จัตวา กลิ่นสุนทร : ‘สยามรัฐ’ ปัจจุบัน และการย้ายบ้านไปฝั่งธนบุรี

เพราะก่อเกิดกำเนิดมาจากคนที่มีจิตวิญญาณเป็นนัก “หนังสือพิมพ์” เป็น “นักประชาธิปไตย” หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” จึงอ่อนด้อยเรื่องของธุรกิจ แต่ถึงกระนั้นกลับประคองตัวอยู่มาได้ถึง 70 ปี

เข้าใจว่าการก่อตั้งโดยหม่อมราชวงศ์ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” (อดีต) นายกรัฐมนตรี (คนที่ 13-ถึงแก่อสัญกรรม) โดยมีคุณ “สละ ลิขิตกุล” (ถึงแก่กรรม) เจ้าของนามปากกา “ทหารเก่า” เป็นผู้ไปจดแจ้งขออนุญาต พูดกันแบบชาวบ้านอย่างเราๆ คือ อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายทุน ระหว่างที่สั่งการให้คุณสละไปขออนุญาตก่อตั้งสยามรัฐนั้น ท่านยังบวชเป็นพระภิกษุอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ

จำจากคนรุ่นเก่าๆ ที่ได้คลุกคลีมากับ “สยามรัฐ” ในยุคแรกๆ ก่อเกิดเล่าขานว่าไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการวางแผนทางธุรกิจแทบไม่ต้องพูดถึง เงินเดือนของนักหนังสือพิมพ์ นักข่าวซึ่งในยุคแรกๆ มีกันน้อยคน ย่อมมาจากกระเป๋าท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ และจากการขายหนังสือพิมพ์เท่านั้น แต่เขายังอยู่กันมาได้

การรับคนเข้าทำงานแทบไม่มีระบบระบอบอะไร อาจารย์คึกฤทธิ์ท่านสั่งไปยังผู้จัดการคนเดียวที่คุมเรื่องการเงิน การขายหนังสือ และการจัดพิมพ์ ว่าให้จ่ายเงินเดือนให้ เงินเดือนของคนหนังสือพิมพ์ “ริมถนนราชดำเนินกลาง” จึงแทบไม่เคยมีการปรับ

แต่ก็ไม่มีใครเรียกร้องในยุคสมัยนั้น

 

อยู่กันมาอย่างนี้แหละ เพราะจะว่าไปเวลาดังกล่าวประเทศเราเป็นเพียงประเทศเล็กๆ จำนวนประชากรทั้งหมดมีอยู่ราวๆ 20 ล้านคน เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ก็แค่สังคมเล็กๆ เรียกได้ว่าเหมือนหมู่บ้าน ผู้คนรู้จักมักคุ้นกันเป็นส่วนใหญ่ ตระกูลไหนเป็นยังไง ทำอะไร รู้จักกันโดยทั่วไป

ไม่เหมือนทุกวันนี้ที่ประเทศนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจโดยคนต่างชาติเข้ามาผสมปนเปควบคุมกิจการใหญ่โต คนไทยแท้ๆ น่าจะค่อยๆ เจือจางลง ธุรกิจหลักๆ สำคัญๆ ได้เปลี่ยนมือสู่คนจีนที่เดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศนี้ตั้งแต่หลายชั่วอายุคนจนแยกไม่ออกแล้วว่าคนจีน ไทย หรือชาติไหนอย่างไร

แต่เดิมพอจะรู้กันในบางอาชีพที่รัฐบาลสงวนไว้สำหรับคนไทย โดยเฉพาะการเข้ารับราชการ การถือครองที่ดิน แต่ทุกวันนี้แทบไม่เหลือว่าเป็นคนไทยแท้ๆ หากแต่คนจีนในหลายหลากรุ่นได้รับการศึกษาในระดับสูงแย่งชิงยึดอาชีพต่างๆ ในระดับสูงเหนือกว่าเจ้าของประเทศดั้งเดิมด้วยซ้ำ

จึงไม่แปลกแต่อย่างใดที่มีคนไทยเชื้อสายจีนเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาไทยในยุคแรกๆ และก็มีชื่อเสียงยืนยาวจนเข้ายุคเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ยุคคอมพิวเตอร์ ยุคสื่อดิจิตอล และออนไลน์ อันทันสมัยอย่างวันนี้

 

ผมรับตำแหน่งบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ประมาณปลายปี พ.ศ.2529 ด้วยความหนักอึ้ง เพราะจะต้องรับหน้าเสื่อในการดำเนินงานเพื่อจะเอาสื่อฉบับนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ได้ เริ่มต้นจึงต้องปรับเปลี่ยนดำเนินงานทางด้านธุรกิจให้เป็นระบบ เพื่อหารายได้จากการโฆษณา เปลี่ยนสยามรัฐจากติดลบมาเป็นได้กำไร

อันที่จริงทั้งสยามรัฐรายวัน และสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์เมื่อรวมกันอาจไม่ยุ่งยากเป็นงานหนักนักในการเพิ่มศักยภาพตามที่ผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเป็นทายาทของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ซึ่งตั้งความหวังไว้ ผมเองตั้งใจทุ่มเทกำลังสติปัญญา ศึกษาเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนเพิ่มพูนเนื้อหารูปแบบของ “สยามรัฐ” ให้ทันสมัย ทันต่อเหตุการณ์ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องขายคอลัมน์ “ซอยสวนพลู” ของอาจารย์คึกฤทธิ์ พร้อมเติมทุกสิ่งอย่างให้ไม่แตกต่างจากหนังสือพิมพ์รายวันประเภทหัวสีทั้งหลายด้วย

ในเวลาเดียวกันได้วางแผนก่อตั้ง “สำนักพิมพ์สยามรัฐ” ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเพื่อนำผลงานประพันธ์ของอาจารย์คึกฤทธิ์ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก (ตั้งแต่ก่อตั้งสยามรัฐ) มาจัดพิมพ์ให้เป็นเรื่องเป็นราว จับแยกเป็นหมวดหมู่ด้วยวัสดุชั้นดี และพยายามสร้างกองบรรณาธิการที่ทันสมัยกว่าเดิม

 

ระหว่างนั้น อาจารย์คึกฤทธิ์ได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค “กิจสังคม” ไม่ได้รับผิดชอบอุ้มชูดูแลแบบเป็นที่ปรึกษาแก่รัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ท่านพยายามเขียนบทความลงพิมพ์ในสยามรัฐรายวันเกือบทุกวัน แต่ท่านสุขภาพไม่ค่อยดี ที่หนักที่สุดเป็นเรื่องของโรคหัวใจ โดยท่านต้องเดินทางไปทำบายพาสหัวใจยังโรงพยาบาลซีดาร์ ไซไน เมดิเคิล เซ็นเตอร์ (Cedars Sinai Medical Center) ในเบฟเวอรี่ ฮิลล์ นครลอสแองเจลิส สหรัฐ (Los Angeles, California, USA)

ด้วยความพยายามอย่างหนัก อ่านเกมการเมืองระบอบ “ประชาธิปไตย” แบบไทยๆ จะเรียกว่าเสี้ยวหนึ่ง หรือครึ่งใบก็สุดแต่จะว่ากันไป เพราะแค่ “นายกรัฐมนตรี” จะมาจากการ “เลือกตั้ง” หรือไม่ต้องเลือกตั้งก็เปลี่ยนกันไปมา ซึ่งก็ไม่พ้นมาจากกองทัพ คือ ต้องเป็น “ทหาร” กองทัพต้องให้การสนับสนุน ประเทศนี้ทหารเท่านั้นจะต้องเป็นผู้บริหารประเทศ

เกมการเมืองรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงวิเคราะห์กันได้ไม่ยาก เมื่อกองบรรณาธิการขยายพันธมิตร เปิดกว้างข่าวลึกๆ ต่างๆ ย่อมไม่พ้นจากฝีมือนักข่าวไปได้ ในขณะที่คอลัมนิสต์วิเคราะห์เจาะลึกได้อย่างเฉียบคม

ปี พ.ศ.2531 หลังดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” บริหารประเทศต่อเนื่องมาถึง 8 ปีเศษ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตัดสินใจ “ยุบสภา” (29 เมษายน 2531) อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531

ซึ่งสาเหตุน่าจะมาจากการขัดแย้งกันในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลจนเกิดมีกลุ่ม “10 มกราคม” ซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันออกไป เรียกว่าโหวตสวนกับรัฐบาล

หลังการเลือกตั้ง พรรคชาติไทยได้รับเลือกตั้งเข้ามาจำนวน 87 เสียง พรรคกิจสังคมได้ 54 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 48 เสียง พรรคราษฎรได้ 21 เสียง รวมกันทั้งหมด 210 เสียง ในขณะที่สมาชิกสภามีจำนวน 357 เสียง และพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกมาเป็นเสียงข้างมากได้รวมตัวกันไปเชื้อเชิญให้ (ป๋า) พล.อ.เปรมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง จึงเป็นที่มาขอคำที่ว่า “ผมขอพอ” เป็นการยุติบทบาททางการเมืองลง

(น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (ถึงแก่อสัญกรรม) หัวหน้าพรรค “ชาติไทย” จึงแจ้งเกิดทางการเมืองในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 17) ซึ่งมีนโยบายที่โด่งดังโดนใจ– “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า”

น้าชาตินับว่าเป็นผู้นำรัฐบาลที่ค่อนข้างโชคดีที่มารับไม้ต่อจากรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ท่านได้ดำเนินงานสร้างวินัยทางการเงินการคลัง กระทั่งเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเริ่มฟื้นตัว โชติช่วงชัชวาล ขณะที่นักประชาธิปไตยทั้งหลายก็ตั้งความหวังว่าประเทศนี้จะเดินหน้าเป็นประชาธิปไตย คงไม่มีการ “ปฏิวัติรัฐประหาร”

แต่มันก็เกิดขึ้นอีกจนได้ในปี พ.ศ.2534, 2549 และ 2557

 

หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทำท่าจะเติบโตทางธุรกิจพอสมควรจนมีความหวังกันขึ้นมา ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองเรื่องของความคิดอันแตกต่างระหว่างอาจารย์คึกฤทธิ์ กับ (บิ๊กจิ๋ว) พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งขึ้นมาเป็นผู้บัญชาการทหารบกต่อจาก พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก

อาจารย์คึกฤทธิ์เล่นแรงทั้งในคอลัมน์ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ และเมื่อรับเชิญไปปาฐกถาตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งย่อมเกี่ยวข้องด้วยเรื่องการเมือง และสุดท้ายท่านมักมาจบลงตรงโยนระเบิดใส่บิ๊กจิ๋วว่าเป็นคอมมิวนิสต์ กระทั่งมีการวางแผนส่งทหารพรานมาเขย่าหน้าประตูบ้านสวนพลู ก่อนที่กลุ่มนายทหารหนุ่มของบิ๊กจิ๋วขณะนั้นรวมตัวกันมุดประตูเข้าไปพบอาจารย์คึกฤทธิ์ เพื่อให้ยืนยันว่าไม่ได้ว่านายของพวกเขานิยมลัทธิอันแตกต่าง

ผมเองในฐานะบรรณาธิการที่กำลังหน้าดำคร่ำเครียดกับการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของสยามรัฐ จึงต้องโดนระเบิดไปด้วยเพราะรู้จักมักคุ้นกับพี่จิ๋ว ในที่สุดก็ต้องอำลาจากสยามรัฐ เป็นการดับฝันลงอย่างสิ้นเชิง เพราะตั้งแต่วันที่หันหลังลาจากสยามรัฐ ก็ได้ยินแต่ข่าวถดถอยลงของหนังสือฉบับเก่าแก่นี้ มาพร้อมกับการประกาศ “ขายกิจการสยามรัฐ”

ซึ่งในที่สุดก็ถูก “เปลี่ยนมือ” ไปจนได้ พร้อมการจากไปของอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ในปี พ.ศ.2538 การขายสยามรัฐกลับกลายเป็นเรื่องฉ้อฉลจนต้องมีการฟ้องร้องกันในเวลาต่อมากับทายาทของท่าน ก่อนจะเปลี่ยนมือมาถึงยุคปัจจุบัน

วันนี้หนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ยังมีลมหายใจ แต่ได้ย้ายไปยังบ้านแห่งใหม่ย่านสะพานพระราม 8 (ฝั่งธนบุรี)