อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : การเมืองไทยจะไปทางไหน?

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

ปีใหม่นี้ได้เริ่มต้นแล้วด้วย “การเผชิญหน้าทางการเมือง” อันขยายผลสะเทือนมาจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งต่อสู้ด้วยการระดมผู้คนมาประท้วงบนท้องถนน

การต่อสู้ของพรรคอนาคตใหม่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เพราะเชื่อว่าการดำเนินการต่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคมีแรงจูงใจทางการเมือง ยังมีเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องด้วย นั่นคือ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกหวาดหวั่นความเคลื่อนไหวทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์จำนวนมากที่เพิ่มอุณหภูมิการเมืองเกิดขึ้นในเดือนมกราคมนี้ได้แก่

การวิ่งต่อต้านรัฐบาล “วิ่งไล่ลุง” เริ่มต้นจากนักกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและผู้สนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 12 มกราคม ที่สวนรถไฟ คาดว่ามีคนเป็นหมื่นคนเข้าร่วมวิ่งไล่ลุงครั้งนี้ อันเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องจากแฟลชม็อบ (Flash mob) ของพรรคอนาคตใหม่เมื่อปีที่แล้ว

21 มกราคม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกข้อหาเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองประชาธิปไตยของประเทศ ช่วงเดียวกันศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินใจว่าจะตัดสินนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้กู้เงิน 191 ล้านบาทแก่พรรคอนาคตใหม่ซึ่งผิดกฎหมายพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน รัฐสภาจะประสบกับความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากเดือนมกราคมเมื่อพรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการอภิปรายไม่ไว้ใจรัฐบาลครั้งแรกในรอบ 6 ปีหลังจากการรัฐประหาร 2014

บางฝ่ายมองว่า การเมืองไทยจะมีความเข้มข้นมากขึ้นทั้งในและนอกรัฐสภา

บางฝ่ายมองว่าเดือนมกราคมเป็นเหมือน “พายุ” กระหน่ำรัฐบาล

บางกลุ่มมองความโดดเด่นของพรรคอนาคตใหม่และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รวมทั้งแกนนำคนอื่นๆ ทว่าการเมืองไทยไม่ได้ผิวเผินแค่ในหรือนอกรัฐสภา

ปีนี้และช่วงต่อไปสิ่งที่จะโหมกระหน่ำไม่เพียงเป็นแค่ “พายุ” กระหน่ำรัฐบาล อาจกล่าวได้ว่า เป็นมากกว่าพายุและส่งผลต่อการเมืองไทยโดยรวมมากกว่ารัฐบาลของใครคนใดคนหนึ่ง

ในเวลาเดียวกัน ไม่มีใครเป็นพระเอกอย่างที่เข้าใจว่าพรรคอนาคตใหม่เป็น แต่พรรคนี้เป็นสิ่งสะท้อนรากเหง้าของปัญหาการเมืองไทยหลังการรัฐประหาร 2014 โดยตรงอันสอดคล้องกับความนึกคิดของคนจำนวนมาก

เราควรดูการตอบสนองของ “ผู้เล่นหลัก” (key player) ฝ่ายต่างๆ ในการเมืองไทยพร้อมกันไปด้วย แล้วเราจะเห็นทิศทางการเมืองไทย

 

โครงสร้างการเมืองไทย

เราไม่ควรมองข้ามโครงสร้างการเมืองไทยปัจจุบันและอนาคตอันเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ที่ประกอบสร้างการเมืองไทยเป็น 3 องคาพยพที่ยึดโยงและขับเคลื่อนการเมืองไทยได้แก่

ก) ข้าราชการและทหาร ที่ยังคงยึดกุมอำนาจและความมั่งคั่ง (wealth) ในสังคมไทยโดยเผชิญหน้าพลังของระเบียบอำนาจ (New order) เสรีนิยมใหม่ที่กลุ่มธุรกิจใหม่บางกลุ่มได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและจำเป็นต้องเข้ามารักษาผลประโยชน์ในนโยบายสาธารณะนั้นๆ การยึดพื้นที่ทางการเมืองและเศรษฐกิจตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ 2560 ของข้าราชการและทหารเป็นความพยายามในโอกาสสุดท้ายแต่ก็เผยตัวตนแห่งผลประโยชน์ออกมา

ข) นักการเมืองท้องถิ่นที่กลับเข้าสู่วงจรการเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งพร้อมด้วยการเปลี่ยนรุ่นจากผู้ก่อตั้งพรรครุ่นพ่อ-แม่มาเป็นคนรุ่นเยาว์ที่มีการศึกษา แต่พวกเขายังชำนาญการเมืองแบบเดิมๆ ในรูปแบบของโควต้าของกระเป๋าพรรคมากกว่าการเมืองเรื่องนโยบาย พยายามเข้าถึงอำนาจและความมั่งคั่งโดยเส้นสายสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งไม่ง่ายเพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่เชี่ยวชาญเกมทางรัฐสภา

ค) กลุ่มทุนผูกขาดซึ่งได้รับอานิสงส์จากการรัฐประหาร 2014 และการบริหารประเทศในโครงการขนาดใหญ่ กลุ่มทุนผูกขาดทุกฝ่ายเพิ่มทั้งทุนและกระจาย (diversify) ธุรกิจไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ รีเทล กาแฟและขนม ดิจิตอลโทรคมนาคม เป็นต้น

 

ความเปราะบางอันแสนบาง

ไม่มียุคใดสมัยใดที่ประเด็นความยุติธรรมและความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจชัดเจนและได้แพร่กระจายไปทั่วคนกลุ่มต่างๆ มากกว่านี้อีกแล้ว

บางคนมองแคบว่าเป็นเพียงเศรษฐกิจไม่ดี แต่เพียงแค่เศรษฐกิจไม่ดีก็หนักหนาและเป็นจริง ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ เดี๋ยวน้ำท่วม เดี๋ยวภัยแล้ง โรงงานปิดตัวคนตกงาน โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ปิดกิจการ

เจ้าของต่างชาติย้ายโรงงานไปประเทศอื่นๆ ซึ่งโรงงานสิ่งทอเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว แต่ผลคือ คนงานตกงานเหมือนกัน

ส่งออกไม่ดี เงินบาทแข็งค่า แต่ในขณะเดียวกัน กลุ่มทุนผูกขาดขยายกิจการอย่างกว้างขวางด้วยการนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ออกหุ้นกู้ ให้รัฐบาลค้ำประกัน

ในบางโครงการ มีการกว้านซื้อที่ดินแต่บังเอิญเกินไป ที่ดินเหล่านั้นอยู่ตามเส้นทางการลงทุนรถไฟของรัฐบาล และอยู่ใกล้เขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเหลือเชื่อคือรู้ก่อนใครๆ

จุดประกายไฟของความเปราะบางก็จุดติด คือ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาครัฐให้เหตุผลว่าต้องการให้องค์กรส่วนท้องถิ่นมีรายได้ ซึ่งก็ไม่จริง

บางคนก็ชี้แจงว่า ต้องการให้ประชาชนนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ ซึ่งก็ไม่จริง เพราะที่ดินของคนรวยไม่ได้ทำประโยชน์ดังว่า

รัฐบาลคาดการณ์ผิด การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกระพือความไม่พอใจให้กับคนทั่วไปเป็นจำนวนมากและไม่เคยเห็นมาก่อน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมจึงมาเก็บภาษีที่ดินกับพวกเขา แต่คนรวยเป็นพันล้านหมื่นล้านไม่ต้องเสียภาษี

คนรวยเอาที่ดินมาปลูกมะนาว ปลูกกล้วย ไม่ต้องเสียภาษีแบบคนทั่วไป

ท่ามกลางความปั่นป่วนของคนทั่วประเทศ อย่าไปมองแต่ความยุ่งยากของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันนี้โหมไฟแห่งความไม่พอใจ

แต่ไฟที่ลุกโชนคือ ความจริงที่ที่ดินนักการเมืองในเขตป่าสงวนฯ โดยไม่ติดคุก บางคนมีที่ดิน ส.ป.ก.ได้โดยไม่ติดคุก แต่ประชาชนติดคุกและติดคุกเลย

 

การจัดการของรัฐ

น่าเป็นห่วงมาก การจัดการของรัฐเหมือนเอาน้ำมันเข้าราดกองไฟ ผู้นำรัฐบาลให้ความเห็นเป็นทำนองว่า โรงงานปิดเพราะสมัครใจ ผู้นำรัฐบาลอีกคนพยายามปรามว่า คนฆ่าตัวตายไม่ใช่ปัญหาเศรษฐกิจ

เป็นเรื่องน่าสนใจและประหลาดใจที่ผู้นำเหล่าทัพ ผู้นำรัฐบาล ซึ่งแต่ละท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของชาติ แต่ละท่านเป็นผู้นำด้านความมั่นคงยุคหลังสงครามเย็น (post cold war) แต่การจัดการของรัฐต่อปัญหาเศรษฐกิจและประเด็นการเมืองเอาเข้าจริงๆ ไม่ได้ออกจากกรอบของสงครามเย็นเลย

ช่วงก่อนและหลังเลือกตั้งได้แต่หวาดระแวงพรรคฝ่ายค้านและผู้ที่เห็นต่าง ดังนั้น การยุบพรรคการเมืองและกำจัดศัตรูการเมืองจึงเป็นเครื่องมือหลัก โดยคิดว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกรัฐสภาเป็นศัตรูของชาติ ซึ่งจริงๆ เป็นศัตรูของพวกเขาเอง

ลัทธิชังชาติ จึงเป็นการปลุกระดมทางการเมืองแบบเก่าในยุคสงครามเย็นซึ่งมีแต่จะผลักคนให้เผชิญหน้ากันและจะมีผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลเองและแล้วพระราชบัญญัติความมั่นคงแห่งชาติก็ประกาศใช้

ทั้งนี้ องค์ประกอบของความมั่นคงแห่งชาติทั้งย้อนยุคทว่าได้เผยแนวคิดทางการเมืองของข้าราชการและผู้นำการเมืองปัจจุบัน หากเราถือว่าความไม่มั่นคงใหม่ (non traditional security-NTS) เป็นนวัตกรรมของแนวคิดความมั่นคงยุคหลังสงครามเย็นที่ทั่วโลกนำมาใช้บริหารความมั่นคงของรัฐและโลก ก็นับว่าแนวคิดอย่างหลังนี้อยู่ในความคิดส่วนน้อยที่เบาบาง

อาจเป็นความพยายามแสดงความทันสมัยที่สุดในยุคดิจิทัลของรัฐบาลชุดนี้ ล่าสุดคณะกรรมการสงครามไซเบอร์ก็ปรากฎ แต่ใช่ว่าสงครามไซเบอร์เป็นเป้าหมายในยุคดิจิตอล มีใครกล้าปฏิเสธหรือว่า รัฐไทยทำสงครามไซเบอร์กับพลเมืองของตนเอง

การล้วงข้อมูลเป็นเป้าหมายหนึ่ง จะอันดับแรกหรือไม่ผมไม่ทราบ

 

การเมืองไทยจะไปทางไหน?

ทางเลือกมีไม่มาก ทิศทางแรกคือ การยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ แน่นอนทิศทางนี้เป็นไปได้แต่จะไม่แก้ปัญหาโครงสร้างการเมืองหลังรัฐประหาร 2014 ยิ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วเห็นได้ชัดว่าผู้นำรัฐบาลมีวิสัยทัศน์แคบ สั้นและจดจ่ออยู่แค่ “การรักษาอำนาจ”

โดยมีสมการการเมืองว่า รัฐบาลอยู่นานแล้ว บ้านเมืองสงบ และเป็นสุข

ในความเป็นจริงทางการเมืองกลับเป็นตรงกันข้าม รัฐบาลอยู่ไม่ได้เพราะปัญหาต่างๆ ที่รัฐบาลสร้างเองโดยเฉพาะเศรษฐกิจเพราะเป็นรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2014 หลังจากนั้น บ้านเมืองแตกแยกในปัญหาความเหลื่อมล้ำและความเป็นธรรม ประชาชนไม่เป็นสุขเพราะรัฐบาลคืนความสุขให้คนรวย ข้าราชการทหารและนักการเมืองฝ่ายของตนนับเท่าพันทวี

เท่ากับว่ารัฐบาลกำลังบ่มเพาะความขัดแย้งด้วยความประมาทต่อความไม่พอใจของคนชั้นกลางและคนทั่วไป

ทิศทางที่สอง รัฐประหาร ด้วยผู้นำที่สับสนเรื่องภัยของชาติในศตวรรษที่ 21 และปลุก “ผีคอมมิวนิสต์” ทั้งๆ ที่ชนชั้นนำไทยใกล้ชิดประเทศคอมมิวนิสต์แทบทุกมิติ รวมทั้งท่านผู้นำด้วย อีกทั้งผู้นำไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองยังไม่แย่เท่าว่าไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ท่ามกลางฝักฝ่ายที่แตกแยกด้วยผลประโยชน์ที่นานและลึกซึ้งอันเป็นหนทางแห่งรัฐประหารซ้อนได้ง่าย

ทิศทางแรกหนีไม่พ้นการลุกฮือของฝ่ายต่างๆ อันนำไปสู่การปฏิรูปครั้งใหญ่ ส่วนการรัฐประหารจะยิ่งเร่งการปฏิรูปครั้งใหญ่ให้เร็วและรุนแรงกว่ามาก

การเมืองไทยหนีไม่พ้นทิศทางนี้