สนทนา รอง ผบ.ตร. แนวโน้มคดีปี63 เสริมเขี้ยว “นักสืบ” อาชญากรรมออนไลน์พุ่ง แก้ด้วยทฤษฎี “หน้าต่างแตก”

สถิติอาชญากรรมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติรวบรวมไว้ข้อมูลตั้งแต่ 1 มกราคม 2562-18 ธันวาคม 2562 แบ่งเป็น

ฐานความผิดเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย และเพศ จำนวน 15,893 คดี

ฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 45,458 คดี ฐานความผิดพิเศษ จำนวน 1,447 คดี

และฐานความผิดคดีที่รัฐเป็นผู้เสียหาย จำนวน 455,017 คดี

ขณะที่ความผิดที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย อาทิ แชร์ลูกโซ่ แชร์ออนไลน์ หลอกขายสินค้าและบริการ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ โรแมนซ์สแกม โดยสถิติการรับแจ้งเหตุเกี่ยวกับคดีคอลเซ็นเตอร์ ตั้งแต่ธันวาคม 2560-ตุลาคม 2562 มีทั้งสิ้น 514 คดี เสร็จสิ้นไป 501 เรื่อง มูลค่าความเสียหาย 260,437,332 บัญชีธนาคารที่คนร้ายใช้กระทำผิดทั้งสิ้น 859 บัญชี

สามารถอายัดบัญชีธนาคารได้ทั้งสิ้น 125 บัญชี

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ตร. งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ ที่รับรู้ในวงการ “มือฉมังสืบสวนสอบสวน” ได้ให้ความเห็นเรื่องแนวโน้มอาชญากรรมปี 2563 ไว้อย่างน่าสนใจว่า

อาชญากรรมคงไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก แต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปตามเทคโนโลยี และสภาพสังคมในปัจจุบัน เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยน วิธีการของคนร้ายก็เปลี่ยนไป แต่ก็ยังประสงค์ต่อทรัพย์เหมือนเดิม

พอสังคมทุกวันนี้ติดอยู่กับโลกโซเชียล จึงเป็นช่องทางที่จะก่ออาชญากรรม ส่วนใหญ่เราจะเจอเรื่องฉ้อโกงเป็นหลัก

พอมีเทคโนโลยีเข้ามา มันไม่จำกัดพื้นที่ความเสียหาย และขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว

การปกปิดร่องรอยต่างๆ ก็เปลี่ยนแปลงไป เพราะคนร้ายกับผู้เสียหายไม่ได้เจอหน้ากัน

นอกจากนี้ อาจมีความผิดอื่นบ้าง เช่น การกล่าวหาว่าร้าย การหมิ่นประมาทกัน การขายยาเสพติด ขายปืนเถื่อนออนไลน์

เมื่อรูปแบบอาชญากรรมเปลี่ยนไป ตำรวจก็ต้องพร้อมปรับตัวการทำงานให้สอดคล้องกัน ปัจจุบันเหตุเกิดครั้งหนึ่งมีผู้เสียหายทั่วประเทศ ในระยะเวลาสั้นๆ แต่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง คนร้ายเปลี่ยนมือทรัพย์สินไปเป็นรูปแบบต่างๆ

เรื่องแบบนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ยกตัวอย่างคดีไนซ์รีวิว เราก็บอกกับตำรวจทั้งประเทศว่าการรับแจ้งความร้องทุกข์ อย่าให้ผู้เสียหายต้องมาที่ส่วนกลาง เขาสะดวกแจ้งที่ไหน พนักงานสอบสวนที่นั่นต้องรับแจ้ง แต่ส่วนกลางจะเป็นคนรวมคดี เช่น คนอยู่ต่างจังหวัดหลายคน ถูกหลอกจากในโซเชียลที่เป็นแก๊งเดียวกัน เงินที่สูญเสียไปโอนจากบัญชีธนาคารแถวบ้านเขา เราก็ให้เขาแจ้งความตามภูมิลำเนานั้น ตำรวจต้องปรับตัว จะยึดติดกับอะไรเดิมๆ ไม่ได้ จะมารอเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปตามค้นบ้านผู้ต้องสงสัยหลายจุดตามต่างจังหวัดไม่ได้ เราต้องอำนวยการควบคุมสั่งการจากส่วนกลาง แต่ใช้กำลังในพื้นที่ ตอนนี้อาจจะมีข้อบกพร่องที่ว่าพนักงานสอบสวนในที่ห่างไกล ไม่ค่อยเข้าใจและมีประสบการณ์เรื่องพวกนี้น้อย ก็ต้องไปอบรมให้ความรู้ ในจังหวัดหนึ่งอาจจะมี 1 คนเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องรับทำคดี ต้องให้ความสะดวกกับประชาชนให้มากที่สุด” พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าว

พล.ต.อ.สุวัฒน์ยังกล่าวอีกว่า นอกจากตำรวจต้องปรับตัวในยุคที่อาชญากรรมเปลี่ยนแปลงไป ยังต้องเสริมเขี้ยวเล็บให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย

โดยหลังปีใหม่ 2563 จะจัดให้มีการฝึกอบรมให้ความรู้ทางด้านเทคนิคต่างๆ กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อให้ไปประจำอยู่ตามกองบังคับการสืบสวนทุกจังหวัด ใน 1 ทีม มี 5-10 คน และมีพนักงานสอบสวนที่มีความรู้มาอยู่ในทีมด้วย แม้ไม่สามารถทำได้ทุกโรงพัก แต่อย่างน้อยทุกจังหวัดต้องมี

การทำงานแข่งกับอาชญากรรมออนไลน์ ต้องมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้พอสมควร การเก็บหลักฐานทางดิจิทัล ฝ่ายสืบสวนต้องเข้าใจว่าจะเก็บอะไรจากตรงไหน

จากนั้นจะมาดูว่าต้องอบรมทีมงานพวกนี้อย่างไรบ้าง ต้องทำงานให้เร็ว ให้มีประสิทธิภาพ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบอาชญากรรม

นอกจากรูปแบบการก่ออาชญากรรมที่มีรูปแบบเปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบันเมื่อคนร้ายลงมือก่อเหตุ มักหนีความผิดไปต่างประเทศ ในส่วนนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์กล่าวว่า เพราะการเดินทางสมัยนี้สะดวกมากขึ้น ผู้ต้องหาบางรายก่อเหตุวันเดียวเสร็จข้ามไปต่างประเทศเลย ตำรวจยังไม่ทราบว่าเป็นใคร

กรณีแบบนี้เราก็ต้องหาวิธีรับมือ โดยการพูดคุยกันระหว่างประเทศ จะมีวิธีการร่วมมือแบบใด อาทิ ความร่วมมือด้านข่าวสาร การร่วมมือกันทางปฏิบัติ กฎหมายแต่ละประเทศมีข้อจำกัดก็ต้องมาดูสิ่งไหนพอที่จะหาจุดร่วมกันได้

เช่น ผู้ต้องหายาเสพติดหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน เราขอให้เขาให้ข้อมูลได้หรือไม่ ในขณะเดียวกันเราทำข้อแลกเปลี่ยนให้เขาได้หรือไม่เช่นกัน สิ่งที่เปลี่ยนไปไม่ใช่ความร่วมมือแบบเดิมๆ ที่การส่งผู้ร้ายข้ามแดนผ่านช่องทางอัยการ สมัยนี้มันไม่ทันการณ์

รอง ผบ.ตร. ยังกล่าวถึงทฤษฎีที่ช่วยลดปัญหาอาชญากรรม ที่ใช้ปฏิบัติมาตลอด คือ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก” หรือ Broken windows theory โดยนักอาชญาวิทยาชาวสหรัฐอเมริกาสองคน คือ เจมส์ คิว วิลสัน และจอร์จ แอล เคลลิ่ง

นั่นคือการจัดระเบียบสังคม มีแนวความคิดที่ว่า ถ้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้คนในชุมชนละเลยไม่สนใจที่จะรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในชุมชนของตัวเองอย่างจริงจัง สภาพความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยนั้นจะพัฒนาไปสู่การเกิดอาชญากรรมในที่สุด เช่น เมื่อเจอปัญหาเล็กๆ เหมือนหน้าต่างแตกมีรอยร้าวนิดหน่อย ถ้าเจ้าหน้าที่ละเลยคิดว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเรื่องเล็กๆ ควรจัดการก่อนที่จะขยายตัว

ตำรวจไทยต้องปรับตัวการทำงานให้ทันยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เป็นสิ่งท้าทายที่ต้องทำให้ได้ เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน