการอภิปรายนายกฯ และรัฐมนตรีใน ครม.ชุดนี้ อย่าเอามาพันกัน มันจะเสียหายไปหมด ทำให้สิ่งที่ทำไว้เสียไปด้วย”

เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงไม่รู้ว่าตนเองจะถูกอภิปรายด้วยหรือไม่ แต่ก็เห็นว่าถ้าการอภิปรายอยู่ในช่วง 5 เดือนของรัฐบาลชุดนี้ ก็โอเค ส่วนที่แล้วมาก็จบไปแล้ว ขอให้ยึดหลักการทำงานในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ขอให้ฝ่ายค้านยึดหลักการนี้

หลักการดังกล่าวของ “พี่น้อง 2 ป.” ได้รับการโต้ตอบจากทีมงานพรรคเพื่อไทยทันควัน ยืนยันฝ่ายค้านสามารถอภิปรายไม่ไว้วางใจย้อนหลังไปถึงรัฐบาล คสช.ได้ เพราะเป็นรัฐบาลทำงานต่อเนื่องกันมา

นายกฯ ก็คนเดิม รัฐมนตรีเป้าอภิปรายอีก 4-5 คน ไม่ว่าสมคิด วิษณุ ดอน และอนุพงษ์ ก็อยู่ตำแหน่งเดิม โดยไม่มีรัฐมนตรีจากพรรคร่วมอื่นในรัฐบาลชุดนี้อยู่ในบัญชีซักฟอกแม้แต่คนเดียว

ไม่รวมข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดการทำงาน 5 ปีของรัฐบาล คสช.ซึ่งมาจากการทำรัฐประหาร ได้รับการคุ้มครองด้วยกฎหมายพิเศษ ไม่เคยถูกตรวจสอบจากสภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง หรือองค์กรตรวจสอบใด

การห้ามอภิปรายด้วยข้อมูลย้อนหลังไปในยุครัฐบาล คสช. จึงเป็นหลักการที่นำมาใช้ไม่ได้

แต่ไม่ว่าข้อมูลหนักแน่นขนาดไหน สุดท้ายแล้วฝ่ายค้านเองก็เชื่อว่า ผลการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้คงไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ เพราะรัฐบาลใช้วิธีการมัดคอพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้ จนไม่มีทางจะแตกแถว

เป้าหมายของฝ่ายค้านจึงอยู่ที่การอภิปราย “เปิดแผลเน่า” ของรัฐบาลออกมาฟ้องต่อประชาชนถึงพฤติกรรมการบริหารประเทศในทิศทางไม่โปร่งใส ส่อไปในทางทุจริต เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินอนาคตรัฐบาล ว่า

หากให้อยู่ต่อไปจะยิ่งส่งผลเสียหายกับประเทศหรือไม่