หนุ่มเมืองจันท์ | ฮาวทู “ไม่ทิ้ง”

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ผมไปดูหนัง “ฮาวทูทิ้ง ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ” แล้วครับ

เป็นหนังของ “เต๋อ” นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์

เคยดูหนังของ “เต๋อ” มา 2 เรื่อง

เรื่องแรก “ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ”

เรื่องที่สอง “girl Don”tCry” เรื่องราวของ BNK48

ชอบทั้ง 2 เรื่อง

ชอบ “ลายเซ็น” ของ “เต๋อ” ในหนังที่อธิบายไม่ได้

มาถึง “ฮาวทูทิ้ง” ก็ยังชอบเหมือนเดิม

และชอบมากกว่า 2 เรื่องแรก

รู้สึกกลมกล่อมขึ้น

ผมชอบดูหนังที่มีอะไรเก็บให้คิด

แต่อย่าหนักมาก ยากมาก

“รอยหยัก” ในสมองไปไม่ถึง

อย่าง “ฮาวทูทิ้ง” มีเรื่องให้คิดต่อเยอะทีเดียว

“เต๋อ” ทำให้เราต้องตีความ “ความหมาย” ของคำต่างๆ ใหม่

คำว่า “ขอโทษ” ที่น่าเป็นเรื่องที่ดี

เพราะเป็นการแสดงความเสียใจที่ได้ทำอะไรผิดพลาดไป

รู้สึกว่าตัวเองผิด

แต่ “เต๋อ” ตั้งคำถามขึ้นมาว่า คนที่เอ่ยคำว่า “ขอโทษ” นั้น

แท้จริงแล้วเป็นการโยนความรู้สึกผิดไปให้อีกคนหรือเปล่า

เพราะเมื่อเราขอโทษแล้ว

เราลอยตัวทันที

พ้นจากความรู้สึกผิดในใจ

แต่เป็นการโยนภาระให้กับอีกคนหนึ่ง

เพราะคนที่โดนกระทำและบาดเจ็บจากสิ่งนั้นแม้ในใจจะยังโกรธอยู่ แต่ถ้าไม่ยอม “ให้อภัย” คนที่เอ่ยคำว่าขอโทษ

สังคมก็จะมองว่าคนนั้นเป็นคนไม่ดี

ไม่ยอมให้อภัยคน

ขอโทษ เพราะรู้สึกว่าผิด

หรือขอโทษแล้วเพื่อลอยตัวจากความรู้สึกผิด

ในมุมของผู้ถูกกระทำ เรื่องนี้ไม่ยุติธรรม

เป็นมุมคิดที่น่าสนใจทีเดียว

นอกจากคำว่า “ขอโทษ” แล้ว

เรื่อง “ความทรงจำ-การลืม-ทิ้ง” ล้วนเป็นเครื่องหมายคำถามให้เราได้ขบคิด

หนังจบ

แต่หนังในหัวของเรายังไม่จบ

ผมลองสรุปเรื่องที่ “ทิ้ง” ไม่ออกหลังดูหนัง “ฮาวทูทิ้ง”

มีอยู่ 10 เรื่องครับ

1. “เต๋อ” เป็นคน 2 บุคลิก

สุดทางในทุกเรื่อง

ดูได้จากชื่อบริษัทของเขาที่ใช้สร้างหนังเรื่องนี้

“เวรี่ แซด พิคเจอร์ส และแฮปปี้ เอนดิ้ง ฟิล์ม”

บริษัทนี้จะทำหนังดราม่า หรือหนังฟีลกู๊ดก็ได้

ไม่ต้องเปลี่ยนชื่อบริษัท

2. หนังเล่นกับ “ความทรงจำ” กับ “สิ่งของ” ผ่านการจัดบ้านครั้งใหญ่ของนางเอก

เป็นประสบการณ์ร่วมของทุกคน

ทุกคนเคยจัดห้อง จัดบ้าน

เคยต้องทิ้งของที่เก็บสะสม

บางชิ้นเราแทบลืมไปแล้ว แต่พอหยิบขึ้นมาเมื่อไร ฝุ่นละอองของความทรงจำฟุ้งกระจายขึ้นมาทันที

มีทั้งความสุข และความเศร้า

ถ้าจัดของแล้วหยิบมาดู หรืออ่านเมื่อไร

เราจะเสียเวลากับของหลายชิ้นมาก

การหยิบเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์ร่วมของทุกคนเป็นประเด็นหลักของหนังทำให้คนดูมีส่วนร่วม

ดูแล้วต้องมีอย่างน้อย 1 ฉากที่ “โดน”

หรือบางคนอาจจะ “โดน” เกือบทั้งเรื่อง

ทั้งเคย “ทิ้ง” คนอื่น

และ “ถูกทิ้ง”

3. ใครชอบหนังที่สนุก ทั้งยิ้ม หัวเราะ และน้ำตาซึม

ชอบ “คำคม” ในหนังเยอะๆ

ชอบการทิ้งมุขให้หัวเราะแบบเท่ๆ

ชอบดูหนังแล้วคิดต่อ

คุณน่าจะชอบ “ฮาวทูทิ้ง”

4. ถ้าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมาแล้วทำให้เรารู้ว่าเราไม่ใช่สิ่งที่มีค่าสำหรับเขา

เราควรเสียใจที่เหตุการณ์นั้นแทรกเข้ามาในชีวิต

เพราะทำให้เราต้องเลิกกัน

หรือเราควรจะดีใจ

ที่เราได้รู้ก่อน

5. ถ้าวันใดคิดว่า “เป้าหมาย” หรือ “ภารกิจ” ของเรายิ่งใหญ่ที่สุด

ถูกต้องที่สุด

เราจะมองผ่านความรู้สึกและปัญหาของคนอื่น

ทั้งที่บ้านหลังนี้ “เคยเป็น”

และยัง “คงเป็น” ของ “เรา” ทุกคน

6. สิ่งของทุกอย่างเหมือน “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”

มี “ความทรงจำ” อาศัยอยู่

ไม่ต้องขัดถู หรือท่องคาถา

ขอเพียงได้เห็น

“ความทรงจำ” ก็จะผุดพรายออกมาเอง

7. “ความทรงจำ” เป็นสมบัติของคนบางคน

ไม่ใช่ “ทุกคน”

แม้ทั้งคู่จะมีประสบการณ์กับสิ่งของหรือช่วงเวลาเดียวกัน

แต่บางคน “จำ”

และบางคน “ลืม”

8. ตอนที่ “จีน” พรมนิ้วลงบนคีย์ของเปียโนตัวเก่าตัวนั้น

เล่นเพลง “แฮปปี้เบิร์ธเดย์”

ไม่รู้เหตุผลว่าเล่นเพราะอะไร

ผมรู้สึกเลยว่า ใครจะลืม หรือใครจะจำเหตุการณ์วันนั้นได้หรือไม่ก็ตาม

แต่คนที่เจ็บปวดที่สุด คือคนที่พยายามจะ “ลืม”

ทั้งที่ “จำ” ได้

9. บทเรียนจาก “อดีต” ทำให้เรารู้คุณค่าของ “ปัจจุบัน”

ถ้าทำ “วันนี้” ให้ดีที่สุด

“อดีต” จะไม่ใช่สิ่งที่น่าหวาดกลัวจนเราอยากจะ “ลืม”

หลังจากดูหนังรอบสื่อมวลชนจบ

ทีมงาน GDH ขอสัมภาษณ์ความคิดเห็นต่อหนังเรื่องนี้

“พี่เก้ง” จิระ มะลิกุล และ “วรรณ” วรรณฤดี พงษ์สิทธิศักดิ์ โปรดิวเซอร์ใหญ่ของ GDH เดินมาสะกิด

“พี่เก้ง” รู้ว่าผมทำ Podcast รายการ “ThePower Game” เกี่ยวกับการเมือง

เขาเอ่ยปากแซวแกมเสียงหัวเราะ

“บอกด้วยว่าดูแล้วตีความเรื่องการเมืองอย่างไรบ้าง”

ครับ นั่นคือ ที่มาของข้อที่ 10

ตามคำสั่งของ “พี่เก้ง”

ดูหนัง “ฮาวทูทิ้ง” แล้วคิดถึงเรื่องอะไรในแวดวงการเมือง

คิดได้ 2 เรื่องครับ

เรื่องแรก ฮาวทู “ทิ้ง” ไม่สำคัญเท่ากับ ฮาวทู “ไม่ทิ้ง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกเสมอว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

คำถามเรามีวิธีการอย่างไรที่จะ “ไม่ทิ้ง” ใครไว้ข้างหลังอย่างไรโดยที่เราไม่ต้องอยู่ข้างหลังสุด

แล้ว “ถูกทิ้ง”

เราจะ “ไม่ทิ้ง” คนจนที่รุกป่าได้อย่างไร

โดยที่ไม่มี “เอ๋” ปารีณา อยู่ข้างหน้า

…คนเดียว

หรือเรื่องที่สอง ฉากที่ “จีน” โทร.ไปหาพ่อแล้วร้องไห้

กับฉากที่ “แม่” ทุบประตูเรียก “จีน” ออกมาคุยด้วย

พอได้ยินประโยคที่ “แม่” ตะโกนผ่านประตู

“จีน แกก็เหมือนกับพ่อแกนั่นแหละ เห็นแก่ตัว”

ผมนึกถึงคำว่า “อิเหนา” ขึ้นมาทันที

ว่าแต่เขา “อิเหนา” เป็นเอง

… “อิเหนาเมาหมัด”

เจอ “พี่เก้ง” เมื่อไร ผมจะให้เลือก

เอาเรื่องไหนดีครับ