ในประเทศ : ส่องศึกในพรรคเพื่อไทย จากรอยร้าวสู่รอยแยก

นับแต่หลังการเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา “พรรคเพื่อไทย (พท.)” มีการปรับทัพรับศึกนอกครั้งใหญ่ในรอบหลายปี

แกนนำพรรคชุดเก่าที่ถูกเรียกว่าชุดรักษาการยามรัฐประหารถูกโละออก ตั้งคนชุดใหม่แต่หน้าเก่าเข้านั่งในตำแหน่งสำคัญๆ หลายตำแหน่ง

ไล่ตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ดัน “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” ส.ส.เชียงใหม่ขึ้นมาแทน “วิโรจน์ เปาอินทร์” เพื่อให้การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผู้นำฝ่ายค้าน” สง่างาม มีน้ำหนัก

ตำแหน่งเลขาธิการพรรค ได้ “เสี่ยป๊อป” น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ นั่งในตำแหน่งนี้แทน “ภูมิธรรม เวชยชัย”

ไปจนถึงการตั้งรองหัวหน้าพรรคนับสิบคน มากเป็นประวัติการณ์

การปรับทัพปรับโครงสร้างครั้งนี้ทำให้ “ขั้วอำนาจ” ในการบริหารงานในพรรคเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

“เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก้าวขึ้นมามีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหาร และขับเคลื่อนพรรคผ่านการสนับสนุนของ “นายหญิงบ้านจันทร์ส่องหล้า” อย่างชัดเจน

ผนวกกับการสนับสนุนของ “ลูกโอ๊ค” พานทองแท้ ชินวัตร ที่ออกแรงเชียร์อย่างเปิดหน้าชัด

ทำให้นักการเมืองน้อยใหญ่ในพรรคต้องอยู่ในสภาวะสงบนิ่ง เพราะแบ๊กอัพครั้งนี้ของ “คุณหญิงหน่อย” ทรงพลังอย่างมากในพรรค พท.

 

“ขั้วผู้บริหารเก่า” อย่าง “เฉลิม” ก็ดี “ภูมิธรรม” ก็ดี ถอยออกห่างจากการบริหารพรรค ให้ “คุณหญิงสุดารัตน์” เดินหน้าเต็มเพาเวอร์ โดยมีเสียงกระซิบบอกว่า ผู้ใหญ่หลายคนไม่อยากสอดมือข้างไหนเข้าไปช่วยหรือไปขวาง เพราะเกรงว่าหากบริหารแล้วไปไม่รอด จะติดร่างแหว่าขวางทางไม่เข้าท่า

ช่วงที่ผ่านมาทุกคนเลยปล่อยมือให้ “สุดารัตน์” ว่าไปเต็มที่

แต่การสงบสยบนิ่งเพราะถูกกด ไหนเลยจะกดได้ตลอด การปรับทัพเพื่อรับศึกนอก กลับกลายเป็นปัญหาสร้างรอยร้าวในพรรคต้องกลับมาแก้ปัญหาในบ้านตัวเอง

เมื่อ “ขั้วอำนาจใหม่” ไม่ได้ใจ “ส.ส.เก่า” ที่เก๋าอยู่ในพรรคไม่น้อย

ตั้งแต่ส่ง “เสี่ยป๊อป” มานั่งตำแหน่ง “เลขาธิการพรรค” แต่ยังห่างเหินเมินเฉยไม่คลุกคลีตีสนิทกับบรรดา ส.ส.อีสานอีกด้วย อีกทั้งยังลามมาถึงความไม่ได้ใจจนเกิดความรู้สึกว่า “เจ๊หญิงหน่อย” ดูแล “คนใกล้ตัว” มากกว่า ส.ส.ทั่วไป

จนใครๆ ก็รู้สึก ตำแหน่งกรรมาธิการ (กมธ.) ตลอดจนถึงคิวการอภิปราย คิวขอหารือในสภา ต้องให้ “เด็กคุณหญิง” ก่อน จนเกือบจะเกิดเป็นข้อพิพาทกันในไลน์กลุ่ม ส.ส.ของพรรค

ไม่ได้ใจ เหตุเพราะตั้งความหวังว่า “ขั้วใหม่” จะเข้ามาทำการเมืองในพรรคให้ราบรื่น เรียบร้อย แต่กลับเข้าอีหรอบเดิมคือ แบ่งข้าง เล่นพรรคเล่นพวก สับสนกันไปหมด ไม่ได้งัดเอาผลงานมาเป็นเกราะกำบัง แต่กลับเอาคนมาชนกันเพื่อเป็นเกราะให้ตัวเอง

กลายเป็นคลื่นระลอกใหม่ที่เข้ามาเขย่าเรือของแม่ทัพ “สุดารัตน์”

 

เรื่องภายในพรรคที่ว่ากันด้วย ส.ส.ก็เรื่องหนึ่ง แต่ปัญหาที่มีใน “เพื่อไทยยุคสุดารัตน์” เริ่มต้นมาจากกรณีที่มีข่าวเรื่องการเว้นว่าง ไม่ส่งผู้สมัครในนามพรรคลงชิงเก้าอี้ “ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร” เป็นการเปิดทางให้ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ที่ประกาศตัวว่าจะลง “อิสระ” เดินหน้าลุยเต็มที่ จะได้ไม่ตัดคะแนนกันเองจนพ่ายต่อคู่แข่ง

ทำให้ “ส.ส.กทม.” ของพรรค พท.ที่ใครๆ ก็รู้ว่าอยู่ภายใต้การนำของ “เจ๊หน่อย” ออกแถลงการณ์ค้านแนวคิดดังกล่าว ร้อนถึงผู้ใหญ่ในพรรคต้องออกมาให้ข่าวเบรกไว้ว่า ไม่ใช่มติพรรค แรงไปจนถึงขนาดว่าต้องปิดห้องเคลียร์ใจที่งานสัมมนาพรรคที่หัวหิน

ความไม่ปลอดภัยของ “คุณหญิงหน่อย” มีมากอยู่แล้วฐานะผู้นำพรรคที่คุมใจ ส.ส.ได้ไม่เต็มร้อย การไม่ส่งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรค แล้วปล่อย “ชัชชาติ” เดินหน้าคว้าชัย กลายเป็นความไม่ปลอดภัยบนเก้าอี้ “เจ้าแม่ กทม.” ไปอีกด้วย ไฉนเลยเจ้าตัวจะทนนั่งอยู่เฉยได้ การบินไป “ดูไบ” เพื่อเจรจากับ “นายใหญ่” เรื่องการส่งผู้ว่าฯ กทม. จึงเกิดขึ้น

แต่กลับมาพร้อมความผิดหวัง

 

ควันไฟยังไม่ทันจางหลังกลับมาจากดูไบ กรอบเวลา 6 เดือนที่ “เจ๊หน่อย” ขอแสดงผลงานก็งวดมาแบบนับถอยหลัง แต่ข่าวว่า “ไม่ผ่านการประเมินผลงาน” หนาหูมาจากทุกทิศทุกทาง

ทั้งจากสารพัดปัจจัย หลายเรื่องตั้งแต่ขั้วใหม่ ภายใต้การขับเคลื่อนของ “แม่ทัพหน่อย” ยังจับต้องไม่ค่อยได้ ไม่นับรวมกับความแตกแยกในพรรค

ความหวังสุดท้ายที่จะโชว์ผลงานและเพาเวอร์ คือศึกเลือกตั้งซ่อม เขต 7 จ.ขอนแก่น พื้นที่เมืองหลวงที่ไม่เคยพ่ายแพ้ของพรรค พท. การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ “เพื่อไทย” ทุ่มสรรพกำลังทุกอย่าง ทั้งกำลังคนและงบประมาณใช้หาเสียง นั่นก็เพื่อรักษาที่มั่นสำคัญของพรรค พท.เอาไว้ไม่ให้ใครตีแตก

เพราะเพื่อไทยรู้ดีว่า หากคู่แข่งอย่าง “สมศักดิ์ คุณเงิน” ตีแตก ด้วยชั้นเชิงในการทำพื้นที่อาจทำให้เสียพื้นที่ส่วนนี้ไปยาวนาน แต่ผลการเลือกตั้งก็ออกมาว่า “เพื่อไทย” พ่าย และเป็นการพ่ายท่ามกลางการนำทัพของ “เจ๊หน่อย” นั่นเอง แม้จะพยายามบอกว่าเป็นการพ่าย “อำนาจรัฐ” และ “อำนาจเงิน” แต่คะแนนก็ห่างกันไม่มาก

“การเลือกตั้งซ่อมเชียงใหม่” เป็นโมเดลให้เห็นแจ่มชัดอยู่ว่า ชัยชนะ “ถล่มทลาย” สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ครั้งนี้ไม่เกิด เหตุนี้ทำเอา “แม่ทัพ” เสียศูนย์ ประกาศในหลายวงประชุม เช่น กลางวงประชุมยุทธศาสตร์พรรค พท.ว่า การพ่ายศึกเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่นนั้น

เจ้าตัวจะขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

หลายบทพิสูจน์ที่ผ่านมา ทำให้ศึกใหญ่อย่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลจึงต้องเปลี่ยนแม่ทัพใหม่มาคุมศึก ด้วยการส่งเจ้าพ่อบางบอนอย่าง “เสี่ยเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง อดีตรองนายกฯ ที่พอจะมีบารมีกับ ส.ส.มากพอจะเข้ามาขัดตาทัพทำศึกซักฟอก

การตั้ง “เฉลิม” ให้เป็นประธานคณะกรรมการกิจการพิเศษขึ้นมาดูเรื่องการอภิปรายนี้ แม้จะมีการพยายามอธิบายว่าเป็นการแบ่งงาน หรือแบ่งบทบาทหน้าที่ให้ช่วยกันทำงานเพื่อพรรคก็ตาม แต่ภาพที่ปรากฏก็ทำให้เห็นชัดว่า “คุณหญิงสุดารัตน์” ถูกทอนอำนาจในการนำพรรค

แบบนี้ “คุณหญิงหน่อย” จะทนนั่งนิ่งวางตัวเฉยได้หรือ ไล่ตั้งแต่การนัดพบปะพูดคุยกับหลายกลุ่ม หลายฝ่าย รวมทั้งมีกระแสข่าวว่าอาจจะต้องไปอยู่พรรคใหม่ เพราะอยู่พรรค พท.คงไม่มีใครปลื้ม

มีการสั่งคนให้เข้าไปเก็บข้าวของ (จนคนเห็น) ที่ห้องทำงานชั้น 8 ตึกพรรค พท.

 

พร้อมกับมีการปล่อยข่าวว่าจะลาออกจากตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค แต่ผู้ใหญ่ในพรรคหลายคนยั้งไว้ ว่าขอให้อยู่ และทำหน้าที่ต่อไป

จวบจนมีคนออกมาให้ข่าวว่า การยื่นใบลาออกนั้น “เจ้าแม่ลาดปลาเค้า” เลือกส่งไปที่ “นายใหญ่” และ “นายหญิง” แทนที่จะยื่นมาที่หัวหน้า หรือคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) เพื่อให้เป็นผลทางกฎหมาย ก็เพื่อให้ “นาย” ทั้งสอง รั้งไว้เหมือนอย่างที่เคยทำอยู่เสมอ

เสียแต่ว่าครั้งนี้ “นาย” ทัดทานพอเป็นพิธี ไม่ได้รั้งไว้สุดใจแบบครั้งก่อนๆ

ทำให้ “เจ๊หน่อย” เป๋ไปพักหนึ่ง ก่อนพลิกเกมโดยการจัดเลี้ยง ส.ส.กทม. และ ส.ส.ของพรรค พท.ที่บ้านพักย่านลาดปลาเค้า เพื่อฉายภาพให้ “ใครบางคน” เห็นว่าเจ้าตัวยังมีพลัง มีเพาเวอร์ และมีความรักจาก ส.ส.ในพรรคเปี่ยมล้น พร้อมใช้โอกาสนี้ประกาศสยบข่าวลือว่า “ไม่มีลาออก” ยังจะอยู่เป็นแรงสนับสนุนพี่ๆ และพรรค พท.ต่อไป

ในขณะที่พูดปลุกใจให้ ส.ส.ในพรรครักและสามัคคีกันต่อไป ก็มิวายส่งเสียงค่อนแคะไปถึงใครบางคนว่า “ถ้าให้ทำงานก็ทำ ถ้าไม่ให้ทำก็พร้อมเป็นคนสนับสนุน”

และเหน็บใครอีกคนว่า “ขอรับผิดไว้เองที่ทำให้ไม่ชอบ” ไว้ลายสมฉายา “สวยแต่เจ็บ”