88 ปีหมอประเวศ วะสี กับมุมเล็กๆ ในครอบครัว และมุมใหญ่ในประเทศ ที่อย่าขาด “ความเป็นธรรม”

หากดูหุ่นและหน้าตาคงไม่สามารถรู้ได้ว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.ประเวศ วะสี อายุ 88 ปีแล้ว เพราะยังดูกระฉับกระเฉง สามารถยืนปาฐากถาบนเวทีได้ยาวนานมากกว่าครึ่งชั่วโมง ความจำแม่นยำ สุขภาพยังแข็งแรงสมบูรณ์ แตกต่างจากผู้สูงวัยทั่วไป

ล่าสุดเขียนหนังสือเรื่อง “สุขภาพบูรณาการ ความสุข สุขภาพดี อายุยืน สำหรับทุกคน”

หมอประเวศบอกว่า ก่อนหน้านี้ตอนอายุไม่ถึง 80 สุขภาพดียังไม่กล้าเขียนเรื่องอายุยืนเพราะกลัวว่าอาจจะอายุไม่ยืนจริง แต่พอเลย 80 เลยกล้าเขียนเพราะอยากให้คนอื่นได้มีสุขภาพดีและอายุยืนเช่นกัน

“น้ำหนักผมตั้งแต่หนุ่มจนถึงตอนนี้ก็ยังเหมือนเดิม ภรรยา (พญ.จันทพงษ์ วะสี) เขาไม่ค่อยพอใจ เพราะมีเสื้อตัวหนึ่ง ใส่ตั้งแต่แต่งงานก็ยังใส่ได้ ขณะที่ภรรยาตัวเขาโตขึ้น เขาเลยไม่พอใจว่าเรายังเหมือนเดิม”

หมอประเวศพูดไปหัวเราะไปอย่างอารมณ์ดี

ราษฎรอาวุโสท่านนี้พูดถึงเคล็ดลับการมีสุขภาพดีและอายุยืนว่า “อันดับแรกต้องออกกำลังกายเป็นประจำ เมื่อก่อนนี้ผมวิ่ง แต่ตอนหลังอายุมากขึ้น ไม่ได้วิ่งแล้ว แต่เน้นวิดพื้น โดยออกกำลังเช้าและเย็นครั้งละ 20-30 นาที โดยออกกำลังกายด้วยการทำ 2 อย่างคือ ตอนเช้า วิดพื้น และตอนเย็น โหนชิงช้า”

นอกจากจะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายแล้ว ยังเน้นในเรื่องอาหารการกินด้วย

อย่างที่บอก อย่าไปกินเนื้อสัตว์มาก พยายามกินผักเยอะๆ กินเนื้อสัตว์มากไม่ดีต่อสุขภาพ อันนี้เป็นที่รู้กัน อย่าไปกินแบบฝรั่ง

ที่จริงอาหารไทยดีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแกงส้ม แกงเลียง น้ำพริก เป็นอาหารสุขภาพ ไขมันต่ำ เส้นใยสูง

พร้อมกันนั้นยังมีสารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น หอม กระเทียม ป้องกันการแข็งตัวของเลือด และคนไทยชอบกินเผ็ด ซึ่งสามารถไปละลายลิ่มเลือดได้ อันนี้มีการทำวิจัยที่เมืองไทยพบว่ากินเผ็ดละลายลิ่มเลือดได้ ฉะนั้น คนไทยจึงไม่ค่อยเป็นหลอดเลือดอุดตัน เมื่อก่อนไม่ค่อยเป็นกัน

แต่เดี๋ยวนี้ไปกินแบบฝรั่งมากขึ้น

ถามถึงเทคนิคที่ทำให้มีความสุข หมอประเวศแจงว่า “ไม่มีเทคนิคอะไร เพียงอย่าไปมีความหวัง แล้วเราก็ไม่ผิดหวัง คนเราที่มีความหวังแล้วผิดหวัง มันเป็นอันตรายร้ายแรงต่อจิตใจ ความผิดหวังมีหลายแบบ ผิดหวังสามี ผิดหวังภรรยา ผิดหวังลูก ผิดหวังโน่นนี่ร้อยแปด ฉะนั้น เราอย่าไปหวัง อะไรคิดว่าดีก็ทำ แล้วไม่ต้องไปหวังอะไร ให้มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน”

ในเรื่องการดูแลจิตใจเพื่อป้องกันความเครียด หมอประเวศเล่าไว้ในหนังสือ “สุขภาพบูรณาการ ความสุข สุขภาพดี อายุยืน สำหรับทุกคน” ว่า สมัยหนุ่มไปเรียน “ฝึกกรรมฐาน” ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะถือเป็นการฝึกการเจริญสติ ทำให้สุขภาพดี ทำให้หัวใจทำงานดี

และที่สำคัญภูมิคุ้มกันในร่างกายก็จะดี

เพราะมีการวิจัยมาแล้ว สมองและสติปัญญาก็ดีไปด้วยจากการที่เราฝึกสมาธิ ปฏิบัติกรรมฐาน เพราะถ้าภูมิคุ้มกันดีจะช่วยป้องกันทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ โรคภูมิแพ้

ดังนั้น ถ้าจิตใจดี จิตใจสงบและสบาย จะมีความสุขไปด้วย

ที่สำคัญทำให้อายุยืนเช่นกัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าหมอประเวศนั้นเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จใจการตั้งหน่วยงาน “ตระกูล ส.” ทั้งหลาย เพื่อให้คนไทยอยู่ดีกินดี สุขภาพดี เป็นผู้ขับเคลื่อนการเมืองในบางช่วง รวมทั้งขับเคลื่อนสังคมไทยในหลากหลายด้าน

เมื่อถามว่า ภูมิใจในผลงานเรื่องใด หมอประเวศตอบทันทีว่า “ไม่ไปภูมิใจ ไม่ไปเสียใจอะไร เมื่อก่อนผมขับเคลื่อนปฏิรูปการเมือง ต้องคุยกับสื่อมวลชนเยอะ มีคนมาถามว่า คุณหมอท้อใจไหม ผมบอกไม่หรอก

เขาก็ถามไปอีกเรื่อง งั้นคุณหมอก็เต็มไปด้วยความหวังใช่ไหม

ผมบอกว่าเปล่า

เขาก็งง ที่เขาถามมัน 2 ขั้ว ผมบอกเรื่องที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย เรื่องอะไรเราจะไปท้อใจ เรื่องอะไรเราจะไปหวัง เราทำไปตามเหตุปัจจัย อะไรมันดีก็ทำไป แต่เราก็ไม่ท้อใจ และไม่มีความหวัง หรือภูมิใจอะไร”

“ทุกอย่างเป็นไปตามเหตุปัจจัย มีเกิด มีเสื่อม เป็นธรรมดา อย่าไปเป็นห่วง”

ทีนี้มาพูดถึงเรื่องการบ้านการเมืองกันบ้าง ซึ่งดูเหมือนจะวุ่นวายอยู่ตลอด หมอประเวศย้อนอดีตให้ฟังว่า ถ้าดูโดยภาพรวม สังคมไทยดิ้นรนที่จะหาทางลงตัวมาสัก 100 กว่าปีตั้งแต่ครั้งในหลวงรัชกาลที่ 5 ตั้งแต่มีเจ้านาย ข้าราชการกลุ่มที่อยู่ในยุโรป ทำหนังสือกราบทูลให้ขอปรับระบบการปกครอง

ต่อมาครั้งรัชกาลที่ 6 ก็เกิดกบฏ ร.ศ.130 ที่เรียกกบฏหมอเหล็ง ทหารหนุ่มๆ ทั้งนั้น ได้ความบันดาลใจมาจากเมืองจีน เราเรียกว่าเจ๊กเหม็ง แปลว่าทำปฏิวัติ พวกนั้นคิดจะล้มล้างราชบัลลังก์ แต่จับได้ก่อน ต่อมาก็เกิด 2475 และเกิดอะไรต่ออะไรมาเรื่อย ถามว่าคืออะไร มันคือการดิ้นรนของสังคมไทยที่จะหาทางลงตัว แต่ยังไม่ลงตัว อะไรถ้าลงตัวมันจะสงบ อะไรที่ไม่ลงตัวจะดิ้นรน

“เรามีรัฐธรรมนูญตั้ง 21 ฉบับ แต่นั่นมันคือความดิ้นรน มันไม่ดีเปลี่ยนใหม่ พอเปลี่ยนใหม่ก็ยังไม่ดี ทำปฏิวัติรัฐประหารมันก็ไม่ดี เอาเลือกตั้งมาก็ยังไม่พอใจ อย่างนู้นอย่างนี้”

หมอประเวศมองเรื่องที่ฝ่ายค้านต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเพราะเป็นความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมไง ซึ่งเป็นความจริง แต่ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญ อยากให้ทำเรื่องที่ใหญ่กว่านั้น นั่นคือการสร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ โดยใช้หลัก PPPO

P คือ Perpose ความมุ่งมั่นร่วมกัน ช่วยกันสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ

P ตัวที่ 2 Principle หลักการที่ช่วยให้สังคมเข้มแข็งโดยรัฐและกลุ่มทุนให้การสนับสนุน

P ตัวที่ 3 Participation ความร่วมมือในการปฏิบัติ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน

และ Organization การปรับองค์กร

ถ้าใช้เส้นทางสู่ความสำเร็จ PPPO จะเป็นสังคมสมานภาพ คือ อานุภาพเสมอกัน โดยอำนาจเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจรัฐ อำนาจเงิน และอำนาจสังคม แล้วร้อยกันด้วยปัญญา คือ ปัญญานุภาพ

“ผมขอย้ำว่า O หมายถึงการปรับองค์กร ต้องไว้หลังสุด ถ้าขึ้นหน้ามันทะเลาะกัน ต้องใช้ P 3 ตัวนี้มาก่อน แล้ว O จะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เพราะมีความมุ่งมั่นร่วมกัน ใช้หลักการ และได้เรียนรู้ร่วมกัน”

อย่างไรก็ตาม หมอประเวศย้ำว่า การเมืองทะเลาะกันไม่เป็นไร แต่ว่าความไม่เป็นธรรม และมีความเหลื่อมล้ำมากเกิน คือความไม่มั่นคงชนิดใหม่ กองทัพควรจะรู้ตรงนี้ และจะเข้าใจว่าขณะนี้ปัญหาความไม่มั่นคง คือความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เรื่องชายแดน โบราณแล้ว

“ความเหลื่อมล้ำคือความไม่สมดุล อะไรที่ไม่สมดุลจะนำไปสู่ความวุ่นวาย เหมือนฟ้าผ่า เพราะอิเล็กตรอนมันจุดประกาย คือปรากฏการณ์อันไม่สมดุล หรือว่าแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด เพราะไม่ได้ดุลกัน อะไรที่มันไม่ได้ดุลจะไปสู่ความรุนแรง ฉะนั้น ความเหลื่อมล้ำจะนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวาย ความรุนแรง ทะเลาะกันเหมือนไก่ที่ว่าอยู่ในเข่ง จิกตีกันอยู่นั่นน่ะ เพราะออกจากเข่งไม่ได้ จิกตีกันจนตายก็ออกไม่ได้ ความจริงต้องมาร่วมกันทำความเข้าใจว่า ไอ้เข่งนี้คืออะไร และออกจากเข่งให้ได้”

ราษฎรอาวุโสท่านนี้ชี้ให้เห็นว่าการเมืองและการรัฐธรรมนูญไม่ใช่สูตรสำเร็จ

“อย่าไปเข้าใจผิด ต้องเอาการเมืองเป็นโจทย์ตั้ง ยกตัวอย่างประเทศอิตาลี ตอนเหนือตอนใต้ไม่เหมือนกัน แต่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ตอนเหนือเศรษฐกิจดี การเมืองดี ศีลธรรมดี ตอนใต้ไม่ดีเลย คนยากจน การเมืองก็ไม่ดี ศีลธรรมก็ไม่ดี มีการจี้ปล้นต่างๆ ต้องถามว่า ทำไมใช้รัฐธรรมนูญเดียวกันแล้วแตกต่างกันแบบนี้ แปลว่าไม่ใช่รัฐธรรมนูญอย่างเดียว”

“ผลวิจัยพบว่าขึ้นอยู่กับสังคม ภาคเหนือสังคมเข้มแข็ง ขณะที่ภาคใต้สังคมอ่อนแอ ฉะนั้น อย่าไปสนใจเรื่องการเมืองอย่างเดียว เพราะสิ่งที่ทำมาร้อยปีแล้วมันไม่สำเร็จ ไปสนใจที่ใครมีอำนาจทางการเมือง ผมมองว่าต้องมาทำตรงสังคม ถ้าสังคมดี สังคมเข้มแข็งแล้ว มันจะไปกำกับการเมืองดี อันนี้เป็นหลักวิธีคิดใหม่ เพราะวิธีคิดเก่าที่ทำมานาน ทำให้ทะเลาะกันอยู่อย่างนี้”

ถึงตรงนี้หากใครติดตามกระบวนการขับเคลื่อนของหมอประเวศและบรรดาภาคีเครือข่ายต่างๆ จะเห็นชัดว่าได้มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการทำให้สังคมเข้มแข็งเป็นอันดับแรก

เพราะมองว่านี่คือสูตรสำเร็จสำหรับบ้านเราในยุคที่ทหารยังคงมีอิทธิพลในทางการเมือง