ต่างประเทศอินโดจีน : “อีบีเอ” กับ ศก.กัมพูชา

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ยืนยันว่า เศรษฐกิจของกัมพูชาในปี 2019 จะขยายตัวสูงถึง 7 เปอร์เซ็นต์ สูงที่สุดในบรรดาชาติอาเซียนทั้งหมด

ทั้งนี้ เพราะอุตสาหกรรมหลักๆ ที่ทำรายได้ให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป การท่องเที่ยว การค้าและการก่อสร้าง ล้วนรุดหน้าไปด้วยดีทั้งสิ้น

ภาวะเศรษฐกิจในอนาคตของกัมพูชาจึงควรสดใสต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้าและปีโน้นๆ ถ้าหากไม่บังเอิญมีปัญหาเรื่อง “อีบีเอ” เข้ามาแทรก

“อีบีเอ” คือคำย่อของ “เอฟรีธิง บัท อาร์ม” ที่เป็นโครงการให้ความช่วยเหลือต่อบรรดาประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกรวม 49 ประเทศ ที่สหภาพยุโรป (อียู) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2001 กัมพูชา เป็นหนึ่งในจำนวนชาติที่ได้รับประโยชน์นั้น

เงื่อนไขง่ายๆ ของโครงการอีบีเอของอียูก็คือ ประเทศเหล่านี้สามารถส่งสินค้าอะไรก็ได้ ยกเว้น “อาวุธและเครื่องกระสุน” เข้าไปขายในอียู โดยไม่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ข้อแม้ก็คือ ประเทศเหล่านี้ต้องยึดถือในหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และสิทธิผู้ใช้แรงงาน ตามสนธิสัญญาของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) รวม 15 ฉบับอย่างเคร่งครัด

 

ภายใต้ข้อแม้ดังกล่าวนี้เอง ที่ทำให้กัมพูชา ซึ่งปราบปรามฝ่ายค้านอย่างหนักในช่วงสองสามปีหลังมานี้ เช่นเดียวกับการกำราบและควบคุมความเคลื่อนไหวของสื่อมวลชนในประเทศทุกทางและทุกรูปแบบ ตกอยู่ในสภาพเดือดร้อน

อียูเริ่มกระบวนการเพื่อการถอนสิทธิอีบีเอของกัมพูชามาตั้งแต่ 12 กุมภาพันธ์ 2019 ด้วยการส่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเดินทางมาพบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายตรงกันข้ามต่อด้วยการเฝ้าระวังเพื่อการประเมินต่อเนื่อง 6 เดือน

คณะกรรมการจัดทำรายงานสถานการณ์เสนอกลับไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน แล้วให้เวลารัฐบาลกัมพูชา 1 เดือนสำหรับตอบข้อกังขาว่าด้วย “การเสื่อมทรามของประชาธิปไตยและการเคารพในสิทธิมนุษยชน” ที่เกิดขึ้น

การตัดสินชี้ขาดของอียู ว่าจะยกเลิกอีบีเอของกัมพูชาหรือไม่ จะยกเลิกทั้งหมดหรือจะคงบางส่วนไว้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ที่จะถึงนี้ โดยหากอียูตัดสินใจระงับสิทธิพิเศษตามโครงการอีบีเอ การระงับดังกล่าวมีผลในเดือนสิงหาคม ปี 2020

ผู้เชี่ยวชาญระบุไว้ชัดเจนว่า หากมีการตัดอีบีเอ เศรษฐกิจกัมพูชาจะประสบปัญหาสูญเสียครั้งใหญ่ เนื่องจากกัมพูชาเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้สูงสุดเป็นลำดับที่ 2

กัมพูชาส่งออกไปยังอียูรวมมูลค่าสูงถึง 5,800 ล้านดอลลาร์ต่อปี 95 เปอร์เซ็นต์เป็นการส่งออกโดยไม่ต้องเสียภาษี สินค้าหลักหนีไม่พ้นเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีสัดส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อจีดีพีของประเทศ

สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จเป็นอุตสาหกรรมที่ชาวกัมพูชาไม่น้อยกว่า 2 ล้านคนต้องพึ่งพาอาศัยอยู่ ซึ่งรวมถึงแรงงาน 750,000 คนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมนี้โดยตรง

 

ความเสียหายครั้งนี้มหาศาลขนาดไหนดูได้จากการที่รัฐบาลกัมพูชาต้องกันเม็ดเงินเอาไว้ถึง 3,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นรับมือกับภาวะชะลอตัวที่อาจเกิดขึ้นตามมาหลังโครงการอีบีเอ

แถมยังเตรียมขึ้นภาษี, ภาษีศุลกากรและอื่นๆ อีกราว 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อหารายได้เข้ารัฐเพิ่มเติมอีกเพื่อรองรับสถานการณ์ที่ว่านี้

แต่การยกเลิกสิทธิพิเศษตามโครงการอีบีเอ ใช่ว่าจะก่อผลในทางลบเพียงอย่างเดียว แต่ยังถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับรัฐบาลในอันที่จะ “ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ” เสียใหม่ ให้หลากหลาย ทันสมัย และยั่งยืนมากขึ้นกว่ารูปแบบที่ผ่านมา

นี่คือสิ่งที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แนะนำให้ทำ แต่ไม่แน่ว่ารัฐบาลกัมพูชาจะเห็นชอบและทำตามเสมอไป

ซึ่งน่าเสียดายอย่างยิ่งทีเดียว