วิเคราะห์ : แคมเปญ “ลดใช้ถุงพลาสติก” เปลี่ยนไลฟ์สไตล์ แล้วจะใช้อะไรทดแทน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ประเมินผลการรณรงค์เลิกแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวเพื่อลดภาวะโลกร้อนในห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศตั้งแต่วันปีใหม่เป็นต้นมา นับได้ว่ามีความสำเร็จเกินคาด บรรดาพนักงานต่างรับรู้และปฏิบัติตามเป็นอย่างดี

ขณะที่ประชาชนจำนวนมากให้ความร่วมมือด้วยการถือถุงผ้า ตะกร้า ไปหาซื้อสินค้าแทนการเดินด้วยมือเปล่า

ในโลกโซเชียล มีการแชร์ภาพของคนช่างคิดเอาอุปกรณ์แปลกตา อย่างรถขนปูน กรงนก ถังน้ำ กระโถน หรือกระสอบใส่ปุ๋ย ไปซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อ

สร้างสีสันเกิดกระแสไม่รับถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียวกันอย่างคึกคัก

 

การรณรงค์ดังกล่าวไม่เพียงจะเกิดขึ้นในห้างสรรพสินค้าหรือร้านสะดวกซื้อเท่านั้น ในตลาดทั่วไปก็ได้เห็นผู้คนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนพฤติกรรม

ที่ตลาดสัมมากร ถนนรามคำแหง เมื่อก่อนนี้พ่อค้าแม่ค้าแผงขายผักใช้ถุงพลาสติกตลอด ไม่ว่าจะซื้ออะไรก็ตาม

มาเวลานี้ หันมาบอกกับผู้ซื้อว่า เอาใส่ตะกร้าที่ถือมานะ ไม่ต้องใช้ถุงพลาสติก ช่วยลดโลกร้อน

ได้ยินแม่ค้าพูดแล้วก็อดยิ้มไม่ได้

นักสิ่งแวดล้อมหลายคนยกให้การรณรงค์ครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว

 

การรณรงค์เลิกแจกถุงพลาสติกใช้ครั้งเดียว มีข้อยกเว้นสินค้า 4 ชนิดใช้ถุงพลาสติกได้ ได้แก่ อาหารที่ต้องอุ่นร้อน, อาหารเปียก, เนื้อสัตว์ และผลไม้ สินค้ากลุ่มนี้ใช้ถุงพลาสติกแบบอื่นๆ เช่น ถุงร้อนใส่อาหาร พลาสติกหุ้มอาหารและของแช่แข็ง

แต่กระนั้น ยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งข้อสงสัยว่า ในอนาคตถ้าเลิกใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวอย่างถาวร จะเอาภาชนะหรือวัสดุชนิดอะไรมาใส่แทน

เมื่อครั้งนายสเต็น กุสตาฟ ทูลิน วิศวกรชาวสวีดิช ผู้คิดค้นถุงช้อปปิ้งพลาสติกในปี 2502 เกิดวาบความคิดมาจากสถานการณ์เกิดขึ้นในขณะนั้น ซึ่งผู้คนต่างใช้ถุงกระดาษหรือถุงผ้าใส่สินค้า

“ทูลิน” เห็นว่าการใช้ถุงกระดาษหรือผ้ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะกระบวนการผลิตกระดาษ มีจุดเริ่มต้นจากการตัดโค่นต้นไม้ทำลายป่า เอาเยื่อมาทำกระดาษ ต้องใช้สารเคมีและน้ำจำนวนมาก

เช่นเดียวกับถุงผ้า ต้องใช้ฝ้ายเป็นวัตถุดิบ กระบวนการผลิตมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่การปลูกต้นฝ้ายต้องใช้น้ำ ปุ๋ยและยาฆ่าแมลงจำนวนมหาศาล อีกทั้งการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังโรงงาน ต้องใช้เชื้อเพลิงไม่น้อย

วิศวกรสวีดิชผู้นี้จึงมีความตั้งใจจะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการคิดค้นถุงพลาสติกมีน้ำหนักเบา ใช้งานได้ทนทาน พับเก็บและนำกลับมาใช้ได้หลายๆ ครั้ง

ถุงพลาสติกของ “ทูลิน” จดทะเบียนในชื่อ “เซลโลพลาสต์” (Celloplast)

 

ช่วงกลางปี 2503 ถุงพลาสติกกลายเป็นสินค้าท็อปฮิตในตลาดถุงของยุโรป และลามไปถึงสหรัฐอเมริกา ห้างสรรพสินค้าดังๆ เปลี่ยนจากถุงกระดาษมาใช้ถุงพลาสติกแทน

กระทั่งวันนี้ ถุงพลาสติกกลายเป็นสินค้าของโลก ทั่วทุกหนแห่งต่างมีคนถือถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง

สหประชาชาติรายงานว่า แต่ละปีโรงงานทั่วโลกผลิตถุงพลาสติกราว 1 แสนล้านชิ้น

ถุงพลาสติกกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะผู้คนใช้แล้วทิ้งด้วยความไม่ตระหนักหรือไตร่ตรองว่าจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน

การกำจัดหรือจัดการขยะชนิดนี้เป็นเรื่องยากเข็ญ ถ้าเอาไปกลบฝังต้องใช้เวลานานกว่าจะย่อยสลาย หากเก็บไปทำลายด้วยการเผา จะเกิดควันพิษทำลายชั้นบรรยากาศโลก

การทิ้งขยะอย่างไม่แยแสต่อสิ่งแวดล้อม มีผลต่อท้องทะเล ป่าใหญ่ หรือแม้กระทั่งบนยอดเขาหิมาลัย ที่เกลื่อนไปด้วยถุงพลาสติก

ขณะที่ภายในอวัยวะสัตว์นานาชนิดไม่ว่าจะเป็นปู ปลา เต่า พะยูน โลมา หรือสัตว์ป่า มีซากขยะพลาสติกอัดแน่น เป็นปรากฏการณ์พบเห็นทั่วโลก

ปี 2545 บังกลาเทศเป็นประเทศแรกในโลกที่ประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติก จากนั้นนานาประเทศเอาตามอย่าง

“ราอูล ทูลิน” ลูกชายของนักคิดค้นถุงพลาสติกคนแรกให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี หลังจากทั่วโลกพากันรณรงค์เลิก “พลาสติกใช้ครั้งเดียว” ว่า พ่อมีความตั้งใจช่วยโลกจริงๆ พ่อเอาถุงพลาสติกที่คิดค้นได้พับใส่กระเป๋า พกไปไหนมาไหนตลอด นั่นเป็นสิ่งที่พ่อทำในอดีตเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว

มาวันนี้ชาวโลกไม่เอาถุงพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียว คำถามที่ตามมา จะเอาอะไรมาใช้แทนโดยไม่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

ทางเลือกที่เห็นๆ มีอยู่ 3 ทาง ถุงพลาสติกประเภทใช้ได้หลายๆ ครั้ง ทางที่ 2 ใช้ถุงกระดาษ และทางที่ 3 ถุงผ้า

สำนักงานสิ่งแวดล้อมของอังกฤษบอกว่า ถ้าจะใช้ถุงกระดาษต้องใช้อย่างน้อยๆ 3 ครั้งขึ้นไปถึงจะมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยลง เมื่อเทียบกับการใช้ถุงพลาสติกประเภทใช้ได้หลายๆ ครั้ง

เหตุผลของสำนักงานสิ่งแวดล้อมของอังกฤษ เหมือนๆ กับเหตุผลของ “ทูลิน” คือการผลิตถุงกระดาษมีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ต้องปลูกป่า ตัดต้นไม้ ใช้พลังงานสิ้นเปลือง ใช้น้ำมากและกระดาษมีน้ำหนักค่าขนส่งแพงกว่ากระบวนการผลิตถุงพลาสติก

ส่วนถุงผ้า ต้องใช้น้ำ สารเคมีจำนวนมหาศาลในการเพาะปลูกฝ้ายเช่นกัน

ถ้าจะใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติกต้องใช้งานอย่างน้อยๆ 131 ครั้งถึงจะคุ้มเมื่อเทียบกับถุงพลาสติกประเภทใช้หลายๆ ครั้ง

แต่ไม่ว่าจะเลือกใช้ถุงประเภทใดก็ตาม ถ้าผู้ใช้มีจิตสำนึกสาธารณะ รู้ว่าต้องใช้ให้คุ้มค่าที่สุด และเมื่อถึงเวลาทิ้งก็พึงตระหนักว่า ควรทิ้งหรือกำจัดอย่างไรจึงไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันผู้บริหารประเทศต้องจัดวางระบบกำจัดขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

 

ประเทศเจริญแล้วอย่างเช่นสวีเดน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการบริหารจัดการเก็บและรีไซเคิลขยะพลาสติก

รายงานของบีบีซีบอกว่า เมืองเอสกิลส์ทูนา ใกล้ๆ กับกรุงสตอกโฮล์ม แทบไม่มีขยะที่จะต้องนำไปฝังกลบเลย เพราะชาวเมืองร่วมมือร่วมใจคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพมาก

ผู้บริหารเมืองเอสกิลส์ทูนา กำหนดให้ชาวเมืองแยกขยะแต่ละประเภท เช่น เศษอาหาร กระดาษ โลหะ ผ้า พลาสติกและกล่องกระดาษ ใส่ในถุงขยะต่างสีกัน

ถุงขยะในเมืองนี้มี 7 สี แยกสีตามประเภทขยะ ขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้อีก เช่น กระดาษทิชชู่หรือผ้าอ้อมสำเร็จรูป ต้องแยกใส่ในถุงขยะสีขาว

ชาวเมืองเอสกิลส์ทูนาแยกขยะได้อย่างคล่องแคล่ว ขณะที่พนักงานเก็บขยะสามารถนำขยะไปจัดการได้อย่างยอดเยี่ยม

ขยะที่มาจากเศษอาหาร แยกส่งไปทำก๊าซชีวภาพ ใช้เป็นเชื้อเพลิงใส่ในรถบัสประจำทางของเมือง

ส่วนขยะที่นำไปรีไซเคิลไม่ได้ถูกส่งเข้าเตาเผาเพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพผนวกกับจิตสำนึกสาธารณะของชาวเมือง ช่วยผลักเมืองเอสกิลส์ทูนาบรรลุเป้าหมายของสหภาพยุโรปเร็วขึ้นอีกทั้งยังลดปริมาณขยะที่นำไปฝังกลบจนเกือบเป็นศูนย์

ตามเป้า อียูกำหนดไว้ว่า ประเทศต่างๆ จะต้องรีไซเคิลขยะ 50% ของขยะให้ได้ภายในปี 2563

ถ้าดูกระแสไม่รับถุงพลาสติกแล้วมั่นใจว่าคนไทยก็สามารถแยกขยะอย่างมีจิตสำนึกเหมือนเช่นชาวเอสกิลส์ทูนา แต่จะใช้นานเวลาแค่ไหน ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ครับ