ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีรุ่นแรก เส้นทางอันยากลำบากในไทย

บนเส้นทางภิกษุณีสงฆ์ในไทย (5) 

ได้เล่าไปในตอนที่แล้ว เรื่องความจำเป็นที่ภิกษุณีต้องอยู่กันเป็นสังฆะเพื่อประกอบพิธีกรรมที่ต้องอาศัยสังฆะ เริ่มตั้งแต่การปลงอาบัติทีเดียว อย่างน้อยก็ต้องมีสองรูป พอจะสวดปาติโมกข์ก็ต้องมี 4 รูปอย่างน้อย จะรับกฐินก็ต้องมี 5 รูป

ไม่ต้องพูดถึงพิธีอุปสมบทในมัชฌิมประเทศต้องมี 10 รูปอย่างต่ำ

ในช่วงแรก มีภิกษุณีที่อยู่กระจายกัน อยู่นครปฐมบ้าง อุทัยธานีบ้าง บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครบ้าง แต่ละแห่งไม่เป็นสงฆ์ คือ มีเพียง 1 รูป 2 รูปเท่านั้น

แต่ก็มีความพยายามที่จะรักษาพระวินัยโดยการสวดพระปาติโมกข์ร่วมกัน ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เวียนกันไป และนิมนต์หลวงพ่อที่สนับสนุนภิกษุณี มาไกลจากปทุมธานี เพื่อมาให้โอวาทที่สมุทรสาคร เป็นต้น

ในปีต่อๆ มา เมื่อมีการบรรพชาสามเณรีมากขึ้น สามเณรีเป็นฐานที่นำไปสู่ภิกษุณีสงฆ์

ในศรีลังกา ให้การอุปสมบทภิกษุณีจากทศศีลมาตา คือ แม่ชีศีล 10 แต่ทศศีลมาตาของศรีลังกาใส่สไบยาวสีเหลืองเหมือนพระมาตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้เย็บเป็นจีวร บางรูปเป็นทศศีลมาตามาแล้ว 30 ปี ภิกษุณีชุดแรกของศรีลังกา พระภิกษุท่านก็อนุโลมให้อุปสมบทมาจากทศศีลมาตา และต่อมาก็มีการอุปสมบทให้กับสามเณรีที่มาจากต่างประเทศด้วย

ส่วนประเทศไทยนั้น ท่านธัมมนันทาท่านเป็นนักวิชาการ เมื่อตรวจสอบกับพระวินัยแล้วเห็นว่าการบวชที่สมบูรณ์ และเป็นไปได้นั้น

ภิกษุณีควรจะมาจากสิกขมานา

 

ตรงนี้เองที่มีการประกาศสิกขมานาขึ้นในประเทศไทย เริ่มต้นมาจากวัตรทรงธรรมกัลยาณี แม้วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2555 เมื่อให้การบรรพชาสามเณรีแก่ผู้ขอบวชจากทิพยสถานธรรมภิกษุณีอารามไปแล้ว พระภิกษุที่สงขลาท่านเป็นเปรียญและจบปริญญาเอกแนะนำว่าควรทำให้ถูกต้องตามพระวินัย คือ ให้เป็นสิกขมานาก่อนที่จะไปอุปสมบทเป็นภิกษุณี สามเณรีเหล่านั้น เมื่อสิ้นพรรษาแล้วก็กลับมาประกาศสิกขมานาที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีอีกครั้งหนึ่งในเดือนพฤศจิกายน 2555

ตรงนี้เลยต้องอธิบายถึงขั้นตอนที่เพิ่มขึ้น

สิกขมานา คือสามเณรีนั่นแหละ ต้องมีอายุอย่างน้อย 18 เมื่อสองปีผ่านไปจะขออุปสมบท ก็จะมีอายุ 20 พอดี และเป็นคนที่รู้ตัวชัดเจนว่าต่อไปจะอุปสมบทเป็นภิกษุณี ก็จะขอภิกษุณีสงฆ์ทำพิธีประกาศสิกขมานา ที่มีความต่างจากสามเณรีอย่างเป็นรูปธรรม คือ เป็นสังฆกรรมที่ประกาศต่อภิกษุณีสงฆ์ และภิกษุสงฆ์

หลังจากประกาศสิกขมานาแล้ว ภายในสองพรรษานี้ ต้องรักษาอนุธรรม 6 ไม่ให้ขาด อนุธรรม 6 คือ 6 ข้อแรกในศีล 10 นั่นเอง หากขาดไม่ครบ 2 พรรษา ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่

สำหรับรายละเอียดในเรื่องสถานที่นั้นก็ต่างจากการบรรพชาสามเณรี ซึ่งจะทำที่ใดก็ได้ แต่สำหรับการประกาศสิกขมานา ต้องทำในเขตสีมา

นี่เป็นความต่างระหว่างสิกขมานาและสามเณรี

 

ในครุธรรม 8 ระบุชัดเจนเรื่องสิกขมานา ท่านธัมมนันทาเห็นว่า แม้ทางศรีลังกายังไม่ขยับในเรื่องนี้ โดยที่ท่านธัมมนันทาเคยเรียนปวัตตินีของท่านแล้ว แต่ภิกษุณีที่ศรีลังกาเองท่านก็ไม่ได้ค้นคว้าเรื่องนี้อย่างนักวิชาการจริงจัง ท่านธัมมนันทาจึงพัฒนาจากอารามของท่านเอง โดยเพิ่มขั้นตอนเข้ามาก่อนที่จะไปอุปสมบทเป็นภิกษุณีต่อไป

เวลาที่ให้การอุปสมบท ก็จะให้การอุปสมบทสิกขมานาก่อนสามเณรี เพราะในพระวินัยระบุชัดเจนถึงลำดับการนั่ง โดยจัดลำดับ ภิกษุณี สิกขมานา และสามเณรี เช่นนี้

ในช่วงที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เป็นรักษาการสมเด็จพระสังฆราชอยู่นั้น ท่านธัมมนันทาเคยพาภิกษุณีสงฆ์ไปกราบนมัสการท่านถึงที่วัดปากน้ำ และอาศัยที่เคยรู้จักกันมาตั้งแต่ผู้เขียนเองยังเป็นเด็กหญิง ท่านเมตตาทักทายและจำได้ สมเด็จฯ ท่านพูดย้ำอีกว่า การบวชภิกษุณีนั้นลำบากเพราะมีขั้นตอนละเอียดกว่าพระภิกษุ ต้องเป็นสิกขมานามาก่อน 2 พรรษา

ตรงนี้เองที่ยืนยันว่าท่านธัมมนันทาเข้าใจถูกต้อง และเป็นการดีที่จัดให้มีการประกาศสิกขมานาในประเทศไทย

ท่านธัมมนันทาได้ยืนยันกับสมเด็จฯ ว่า การอุปสมบทภิกษุณีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีนั้น ผู้ขอบวชเป็นสิกขมานามาครบ 2 พรรษา

ส่วนการอุปสมบทจริงที่ศรีลังกานั้น ไม่บังคับว่าจะต้องเป็นสิกขมานามาก่อน จึงมีการอุปสมบทภิกษุณีที่มาจากสามเณรีด้วย

แต่ก็ให้เกียรติสิกขมานา โดยจะจัดการอุปสมบทให้กับสิกขมานาก่อนสามเณรี

 

สําหรับประเทศไทย ท่านธัมมนันทายืนยันว่า ควรประกาศสิกขมานามาก่อน เพราะพระภิกษุไทยที่ได้ศึกษารายละเอียด จะถามหาความชอบธรรมโดยพระวินัยในประเด็นนี้ ภิกษุณีไทยที่เป็นสังฆะเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มต้นจึงควรชัดเจน และสามารถตอบคำถามในรายละเอียดที่ตนเองได้รับการอุปสมบทมาด้วย

ภิกษุณีบางรูปที่บวชมาแล้ว ตอบไม่ได้ว่าใครเป็นปวัตตินีฝ่ายภิกษุณี ใครเป็นพระอุปัชฌาย์ ก็จะมีปัญหาในการกลับเข้าสู่ภิกษุณีสังฆะในประเทศไทย

เพราะเมื่อจะขอเข้าร่วมสวดปาติโมกข์ หากสังฆะทราบว่าการบวชไม่ชัดเจน ก็จะไม่กล้าให้นั่งในหัตถบาส เพราะเกรงจะทำให้สังฆกรรมเป็นโมฆะ

ก็เป็นเรื่องที่อีหลักอีเหลื่อกับสังฆะอยู่

มีภิกษุณีไทยที่ทราบว่าการอุปสมบทของตนเองไม่ชัดเจน เช่น ภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นพระอันดับในการอุปสมบทนั้นมาจากต่างนิกายกัน กล่าวคือ รูปหนึ่งเป็นเถรวาท รูปหนึ่งมาจากไต้หวันเป็นมหายาน อีกรูปหนึ่งเป็นภิกษุณีสายทิเบต ทั้งที่ทางทิเบตเองก็ยังไม่มีการอุปสมบทภิกษุณี

เช่นนี้เรียกว่านานาสังวาส ทำให้สังฆกรรมนั้นเป็นโมฆะ

เมื่อกลับมาท่านไม่สามารถร่วมลงสังฆกรรมกับภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทยได้ ในท้ายที่สุดท่านต้องกลับไปทำพิธีทัฬหีกรรม (บวชซ้ำ) ให้ภิกษุและภิกษุณีสงฆ์รับเข้าในสายเถรวาท จึงถูกต้อง โดยมาเสียพรรษา

 

การเริ่มต้นภิกษุณีสงฆ์สายเถรวาทนั้นเป็นความยากลำบากในประเทศไทย เพราะสังคมไทยไม่เคยมีภิกษุณีสงฆ์ แต่ภิกษุณีสงฆ์เป็นวัฒนธรรมพุทธ แม้ไม่มี ก็เป็นหน้าที่ทั้งของฝ่ายผู้หญิงที่จะต้องมีความเพียรพยายามให้เป็นไปตามพุทธประสงค์ ในขณะที่ฝ่ายภิกษุสงฆ์เองก็ต้องมีความจริงใจที่จะต้องกลับไปอ่านพระไตรปิฎก ศึกษาให้ชัดเจนว่า การอุปสมบทภิกษุณีสงฆ์ ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านนั้น เป็นความชอบธรรมทั้งโดยพระธรรมและพระวินัยทีเดียว

พุทธานุญาตที่ให้ภิกษุให้การอุปสมบทภิกษุณีนั้นชัดเจน และไม่เคยเพิกถอน (จุลลวรรค วินัยปิฎก)

ลองคิดเล่นๆ กลับกัน ว่าสังคมไทยมีแต่ภิกษุณีสงฆ์ ภิกษุสงฆ์ไม่เคยมาถึงประเทศไทย และภิกษุณีสงฆ์ก็ยืนกระต่ายขาเดียวว่าภิกษุสงฆ์หมดไปแล้ว ไม่สามารถที่จะรื้อฟื้นได้ พระพุทธองค์จะทรงเห็นเป็นอย่างไร

ในความเป็นจริงทรงมอบหมายไว้ด้วยซ้ำว่า อาบัติเบานั้น ต่อไปในอนาคต แม้สงฆ์เห็นสมควร ก็สามารถที่จะเพิกถอนได้

ในทางตรงกันข้าม กลับมีพระภิกษุที่ยืนยันว่า ไม่สามารถที่จะบวชให้ภิกษุณีได้ ต้องรอพระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ ไปโน่น ที่น่าตกใจเมื่อออกมาจากปากของพระผู้ใหญ่

พระสมณโคดม ท่านไม่เคยส่งมอบการตัดสินใจเรื่องราวในพระศาสนาในพุทธกัปของท่านไปสู่พระพุทธเจ้าพระองค์ใหม่ อย่างน้อยที่สุด ในพระไตรปิฎกไม่เคยปรากฏข้อความทำนองนี้เลย บรรดาพระภิกษุหลวงพี่หลวงพ่อที่เชี่ยวชาญพระไตรปิฎกจะยืนยันได้เช่นเดียวกันนี้

แล้วตกลงติดขัดอะไร

 

มันเป็นความเชื่อที่สืบเนื่องกันมา โดยไม่มีใครถาม และเป็นความเชื่อที่เอื้อความสะดวกด้วย สังคมไทยก็เอียงกระเท่เร่ แทนที่จะได้ใช้พลังผู้หญิงมาช่วยกันแก้ปัญหาสังคม ผู้หญิงกลับถูกผลักดันให้ไปโผล่ในซ่องง่ายกว่าที่จะเป็นลูกสาวของพระพุทธเจ้า ช่วยกันทำนุบำรุงพระศาสนา

พระภิกษุแม้ที่มีการศึกษาหลายรูปเชื่อจริงๆ ว่า ที่บวชภิกษุณีไม่ได้นั้น เพราะขาดภิกษุณีสงฆ์ไปแล้ว ในความเป็นจริง เมื่อศึกษาแล้วกลายเป็นว่า การอุปสมบทภิกษุณีนั้น สังฆกรรมการอุปสมบทภิกษุณีเป็นเรื่องของภิกษุสงฆ์แท้ๆ เลย

พระผู้ใหญ่ที่เป็นกรรมการมหาเถรสมาคมท่านหนึ่ง เมื่อเปิดพระวินัยให้ท่านดู ท่านถึงกับอุทานยอมรับความจริงข้อนี้ เพราะมันขัดกับความเชื่อของท่านและของภิกษุสงฆ์ส่วนใหญ่มาโดยตลอด

ชาวบ้านบางคนก็โวยวายว่า พระภิกษุสงฆ์เองก็มีข่าวคาวเยอะแยะปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เว้นแต่ละวัน ก็มีสองเรื่องใหญ่นั่นแหละ คือ เรื่องเงิน กับเรื่องผู้หญิง ขืนปล่อยให้มีภิกษุณี คณะสงฆ์ก็ยิ่งจะมีปัญหาเพิ่มขึ้น

นี่ก็คิดได้ แต่เป็นความคิดของคนที่ใจแคบ เป็นความคิดที่มาจากฐานจิตที่เป็นอกุศล จึงไม่เห็นความดี และไม่เปิดโอกาสให้ความดีได้ผุดเกิด

ทั้งไม่รู้จริงว่า การมีภิกษุณีนั้น เป็นเจตนารมณ์ของพระพุทธเจ้าเองทีเดียว

 

ภิกษุณีสงฆ์ไทยที่เกิดขึ้นจึงต้องมีคุณภาพให้ได้รับการยอมรับ เป็นภิกษุณีที่ดีเท่านั้นไม่พอ ต้องดีต่อสังคมด้วย

ยังจำได้ใช่ไหมว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงส่งพระภิกษุที่ล้วนเป็นพระอรหันต์ออกไปประกาศพระศาสนาชุดแรก 60 รูปนั้น ท่านกำชับว่า ให้ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน

นี้กลายเป็นประเด็นสำคัญของสังฆะ และโดยเฉพาะภิกษุณีไทย

ลำพังการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในส่วนของตนนั้น ควรทำอยู่แล้ว แต่หากหยุดเพียงนั้น การสืบพระศาสนาต่อไปในอนาคตทำไม่ได้ กลายเป็นว่า พระศาสนาจะหยุดอยู่เพียงชีวิตของเรา พอเราตาย พระศาสนาก็สั้นกุดตามไปด้วย

เมื่อพระพุทธองค์ประดิษฐานพุทธบริษัท 4 นั้น มิได้หยุดเพียงการปฏิบัติส่วนตน ให้ศึกษาพระธรรมวินัย น้อมนำไปปฏิบัติ สามารถปกป้องพระศาสนาและสืบสานพระศาสนาโดยการช่วยกันเผยแผ่คำสอนให้ปรากฏด้วย

เราได้เห็นแบบอย่างของพระภิกษุและพระภิกษุณีในครั้งพุทธกาลที่บรรลุพระอรหันต์แล้ว ยังคงทำงานประกาศพระศาสนา โดยการจาริกไปเผยแผ่คำสอนทั้งสิ้น เฉพาะในพระภิกษุณีที่บรรลุเป็นพระอรหันต์นั้น มีจำนวนมากกว่า 500 รูป ตามพุทธดำรัสด้วยซ้ำ