เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | วิกฤตของภาษาและหนังสือ

ศักดิ์สิทธิ์แห่งภาษา เป็นปัญญาอันเยี่ยมยล

ปรุงคนให้เป็นคน ให้เข้าใจต่อใจกัน

เป็นอารยธรรม อันส่ำสมและสร้างสรรค์

เป็นภูมิปัญญาบรร- พบุรุษดำรงทรง

ภาษาจักพาสาร มาจดจารประจงลง

จักรวาลพึงพิศวง ด้วยอำนาจแห่งภาษา ฯ

เมื่อวันศุกร์ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา มีประชุมเสวนารับฟังความคิดเห็นเรื่องความสำคัญและปัญหาภาษาไทยในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสภาพการณ์ของหนังสือที่เป็นอยู่เวลานี้ สถานที่ ณ หอศิลป์ กทม.

จัดโดยสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มี รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร เป็นนายกสมาคม โดยมีคณะอนุกรรมาธิการศิลปะและวัฒนธรรมของวุฒิสภามาร่วมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาในโอกาสที่จะมีการเสนอโครงการจัดตั้งสถาบันเกี่ยวกับภาษาและหนังสือต่อไป

ตัวแทนจากหลากหลายองค์กรที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น เช่น ผู้จัดพิมพ์ ผู้แปล ผู้สอน นักการศึกษา ฯลฯ โดยเชิญคุณมกุฏ อรฤดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เป็นผู้อภิปรายนำในฐานะร่วม ที่มีบทบาทร่วมรณรงค์เรื่องนี้มาแต่ต้น

จากปัญหาสั่งสมทำให้สภาพการณ์ด้านภาษาและหนังสือบ้านเราวันนี้อาจถึงขั้นวิกฤตแล้วก็ว่าได้

โดยรูปธรรม เช่น การปิดตัวของตลาดหนังสือ ทั้งนิตยสาร หนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ รวมถึงหนังสือเล่มที่วางจำหน่ายมียอดลดลง

จริงอยู่แม้บทบาทสื่อยุคใหม่จะเข้ามาแทน แต่ก็ยังมิอาจประเมินค่าเทียบกันได้กับรสนิยมการอ่านหนังสือที่ลดลงอย่างน่าใจหาย

โดยนามธรรม คือการที่สังคมตกเป็นเหยื่อของกระแสโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น ผู้คนขาดความมั่นคงในหลักคิดที่ถูกต้อง พลอยหลงไปกับค่านิยมจอมปลอมมากขึ้น สภาวะเช่นนี้คือความอ่อนแอที่พร้อมจะแตกร้าว แตกแยกและแตกหักในที่สุด

ไม่น่าเชื่อว่าสภาวะวิกฤตของสังคมเช่นนี้จะมีที่มาจากวิกฤตของภาษาและหนังสือ ซึ่งพูดโดยสำนวนก็ว่า “อย่างมีนัยยะสำคัญ” เอาเลยทีเดียวก็ว่าได้

ตัวอย่างวิกฤตภาษา เช่นคำ “ประชาธิปไตย” ซึ่งต่างคนก็ต่างเข้าใจ ต่างตีความไปต่างกัน จนถึงแบ่งพวกแบ่งฝ่ายเข้าห้ำหั่นกันนั่น

ต้องยอมรับเบื้องต้นกันก่อนว่า ภาษาไทยนั้นมีรากจากบาลี-สันสกฤตร่วมเป็นรากเดิมหรือรากแก้วกว่าครึ่งก่อน ดังนั้น ความหมายของคำแต่ละคำจึงมีลักษณะ “เกลื่อนกลาย” จนอาจตีความไปต่างๆ นานา จนยากจะหาความลงตัวได้

เช่นคำประชาธิปไตย ที่เรามัก “ฉวยใช้” กันอยู่นี้ ก็ต่างนำมาใช้ตามโอกาสและจังหวะจำเพาะกาล ทั้งเป็นข้ออ้างที่จะปฏิเสธไม่ทำ และหรือเป็นวิธีการที่จะกระทำการหนึ่งใด

ถามชาวบ้านก็ว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ขยายความคือเลือกผู้แทน

นักวิชาการประชาธิปไตยคือระบบหลักประกันสิทธิหน้าที่และเสรีภาพของประชาชน

นักการเมืองก็ว่า ประชาธิปไตยคือผลประโยชน์ของประชาชนผ่านอุดมการณ์ของพรรคการเมือง

นักอุดมคติก็ว่า ประชาธิปไตยคือประชาชนเป็นใหญ่

นักธรรมก็จะวิสัชนาว่าประชาธิปไตยคือประโยชน์ของประชาเป็นใหญ่

แม้คำว่า “ประชา” ในศัพท์ประชาธิปไตยเองก็เถิด ก็ต่างคนต่างเข้าใจ ต่างตีความไปต่างๆ กันอย่างหาที่สุดมิได้เช่นกัน

นี่คือตัวอย่างแค่คำเดียว

เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราดำรงอยู่ร่วมกันเป็นผู้คนแต่ละคน เป็นกลุ่มคน เป็นสังคม ทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ล้วนต้องอาศัยภาษาเป็นสื่อเพื่อเข้าใจซึ่งกันและกันด้วยกันทั้งสิ้น

ภาษาจึงมีส่วนทั้งสร้างสรรค์และทำลาย “อย่างมีนัยยะสำคัญ” ด้วยประการฉะนี้

ผลสรุปจากเวทีเสวนาเสนอความคิดเห็นวันนั้นมีหลากหลายประเด็น ซึ่งจะรวบรวมนำเสนอเพื่อการขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปในเชิงโครงสร้างต่อไป

โครงสร้างที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันก็คือ สถาบันที่เกี่ยวกับภาษาและหนังสืออันเป็นเอกเทศโดยความร่วมมืออย่างได้ดุลยภาพของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ดังเป็นการสานพลังสามภาคส่วนด้วยกัน

เรื่องนี้เคยเสนอกันไว้แล้วต่อกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งคงต้องผลักดันให้ขับเคลื่อนกันต่อไป

ประเด็นปัญหาของงานด้านภาษาและวรรณกรรมหรือหนังสือ ที่สำคัญเช่น

ปัญหา “ไม่รักการอ่าน” ซึ่งมักรณรงค์ไม่ถูกที่ถูกทาง อันตรายของคนไม่รักการอ่าน คือคำของปราชญ์ที่ว่า

“คนที่รู้หนังสือแต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้หนังสือ”

อันตรายของ “คนไม่รู้หนังสือ” เป็นอย่างไร คนที่รู้หนังสือแหละรู้ดี

ประเด็นปัญหาอื่นคือ งานแปลวรรณกรรมดีๆ ทั้งจากภาษาอื่นเป็นภาษาไทย และจากภาษาไทยเป็นภาษาอื่น

ได้ทราบว่าบางประเทศเขามีกองทุนสนับสนุนทั้งการแปลและการพิมพ์เผยแพร่วรรณกรรมดีๆ ที่เขาคัดสรรให้ประเทศใดก็ตามที่ขอไปดำเนินการ ทั้งนี้เพราะเขาเห็นว่าวรรณกรรมเหล่านั้นเป็นตัวแทนและหน้าตาของประเทศโดยตรงเสียยิ่งกว่าการโฆษณาประชาสัมพันธ์ใดๆ

ประเทศที่ผู้คนเขารักการอ่านก็จะตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ ซึ่งต่างกับประเทศที่ผู้คนไม่รักการอ่านก็จะไม่ตระหนักและไม่ตระหนกถึงภัยของการ “ไม่รักการอ่าน”

ยังมีปัญหาปลีกย่อยอื่น เช่น ปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ ซึ่งเวลานี้กำลังจะมีกฎหมายเรื่องลิขสิทธิ์มาแทนเรื่องกรรมสิทธิ์กันอยู่

รวมถึงเรื่อง “จริยสิทธิ์” อันเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับนานาชาติ และยุคสมัยของโลกในวิถีก้าวกระโดด

อันเรายังงุ่มง่ามตามต้อยๆ เขาอยู่นี่

ผงเข้าตา

คิดอย่างฝรั่งคิด

ต้องฟุดฟิดและฟอไฟ

เสื้อนอก กับเน็กไท

นั่นคือ วัฒนธรรม

ความเจริญจรัสแสง

คือเรืองแรงและรวยร่ำ

ของดีที่เลิศล้ำ

ต้องเมดอิน ยูเอสเอ

ของกิน หรือเครื่องใช้

ศิวิไลซ์ และโก้เก๋

ของนอก นั่นแหละเท่

ถ้าของไทย บรรลัยเชย

ทำตัวให้เป็นหรั่ง

ตั้งแต่ชื่อ ไปเชียวเหวย

ทุกอย่างจึงลงเอย

ว่าเอาอย่าง ฝรั่งดี

เพลงไทย ก็เพลงเชย

เอิงเงิงเงย ทั้งตาปี

ต้องฟังเพลงหรั่งซี

ถึงเซ็กซี่ สะบึมใจ

คิดอย่างฝรั่งคิด

คือฟุดฟิด และฟอไฟ

ชีวิต วิญญาณไทย

จึงขายถูก เป็นธรรมดา

มองหา ก็ไม่เห็น

ความเป็นจริง ประจันหน้า

เขี่ยผง ที่เข้าตา

ออกเสียที เถิดเพื่อนไทย!

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์