เกษียร เตชะพีระ | คำอธิบายของตัวแทนรัฐ : วิสัยของเฟืองเล็กๆ (2)

เกษียร เตชะพีระ

ประเด็นคำถามหนึ่งที่เจือผสมอยู่ในการถามตอบในวาระพิจารณากรณีการดำเนินคดีของรัฐต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมืองของคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 27 พฤศจิกายนศกนี้ก็คือ

กระบวนการวินิจฉัยตัดสินใจกล่าวหาฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรดาผู้เห็นต่างทางการเมืองภายใต้รัฐบาล คสช. ที่ผ่านมานั้น เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติมีอิสระในการใช้ดุลพินิจส่วนตนบ้างหรือไม่ อย่างไร?

ทั้งนี้เพราะมันเกี่ยวพันโดยตรงกับการทวงถามภาระความรับผิดหรือคำอธิบาย (accountability) ทั้งในทางกฎหมายและในทางศีลธรรม/มโนธรรมส่วนบุคคล (personal legal & moral/conscience accounting)

ต่อเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่ตัวแทน คสช.ในที่ประชุมอันได้แก่ พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 อดีต หน.ฝ่ายข่าวกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น และ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบกและผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า อดีตฝ่ายกฎหมาย คสช. ผู้รับผิดชอบคดีการเมือง ชี้แจงไปอย่างคล้องจองละม้ายคล้ายกัน กล่าวคือ (ข้อความด้านล่างต่อไปนี้อ้างอิงจากรายงานข่าวของบีบีซีไทย (www.bbc.com/thai/thailand-50573578 ส่วนที่ทำตัวหนาหรือขีดเส้นใต้เน้นโดยผู้เขียน) :

พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี ได้เล่าย้อนเหตุการณ์…ว่าเขาไม่ใช่คนแรกที่เห็นข้อความที่นายจตุภัทร์แชร์ เพราะในหน่วยข่าวจะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สันติบาลและส่วนอื่นๆ ในฐานะที่เป็น ผบ.กองร้อย ก็ได้รับข้อมูลจากทีมงาน

“พอผมเปิดดูแล้ว ก็ต้องไปรายงานและสอบถามไปยังฝ่ายกฎหมายว่าจะเอาอย่างไร ผู้บังคับบัญชาก็มีดุลพินิจมา…ตอนนั้นผมกับน้องไผ่ก็ไม่มีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน ผมก็ไปแจ้งความตามขั้นตอนในฐานะเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยและในฐานะประชาชน เมื่ออ่านแล้วเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ผมก็ไปแจ้งความ แต่ไม่ขอก้าวล่วงเรื่องคดี และบัดนี้น้องก็เป็นอิสรภาพแล้ว”…

พล.ต.บุรินทร์กล่าวว่า เขาอยู่ในฐานะ “ผู้รับมอบอำนาจ” จาก คสช. ให้ไปดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษ และไม่ได้เป็น “ผู้ปฏิบัติ” ที่มีหน้าที่ติดตามบุคคล จึงไม่อาจตอบได้ทุกคำถาม…

ในการดำเนินคดีการเมืองและความมั่นคงหลังรัฐประหารปี 2557 แบ่งออกเป็น 2 ส่วน

– ส่วนกองกำลัง มอบหมายให้ ผบ.กองกำลังต่างๆ มีอำนาจสั่งการ “หน่วยล่าง” เช่น ผบ.กองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย โดยมีคำสั่งจากแม่ทัพภาคในฐานะ ผบ.กองพล ถ่ายทอดมาโดยลำดับ

– ส่วนขึ้นกับสำนักงานเลขาธิการ คสช. มี ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. เป็นผู้บังคับบัญชา เป็นไปตามดุลพินิจของ คสช. หากจะแจ้งความดำเนินคดีกับใครในกรุงเทพฯ ก็จะสั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่รับมอบอำนาจดำเนินการแทน โดย พล.ต.บุรินทร์รับผิดชอบคดีการเมือง…

พล.ต.บุรินทร์ระบุว่า เมื่อมีเหตุการณ์ ฝ่ายข่าวจะแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ เสนอไปยัง คสช.ให้ใช้ดุลพินิจ เมื่อ คสช.เห็นอย่างไรถึงมอบอำนาจลงมาพร้อมกับพยานหลักฐานต่างๆ

“ผมทราบจากสำนักเลขาฯ ผมไปไม่ถึงหรอกครับข้างบนน่ะ ผมแค่เฟืองเล็กๆ” พล.ต.บุรินทร์กล่าว

นายพลผู้เป็น “มือแจ้งความ” ของ คสช. ถูกตั้งคำถามต่อไปว่า สถานภาพของเขาเปรียบเสมือน “บุรุษไปรษณีย์” ที่นำความจากผู้บังคับบัญชาไปยื่นร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชน หรือสามารถโต้แย้ง-ใช้ดุลพินิจทางกฎหมายได้บ้าง

“หากมีหนังสือมอบแล้ว มันไม่มีโอกาสใช้ดุลพินิจเลย มันเป็นคำสั่ง” เขาตอบ

ถ้าเช่นนั้นใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนหากมีคดีความขึ้นมา พล.ต.บุรินทร์ตอบเลี่ยงๆ ไปว่า คสช.เป็นผู้พิจารณาร่วมกันและให้เลขาธิการ คสช.ไปดำเนินการ ซึ่งเลขาฯ ก็เปลี่ยนมาหลายคนตามวาระ ผบ.ทบ. จากนั้นจึงไปที่สำนักงานเลขาธิการ คสช. และถึงจะมาถึงตัวเขา…

พล.ต.บุรินทร์ยืนยันว่า ส่วนตัวไม่เคยไปข่มขู่ไม่ให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหว แต่เมื่อมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ถึงได้รับมอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดี

“เมื่อเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ผมก็ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติก็มีความผิด”

ชุดคำอธิบายชี้แจงดังกล่าวข้างต้นของเจ้าหน้าที่นายทหารตัวแทน คสช. ทั้งสองคนมีลักษณะไปในทำนองเดียวกัน กล่าวคือ :

– มันเป็นการอธิบายระเบียบขั้นตอนกระบวนการปฏิบัติราชการ (bureaucratic procedures) ให้ฟัง

– โดยผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนั้นไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินวินิจฉัย ไม่มีอิสระในการใช้ดุลพินิจของตนเอง (no decision-making authority, no autonomy, no discretionary power)

– และดังนั้นจึงไม่พึงต้องรับผิดชอบ ไม่มีภาระความรับผิดทางกฎหมายและศีลธรรม/มโนธรรมแต่อย่างใดทั้งสิ้น (no responsibility, no legal and moral/conscience accountability)

– ประหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด (หมายถึงการดำเนินคดีของรัฐต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง) เป็นกระบวนการไม่เป็นส่วนบุคคลที่ปราศจากองค์ประธานผู้กระทำการ (an impersonal process without a subject)

– พวกเขาเป็นแค่ “เฟืองเล็กๆ” (a clog in the wheel) ที่หมุนควง รับทอดและส่งต่อ ข้อมูล-คำสั่ง-ปฏิบัติการ โดยอัตโนมัติภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ของ คสช. หากมิใช่บุคคลองค์ประธานผู้กระทำการที่คิดเอง ริเริ่มเอง ตัดสินใจเอง และใช้ดุลพินิจเองแต่อย่างใดเลย

จริงอย่างนั้นหรือ?

ผมอยากตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ซึ่ง พล.ต.บุรินทร์เอ่ยอ้างถึงและถือว่าตนต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติก็มีความผิดนั้น อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ทั้งหลายรวมทั้งตัวท่านเองต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยพิจารณาตัดสินใจด้วยอย่างแน่นอนว่ามันเป็น “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” จริงหรือไม่? หรือว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย? ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติตาม

ก็แลคุณสมบัติลักษณะอะไรบ้างเล่าที่ประกอบกันเข้าเป็น “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย”?

ส่วน “คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นั้นจะต้องมีลักษณะเฉพาะของมันอย่างไร?

คุณสมบัติและลักษณะดังกล่าวเหล่านั้นรวมไปถึงข้อที่ว่าผู้ออกคำสั่งได้อำนาจรัฐมาโดยวิธีการใด? ชอบด้วยกฎหมายในขณะนั้นหรือไม่? หรือได้มาด้วยการใช้กำลังเข้ายึดและควบคุม? ด้วยหรือเปล่า

น่าเสียดายที่คำถามที่น่าถามและคำตอบที่น่าตอบนี้ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาในที่ประชุม

อีกเช่นกัน เมื่อ คุณจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน เลขานุการประจำ กมธ.กฎหมายฯ และอดีตผู้ต้องขังภายใต้รัฐบาล คสช. ถามว่า “ทัศนคติที่ดีที่ไม่ทำให้โดนจับคือทัศนคติแบบไหน?” และ พล.ต.บุรินทร์ตอบว่า :

“ผมอาจขออนุญาตยกตัวอย่างคดีเก่าแล้ว กรณีประเทศไทยเคยมีการขาดแคลนน้ำมัน ก็มีการออกกฎหมายห้ามกักตุนน้ำมัน ต่อมาน้ำมันไม่ขาดแคลนแล้วก็ยกเลิก เหมือนกัน ตอนนั้นประเทศต้องการความสงบ หัวคำสั่งที่ 3/2558 ก็เขียนอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อมีเลือกตั้ง คสช.เลิกไป ประเทศก็เข้าสู่ระบบการปกครองที่มีสภา มันเป็นห้วงๆ ลักษณะของช่วงเวลาว่าประเทศชาติต้องการอะไรในขณะนั้น”

สิ่งที่คำตอบนี้สะท้อนถ่ายทอดออกมาก็คือ ในการจะบ่งชี้ลงไปว่าอะไรคือทัศคติที่ดี/ไม่ดีนั้น ต้องอาศัยอำนาจในการนิยามว่า :

1) อะไรคือสภาวะยกเว้น (the state of exception) ที่เป็น “ห้วงๆ ลักษณะของช่วงเวลา” อันต้องออกกฎหมายห้ามการกระทำหรือทัศนคติบางอย่าง?

2) อะไรคือ “ความสงบ” ที่ประเทศต้องการ?

3) อะไรคือ “ทัศนคติที่ดี/ไม่ดี”?

และอำนาจในการนิยามทั้ง 3 ข้อล้วนต้องอ้างอิงอาศัยดุลพินิจในการวินิจฉัยพิจารณาตัดสินใจของบุคคลผู้ใช้อำนาจรวมทั้งบุคคลผู้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้มีอำนาจและเข้าเผชิญเหตุในสนามที่เป็นจริงเป็นพื้นฐานรองรับทั้งสิ้น มิอาจหลีกเลี่ยงได้

ลำพัง “เฟืองเล็กๆ” ที่ไม่มีดุลพินิจ ปราศจากอัตวินิจฉัย คิดเองไม่เป็น จะทำได้อย่างไร?