อะไรทำให้รายการ The Face Thailand ยังคงความปังได้ตลอด?

รายการ The Face Thailand ผ่านมาถึงซีซั่น 3 แล้ว แต่ทุกๆ ตอนที่ทยอยออกอากาศก็ยังคงความปังได้ไม่เสื่อมคลาย เกิดเป็นกระแสทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง

ผมไม่ได้เป็นแฟนรายการนี้ แต่ก็ยังได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้าง ความแซบของเมนเทอร์ และการเชือดเฉือนกันระหว่าง ทีมพี่ช่า ทีมพี่บี หรือทีมพี่เกด ไม่ขาดสาย

อะไรทำให้รายการ The Face Thailand ยังคงความปังได้ตลอด?

มีการเขียนสคริปต์เตี๊ยมไว้ก่อนหรือเปล่า?

ทำไมต้องดราม่า?

ผมส่งทีมงาน The Momentum ไปสัมภาษณ์ คุณเต้ – ปิยะรัฐ กัลย์จาฤก กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา เอฟโวลูชั่น จำกัด และ เอ็กเซ็กคูทีฟ โปรดิวเซอร์ รายการ THE FACE THAILAND

และนี่คือคำตอบของคำถามที่ว่านั้น

 

ไม่มีสคริปต์ แต่ไม่ควบคุมผลลัพธ์

คำถามที่ทุกคนสงสัยมากที่สุดคือ ดราม่าที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้คือการเล่นละครใช่หรือไม่ และมีการเตี๊ยมกันก่อนใช่ไหม

คุณเต้ยืนยันว่า “ไม่มี”

“ยืนยันว่ามันมีสคริปต์ไม่ได้ เพราะเราถ่ายกันเทปละ 2 วัน มีฟุตเตจ 12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย จะมีสคริปต์ทั้งวันคงเป็นไปไม่ได้”

แล้วทำไมรายการถึงออกมาแซบ และเผ็ดได้ขนาดนี้?

คุณเต้บอกกับ The Momentum ว่าเคล็ดลับคือการสร้างสถานการณ์แล้วปล่อยให้พวกเขาเล่นกันเอง

“สิ่งที่เราทำคือทำตามไบเบิลรูปแบบรายการที่ซื้อมาจากต่างประเทศ คือมีแคมเปญ หรือสถานการณ์กำหนดมาให้ แล้วปล่อยให้ 3 เมนเทอร์และลูกทีมเล่นกันเอง ซึ่งการปล่อยให้เขาเป็นธรรมชาติของเขา อะไรจะเกิดก็เกิด ไม่ควบคุมผลลัพธ์ ไม่ชักนำให้เกิดผลลัพธ์บางอย่าง ธรรมชาติตรงนี้เองที่เป็นเสน่ห์ของรายการ”

สิ่งที่ทำให้รายการสนุก มีรสชาติ นั้นมาจากการเลือกเมนเทอร์ที่มีประสบการณ์มาฟาดฟันกัน ซึ่งแม้แต่ตัวทีมงานเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องราวจะจบลงอย่างไร

“ที่เขาพูดกันว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย เราว่าจริง เพราะอย่าลืมว่าเมนเทอร์ 3 คนนี้เป็นตัวแม่ของวงการบันเทิง มีประสบการณ์การทำงานมาไม่ต่ำกว่า 15-20 ปี ไม่มีใครยอมใครหรอก แล้วแต่ละคนก็มีสัญชาตญาณความเป็นแม่เหมือนกันหมด ยิ่งรักลูกทีมแค่ไหนก็ยิ่งต้องปกป้องลูกทีม นอกจากจะต้องแข่งกันเองแล้วยังต้องแข่งกันเพื่อลูกทีมอีก เรียกว่าแข่งซ้ำแข่งซ้อน แข่งซ่อนเงื่อน ยังไงก็ต้องมีอารมณ์ร่วมอยู่แล้ว เหมือนนักกีฬาตอนแข่งขันกันยังทะเลาะกันเลย รายการนี้ก็เหมือนกัน”

เลือกตัวทีมงานให้ถูกและเคมีตรงกัน

อย่างที่บอกว่า การสร้างสถานการณ์นั้นรายการไหนก็ทำได้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นคือตัวเมนเทอร์ หรือหัวหน้าทีมทั้ง 3 ท่าน ที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของความสนุกของรายการ ซึ่งต้องยอมรับว่า The Face Thailand เลือกเมนเทอร์ได้อย่างลงตัว

คำถามก็คือพวกเขาใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก?

คุณเต้บอกกับ The Momentum ว่า

“เรามีทีมงานที่คอยเสนอชื่อเมนเทอร์เข้ามา จากนั้นค่อยมานั่งคุยกันว่าความสมดุลของทั้ง 3 คนลงตัวหรือยัง คือเคมีของทั้ง 3 คนต้องเข้ากัน”

คุณเต้บอกว่าไม่ใช่ว่าจะเลือกแค่คนแรงๆ เข้ามา แต่ต้องมีการบาลานซ์ความแรงในแต่ละแบบให้เกิดความลงตัว

“ถ้าแรงแบบเดียวกัน ทุกอย่างก็จะไปทางเดียวกันหมด อย่างซีซั่นที่แล้วก็เป็นส่วนผสมในแบบที่คนหนึ่งแรงแต่จริงใจ อีกคนแรงแบบเงียบๆ แต่กินเรียบ อีกคนอาจจะไม่แรงแต่มีปฏิภาณไหวพริบที่ดี”

ส่วนปีนี้การมีทีมมาช่ามาก็กำลังไปได้ดีและเข้มข้น

“ที่คาดหวังไว้คือให้ 3 คนนี้ใช้ศักยภาพของตัวเองให้ถึงขีดสุด เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้ลูกทีมได้เป็น THE FACE ที่มีคุณภาพมากที่สุด และคนดูต้องได้ประโยชน์ด้วย”

ไม่ได้สร้างกระแส แต่จับกระแสมาต่อยอดเพื่อให้เกิดบทสนทนา

อีกความสำเร็จที่รายการ The Face Thailand ทำได้ดีมากคือการสร้างกระแสบนโลกโซเชียลมีเดีย ทันทีที่รายการทางหน้าจอโทรทัศน์จบลง ตลอดคืนนั้นจะเต็มไปด้วยคอมเมนต์ และเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย

พวกเขาสร้างกระแสอย่างไร?

“เราไม่เคยสร้างกระแส และสร้างไม่เป็นด้วย” คุณเต้ยืนยัน

“คนมักจะบอกว่าเราสร้างกระแสเก่งจังเลย ทำยังไงคะ แต่จริงๆ คือเขาเข้าใจผิดนะ สิ่งที่เราทำคือเราจับกระแสที่คนดูพูดถึงแล้วนำมาต่อยอด หรือเล่นกับกระแสนั้น”

การจับกระแสแล้วต่อยอด หรือเล่นกับกระแสนั้นทำให้เพจเฟซบุ๊กของ The Face Thailand มียอดไลก์กว่า 1.25 ล้าน และแต่ละโพสต์มียอด en-gagement ที่สูงมาก นอกจากนี้ ยังมี meme ที่ออกมาล้อเลียนสร้างความสนุกสนานให้กับชาวเน็ตอีก

คุณเต้บอกกับ The Momentum ว่า เคล็ดลับในการเล่นกับกระแสคือต้องมีส่วนร่วมกับคนดู

“โซเชียลมีเดียไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว ถ้าคุณอยากคุยกับเรา แต่เราไม่คุยด้วย วันหนึ่งคุณก็คงเลิกสนใจเราในที่สุด แบบนั้นเราไม่ยอม เพราะคำว่า engagement สำคัญสำหรับเรามาก ในเมื่อเขาเป็นแฟนของเรา เขามีสิทธิ์ที่จะมีสิทธิ์มีเสียงมีความคิดเห็น หน้าที่ของทีมงานคือต้องสื่อสารกลับไปเพื่อสร้างให้เกิดบทสนทนา”

ความเร็วก็เป็นอีกเรื่องที่ทีมงานให้ความสำคัญ เพราะการจะเล่นกับคนในอินเตอร์เน็ตนั้นไม่มีคำว่า “เดี๋ยวก่อน” แต่ต้อง “ทันที”

“ต้องสื่อสารในเวลาที่เขากำลังตื่นเต้นกับรายการอยู่ ถ้าเลยไปจากช่วงเวลานั้นก็ไม่มีประโยชน์หรอก อย่าลืมว่าโซเชียลมีเดียต่างๆ เวลาผ่านไป 5 นาทีก็โดนโพสต์อื่นกลืนไปหมดแล้ว”

มากไปกว่านั้นคือการคิดกลับหัว แทนที่จะคิดแบบคนทำรายการทีวียุคเก่าที่ใช้การเขียนข่าวโปรโมตให้มาดูรายการนี้ ทีมงาน The Face กลับเอาความเห็นของผู้ชมมาเกาะกระแส

“ที่สำคัญคือต้องฟังก่อนว่าเขาพูดอะไรกัน ฟังให้ดี แล้วเอาเรื่องที่พูดมาเป็นกระแส แต่เดิมคนทำรายการทีวีเคยใช้วิธีเขียนข่าวเพื่อบอกว่ารายการมันดีมาก สนุกมาก ต้องดูให้ได้นะคืนนี้ ซึ่งเหมือนเรากำลังไปบังคับคอนเทนต์ แต่ไม่ได้ฟังว่าคอนเทนต์ที่คนดูพูดคุยกันเป็นเรื่องอะไร เราคิดว่าวิธีเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วสำหรับยุคนี้”

ไม่ยึดติดกับแพลตฟอร์ม คอนเทนต์ต่างหากที่สำคัญ

ในยุคที่คนดูทีวีน้อยลง และหันมาเสพคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น แต่รายการ The Face ก็ยังคงให้ความสำคัญกับทีวีเป็นหลักก่อน

“ยังไงสถานีโทรทัศน์ก็ต้องมาก่อน เพราะ first window ต้องสำคัญที่สุด คงต้องรอให้พฤติกรรมของผู้สนับสนุนต่างๆ เปลี่ยนไปมากกว่านี้ ถึงเวลานั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนตาม

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มอื่นๆ เพราะยอดวิวในโซเชียลมีเดียนั้นสูงมาก เพียงแต่การจะทำคอนเทนต์ในแต่ละอันนั้นไม่เหมือนกัน ต้องมีการปรับความเหมาะสมไปตามแพลตฟอร์ม

“multi platform ไม่ใช่การเอาสิ่งที่อยู่ในทีวีมาลง YouTube แล้วจบ แต่ยังต้องมี exclusive content ที่คุณจะได้เห็นในทีวีเท่านั้น และอาจจะไม่ได้เห็นในที่อื่นๆ ซึ่งยังมีวิธีอีกมากมายที่จะทำให้คนอยากดูทีวีก่อน”

สุดท้ายแล้ว คุณเต้ยังยืนยันว่าเขาไม่ได้ยึดติดกับแพลตฟอร์มเท่าไร เพราะถึงที่สุดแล้วหัวใจก็คือคอนเทนต์

“Content is the King คือเรื่องจริง เพราะถ้าคอนเทนต์คุณแข็งแรงจริงๆ ไม่ว่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มไหนเดี๋ยวคนก็จะตามไปดูเอง เพราะยุคนี้คนดูจะเป็นคนเลือกว่าเขาจะดูอะไร ไม่เหมือนสมัยก่อนที่เราบังคับยัดเยียดให้เขาดูรายการนี้ เวลานี้ และห้ามมีความคิดเห็น

“ยกตัวอย่างรายการ THE FACE THAILAND ที่ออกอากาศในทีวีตอน 5 โมงครึ่ง พูดตามตรงว่าเรตติ้งประมาณ 3-4 ก็ถือว่าไม่ค่อยดีนะ แต่หลังจากจบรายการไม่ถึงชั่วโมง มียอดคนดูใน YouTube 3-5 ล้านวิว แปลว่าพฤติกรรมของคนดูเขาไม่ได้ต้องการจะดูในเวลาที่เราบอกเท่านั้น”

รับฟังเสียงวิจารณ์ แต่ต้องคัดกรองก่อน

สิ่งที่รายการ The Face โดนมาตลอด นอกจากคำชมแล้วก็คือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เลยไปจนถึงดราม่าและคำด่าทอ อย่างเช่นในครั้งนี้ก็มีเรื่องของดราม่าน้องใบหม่อนที่กลัวกะเทยกันอยู่พักนึง ซึ่งคุณเต้ย้ำเสมอว่าเขารับฟังเสียงจากผู้ชมเสมอ ในวงเล็บว่า ขอคัดกรองก่อน

“เราต้องตัดเรื่องอารมณ์และความรู้สึกออกไป คือคนที่ด่าโคตรเหง้าศักราชเราก็มีนะ อันนั้นต้องตัดออกไปเลย พยายามฟังเนื้อความจริงๆ ดูว่าเหตุผลมันเป็นไปได้ไหม แล้วค่อยทำตามที่เขาต้องการ”

“เราทำเต็มที่อยู่แล้ว เพื่อที่ตัวเองและทีมงานจะได้ไม่เสียใจในสิ่งที่ตัวเองทำลงไป ไม่อยากให้คาดหวัง หรือเอาไปเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ เพราะมันไม่เหมือนกันหรอก แล้วมันก็คงไม่ถูกใจทุกคนหรอก อยากให้ปลดกำแพง แล้วดูให้สนุก มีอะไรก็ติชมเข้ามา ถ้าเราปรับให้ได้เดี๋ยวเราจะรีบปรับให้เลย คราวนี้ทำไม่ทันเดี๋ยวครั้งหน้าทำให้แน่นอน”

เท่าที่ได้อ่าน ผมคิดว่าความปังของ The Face จึงไม่ใช่เรื่องของความบังเอิญ แต่เกิดจากการคิดอย่างสร้างสรรค์ เลือกทีมงานที่เหมาะสม เล่นกับกระแสได้อย่างทันท่วงทีและถูกจุด เปิดรับฟังเสียงคนดู

ที่สำคัญที่สุดคือ พร้อมปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่าง strong อยู่เสมอนั่นเอง