เสียงเตือนจากรุ่นพี่ จตุพร ธนาธรลงถนนต้องรอบคอบ ห่วงปลายทางสุดท้ายไม่ตายก็ติดคุก เตือน! 2563 รัฐประหารอาจเกิดขึ้น

“ผมเคยจำกัดความของ นปช. ว่า ไม่ตายก็ติดคุก ผมว่าคุณธนาธรก็แบบนี้บนเส้นทางการเมืองที่เดินอยู่ ชะตากรรมไม่พ้นจากสองคำนี้เท่าไหร่ ผมว่าเขาเดินมาไกลถึงขนาดนั้น วันนี้ผมเชื่อว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับธนาธรเขาคงได้ซึมซับแล้วว่ามันไม่ง่ายเลย แล้วจะยิ่งมีแต่ความกดดันมากยิ่งขึ้น เมื่อคิดหาหนทางในการต่อสู้ ปรากฏการณ์แฟลชม็อบอาจจะทำได้ 1-2 ครั้ง แต่พอครั้งที่ 3 คนที่เขาออกมาเขาจะไม่กลับ เป็นการเดินทางไกล หลังจากนั้นธนาธรก็จะเดินทางไปไกลแบบที่พวกผมเคยเดินและก็ลงท้ายด้วย 2 คำอย่างที่ว่า” เสียงจากรุ่นพี่ผู้ลงถนนมาก่อน อย่างจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ผู้ที่ผ่านการเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ลงถนนเรียกร้องเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และพฤษภาคม 2553 มีไปถึงธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่

จตุพรมองว่า เส้นทางการต่อสู้นี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ มันมีบทเรียนให้ทดสอบความแข็งแกร่งมาก

วันนี้ นปช.เหมือนทหารผ่านศึกที่บาดเจ็บมากแล้ว เมื่อนักรบใหม่เข้ามาก็อยากจะบอกว่าบทเรียนต่างๆ มีไว้เพื่อย้ำเตือนให้หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับ นปช.ก่อนหน้านี้ได้อย่างไรบ้าง หรือกับกลุ่มก้อนการเมืองอื่นๆ ก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็นพันธมิตร-กปปส.ก็มีบทเรียนที่อาจจะไม่เหมือนกัน เพียงแต่ทุกฝ่ายต่างมีบทเรียน

“ผมเองก็เห็นว่าธนาธรเป็นรุ่นน้อง ผมเคยเห็นสมัยเขาเป็นนักศึกษา ผมก็เพียงแต่จะบอกว่ายุคสมัยใครก็ยุคสมัยคนนั้น วันนี้เป็นยุคสมัยของเขา เขาต้องคิดอย่างรอบคอบ ผมไม่ได้บอกว่าต้องไม่ทำอย่างนั้น ไม่ทำอย่างนี้ เป็นเสรีภาพของธนาธร เพียงแต่อธิบายในฐานะคนที่เคยผ่านมาก่อนว่าจะต้องเจออะไร และเขาจะต้องแบกความกดดันบนชีวิตของประชาชนเอาไว้”

ประธาน นปช.กล่าวในฐานะที่ผ่านมาทั้ง 2 เหตุการณ์ทั้งปี 2535 และปี 2553 สูญเสียคนสองเหตุการณ์ร่วม 200 ชีวิต บาดเจ็บร่วม 8,000 คน ประสบการณ์ชีวิตเป็นห้วงเวลาของคนคนนั้น วันนี้เป็นเวลาของธนาธร ธนาธรต้องคิดอย่างรอบคอบ

“การที่ผมเตือนไม่ได้บอกว่าห้าม นักเคลื่อนไหวเราต่างเคารพในเสรีภาพกันและกัน เพียงแต่ว่าการกำหนดจังหวะย่างก้าวจะต้องมีความรอบคอบ ผมมีบทเรียนมาหลายเหตุการณ์ แม้ว่าเราจะระมัดระวังอย่างเต็มร้อย ป้องกันแบบทุกรูปแบบ แต่เมื่อเจอกับการจัดการทางการทหาร มันรับมือไม่ไหว การชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานออกไปก็จะถูกทำลายสิ้น เช่น หลักของสันติวิธีก็จะถูกสร้างสถานการณ์ให้ไม่สันติวิธีเพื่อความชอบธรรมในการเข้ามาปราบปราม สถานการณ์ช่วงต้นกับช่วงปลายจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ช่วงแรกคือความแข็งแรง แต่ขณะเดียวกันการปฏิบัติการ io ก็ต้องยอมรับความจริงว่าฝ่ายความมั่นคงปัจจุบันเคยเจอมาแล้วหลายกลุ่ม ผมเชื่อว่าฝ่ายตั้งรับเขาคงจะได้คิดอ่าน ถึงเวลาเขารู้จังหวะที่จะรุกกลับ เพราะฉะนั้น จะต้องคิดให้รอบคอบมากที่สุด ซึ่งรอบข้างธนาธรหลายคนก็มีบทเรียนเรื่องการชุมนุมมาแล้ว”

ทั้งนี้ จตุพรเชื่อว่า ปัญหาปากท้องจะต้องเป็นปัจจัยสำคัญของการลงถนน คนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจอันแสนสาหัส แม้กระทั่งคนในรัฐบาลยังยอมรับว่าปีนี้ของจริงเผาจริง ไปที่ไหนก็เจอแต่คนที่ทุกข์ยาก คนที่เขาไม่มีทางออก จะส่งผลให้เขาเหล่านั้นตัดสินใจร่วมลงถนนกับธนาธร (ถ้าหากธนาธรเอาแน่ๆ)

แม้แต่คนที่เคยสนับสนุนผู้มีอำนาจในปัจจุบันก็ตาม

สิ่งที่น่ากังวลที่สุด คือการจัดงานคู่ขนานกัน ในวันที่ 12 มกราคม 2563 คืองานเดินเชียร์ลุง กับงานวิ่งไล่ลุง หรือกระทั่งช่วงที่ผ่านมามีการจัดเวทีสัมมนาหลายพื้นที่ในเวทีของสุเทพ เทือกสุบรรณ กับหมอวรงค์ พรรค รปช. ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 21 มกราคม ถ้ามีผลออกมาเป็นลบ (ซึ่งผมก็เชื่อว่าเป็นลบ) เนื้อหาต่างๆ ในทางคดีก็จะส่งผลให้สิ่งที่สุเทพเดินสายอยู่ในเวลานี้ ยิ่งไปเติมเต็มคุณสมบัติของคำว่า “ชังชาติ” ที่กล่าวหาธนาธร-อนาคตใหม่จนบริบูรณ์ ด้วยคำวินิจฉัยของศาล

การจัดงานคู่ขนานกันแบบนี้ ในประวัติศาสตร์เคยสอนเราไว้ว่า เหตุการณ์แบบนี้มีจุดจบเดียว ขีดเส้นใต้ไว้เลยว่า “รัฐประหารทุกครั้ง”

ลำพังแค่การยุบสภามันเป็นเพียงแค่ขั้นตอนหนึ่ง แต่นั่นไม่เคยทำให้เรื่องราวจบสิ้น ลองมองย้อนไปในห้วง 10 ปีนี้หรือถอยยาวไปถึง 30-40 ปี การยุบสภาไม่เคยจบ เพราะยามที่มีรัฐบาลรักษาการมักจะถูกยึดอำนาจ ยิ่งการจัดเวทีคู่ขนานครั้งนี้ที่หนักกว่าทุกครั้งในห้วง 10 ปี จะถอยกลับไปเหมือนปี 2519 เหมือน “6 ตุลาโมเดล” ที่เคยปลุกปั้นให้คนเกลียดชังกันหนัก ที่เคยบอกว่านักศึกษาไม่รักสถาบัน เป็นคอมมิวนิสต์ หรือเป็นคนญวนกินเนื้อหมา มีอุโมงค์ลับในธรรมศาสตร์ คนที่ถูกปลุกจนเกิดความบ้าคลั่ง ภาพที่เห็นอย่างภาพแขวนคอ ใช้ความรุนแรง แล้วมีคนปรบมือไชโยโห่ร้อง เกิดความชิงชังว่า คนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย จตุพรจึงมองปลายทางปัญหาการเมืองครั้งนี้จบที่การรัฐประหาร

ขณะเดียวกันก็อยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าท่านต้องไม่ขัดขวาง ต้องดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับคนที่มาร่วมงาน จากประสบการณ์ส่วนตัวมองว่าคนจะมาร่วมมากกว่า 2-3 เท่ากว่าที่ประเมิน แน่นอนต้องหวั่นเรื่องมือที่ 3 เท้าที่ 4 การสร้างสถานการณ์เกิดขึ้นได้ง่ายมาก จากสภาพแวดล้อมก็ดี และปัจจัยต่างๆ รัฐบาลจึงควรดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ถ้ามีใครสร้างสถานการณ์ทุกอย่างมันจะยิ่งจบเร็วมากขึ้น

ถ้าวันนี้รัฐบาลเองยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนแล้วก็พยายามอย่าทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเอง ด้วยการจัดกลุ่มคนกระทำการสวนกัน

วันนี้ต้องบอกว่าการเดินเชียร์ลุง หรือการเดินสายต่อต้านลัทธิชังชาติ เกิดขึ้นจากกลไกของรัฐบาลทั้งสิ้น ทุกอย่างจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากยิ่งขึ้น

จตุพรบอกอีกว่า ประเทศไทยต้องยอมรับความจริงว่าการรัฐประหารไม่มีครั้งสุดท้าย ทหารกับการเมืองไม่เคยแยกออกจากกันได้ ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไร

ยิ่งรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้เปิดช่องให้ทหารเข้ามายุ่งทุกรูปแบบ การเอา 6 ตำแหน่งเข้ามาอยู่ในกลไกรัฐธรรมนูญ ผู้บัญชาการทหารบกทางพฤตินัยเปรียบเสมือนกับประธานวิป ส.ว.ด้วยซ้ำ ถ้าผู้บัญชาการทหารบกบอกว่าข้าพเจ้าเห็นว่าควรจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ ผมถามว่าจะมีสมาชิกคนไหนที่จะเห็นต่างจาก ผบ.ทบ.บ้าง

เพราะฉะนั้น แบบมันถูกออกมาไว้ในกลไกของรัฐธรรมนูญให้อำนาจของ ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ 2 สมัย เป็น 5 ปีก็เท่ากับ 8 ปี แถมทุกกลไกมันบีบไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย แบบนี้มันจะนำไปสู่การรัฐประหารได้อย่างเดียว ไปสู่การฉีกได้เท่านั้น วันนี้ใครจะแตะอะไรไม่ได้เลย ปิดประตูมาตรา 256 อย่างที่ประธาน ส.ว. พรเพชร วิชิตชลชัย ให้ความเห็นไว้

ยิ่งการที่คุณชวน หลีกภัย เสนอเอา 6 ผู้บัญชาการเหล่าทัพออกจาก ส.ว. ก็มีเสียงต่อต้านออกมาแล้ว แล้วถามว่า ส.ว.คนใดยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปได้บ้าง เพราะต้องใช้เสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 84 คนสนับสนุน เพราะฉะนั้น อย่าว่าจะ 84 เสียงเลย แม้แต่เสียงเดียวก็จะยาก เพราะว่าเขามากันเป็นทีม จากที่เราเห็นมาก็มาหมด ไม่มาก็ไม่มาหมด

เพราะฉะนั้น มันเหมือนว่าแตะไม่ได้สักเรื่อง

ส่วนตัวเคยให้ความเห็นไปแล้วว่าการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรเกิดขึ้นเลย ถ้าพรรคฝ่ายค้านยอมมอบภารกิจนี้ให้ประชาธิปัตย์ไปทำแล้วเอาไว้เป็นเงื่อนไขต่อรองกับ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนหน้านี้เขาได้โฆษณาไว้ 2 เรื่องคือ 1.ไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ กับ 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้เขาเหลืออยู่ข้อเดียวที่ทำได้ แถมคุณใช้มันเป็นเงื่อนไขใช้อ้างตอนเข้าร่วมรัฐบาลซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ก็ยินยอมให้เขียนในนโยบายเร่งด่วนที่แถลงไว้ของรัฐบาล

คือ ผมมองว่าประชาธิปัตย์ควรจะเสนอร่างแก้ไขเลย โดยที่ไม่ต้องไปพูดถึงมาตราอื่นๆ เช่น เรื่องการโละ ผบ.ออกหรือการไม่อยากให้ ส.ว.เข้ามามีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ มันกลายเป็นว่าเพียงแค่เริ่มต้น เหมือนกับโยนฟืนเข้ากองไฟ ยิ่งลุกโชน

เพราะฉะนั้น ในรายละเอียดไม่ต้องเข้าไปยุ่ง เอาแค่ว่าเปิดประตู 256 ให้ได้ก่อน แล้วทุกวันนี้เหมือนฝ่ายค้านเข้าไปเล่นเกมของรัฐบาลอย่างไม่รู้ตัวเช่นกันด้วยซ้ำ

เขายินยอมให้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาแทบทุกเรื่อง ซึ่งรัฐบาล (ยกเว้นเรื่องมาตรา 44) ซึ่งที่ผ่านมาก็ใช้เวลาในการประชุมกันทุกสัปดาห์เกี่ยวกับการศึกษาเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งสุดท้ายผมอยากให้ลองดูว่าจะมีเรื่องไหนสำเร็จเป็นรูปธรรมบ้าง เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ควรจะต้องเป็นร่างการแก้ไขเลย ไม่ใช่มาศึกษา ฝั่งนู้นก็เล่นเกมโดยการเอาคนที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้มานั่งอยู่ในชุดคณะกรรมาธิการ

จะว่าไปแล้วประชาธิปัตย์ก็เหมือนแบ่งบทกันเล่น อย่างว่านักการเมืองที่ตระบัดสัตย์กับประชาชนโดยเฉพาะเรื่องที่ไม่เอาประยุทธ์ วิธีที่จะลบเรื่องราวเหล่านี้ได้คือเรื่องรัฐธรรมนูญเขาก็จะพยายามเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าคุณจะเอาจริงเอาจังคุณต้องเอาตัวเข้าแลก ไปเจรจากับหัวหน้ารัฐบาลว่าถ้าไม่ยินยอมให้มีการแก้ไขมาตรา 256 จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ถ้าเดินเกมนี้ ก็น่าสนใจ

แต่นี่มันรำวงคณะรัฐมนตรีที่ไปร่วมเขาก็รำเพลงหนึ่ง ผู้ที่อยู่ข้างนอกเป็น ส.ส.ก็รำกันอีกเพลงอีกทำนอง แบ่งบทกันเล่นไม่ได้ทะเลาะกันจริงๆ

กลายเป็นว่าคุณชวนเก๋าเกมที่สุด เพราะรู้ว่าภาวะอย่างนี้คนไม่พอใจเรื่อง 6 ผู้นำเหล่าทัพ ก็เลยให้เบอร์ใหญ่ลงมือเองเลย ประชาธิปัตย์เขาก็รู้ว่าถ้าไม่มีอีกซีกหนึ่งออกมาปฏิบัติการให้ตรงกับความต้องการของประชาชนเขาก็อาจจะได้น้อยกว่าเดิม จตุพรกล่าวทิ้งท้าย

ชมคลิปเต็มๆ ได้ที่