อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : อินทรีกระชับมิตร

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2020 อาจคึกคักและร้อนระอุด้วยอุณหภูมิเศรษฐกิจและการเมืองด้วยเหตุผลที่ภูมิภาคนี้กำลังก้าวเข้าสถานะใหม่ของโลกในแง่ที่การบูรณาการทางเศรษฐกิจดำเนินไปด้วยความเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อ ความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง มีเสถียรภาพทางการเมืองด้วยการปกครองระบอบอำนาจนิยม หรือระบบพรรคการเมืองเดียว หรือไม่ก็ปกครองโดยชนชั้นนำที่มาจากการเลือกตั้งเป็นส่วนใหญ่

ในเวลาเดียวกัน ภูมิรัฐศาสตร์เชื่อมต่อหลายภูมิภาคและหลายมหาสมุทรนับวันเป็นจุดยุทธศาสตร์ของโลกที่สำคัญขึ้นเรื่อยๆ

ดังนั้น เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวอย่างกระตือรือรื้นของมหาอำนาจ

บทความนี้ขอยกตัวอย่างเพียง สหรัฐอเมริกา

 

เราจะเห็นได้ว่า เดือนพฤศจิกายน 2019 รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกา นาย Mark Esper เยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อให้แน่ใจในความเหนียวแน่นกับพันธมิตรของตน

นักสังเกตการณ์ตั้งข้อสังเกตว่า สหรัฐอเมริกาปรับเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่ด้านความสัมพันธ์ของตนต่ออดีตศัตรูเก่าได้แก่ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และปรับเปลี่ยนนโยบายที่โต้แย้งกับอดีตมหามิตรยาวนานอย่างฟิลิปปินส์และไทย อันเป็นสิ่งท้าทายนโยบายของสหรัฐอเมริกาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน

การปรับเปลี่ยนนโยบายดังกล่าว เรามองเห็นได้อย่างน้อย 2 ด้าน

ด้านหนึ่ง เรามองเห็นบททดสอบความสามารถของสหรัฐอเมริกาในการรักษาระบบอิทธิพลของตนในยุคหลังสงครามเย็น

อีกด้านหนึ่ง เราเห็นความพยายามของสหรัฐขยายการต่อต้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและร่มเงาของสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาค

กล่าวโดยย่อ การเยือนครั้งที่ 2 ในหลายประเทศในภูมิภาคของรัฐมนตรีกลาโหมท่านนี้เป็นสัญญาณแสดงยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐ คือ แนวคิด Free and Open Indo-Pacific (FOIP) ซึ่งหลายฝ่ายรู้จักกันในนาม นโยบาย Indo-Pacific และสิ่งท้าทายต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้ซึ่งมีการแข่งขันโดยจีน

 

เวียดนาม ศัตรูที่กลายเป็นเพื่อน

เมื่อผู้นำระดับสูงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐมาสถาปนาหุ้นส่วนภูมิภาคใหม่อีกครั้งกับอดีตศัตรูอย่างเวียดนามครั้งนี้ มีการตอบแทนด้วยสัญญาต่างอย่างประหลาดใจ จากด้านความมั่นคงและพลังงานไปสู่อุตสาหกรรมการบิน การตอบแทนระหว่างกันทำให้เห็นได้ว่าทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่

ระหว่างการพบปะของรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐกับผู้นำระดับสูงเวียดนามที่กรุงฮานอย Mark Esper หยิบยกแนวคิดเรื่อง อำนาจคือสิ่งถูกต้อง มาอธิบายการเปรียบเปรยการกระทำของทางการจีนในทะเลจีนใต้

จนกระทั่งผู้นำสหรัฐออกปากสนับสนุนเวียดนามพันธมิตรให้ต่อต้านการแทรกแซงของจีนในกิจการด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของเวียดนามในทะเลจีนใต้

หากย้อนกลับไปจะเห็นความสอดคล้องของผู้นำนโยบายสหรัฐ ต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2019 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ นาย Wiber Ross นำคณะผู้แทนการค้าสหรัฐเยือนฮานอยเมืองหลวงของเวียดนาม เราได้เห็นการเจรจามูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ รวมทั้งสัญญาการแบ่งสัดส่วนการผลิตน้ำมันนอกชายฝั่งเวียดนามโดยบริษัทอเมริกัน Murphy Oil บริษัทก่อสร้างเกาหลีใต้ SK Innovation และบริษัทน้ำมันของรัฐบาลเวียดนาม Petro Vietnam บริษัทอเมริกันอีกบริษัท AES Corporation ได้ลงนามก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าใช้ก๊าซและสถานีก๊าซธรรมชาติแบบเหลว

โครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ช่วยกระจายการนำเข้าแหล่งพลังงานของเวียดนามออกไปซึ่งยังผลให้เวียดนามเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปี 2018 ท่ามกลางความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศพัฒนาและปรับปรุงขึ้นมาก

สหรัฐกลายเป็นตลาดส่งออกของเวียดนามรายใหญ่ที่สุด

การขาดดุลการค้าเพิ่มมากขึ้นและการฝ่าฝืนลดค่าเงินดองเวียดนามทำให้ทางการสหรัฐประกาศว่าเวียดนามเป็นประเทศที่ปั่นค่าเงินและอาจถูกจัดการโดยมาตรการแซงก์ชั่น

 

ไทย มหามิตรยาวนาน

รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ Mark Esper มาเยือนไทยและเขาได้เข้าร่วมประชุมระดับภูมิภาค ASEAN Defence Minister Meeting Plus แต่ทว่าทางการสหรัฐหาหนทางไม่ง่ายในการหมุนกลับอิทธิพลจีนในอาณาจักรไทยแห่งนี้ซึ่งทางการจีนดำเนินการก้าวหน้าไปมากตั้งแต่รัฐประหาร 2014 ที่ผ่านมา

การฟื้นความสัมพันธ์ขั้นปกติของทั้งสองประเทศเริ่มต้นจากการเยือนกรุงวอชิงตันอย่างเป็นทางการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2017 แม้ว่าต่อมาทางการสหรัฐกล่าวหาการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อมีนาคม 2019 ว่าไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม

ทางการสหรัฐเหนี่ยวรั้งคุมความช่วยเหลือทางทหารต่อไทยตั้งแต่รัฐประหาร 2014 แต่ทำเนียบข่าวได้ตัดสินใจยกเลิกข้อจำกัดเหล่านี้โดยอนุญาตให้ชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ดำเนินการจัดซื้อรถถัง Stryker ที่ผลิตโดยสหรัฐ รถถัง Stryker ชุดแรกมาถึงไทยกันยายน 2019 แต่บริษัทผลิตอาวุธอเมริกันคงต้องเร่งมือผลิตอาวุธเพราะ ปี 2019 ที่ผ่านมาทางการจีนได้ตกลงขายอาวุธจำนวนมากให้กับทางการไทยแล้ว รวมถึงเรือรบ รถถังและเรือดำน้ำ ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าจะสั่งซื้อปี 2020 แต่ทางการไทยตัดสินเมื่อปีที่แล้ว

ที่น่าสนใจ การขับเคี่ยวในสมรภูมิค้าอาวุธระหว่างสหรัฐกับจีนในตลาดประเทศไทยเป็นที่สังเกตว่า Mark Esper รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเป็นอดีตล็อบบี้ยิสต์บริษัทผลิตอาวุธอเมริกัน Raytheon เลยเชื่อกันว่าหมวกของเขาอีกใบในอดีตอาจช่วยเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย

นอกจากนั้น มีข้อมูลรายงานว่า นักกฎหมายตัวแทนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นาย Michael DeSombre ซึ่งเขาดำรงตำแหน่งประธานพรรครีพับลิกันสาขาในต่างประเทศจะมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย สิ่งนี้อาจส่งสัญญาณไม่พึงประสงค์ด้วย

Michael DeSombre อาจเป็นบุคลากรการเมืองแต่งตั้งคนแรกนับตั้งแต่ปี 1975 มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่กรุงเทพฯ ซึ่งแต่เดิมเคยมีแต่นักการทูตอาชีพ

การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตคนใหม่อาจมองได้ว่า การลดความสำคัญของวอชิงตันต่อไทยประเทศในเอเชียประเทศแรกที่สหรัฐมีความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการด้วยได้เปลี่ยนไปแล้ว

ยิ่งไปกว่านั้น การที่จีนดูจะมีความมั่นคงในด้านอุปกรณ์ด้านทัพเรือและด้านทัพอากาศในประเทศเพื่อนบ้านกัมพูชา

แต่การแต่งตั้งเอกอัครราชทูตสหรัฐครั้งนี้เท่ากับเป็นการรักษาความมั่นคงของพื้นที่ยืน ในประเทศไทยซึ่งสำคัญสำหรับสหรัฐ

 

ฟิลิปปินส์ เพื่อนยาก

สําหรับฟิลิปปินส์เพื่อนยากของสหรัฐ สิ่งที่ทางการสหรัฐเผชิญหน้ากับเพื่อนยากคือ สหรัฐตอกย้ำคุณค่าในระบบพันธมิตรของตนกับฟิลิปปินส์ให้มั่นคงต่อเนื่องต่อไป ในขณะที่มะนิลาหันกลับไปใกล้ชิดมากขึ้นกับปักกิ่ง อันนี้สิ่งเผชิญหน้าคือ การจัดการกับข้อสงสัยต่อประสิทธิภาพของสนธิสัญญาการป้องกันร่วมปี 1951 (Mutual Defence Treaty) ที่ทั้งสหรัฐและฟิลิปปินส์ร่วมจัดการสิ่งท้าทายใหม่ต่างๆ

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเดินทางเยือนฟิลิปปินส์เข้าพบกับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ Delfin Lorenzana เขาทั้งสองคนได้ย้ำความสำคัญของสนธิสัญญาระหว่างกันเมื่อเข้ามาพิจารณาประเด็นสิทธิอธิปไตยฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ในแถลงการณ์ร่วมของเขาทั้งสอง รัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองประเทศยังยึดมั่นสนับสนุนการพัฒนากองทหารฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะความสามารถด้านกำลังรบทางมหาสมุทรและขีดความสามารถของอากาศยาน

ในขณะที่ข้อเรียกร้องของรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ Lorenzana ในมีการทบทวนสนธิสัญญา มีการอธิบายให้ชัดเจนถึงขอบเขตความเกี่ยวข้องถึงความพร้อมของสหรัฐในการตอบสนองต่อฟิลิปปินส์ที่ถูกโจมตีในบริเวณน่านน้ำที่มีความขัดแย้ง ในขณะที่ความตกลงทวิภาคีที่มีชื่อว่า Mutual Defence Board-Security Engagement Board ใช้อยู่เพื่อเป็นวาระสำหรับวอชิงตันและมะนิลาเจรจาตกลงกันเรื่องภัยคุกคามเดิม (traditional security) และภัยความมั่นคงใหม่ (non-traditional security threat)

สำหรับสิ่งบรรเทาใจของสหรัฐคือ รัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ Lorenzana ยังคงเดินหน้าอีกยาวไกลข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศทั้งสองฝ่าย ในขณะที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์โรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) ยังคงดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทางของกระทรวงต่างประเทศที่มีความเหนียวแน่นกับสหรัฐอเมริกา

เกือบ 30 ปีหลังสิ้นสุดสงครามเย็น พันธมิตรและคู่หูต่างๆ ยังคงวิพากษ์วิจารณ์ต่อโครงการด้านอำนาจและความเป็นผู้นำของสหรัฐอเมริกา ในยุคสมัยของการแข่งขันระหว่างอภิมหาอำนาจฝ่ายต่างๆ พันธมิตรเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

แต่พันธมิตรเหล่านี้เติบโตจากเหล่าตัวแทนกลายมาเป็นรัฐอธิปไตยซึ่งต่างมีหน่วยงานจำนวนมากมายและมีผลประโยชน์อันหลากหลายของพวกเขาที่ดำเนินการกับความถนัดและสายตายาวไกลของพวกเขาเอง

ดังนั้น พันธมิตรจึงไม่ใช่ลูกไล่ที่ต้องเดินตามความต้องการและผลประโยชน์ของสหรัฐเสมอไปดั่งในอดีต

หมายความว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง เมื่อทางการสหรัฐกำลังหวนกลับมามีบทบาทในภูมิภาค

พันธมิตรดั้งเดิมของสหรัฐยังมีอยู่ก็จริงแต่โครงสร้างการเมือง ชนชั้นนำ วิสัยทัศน์และผลประโยชน์ของพันธมิตรได้ปรับเปลี่ยนเช่นกัน

ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพญาอินทรีเลย