มนัส สัตยารักษ์ | เรื่องหักมุมในรัฐสภา

ผมสนใจนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อย่างจริงจัง ในวันที่โทรทัศน์ช่องหนึ่งทำข่าว นายนิพิฏฐ์-ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม- พบกับ แม่ชีคนดัง แล้วนายนิพิฏฐ์สั่งให้แม่ชียุติการใช้คำสอนในทางที่ผิดไปจากศาสนาพุทธ

ผมสนใจ เนื่องจากในขณะนั้น (ประมาณปี 2554-2555) แม่ชีโด่งดังในระดับเดียวและทำนองเดียวกับ “ธัมมชโย” แห่งวัดพระธรรมกาย

นั่นคือ โด่งดังในทางที่ใช้คำสอนผิดเพี้ยนไปจากคำสอนในศาสนนาพุทธ

ต่างกันเพียงแต่ว่า คำสอนของแม่ชีออกไปในทาง “ลามกอย่างโจ่งแจ้ง” ในขณะที่ธัมมชโยเน้นไปในเรื่องของการทำ “บุญ” ซึ่งถูกมองหรือกล่าวหาว่าหลอกลวงประชาชนเพื่อความร่ำรวย

อาจจะฟังเหมือนผมให้ความสำคัญกับแม่ชีมากเกินไปที่เอาไปเทียบเคียงกับธัมมชโย จึงขอเล่าถึงถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างน่าเหลือเชื่อสัก 2-3 บรรทัด

แม่ชีสอนวิธี “แก้กรรม” ว่า ให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายที่อายุอ่อนกว่า 2 ครั้ง แม่ชีอาศัยมุมหนึ่งของวัดพิชัยญาติ เขตคลองสาน อ้างว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาส มีผู้หญิงเข้ามาเป็นสาวกวันละประมาณ 600 ถึง 1,000 คน!

ผมเคยเห็นคนรู้จักกันนางหนึ่ง เธอเป็นศิษย์ธรรมกาย ถือหนังสือคำสอนของแม่ชีติดมือขึ้นเครื่องบินกลับไปต่างประเทศ ผมตัดสินใจบอกเธอตรงๆ ว่า “นี่มันหนังสือของแม่ชีลามกนะ ไม่ใช่หนังสือพระ”

ผมเอาแม่ชีมาเทียบกับธัมมชโย เพราะทั้งคู่ต่างมีคำร่ำลือว่าสามารถหลอกลวงประชาชนคนไทยให้ “งมงาย” พอกัน

ผมไลน์ไปเล่าให้เพื่อนที่อยู่ต่างจังหวัดคนหนึ่งฟังด้วยความประทับใจ ที่ได้เห็นนายนิพิฏฐ์วางตัวเหมาะสมกับการเป็นรัฐมนตรีเมื่อเผชิญหน้ากับแม่ชีที่ใครต่อใครหลายคนกราบไหว้ราวกับเป็นพระภิกษุ นายนิพิฏฐ์ไม่มีท่าทีเคารพนบนอบแม้แต่น้อย ได้สั่งด้วยภาษาสุภาพแต่เฉียบขาด ให้ยุติการสอนแบบวิปริตผิดเพี้ยน

ผมลงท้ายไลน์ด้วยประโยคว่า “นับถือนายนิพิฏฐ์ว่ะ”

เพื่อนตอบมาสั้นๆ ว่า “แค่นี้ก็นับถือแล้วเรอะ?”

โกรธเพื่อนที่เยาะหยันอยู่ไม่นานก็ทำใจได้ เมื่อนึกออกว่า เพื่อนก็คล้ายๆ คนไทยส่วนใหญ่ทั่วไปที่ไม่ชอบนักการเมืองทุกคนและทุกพรรค

สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวผู้ชาย 2 คนมาจูบปากกันในรัฐสภา กลบข่าวสำคัญอื่นๆ ของบ้านเมืองไปเสียสิ้น เสียงวิพากษ์วิจารณ์แบ่งเป็น 2 กระแส ฝ่ายหนึ่งด่าว่าทำลามก แต่อีกฝ่ายหนึ่งกลับพูดถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่

แล้วนักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง รวมทั้งโซเชียลผู้ถือหางของแต่ละฝ่ายต่างก็วิพากษ์ฝ่ายตรงข้ามด้วยถ้อยคำหยาบคาย เช่นเดียวกับทุกปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ผ่านไปไม่นานนายนิพิฏฐ์ได้เล่าเรื่อง “ชายรักชาย” ในเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเหตุการณ์ครั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้ขอให้บอร์ดภาพยนตร์แบนภาพยนตร์ไทยเรื่อง “insect in the backyard” ที่มีภาพการร่วมเพศโจ๋งครึ่ม ผู้กำกับฯ ขอต่อรองโดยจะยอมลดฉากร่วมเพศลงเหลือ 3-5 วินาที

นายนิพิฏฐ์ไม่ยอม เพราะขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

เมื่อนำเรื่องเข้าสู่บอร์ดภาพยนตร์ มีคนย้อนถามว่า ศีลธรรมอันดีของประชาชนคืออะไร ใครเป็นคนกำหนดมาตรฐาน?

นายนิพิฏฐ์ตอบทันทีว่า “ผมนี่แหละเป็นคนเห็นว่าขัดศีลธรรมอันดีของประชาชน”

(ผมไม่ได้ดูคลิปข่าวช่วงนี้ แต่ก็จินตนาการได้ว่านายนิพิฏฐ์ต้องมีท่าทีเฉียบขาดทำนองเดียวกับท่าทีเมื่อครั้งออกคำสั่งกับแม่ชีทศพร)

เมื่อภาพยนตร์ถูกแบน ผู้กำกับภาพยนตร์ได้ใช้สิทธิ์ฟ้องร้องต่อศาลปกครอง นายนิพิฏฐ์สู้คดีจนในที่สุดศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้นายนิพิฏฐ์ชนะ โดยในคำพิพากษาศาลได้กล่าวถึงความหมายหรือนิยามของคำว่า “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ไว้ด้วย

ถ้าเหตุการณ์ “ชายจูบชายในรัฐสภา” ไม่จบไปง่ายๆ ส.ส. 2 ฝ่ายต้องขับเคี่ยวกันต่อไป และแม้นายนิพิฏฐ์จะไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง

แต่คู่กรณีฝ่ายต่อต้านการแสดง “ชายจูบชาย” ก็สามารถอ้างคำนิยาม “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” ที่ศาลปกครองกล่าวถึงข้างต้น มาใช้ประกอบการต่อสู้ได้อย่างมีน้ำหนัก

ราวกับเรื่องสั้นหักมุมของกีย์ เดอ โมปาสซังค์…เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง insect in the backyard กับ ส.ส.ที่กำกับการแสดงสด “ชายจูบชาย” ในรัฐสภาประกอบการแถลงข่าว “เสรีภาพทางเพศ” เป็นบุคคลคนเดียวกัน

ส่วนอดีตรัฐมนตรี คู่คดีกรณีที่แบนภาพยนตร์ ปัจจุบันเป็น ส.ส.สอบตก!

สถานการณ์ “หักมุม” ตรงนี้ทำให้นึกถึงกวีนิพนธ์ของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์…

“นักการเมืองงี่เง่าใช่ปัญหา มันก็บ้าบุ่มบ่ามไปตามสมัย คนต่างหากงี่เง่าไม่เข้าใจ ไปเลือกไอ้งี่เง่ามันเข้ามา”

ผมไม่อยากโทษคนเลือกตั้ง เพราะคนที่ควรโทษก็คือ คสช., รัฐบาล คสช. และหัวหน้ารัฐบาล, คนออกแบบและร่างรัฐธรรมนูญ, คนออกแบบและร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ, คนร่างกฎหมายเลือกตั้ง, คนวางระเบียบ ข้อบังคับ กำหนดสูตรการนับและให้คะแนน, และท้ายสุดคือกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.

กลุ่มคนที่ควรถูกกล่าวโทษตามพารากราฟข้างต้น ได้ช่วยกันทำให้การเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 เป็นการเลือกตั้งที่วิปริตพิสดาร เช่น

ห้ามตั้งพรรคการเมืองก่อนรัฐอนุญาต, ห้ามประกาศนโยบายพรรคก่อนได้รับการตรวจสอบ, ไม่ห้ามแต่ก็เหมือนห้ามทำ “ไพรมารี่ โหวต” ซึ่งเป็นวิธีการให้พรรคได้มีโอกาสคัดกรองและเลือกคน “ไม่งี่เง่า” ลงเลือกตั้ง และให้ประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้รู้จัก

หนทางที่จะแก้สารพัดปัญหาข้างต้นก็คือ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงของประเทศ ซึ่งเป็นความต้องการสูงสุดของใครต่อใครหลายล้านคน (รวมทั้งผม) ในวันนี้

จึงรู้สึกยินดีที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเอกฉันท์ ตั้ง 49 “กรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ในกรอบเวลา 120 วัน มีชื่อนายนิพิฏฐ์เป็นหนึ่งใน 49 คน ด้วย

เหตุที่มุ่งไปตั้งความหวังกับนายนิพิฏฐ์ เพราะไม่เพียงแต่ 2 เรื่องที่เล่ามาข้างต้นเท่านั้น แม้แต่ช่วงที่อยู่ในฐานะ ส.ส.สอบตก นายนิพิฏฐ์ก็ยังวางตัวเป็นนักการเมืองที่กล้าพูดและกล้าทำ ตอบคำสัมภาษณ์ของผู้สื่อข่าวด้วยความเห็นที่ตรงไปตรงมา ให้เราได้คอมเมนต์ “นับถือว่ะ” ไปด้วยกับหลายคำตอบ

เป็นคนที่จะสร้างเหตุการณ์ “หักมุม” ในรัฐสภา อีกครั้งหนึ่ง