สุรชาติ บำรุงสุข | 2563 ปีแห่ง”นักการเมืองในเครื่องแบบ” ทหารกับการเมือง : สำรวจและประเมินอนาคต

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

“กองทัพคือปราการด่านสุดท้าย [ของการต่อสู้ทางการเมือง]”

General Silvio Frota

ผู้นำทหารบราซิล

ปี2563 ที่เริ่มขึ้นจะยังคงเป็นปีที่กองทัพไม่ถอยออกจากการเมือง ตราบเท่าที่การเมืองไทยยังไม่ถึงจุดของความเปลี่ยนแปลงใหญ่แล้ว โอกาสที่กองทัพจะถูกกดดันให้ถอนตัวออกจากการเมือง เพื่อให้กระบวนการสร้างประชาธิปไตยไทยเกิดขึ้น จะยังคงเป็นปัญหาต่อไป

ถ้าการเมืองในปี 2563 อยู่ในระดับปกติแล้ว ความหวังที่จะผลักให้กองทัพออกจากการเมืองอาจจะยังไม่เกิดขึ้นได้จริง

การมีบทบาททางการเมืองของทหารในปี 2563 จึงอาจจะเห็นผ่านปรากฏการณ์ต่างๆ

ดังนี้

1)ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ขบวนประชาธิปไตยยังไม่มีความเข้มแข็งมากพอที่จะสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นได้นั้น กองทัพจะยังคงเป็นตัวแสดงที่สำคัญทางการเมืองต่อไป

แม้ว่ารูปแบบของการมีอำนาจอาจจะมีความแตกต่างออกจากการเป็นแบบรัฐบาลทหารในแบบระบอบรัฐประหารก็ตาม

ในสภาวะเช่นนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้นำกองทัพจะกล้าแสดงออกอย่างชัดเจนถึงการที่ทหารจะยังคงดำรงบทบาทในการเมืองไทยต่อไป

แม้กระทั่งในปีหน้า เราอาจจะยังคงเห็นการออกมาวิจารณ์การเมืองในที่สาธารณะ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงมารยาททางการเมือง

อีกทั้งผู้นำทหารในสภาวะที่กองทัพมีอำนาจมักจะไม่ยอมรับว่า การแสดงความเห็นทางการเมืองของผู้นำทหารในที่สาธารณะ ไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ

และการแสดงออกเช่นนี้เป็นดังการ “แบล็กเมล์” ทางการเมือง (political blackmail) และเป็นสัญญาณการแทรกแซงของผู้นำทหารในอีกแบบหนึ่ง

ซึ่งเดิมการเมืองไทยมักคุ้นกับการแทรกแซงของทหารด้วยการรัฐประหาร แต่ไม่ค่อยสนใจการแทรกแซงที่ผ่าน “คำพูด” เพราะอาจมองว่าไม่ใช่การใช้กำลัง

และเป็นไปได้ว่าในปี 2563 ผู้นำทหารอาจแสดงบทบาทในลักษณะเช่นนี้อีก

2)หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ผู้นำกองทัพในอดีตมักจะไม่แสดงท่าทีทางการเมืองในลักษณะที่เป็นการท้าทาย

เพราะต้องการสงวนท่าที และไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับสถาบันทหาร

และบางครั้งอาจจะพยายามแสดงออกถึงการรักษาระยะระหว่างกองทัพกับการเมือง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสถาบันทหาร

แต่ในปัจจุบันกลับเห็นทิศทางที่แตกต่างออกไป อันเท่ากับบ่งบอกถึงบทบาทของทหารในการเป็น “ผู้กำกับ” การเมือง และกล้าที่จะแสดงออกทางการเมืองอย่างเปิดเผย

ซึ่งเป็นดังการ “ชี้นำ” สำหรับฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย

และเป็นสัญญาณว่านักการเมืองไม่ใช่ผู้ควบคุมทิศทางการเมือง

ฉะนั้น ทหารในปี 2563 น่าจะอยากแสดงบทบาทเป็นผู้กำกับต่อไป

3)พื้นฐานทางความคิดของผู้นำทหารไทย (รวมทั้งกลุ่มอนุรักษนิยมไทย) ไม่แตกต่างจากชุดความคิดของทหารในละตินอเมริกาในช่วงทศวรรษของปี พ.ศ.2503 ถึงปี 2523 (1960-1980) ที่มองการเมืองในระบอบเลือกตั้งด้วยทัศนะแบบต่อต้าน

ความคิดชุดนี้เรียกในทางรัฐศาสตร์ว่า “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology)

กล่าวคือ ผู้นำทหารมองว่านักการเมืองและพรรคการเมือง ตลอดรวมถึงระบอบการปกครองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นภัยคุกคาม และกองทัพจะต้องต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้

หรืออาจกล่าวสรุปในเชิงทัศนะได้ว่า ผู้นำกองทัพมองว่านักการเมืองและพรรคการเมือง (ฝ่ายประชาธิปไตย) เป็น “เชื้อโรคร้าย” ที่บ่อนทำลายสังคม

และการต่อสู้นี้จึงเป็นการปกป้องประเทศจาก “โรคระบาดร้ายแรง” ที่เกิดจากนักการเมือง (ดูตัวอย่างทัศนะเช่นนี้ได้จากถ้อยแถลงของผู้นำทหารเปรูในปี 2461)

และที่สำคัญ อุดมการณ์ชุดนี้ไม่ยอมรับนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง ผลสืบเนื่องที่ชัดเจนก็คือ การแสวงหาคนกลางเพื่อการเป็นผู้นำทางการเมือง และคนกลางที่เหมาะสมในอุดมการณ์ชุดนี้คือ “ผู้นำทหาร” ชุดความคิดเช่นนี้จึงรองรับบทบาทของทหารในการเมืองได้อย่างดี

และแม้ระบอบการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในการเมืองไทย แต่ก็เป็นระบอบที่ทหารยังคงมีอำนาจอยู่สูง

เพราะปีกอนุรักษนิยมยังคงยึดในความคิดของอุดมการณ์นี้

อันกลายเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง”

และส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่กรุงเทพฯ ไม่ใช่เรื่องง่าย

4)การแสดงออกทางการเมืองของผู้นำทหารในที่สาธารณะ คือการส่งสัญญาณที่ชัดเจนในทางการเมืองว่า กองทัพเป็นตัวแทนที่เข้มแข็งของกลุ่มอนุรักษนิยมปีกขวาสุด

และมีจุดยืนชัดเจนที่ปฏิเสธแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทย

แม้การแสดงท่าทีเช่นนี้ดูไม่น่าจะเป็นประโยชน์กับสถาบันทหารในระยะยาว เพราะจะทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่า กองทัพคือสถาบันการเมืองที่เป็นตัวแทนของปีกขวาจัดไทย และเป็นองค์กรที่จะไม่มีทิศทางการเมืองเป็นอื่น นอกจากเป็น “ปราการที่แข็งแกร่งของฝ่ายอนุรักษนิยม”

ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะใช้กำลังปกป้องผลประโยชน์ของปีกอนุรักษ์

อีกทั้งความน่ากังวลในอนาคตคือ เมื่อถึงจุดที่ปัญหาความสัมพันธ์พลเรือน-ทหารเกิด “วิกฤต” แล้ว องค์กรนี้ก็พร้อมที่จะใช้กำลังโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

และการแสดงตนของผู้นำทหารในแบบต่อต้านประชาธิปไตยคือ การประกาศความพร้อมที่จะเป็นผู้นำขบวนอนุรักษนิยมในอนาคต เพื่อทดแทนผู้นำเดิม

5)การแสดงออกในลักษณะแบบต่อต้านประชาธิปไตยของผู้นำกองทัพคือ การส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า กองทัพไม่ใช่ตัวแสดงที่จะช่วยให้เกิดการประนีประนอมและ/หรือความสมานฉันท์ในทางการเมือง (เหมือนเช่นที่มีการกล่าวอ้างเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ ที่สุดท้ายแล้วเหลือแต่เพียง “น้องเกี่ยวก้อย” ตุ๊กตาผ้า ที่ไม่เกิดผลใดๆ ในทางการเมือง)

ในทางตรงข้าม ท่าทีเช่นนี้กำลังชี้ให้เห็นว่า กองทัพกำลังแสดงบทเป็น “คู่ขัดแย้ง” โดยตรงในทางการเมือง

นอกจากนี้ ในหลายวาระ การเมืองไทยคุ้นชินกับการที่ผู้นำทหารมักจะมีบทบาทในการ “ปลุกกระแสขวาจัด” เสมอ

การปลุกกระแสเช่นนี้คือการยืนยันอย่างชัดเจนว่า ผู้นำทหารคือ “หัวขบวน” ของฝ่ายขวาไทย

และบทบาทนี้จะไม่มีทางแปรเป็นอื่น อันมีนัยว่าโอกาสที่กองทัพไทยจะเป็นขบวนที่ก้าวหน้าในความเปลี่ยนแปลงนั้น คงเป็นไปไม่ได้

6)แม้สงครามเย็นที่เป็นการต่อสู้ระหว่าง “รัฐไทย” กับ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” จะจบลงอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2525-2526 และภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในเวทีโลกนั้น ถือว่าสิ้นสุดลงไปตั้งแต่ปี 2532 ที่มีการ “ทุบกำแพงเบอร์ลิน” เป็นสัญลักษณ์

แต่สำหรับฝ่ายขวาและผู้นำทหารสายอนุรักษนิยม พวกเขายังคงทัศนคติที่เชื่อว่า ปัญหาในการเมืองส่วนหนึ่งมาจาก “พวกคอมมิวนิสต์เดิม”

ทัศนะเช่นนี้สะท้อนการมองปัญหาภัยคุกคามของผู้นำทหารอย่างชัดเจน

ทั้งที่ในความเป็นจริงอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลไทยหลังรัฐประหาร 2557 ดำรงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอย่างมากในระดับต่างๆ กับรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์

สภาวะดังกล่าวจึงดูจะเป็นความ “ย้อนแย้ง” ในเชิงทัศนะ

และที่สำคัญลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยคุกคามในเวทีโลกและเวทีไทยอีกแล้ว

การโยงปัญหาการเมืองไทยเข้ากับประเด็นคอมมิวนิสต์ ย่อมถูกวิจารณ์ว่าเป็นการสร้างกระแส “ปลุกผีคอมมิวนิสต์”

และการสร้างกระแสนี้ไม่น่าจะทำให้สังคมในวงกว้างคล้อยตาม

เว้นแต่ปีกอนุรักษนิยมบางส่วนที่เชื่อและพร้อมจะเดินไปกับผู้นำทหารโดยไม่มีข้อสงสัย

7)ในบริบททางการเมืองระหว่างประเทศ ผู้นำทหารและบรรดากลุ่มอนุรักษนิยมไทยหลังรัฐประหาร 2557 มีทิศทางนิยมจีน

ซึ่งอาจเป็นผลจากคำวิจารณ์และท่าทีที่ไม่ตอบรับของรัฐบาลตะวันตก

สภาวะดังกล่าวทำให้ผู้นำทหารไทยมีทิศทางที่เข้าหาจีน และอาศัยแรงสนับสนุนจากจีนคานกับฝ่ายตะวันตก

ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดถูกยกระดับขึ้นในหลายๆ ส่วน ไม่แต่เพียงเฉพาะในเรื่องทางทหาร ที่ผ่านการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์เท่านั้น

ภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นหลังปี 2557 ทำให้ผู้นำรัฐประหารไทยถูกมองว่า พวกเขาได้เปลี่ยนทิศทางของนโยบายความมั่นคงไทยไปสู่ความใกล้ชิดกับจีน

แม้ในระยะหลังจะมีความพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ด้วยการที่ผู้นำทหารในปัจจุบันหันไปซื้ออาวุธจากสหรัฐบางส่วน

แต่การจัดหายุทโธปกรณ์ไม่ใช่สัญญาณที่แท้จริง เท่ากับนโยบายการเมืองของรัฐบาลที่ปรากฏ และผู้นำทหารไทยควรต้องตระหนักว่าการใช้อาวุธเป็นเครื่องมือในนโยบายการทูตไม่ใช่สิ่งที่รัฐเล็กๆ จะกระทำได้จริง

และคาดได้ว่าความใกล้ชิดทางทหารไทย-จีนในปี 2563 น่าจะมากขึ้น

8)ผู้นำทหารและบรรดาปีกขวาจัดไทยไม่เคยชอบการเมืองในระบอบรัฐสภา

โดยเฉพาะเมื่อการเมืองอยู่ใน “ระบบเปิด” ที่มีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ย่อมจะนำไปสู่การมี “เสรีภาพในการแสดงออก”

ดังนั้น กองทัพในการเมืองเปิดย่อมตกอยู่ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ในเวทีสาธารณะอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และคาดได้ว่าการวิจารณ์กองทัพในปี 2563 น่าจะมีความเข้มข้นมากขึ้น และเสียงเรียกร้องจากภาคสังคม

 

รวมถึงเสียงจากบรรดาพรรคฝ่ายค้านที่จะให้มีการปฏิรูปกองทัพในด้านต่างๆ ก็มีมากขึ้นด้วย

และไม่ว่าผู้นำทหารจะมีอาการ “หงุดหงิด” เพียงใด แต่ก็คงปฏิเสธถึงทิศทางการเมืองในปี 2563 ที่ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปกองทัพจะเป็นประเด็นสำคัญ

อีกทั้งคาดการณ์ได้ว่า ข้อเรียกร้องเช่นนี้ส่วนหนึ่งจะถูกขับเคลื่อนผ่านเวทีรัฐสภา ภายใต้การทำงานของคณะกรรมาธิการที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว

สภาพเช่นนี้ทำให้เกิดคำถามในปี 2563 ว่า แล้วผู้นำทหารเรียนรู้ที่จะอยู่กับกระบวนการทางรัฐสภา ที่กำลังมีบทบาทมากขึ้นในกิจการทหารของประเทศอย่างไร

เพราะผู้นำทหารอาจจะคุ้นเคยกับเพียงสภานิติบัญญัติยุคหลังรัฐประหาร ที่มีฐานะเป็นเพียง “ตรายาง” ที่คอยแสตมป์รับ และไม่เคยมีบทบาทในการตรวจสอบกองทัพแต่อย่างใด

9)ในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังรัฐประหารที่กองทัพมีอำนาจในการเมืองอย่างเต็มที่ ผู้นำทหารมักชอบแสดงท่าทีในลักษณะที่ “แข็งกร้าว” ในด้านหนึ่งการแสดงออกในแบบดังกล่าวเป็นการ “ข่มขู่” ทางการเมือง เพื่อใช้ในการป้องปรามฝ่ายตรงข้ามไม่ให้เปิดการเคลื่อนไหวต่อต้าน

การกระทำเช่นนี้อาจจะใช้ได้ผลบ้างในช่วงเวลาดังกล่าว เพราะกองทัพมีอำนาจพิเศษในฐานะรัฐบาลทหาร

แต่การที่กองทัพต้องอยู่กับการเมืองในระบอบรัฐสภา การแสดงบทบาทเช่นนั้นในปี 2563 อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของสถาบันทหารทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นสัญญาณของการแทรกแซงทางการเมืองของผู้นำทหารเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสัญญาณของ “การคุกคาม” ทางการเมืองในอีกแบบหนึ่งด้วย แต่ก็จะตามมาด้วยการตรวจสอบของรัฐสภา ฉะนั้นอาจจะต้องตระหนักในปีใหม่นี้ว่า ผู้นำกองทัพไม่ได้มีสิทธิที่จะแสดงด้วยวาจาและการกระทำในแบบต่อต้านประชาธิปไตย หรือแสดงการสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านฝ่ายค้านอย่างเปิดเผย

เพราะจะถูกตรวจสอบ

10)การปฏิรูปกองทัพจะเป็น “ประเด็นสาธารณะ” ที่สำคัญในปี 2563 อย่างแน่นอน

ซึ่งอาจมีประเด็นหลัก 4 ประการ

ได้แก่

การควบคุมบทบาทของกองทัพในการเมือง

การปฏิรูปการซื้ออาวุธ

การปฏิรูปการเกณฑ์ทหาร

และการปฏิรูปกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)

คาดได้ว่าทั้งสี่ประเด็นนี้จะถูกขับเคลื่อนมากขึ้นในปีใหม่

และเรื่องทั้งสี่จะถูกตรวจสอบโดยรัฐสภาและสังคมมากขึ้น

11)ผู้นำทหารและปีกขวาจัดไทยควรจะต้องยอมรับถึงความ “ซับซ้อน” ของปัญหาภาคใต้ และการนำเสนอความคิดในการแก้ปัญหาภาคใต้ในเวทีสาธารณะ ที่อาจดูขัดแย้งในทางความคิดกับฝ่ายทหาร ก็ไม่สมควรที่จะถูกจัดว่าเป็นภัยคุกคามหรือเป็นศัตรูกับฝ่ายทหาร เพราะบทบาทของกองทัพไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้ประสบความสำเร็จ

และข้อเตือนใจสำหรับผู้นำทหารในปี 2563 คือ ขบวนของฝ่ายตรงข้ามได้เฝ้ามองทิศทางการใช้อำนาจของรัฐและฝ่ายทหารด้วยความสนใจ

และรัฐไทยจะต้องระมัดระวังไม่ให้การกระทำของรัฐและกองทัพถูกนำไปใช้ประโยชน์ขยายผลทางการเมืองสำหรับฝ่ายตรงข้ามในภาคใต้

ขณะเดียวกันอาจจะต้อง “ปรับทัศนคติ” ของผู้นำทหารในปีใหม่ที่จะต้องเข้าใจว่า สงครามก่อความไม่สงบทั่วโลกไม่ใช่เรื่องของ “อาชญากรรมปกติ”

เพราะไม่สามารถใช้มาตรการทางกฎหมายหรือแนวทางแก้ปัญหาแบบ “ตำรวจจับโจร” แก้ปัญหาภาคใต้ได้จริง

12)ประเด็นสำคัญสุดท้ายสำหรับผู้นำทหารไทยในปี 2563 คือ จะต้องตระหนักรู้ว่า การแสดงบทบาททางการเมืองของทหารไม่ใช่สิ่งที่ได้รับการยอมรับในมาตรฐานของ “วิชาชีพทหารในสากล”

การกระทำเช่นนั้นเป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ของกองทัพไทย

และทำให้กองทัพถูกมองจากประชาคมระหว่างประเทศว่า ไม่เป็น “ทหารอาชีพ”

แต่เป็นเพียง “นักการเมืองในเครื่องแบบ”

หรือหากมองในทางทฤษฎี กองทัพคือรากฐานของ “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” (ระบอบพันทางแบบไทย) และระบอบนี้อยู่ได้ด้วยการค้ำประกันของผู้นำทหาร ไม่ใช่ด้วยเสียงสนับสนุนจากประชาชน

บทประเมินทั้ง 12 ประการนำเสนอเพื่อให้เห็นว่า แม้กองทัพจะยังมีบทบาททางการเมืองต่อไปในปี 2563

แต่ก็จะเป็นปีที่มีแรงเสียดทานกับกองทัพอย่างมาก

และเป็นปีที่ผู้นำกองทัพยุคปัจจุบันต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับระบอบเลือกตั้ง

และจะต้องอยู่ให้ได้กับกระบวนการตรวจสอบของรัฐสภาอีกด้วย!