ศัลยา ประชาชาติ : เศรษฐกิจไทยอ่วมศึกใน-ศึกนอก ทั้งภัยแล้ง วิกฤตสหรัฐ-อิหร่าน

ผ่านพ้นปีหมูไฟ เข้าสู่ปีหนูทองยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ ทั่วโลกก็พากันลุ้นระทึก เพราะหวาดหวั่น “หมูทอง” จะกลายร่างเป็น “หนูมฤตยู” จากข่าวร้าย ปัจจัยลบที่ประดังประเดเข้ามาแต่หัววัน ทั้งไฟป่าครั้งใหญ่สุดในออสเตรเลียที่ยังคุมไม่อยู่ พื้นที่ 50,000 ตร.ก.ม.วอดไปกับเปลวเพลิว สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน 1.3 พันหลัง คร่าชีวิตสัตว์ป่าไปแล้วกว่า 500 ล้านตัว ก่อให้เกิดความสูญเสียต่อเศรษฐกิจมหาศาล

ตามด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสหรัฐอเมริกากับอิหร่าน ภายหลังเกิดเหตุลอบสังหารนายพลอิหร่าน “คัสเซม โซไลมานี” จากคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2563

ซึ่งเหตุการณ์นี้รุนแรงกว่าเหตุโดรนถล่มโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทน้ำมันในซาอุดีอาระเบียช่วงปลายปี 2562

ขณะที่อิหร่านประกาศจะตอบโต้ทุกวิถีทาง สร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่ายที่หวั่นเกรงว่าปัญหาความขัดแย้งอาจบานปลายกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 3 โดยเฉพาะการประกาศชักธงรบ โดยสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงกลาโหมสหรัฐหรือเพนตากอนระบุว่าอิหร่านทำการโจมตีฐานทัพทหารสหรัฐและกองกำลังชาติพันธมิตรในอิรัก เมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา

ประเด็นนี้กระทบไปถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ล่าสุด ที่ปรับสูงขึ้นทันที อาทิ น้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งพรวดขึ้นไป 4% เสี่ยงจะทะลุ 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาทองคำในตลาดโลกขยับขึ้นกว่า 1,600 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

และแน่นอนว่าเศรษฐกิจไทยที่ล้มลุกคลุกคลานอยู่แล้ว ย่อมได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากวิกฤตความขัดแย้งดังกล่าวด้วยอีกทางหนึ่ง

 

ขณะที่ทั่วโลกกำลังวุ่นวายและตึงเครียดจากศึกใหญ่ “ประเทศไทย” ก็เจอศึกภายในร้อนระอุไม่น้อยไปกว่าศึกภายนอก ไล่เรียงจาก “ปัญหาภัยแล้ง” ที่ส่อเค้าว่าจะรุนแรงสุดในรอบ 50 ปี และเมื่อเทียบกับวิกฤตแล้งปี 2562 ที่เคยสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 37,000 ล้านบาท รอบนี้เพิ่งเข้าสู่หน้าแล้งเพียง 2 เดือน นับจาก 1 พฤศจิกายน 2562 แต่ “สถานการณ์น้ำ” ในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศเริ่มวิกฤต

ปริมาณน้ำที่กักเก็บในอ่างเหลือเพียงร้อยละ 61 ของความจุอ่าง หรือ 46,549 ล้าน ลบ.ม. ในจำนวนนี้เป็นปริมาณน้ำใช้การได้เพียงแค่ร้อยละ 44 หรือ 22,721 ล้าน ลบ.ม. เสี่ยงขาดแคลนน้ำ หากไม่มีฝนมาเติม

และไม่ใช่เพียงแค่น้ำต้นทุนที่น้อยเท่านั้น แต่สถานการณ์ปัญหาน้ำเค็มหนุนสูงอย่างรวดเร็ว และเริ่มส่งสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปี 2562

โดยค่าความเค็มช่วงเดือนธันวาคมบางจุดที่เริ่มเกินมาตรฐานที่กำหนด 0.25 กรัม/ลิตร ผ่านไปไม่ถึงสัปดาห์ ค่าความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหลายจุดเกินมาตรฐานมากขึ้น ส่งผลให้น้ำประปามีรสกร่อย ผู้บริโภคหลายพื้นที่ต้องหันไปซื้อน้ำบรรจุขวดบริโภคแทนน้ำประปา

เพื่อรับมือวิกฤตแล้ง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 มกราคม 2563 ได้อนุมัติงบฯ กลางประจำปี 2563 ฉุกเฉิน 3,079 ล้านบาท เร่งรัดโครงการด่วนใน 57 จังหวัด ตามแผนบริหารจัดการน้ำที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุศึกนอก-ศึกในรุมเร้ารอบด้าน ทำให้ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจ 2563 ใหม่

โดยคาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 2.5-3.0% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งล่าสุด 4 ธันวาคม 2562 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2562 จะขยายตัว 2.7-3.0% โดยรายได้จากการส่งออกมีโอกาสติดลบ 2% ถึง 0% เพราะไร้แรงหนุนจากปัจจัยบวก จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก กำลังซื้อหด และที่สำคัญ “เงินบาท” แข็งค่าขึ้นถึง 6% ทำให้สินค้าส่งออกไทยแข่งขันได้ลำบาก

บวกกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ล่าช้าจากปีปกติออกไปอย่างน้อย 4 เดือน จากเดิมที่เริ่มเบิกจ่ายเดือนตุลาคม 2562 ลากยาวถึงไตรมาส 1 ปี 2563 ขณะที่รายได้จากเม็ดเงินลงทุนภาคเอกชนที่ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อ 2562 ยังไม่ได้เริ่มลงทุน และรายได้การท่องเที่ยวลดลงต่ำกว่าเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน

กระทบต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพ “ลูกผีลูกคน” เครื่องยนต์เศรษฐกิจ 4 เครื่องหลัก ทั้งการส่งออก การบริโภค การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชนยังวิกฤต ผลพวงจากปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ

 

ทั้งศึกนอกจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ยังยืดเยื้อ แม้จะพักรบแต่สองฝ่ายยังต้องเจรจากันนัดสำคัญในกลางเดือนมกราคมนี้ กับที่สหรัฐจ่อจะตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าไทย 573 รายการในเดือนเมษายน 2563 และปัญหาค่าบาทแข็ง ที่มีแนวโน้มว่าอาจแข็งค่าหลุดกรอบถึง 28 บาท หรือปัจจัยลบภายในการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำเมื่อ 1 มกราคม 2563 กระทบต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ภัยแล้งที่อาจสร้างความเสียหายต่อภาคเกษตร อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 5,000-10,000 ล้านบาท ฯลฯ จึงเป็นตัวแปรที่ยังต้องจับตาและเกาะติดสถานการณ์

โดยเฉพาะ “วิกฤตสหรัฐ-อิหร่าน” ที่กำลังบานปลายไปถึงประเทศที่เป็นพันธมิตรของสองฝ่าย อาจเอฟเฟ็กต์ต่อความมั่นคงและราคาพลังงาน หากอิหร่านปิดช่องแคบฮอร์มุซซึ่งจะเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมัน 1 ใน 4 ของโลก จะมีผลทำให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น กระทรวงพลังงานจึงเตรียมรับมือด้วยการสต๊อกน้ำมันไว้ใช้ 50 วัน พร้อม “มาตรการเสริม” หากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในโลกปรับขึ้นผิดปกติ เช่นว่าแพงขึ้นทันที 5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลใน 1 สัปดาห์ จะดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 37,000 ล้านบาทเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันหลัก B10 ไม่ให้สูงเกินลิตรละ 30 บาท

ขณะที่ภาคการส่งออกก็เตรียมความพร้อม กรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรงจะทำให้เส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือตรงไปยังตลาดตะวันออกกลางผ่านช่องแคบฮอร์มุซเกิดปัญหาชะงักงัน และระหว่างนี้ผู้ส่งออกจะมีต้นทุนประกันภัยสินค้าสูงขึ้น แม้จะมีสัดส่วนเพียง 1% แต่เมื่อร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นก็อาจทำให้ผู้ส่งออกมีปัญหา

เศรษฐกิจปีหนูมฤตยู คงต้องรอวัดฝีมือการขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจจากการลงทุนภาครัฐ-เอกชน โดยเฉพาะเม็ดเงินการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี หากเกิดขึ้นได้จริง อาจช่วยต่อลมหายใจเศรษฐกิจไทยได้