อนุสรณ์ ติปยานนท์ : ชีวิตาในโลกใหม่ (15) เทศะแห่งอาณานิคมและกาละของผู้ปกครอง

Le premier grand livre imprimé en caractères mobiles dans le monde occidental, la Bible à quarante-deux lignes ou Bible de GUTENBERG, qui aurait été élaborée à Mayence entre 1452 et 1454, sous la responsabilité de Johann GUTENBERG (vers 1400-1468) et de ses associés Johann FUST et Peter SCHÖFFER. Aucune des impressions attribuées à GUTENBERG ne porte d'adresse ni de date. Exemplaire conservé au Musée Gutenberg de Mayence. Le premier grand livre imprimé en caractères mobiles dans le monde occidental, la Bible à quarante-deux lignes ou Bible de GUTENBERG, qui aurait été élaborée à Mayence entre 1452 et 1454, sous la responsabilité de Johann GUTENBERG (vers 1400-1468) et de ses associés Johann FUST et Peter SCHÖFFER. Aucune des impressions attribuées à GUTENBERG ne porte d'adresse ni de date. Exemplaire conservé au Musée Gutenberg de Mayence.

ในช่วงศตวรรษที่สิบห้านั้นมีโลกใหม่ปรากฏขึ้นสองแบบด้วยกัน

ในแบบแรกนั้นเป็นการปรากฏตนทางกายภาพที่ทวีปซึ่งไม่เคยปรากฏในแผนที่โลกมาก่อนหน้าได้เผยตัวของมันขึ้น

การค้นพบทวีปอเมริกาของ คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ในปี 1492 ภายใต้การอุปถัมภ์ของราชวงศ์คาสติลล์เพื่อแสวงหาเงินตราและความมั่งคั่งกลับสู่สเปนนั้นเป็นการค้นพบที่แสนอัศจรรย์

ทว่า การค้นพบแบบที่สองคือการพิมพ์การประดิษฐ์กระบวนการพิมพ์ที่เรียกว่า Printing Process โดยการใช้ตัวเรียงพิมพ์หรือ Moveable Type ในปี 1439 นั้นเป็นสิ่งอัศจรรย์ที่ไม่ยิ่งหย่อนเลย

ผู้คนจากอวิญอง จนถึงลิม่า ล้วนหมกมุ่นกับการอ่าน สามารถครอบครองหนังสือเป็นของตนเอง

หลังจากนั้น โลกที่ไม่มีและได้มีทวีปอเมริกาเปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่เช่นไร โลกที่ไม่มีและได้มีการพิมพ์ก็เปลี่ยนแปลงไปขนานใหญ่เช่นนั้นเฉกเช่นเดียวกัน

 

ในอดีตนั้นผู้ที่ลุ่มหลงในการอ่านจะมีศัพท์เรียกเฉพาะว่า The Humanist หรือนักมนุษยนิยม

สิ่งที่พวกเขาใฝ่ฝันคือทำเช่นไรจึงจะสามารถนำหนังสือที่หายากจำนวนมากในหอสมุดชั้นนำไปเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในวงกว้างได้

การใช้วิธีคัดลอกด้วยลายมือทีละเล่มนั้นเชื่องช้าเกินไปสำหรับการกระจายความรู้เช่นนั้น

แน่นอนต้องมีแรงกดดันบางอย่างที่การต้องการวิธีทำสำเนาที่ว่าให้จงได้นั้นบังเกิดขึ้น ช่วงต้นของศตวรรษที่สิบห้ามีการฟักตัวของกระบวนการพิมพ์หลายประการ

ความต้องการการอ่านต้นฉบับที่ดีมีมากขึ้น ความต้องการศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลเป็นส่วนตัวมีมากขึ้น

การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยเป็นขนานใหญ่ในช่วงยุคกลางหรือในศตวรรษที่สิบสามเป็นตัวเร่งเร้าหนึ่งให้เหล่านักมนุษยนิยมที่ว่าต้องการจะมีต้นฉบับหนังสือดีไว้ในครอบครองด้วยราคาที่ถูกลง

กระนั้นการคัดลอกด้วยมือก็ดูจะเป็นทางออกทางเดียวที่มีอยู่เพื่อให้ได้อ่านหนังสือเล่มที่ว่านั้น

มีหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กันในเวลานั้นนับแต่การต้องสร้างตัวพิมพ์ซึ่งต้องผ่านกระบวนการหล่อหลอมโลหะซึ่งยุ่งยากและยังไม่ได้ผลดี กระบวนการสร้างหมึกที่ติดทนนาน

ไม่นับถึงกระบวนการพิมพ์ที่ต้องมีเครื่องมือในการพิมพ์หมึกลงบนสิ่งที่ใช้อ่าน และสิ่งที่ใช้อ่านเองนั้นดูจะเป็นปัญหาใหญ่

หนังลูกวัวที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมีราคาแพงเกินไปสำหรับการพิมพ์จำนวนมาก

อีกทั้งยังต้องหาให้พอเพียง (อันเป็นเหตุให้ในอารามที่ต้องมีตำราจำนวนมาก พระหรือบาทหลวงต้องทำการปศุสัตว์เพื่อเอาหนังลูกวัวมาใช้งานด้วยตนเอง)

ปัญหาข้อนี้แบ่งเบาไปร้อยปีก่อนหน้าเมื่อพวกอาหรับแนะนำสิ่งหนึ่งที่เรียกว่ากระดาษอันเป็นสิ่งซึ่งพวกเขานำมันมาจากเมืองจีนให้สังคมยุโรปได้รู้จักและกลายเป็นของสามัญในขณะนั้น

 

เมืองแรกที่กระดาษปรากฏตัวขึ้นคือเมืองเยนัวในอิตาลี

หลังจากนั้นมันถูกใช้ในฐานะของวัตถุทดแทน สำหรับการบันทึกเอกสารที่ไม่สำคัญ หรือเป็นการบันทึกในช่วงเวลาที่เร่งรีบและถือเป็นกฎว่าเมื่อมีเวลาพอต้องคัดลอกข้อความในกระดาษลงบนหนังวัวแล้วทำลายกระดาษทิ้งเสีย

กระนั้นแม้ในศตวรรษที่สิบสาม มันก็ยังไม่ถูกยอมรับว่ามีคุณภาพดีพอสำหรับการบันทึกเรื่องราวที่สำคัญ

จักรพรรดิเฟรเดอริก ที่สอง แห่งอาณาจักรโรมันถึงกับประกาศในปี 1251 ว่า ห้ามใช้กระดาษบันทึกข้อห้ามหรือกฎเกณฑ์ทั้งหลายที่ใช้ในสาธารณะเป็นอันขาด

แม้จะมีข้อห้ามหลายอย่างทว่าโรงงานทำกระดาษค่อยๆ ปรากฏขึ้นในอิตาลี นครฟาเบียโน่-Fabriano กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตกระดาษในอิตาลีในช่วงต้นศตวรรษที่สิบสี่ มีการเปลี่ยนแปลงสองประการที่ทำให้การผลิตกระดาษราบรื่นขึ้น

การเปลี่ยนแปลงแรกหยิบยืมมาจากเทคนิคการทอผืนพรมของพวกอาหรับ

การเปลี่ยนแปลงที่สองมาจากความแพร่หลายของการปลูกต้นแฟลกซ์-Flax และต้นกัญชง-Hemp ซึ่งพบว่าใยของมันสามารถนำมาทำเป็นกระดาษได้อย่างดี

ในช่วงปลายของยุคกลาง อันทำให้การผลิตกระดาษมีราคาต่อหน่วยลดลงอย่างมาก

อุตสาหกรรมกระดาษงอกงามนับจากนั้นและเกิดความพยายามที่จะหาวิธีการใหม่ๆ ในการปรับปรุงคุณภาพยิ่งๆ ขึ้นอีก

อาทิ การเปลี่ยนแปลงของกาวที่ใช้เคลือบหน้ากระดาษที่เปลี่ยนจากกาวที่ทำจากสัตว์มาเป็นกาวที่ทำจากพืชแทน และทำให้ผิวกระดาษมีความราบลื่นน่าจับเหมือนผิวของดอกฝ้าย

แต่ละโรงงานจะมีสูตรน้ำยาเคลือบแตกต่างกันไปและแข่งขันกันอย่างลับๆ ด้วย

และเมื่อถึงช่วงหลังของศตวรรษที่สิบสี่ โรงงานกระดาษขยายตัวจากฟาเบียโน่ไปยังเมืองปาดัวร์, เทรวิโซ่ ไปจนถึงเยนัว และกลายเป็นสองเขตที่แข่งขันกันค้าขายกระดาษคือในระหว่างนครเยนัวและนครเวนิส พ่อค้าชาวเวนิสทำหน้าที่ขายกระดาษไปยังเมืองต่างๆ ในยุโรปอย่างแข็งขัน

เจ้าของโรงงานกระดาษแห่งหนึ่งในฟาเบียโน่บันทึกไว้ว่าในวันที่ 23 พฤศจิกายน ปี 1365 เขาขายกระดาษจำนวน 1,333 กิโลกรัมให้กับพ่อค้าที่ติดต่อมาจากมองเปลิเยร์

และอีกเพียงสามปีครึ่งต่อมา ยอดขายกระดาษของเขาครั้งหนึ่งสูงถึง 14,175 กิโลกรัม และมันเดินทางไปถึงเมืองทาราโมน่า ในแคว้นทัสกานีทีเดียว

 

ถึงตอนนั้น กระดาษได้เข้ามาแทนที่วัสดุอื่นที่ใช้ในการเขียนแล้ว ในปี 1340 เจ้าหน้าที่หรืออาลักษณ์ในราชสำนักฝรั่งเศสได้ใช้กระดาษจดบันทึกเรื่องราวสำคัญ (ดังที่ถูกเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุที่ปารีสยามนี้) บรรดาลูกมือชาวอิตาลีที่เคยทำงานในโรงงานกระดาษสำคัญพากันออกเดินทางไปเปิดโรงงานกระดาษตามที่ต่างๆ ในยุโรป แคว้นแชมเปญของฝรั่งเศสได้กลายเป็นแคว้นสำคัญในการผลิตกระดาษขายในกลางศตวรรษที่สิบห้า และเป็นคู่ค้าสำคัญของมหาวิทยาลัยปารีสในเวลาต่อมา

เมื่อกระดาษกลายเป็นสิ่งสำคัญสิ่งที่ถูกพิมพ์ลงบนกระดาษแรกๆ นั้นหาใช่ตัวอักษรหากแต่เป็นรูปภาพแทน

สาเหตุหนึ่งนั้นเป็นเพราะความรู้ด้านตัวอักษรยังจำกัดอยู่และการมองหรืออ่านด้วยภาพเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าทางด้านการสื่อสาร

แม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์ภาพนั้นมักทำจากไม้หรือโลหะอันเป็นผลจากการทำตราประทับสำหรับในราชการ

และเมื่อมีการขยายแม่พิมพ์เหล่านั้นให้ใหญ่ขึ้นและซับซ้อนขึ้น เราย่อมสามารถพิมพ์ภาพเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างอิสระโดยใช้หมึกสีดำและกระดาษสีขาวโดยเทคนิคที่เรียกว่า วู้ดคัต-Wood-Cut หรือการแกะแท่งไม้ให้เป็นภาพ

แคว้นเบอร์กันดี้และแคว้นไรน์ในฝรั่งเศสเป็นแคว้นแรกๆ ที่ส่งเสริมการใช้ภาพวู้ดคัตในการพิมพ์ โดยอาศัยเพียงแผ่นไม้และมีดคม

เรื่องราวในภาพที่พิมพ์ยุคแรกนั้นมักเป็นเรื่องราวของเหล่านักบุญและตำนานทางศาสนา และมักเป็นภาพที่ผู้คนเห็นจนเจนตาในโบสถ์หรือในอาราม

การที่กระดาษเป็นสิ่งที่พกติดตัวได้ง่ายเมื่อเย็บเป็นเล่มและมีภาพประกอบจึงได้รับความนิยม ผู้คนจะนั่งเพ่งมองภาพของนักบุญหรือเรื่องราวในตำนานเหล่านั้นในยามว่างและปล่อยให้จินตนาการของตนเองทำหน้าที่ไป

ภาพเหล่านี้ได้รับความนิยมจนถึงกับถูกพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าและแพร่หลายไปทั่วยุโรปดังภาพในหนังสือชื่อแม่พระแห่งบรัสเซลส์-Virgins of Brussels ที่พิมพ์ในปี 1423

หรือภาพนักบุญซีบาสเตียนแห่งเวียนนา-Sebastian of Vienna

หรือภาพนักบุญ อโพลิน่า-Apollina

ภาพนักบุญทั้งหลายเหล่านี้นอกจากจะดูเพื่อความเพลิดเพลินแล้วยังเชื่อว่าสามารถปกป้องโชคร้ายด้วย

ดังภาพนักบุญซีบาสเตียนที่เชื่อว่าป้องกันอุบัติเหตุได้ หรือภาพนักบุญอโพลิน่าที่เชื่อว่าสามารถรักษาอาการปวดฟันได้ชะงัดนัก ทำให้แทบทุกบ้านต้องมีภาพและหนังสือเหล่านี้

 

ในตอนแรกภาพในหนังสือเหล่านี้มักเป็นภาพโดดๆ ที่ไม่มีข้อความใดๆ

แต่แล้วมีความคิดว่าการเพิ่มข้อความเพียงเล็กน้อยอาจช่วยให้ผู้คนเข้าใจตำนานหรือเรื่องราวทั้งหลายได้ดีขึ้น

ในตอนแรกข้อความเหล่านั้นถูกเขียนด้วยมือแต่แล้วก็เป็นการแกะไปพร้อมกันในแผ่นไม้พร้อมกับรูปภาพเพื่อประหยัดเวลาในการพิมพ์

ความสำเร็จที่ว่านี้แพร่หลายไปสู่การพิมพ์ปฏิทินและไพ่อันเป็นของที่ผู้คนมักซื้อหาไว้ใช้ในครัวเรือนทั้งในแง่ของการดูปฏิทินเพื่อวันเวลาและในแง่ของการเล่นไพ่เพื่อความเพลิดเพลิน

หลังจากนั้นเอง หนังสือทั้งเล่มที่ภาพและข้อความมีความสำคัญเพียงพอกันก็ถูกผลิตขึ้น

ชีวประวัติสำคัญของนักบุญเป็นหนังสือเล่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด

ผู้ที่เข้าอารามเป็นประจำแม้จะไม่อ่านถ้อยความได้ออกทุกถ้อยคำก็พอคาดเดาเรื่องราวในนั้นได้ไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม ความนิยมของหนังสือที่แกะจากวู้ดคัตก็ดำเนินไปไม่นานนัก

เพราะอีกเพียงไม่กี่สิบปีต่อมาการพิมพ์ยุคใหม่ที่เกิดขึ้นโดยชายหนุ่มชาวเยอรมัน โยฮันส์ กูเตนเบิร์ก-Johannes Gutenberg ก็บังเกิดขึ้น