กราบพระดี ปี 2563 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส บุคคลสำคัญของโลก

จากเว็บไซด์ลานธรรมจักร

เป็นที่น่ายินดียิ่งสำหรับประเทศไทย สำหรับคณะสงฆ์ไทย ที่ปรากฏมีบุคคลสำคัญของโลกเกิดขึ้นมาในตำนานบุคคลสำคัญของโลกอีก 1 รูป ในปีพระพุทธศักราช 2564

ในโอกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ในปี 2564

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่ง สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในลำดับสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นบุคคลสำคัญของโลก บุคคลที่ 4 ของคณะสงฆ์ไทย ที่องค์การยูเนสโกได้ประกาศเป็นบุคคลสำคัญของโลก ต่อจากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

บุคคลสำคัญของโลกที่เป็นภิกษุบริษัท ประกอบด้วย

1. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในลำดับสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 7 วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประกาศยกย่องในโอกาสฉลองครบรอบวันประสูติ ครบ 200 ปี ในวันที่ 11 ธันวาคม 2533 เป็นบุคคลสำคัญของโลก ลำดับที่ 7 ของประเทศไทย

2. พระธรรมโกศาจารย์ หรือที่รู้จักในนาม พุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม สุราษฎร์ธานี ประกาศยกย่องในโอกาสฉลองชาตกาลครบรอบ 100 ปี ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 เป็นบุคคลสำคัญของโลก ลำดับที่ 17 ของประเทศไทย

3. พระครูวินัยธร มั่น ภูริทตฺโต หรือที่รู้จักในนาม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต วัดป่าสุทธาวาส สกลนคร ประกาศยกย่องในโอกาสฉลองครบรอบชาตกาล 150 ปี ในวันที่ 20 มกราคม 2563 เป็นบุคคลสำคัญของโลก ลำดับที่ 29 ของประเทศไทย

4. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ในลำดับสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 10 วัดบวรนิเวศวิหาร ประกาศยกย่องในวาระการสิ้นพระชนม์ครบ 100 ปี ในวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เป็นบุคคลสำคัญของโลก ลำดับที่ 30 ของประเทศไทย

ทําไม? สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส จึงได้รับยกย่องว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลก พระองค์มีพระประวัติ พระจริยาวัตร พระกรณียกิจที่สำคัญอย่างไร? ให้ปรากฏว่าเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยและประชาชนทั่วโลก

พระองค์ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับเจ้าจอมมารดาแพ ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 แรม 7 ค่ำ ปีวอก จ.ศ.1221 ตรงกับวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2403

เมื่อวันประสูตินั้นเกิดฝนตกใหญ่ พระบรมชนกนาถจึงทรงถือเป็นมงคลนิมิต พระราชทานนามว่า พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ

หลังจากประสูติได้เพียงปีเดียว เจ้าจอมมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรม พระองค์จึงทรงอยู่ในความเลี้ยงดูของพระองค์เจ้าบุตรี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระญาติมีศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา เมื่อทรงเจริญวัยทรงพระดำเนินได้ รับสั่งได้คล่องแคล่ว จึงเสด็จพำนักอยู่กับท้าวทรงกันดาล (ศรี) ซึ่งเป็นยายแท้ๆ

เมื่อพระชันษาได้ 8 ปี ทรงเริ่มศึกษาภาษาบาลี จนสามารถแปลธรรมบทได้ก่อนผนวชเป็นสามเณร

นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาภาษาอังกฤษและโหราศาสตร์อีกด้วย

ถึงปี พ.ศ.2416 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ และหม่อมเจ้าพระธรรมมุณหิศธาดา (สีขเรศ วุฑฺฒิสฺสโร) ทรงเป็นผู้ประทานศีล 10

หลังจากทรงบรรพชาแล้วได้ประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ประมาณ 2 เดือน จึงทรงลาผนวช

ครั้นครบปีบวชในพระชันษา 20 ปี ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2422 ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ และพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ประทับจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร อยู่ 1 พรรษา จึงย้ายไปประทับที่วัดมกุฏกษัตริยาราม เพื่อศึกษาข้อวัตรปฏิบัติของพระจันทรโคจรคุณ ผู้เป็นพระอาจารย์

ในระหว่างนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรมที่วัดราชาธิวาส โดยมีพระจันทรโคจรคุณ (ยิ้ม จนฺทรํสี) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเดช ฐานจาโร วัดโสมนัสวิหาร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เมื่อผนวชได้ 3 พรรษา ทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมหน้าพระที่นั่ง ทรงแปลได้เป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค จากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

และเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองในธรรมยุติกนิกาย เมื่อปี พ.ศ.2424

พระองค์ได้ครองวัดบวรนิเวศวิหาร สืบต่อจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศฯ เมื่อปี พ.ศ.2434 และในปี พ.ศ.2436 ได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต มีราชทินนามว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์วรธรรมยุตติ์ ศรีวิสุทธิคณะนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร

ลำดับพระอิสริยยศ

พ.ศ.2403 พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ

พ.ศ.2424 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

พ.ศ.2436 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์วรธรรมยุตติ์ ศรีวิสุทธิคณะนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร

พ.ศ.2449 พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวชิรญาณวโรรส สุนทรพรตวิสุทธิพรหมจรรย์ วิมลศีลขันธ์ธรรมวรยุต ศรีวิสุทธิคณนายก สาสนดิลกธรรมานุวาทย์ บริสัษยนารถสมณุดมบรมบพิตร

พ.ศ.2453 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ศรีสุคตขัตติยพรหมจารี สรรเพชญรังศีกัลยาณวากย์ มนุษยนาคอเนญชาริยวงษ์ บรมพงศาธิบดี จักรีบรมนาถประนับดา มหามกุฏกษัตรราชวรางกูร จุฬาลงกรณ์ปรมินทรสูรครุฐานิยภาดา วชิราวุธมหาราชหิโตปัธยาจารย์ ศุภศีลสารมหาวิมลมงคลธรรมเจดีย์ สุตพุทธมหากวี ตรีปิฏกาทิโกศล เบญจปฎลเศวตฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเษกาภิษิต วิชิตมารสราพกธรรมเสนาบดี อมรโกษินทรโมลีมหาสงฆปรินายก พุทธศาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์ สิทธรรถนานานิรุกติประติภาน มโหฬารเมตตาภิธยาศรัย พุทธาทิรัตนตรัยสรณารักษ์ เอกอัครมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิปัตยพุทธบริษัทเนตร สมณคณินทราธิเบศสกลพุทธจักรกฤตโยปการ มหาปาโมกขประธานสถาวีรวโรดม บรมนาถบพิตร

พ.ศ.2454 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

พระองค์ทรงจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมในภาษาไทย เป็นนักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท นักธรรมชั้นเอก ซึ่งมีหนังสือนวโกวาทเป็นหลักสูตรเบื้องต้นสำหรับภิกษุ สามเณร ผู้บวชใหม่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจนตราบถึงปัจจุบัน

พระองค์ทรงจัดตั้งมหามกุฏราชวิทยาลัย สำหรับเป็นที่ศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร เป็นการทรงริเริ่มจัดการศึกษาของภิกษุสามเณรแบบใหม่ คือ เล่าเรียนพระปริยัติธรรมประกอบกับวิชาการอื่นๆ ที่เอื้อต่อการสั่งสอนพระพุทธศาสนา และสอบด้วยวิธีเขียนซึ่งทรงริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก

ภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตรนี้ก็ทรงพระกรุณาโปรดตั้งเป็นเปรียญเช่นเดียวกับผู้สอบไล่ได้ในสนามหลวงตามแบบเดิมเหมือนกัน เรียกว่า “เปรียญมหามกุฎ” และได้ดำเนินการอยู่เพียง 8 ปีก็เลิกไป

ในส่วนการศึกษาของกุลบุตรนั้น พระองค์ได้ทรงจัดตั้งโรงเรียนภาษาไทยของมหามกุฏราชวิทยาลัยขึ้นตามวัดธรรมยุต เพื่อให้เป็นที่เล่าเรียนของกุลบุตร โดยใช้หลักสูตรที่พระองค์ทรงจัดขึ้นใหม่ เรียกว่า “หลักสูตรมหามกุฏ” เช่น โรงเรียนวัดบวรนิเวศ โรงเรียนวัดมกุฏ เป็นต้น

ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย เพื่อทรงดำเนินการจัดการศึกษาในมหามกุฏราชวิทยาลัยดังกล่าวมาแล้ว จำเป็นต้องใช้หนังสือและตำราเรียนเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงจัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมา เพื่อจัดพิมพ์หนังสือและตำรับตำราต่างๆ ให้เพียงพอแก่การใช้ศึกษาของภิกษุสามเณรและกุลบุตร

จึงเรียกว่า “โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย”

ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ หลังจากทรงจัดตั้งสถานศึกษา คือมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ 1 ปี ก็ทรงออกนิตยสารธรรมจักษุ เป็นนิตยสารรายเดือน สำหรับตีพิมพ์เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ทั้งที่เป็นคำสั่งสอนและข่าวสารต่างๆ ออกเผยแพร่แก่ประชาชน รวมทั้งข่าวเกี่ยวกับกิจการมหามกุฏราชวิทยาลัยด้วย

ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นสนามให้ภิกษุสามเณรที่เป็นนักเรียนของมหามกุฏราชวิทยาลัยได้ฝึกแปล แต่ง เขียน เรื่องราวทางพระพุทธศาสนาแล้วตีพิมพ์เผยแพร่แก่ประชาชน

ธรรมจักษุจึงเป็นนิตยสารทางพระพุทธศาสนาฉบับแรกของไทยและมีอายุเก่าแก่ที่สุด นับถึงปัจจุบันก็กว่า 100 ปีแล้ว

พ.ศ.2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริจะขยายการศึกษาขั้นพื้นฐานไปยังประชาชนทั่วพระราชอาณาจักร เพราะทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาชาติบ้านเมือง

จึงทรงอาราธนาสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่น ให้ทรงอำนวยการจัดการศึกษาในหัวเมืองทั่วพระราชอาณาจักร

ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าวัดเป็นแหล่งให้การศึกษาแก่คนไทยมาแต่โบราณกาล การใช้วัดเป็นฐานในการขยายการศึกษาเป็นทางเดียวที่จะขยายได้เร็วและทั่วถึง เพราะวัดมีอยู่ทั่วทุกหนแห่งในพระราชอาณาจักร ทั้งไม่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินในการสร้างโรงเรียนด้วย เพราะอาศัยศาลาวัดที่มีอยู่แล้วนั่นเองเป็นโรงเรียน

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงเลือกพระเถระผู้มีความสามารถทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกายรวม 13 รูป เป็นผู้อำนวยการศึกษามณฑลต่างๆ แล้วส่งออกไปดำเนินการจัดการศึกษาในหัวเมืองต่างๆ ในมณฑลนั้นๆ ทั่วพระราชอาณาจักร

โดยมีฝ่ายบ้านเมือง คือ กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการ

พระองค์ทรงรับหน้าที่อำนวยการในการจัดการศึกษาหัวเมืองอยู่ 5 ปี ก็ทรงสามารถขยายการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ การศึกษาขั้นประถมศึกษา ออกไปได้ทั่วประเทศ

เมื่อทรงวางรากฐานการศึกษาในหัวเมืองเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้วและมีความมั่นคงพอสมควรแล้ว ก็ทรงมอบให้เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงธรรมการดำเนินการต่อไป

จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้วางรากฐานการศึกษาระดับประถมศึกษาในประเทศไทยโดยมีวัดเป็นโรงเรียน มีพระเป็นครูสอน มีมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นต้นแบบในด้านหลักสูตรและการฝึกหัดครูสำหรับออกไปสอนในโรงเรียนนั้นๆ

ทรงปรับปรุงการปกครองคณะสงฆ์ ในการจัดการศึกษาในหัวเมืองดังกล่าวมาแล้วข้างต้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ทรงพบความไม่เรียบร้อยในการปกครองคณะสงฆ์ และทรงมีพระดำริว่า การที่จะจัดการศึกษาให้ได้ผลดีนั้น จะต้องจัดการปกครองคณะสงฆ์ให้เรียบร้อยไปพร้อมกันด้วย ฉะนั้น พระองค์จึงได้ทรงพระดำริจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นใหม่ เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเอื้อต่อการที่จะพัฒนาตัวเองและบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น

พระดำริดังนี้เองที่เป็นเหตุให้เกิดพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 (พ.ศ.2445) ขึ้น ซึ่งเป็นพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับแรกของไทย

ตามพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 นั้น จัดคณะสงฆ์เป็น 4 คณะ คือ คณะเหนือ คณะใต้ คณะธรรมยุตติกา และคณะกลาง มีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะ และมีพระราชาคณะเจ้าคณะรองคณะละหนึ่งรูป พระเถระทั้ง 8 รูปนี้ยกขึ้นเป็นมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในทางคณะสงฆ์

และเป็นที่ทรงปรึกษาในการพระศาสนาและการคณะสงฆ์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน มีเจ้าคณะปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับคือ เจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง (อำเภอ) เจ้าอาวาส

นับเป็นครั้งแรกที่คณะสงฆ์ไทยมีการจัดปกครองอย่างเป็นระบบ มีแบบแผนที่ชัดเจน

โดยมีกฎหมายทางบ้านเมืองเข้ามารองรับการดำเนินกิจการพระศาสนาและการคณะสงฆ์

ผลงานพระนิพนธ์นั้น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรอบรู้ภาษาต่างๆ หลายภาษา คือ ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส

ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นอันมาก เช่น หนังสือหลักสูตรนักธรรมชั้นตรี โท เอกทั้งหมด หลักสูตรบาลีไวยากรณ์ทั้งชุด รวมพระนิพนธ์ ทั้งที่เป็นภาษาไทย ภาษาบาลี มีจำนวนกว่า 200 เรื่อง

นอกจากนี้ ยังทรงชำระคัมภีร์บาลีไว้อีกกว่า 20 คัมภีร์ บทพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ ของพระองค์ ไม่ว่าเป็นเรื่องคดีธรรม หรือคดีโลก ล้วนเป็นเรื่องที่ทันสมัย

โดยเฉพาะบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาของพระองค์นั้น กล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มศักราชใหม่ของการอธิบายหรือตีความพระพุทธศาสนาแนววิเคราะห์ เท่ากับพระองค์ทรงเป็นผู้วางแนวในการศึกษาพระพุทธศาสนาในสมัยใหม่แก่วงการพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเริ่มยุคใหม่อีกยุคหนึ่งของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ของพระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดช กรมขุนสุโขทัยธรรมราชา ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ

นอกจากนี้ ก็ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ อีกหลายพระองค์

ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ดังกล่าว จึงนับว่าเป็นบุคคลสำคัญของโลกในทุกด้านทุกประการ โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านการปกครอง และด้านการบริหาร เสมือนประหนึ่งหยั่งรู้อนาคตเป็นอย่างดียิ่ง จึงทรงวางรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพอย่างยั่งยืนยาวนานตลอดไป