เพ็ญสุภา สุขคตะ : ตุ๊กตาดินเผาขนาดจิ๋ว เครื่องรางทวารวดีสู่หริภุญไชย

เพ็ญสุภา สุขคตะ

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า “ตุ๊กตาดินเผาขนาดจิ๋วยุคทวารวดี” เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ย่อมนึกถึงกลุ่มประติมากรรมรูปคนจูงลิง ที่พบในเขตเมืองโบราณแถบภาคกลางอย่างแพร่หลายเท่านั้น

อาทิ แหล่งโบราณคดีจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ แหล่งโบราณคดีอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และแหล่งโบราณคดีอินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นต้น

น้อยคนนักที่จะทราบว่า ในจังหวัดลำพูนเองก็เคยมีการขุดค้นพบประติมากรรมขนาดจิ๋วที่มีลักษณะร่วมสมัยกับตุ๊กตาคนจูงลิงในวัฒนธรรมแบบทวารวดีทางภาคกลางด้วยเช่นกัน

การที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย ของกรมศิลปากรไม่มีการจัดแสดงเรื่องราวดังกล่าว ก็เนื่องมาจากตัวโบราณวัตถุที่ขุดได้นั้น ตั้งแต่ 3 ทศวรรษก่อนแล้ว ไม่มีใครทราบว่าอยู่ที่ไหน

เหลือแต่เพียงภาพสเกตช์

 

3 ทศวรรษเศษแห่งการขุดพบตุ๊กตาดินเผา

จากเอกสารโรเนียวเรื่อง “รายงานการสำรวจและการขุดค้นเพื่อการศึกษา “หริภุญไชย” หลุมทดสอบที่ 1 เล่ม 1″ ฉบับที่ 31 ปีที่ 4 ซึ่งจัดทำในนาม “โครงการโบราณคดีประเทศไทยภาคเหนือ พ.ศ.2528” ของกรมศิลปากร โดยมีบวรเวท รุ่งรุจี และคณะเป็นผู้ดำเนินการนั้น

ได้มีการนำเสนอภาพสเกตช์โบราณวัตถุที่พบในหลุมขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูนจำนวน 2 ภาพ จากชั้นดินสมมติที่ 12 และ 17 ด้วยความน่าสนใจยิ่ง

ชั้นดินสมมติที่ 12 (SWQ – มุมตะวันตกเฉียงใต้) เป็นภาพสเกตช์ประติมากรรมขนาดจิ๋ว พรรณนาว่าทำจากดินเผาชุบน้ำดินสีแดง มีความกว้างของฐานเพียง 4 เซนติเมตร นอกจากนี้แล้วไม่มีการให้ข้อมูลใดๆ เพิ่มเติม

ดิฉันจึงทำการอธิบายเพิ่มเติมต่อว่า ประติมากรรมสตรีผู้นี้สวมผ้านุ่งยาวกรอมเท้า แบบที่เรียกว่า “ผ้าโธตี” แขนทั้งสองข้างสวมกำไลหลายวง มือข้างหนึ่งปล่อยทิ้งแนบลำตัว ส่วนอีกข้างหนึ่งถือกรวยดอกไม้พาดอยู่กลางหว่างขา น่าเสียดายยิ่งที่ศีรษะและลำตัวท่อนบนหักหายไปทั้งหมด

สันนิษฐานว่า สตรีผู้นี้น่าจะเป็นนางหาริตี โดยเทียบเคียงกับประติมากรรมที่คล้ายคลึงกันจากแหล่งโบราณคดีที่จันเสน

ประติมากรรมขนาดจิ๋วอีกชิ้นหนึ่ง ขุดได้จากชั้นดินสมมติที่ 17 (NWQ – มุมตะวันตกเฉียงเหนือ) เป็นดินเผาธรรมดา (รายงานไม่ระบุว่ามีการชุบน้ำดินสีแดงเหมือนชิ้นแรก) มีความกว้างของฐานประมาณ 5 เซนติเมตร แต่ประติมากรรมชิ้นนี้ยังพบชิ้นส่วนลำตัวท่อนบนจนถึงคอ หักหายไปแค่ศีรษะ

รายงานดังกล่าวไม่ฟันธงว่านี่คือ “ตุ๊กตาคนจูงลิง” หรือไม่ แต่ดิฉันเห็นว่าประติมากรรมชิ้นนี้มีลักษณะโดยรวมแล้วละม้ายคล้ายคลึงกับ “ตุ๊กตาคนจูงลิง” ในวัฒนธรรมทวารวดีอย่างไม่มีข้อกังขา

กล่าวคือ เป็นรูปบุคคลสวมเครื่องรางรูปกระพรวนที่ลำคอ และสวมจับปิ้ง (ตะปิ้ง) ที่ท่อนล่าง มือข้างหนึ่งทิ้งแนบลำตัว มืออีกข้างหนึ่งถือโซ่ล่ามสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้ ซึ่งในที่นี้ชิ้นส่วนของลิงที่น่าจะเคยประกอบอยู่ด้านข้างได้ให้หักหายไปแล้ว

ประติมากรรมขนาดจิ๋วทั้งสองชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างไร และสะท้อนให้เห็นถึงอะไรบ้าง

 

เครื่องรางป้องกันเด็กจากภูตผีปีศาจ

ความสำคัญประการแรกสุด ทำให้เราทราบว่าในนครหริภุญไชย เมื่อราว 1,300-1,400 ปีมาแล้ว (ตรงกับสมัยพระนางจามเทวี หรือหริภุญไชยยุคต้น) ก็มีความนิยมในการนำ “เครื่องราง” ประเภทตุ๊กตาดินเผาแบบวัฒนธรรมมอญทวารวดีที่ภาคกลางมาใช้ด้วยเช่นกัน

จากการศึกษาพบว่า รูปแบบของตุ๊กตาดินเผาลักษณะเช่นนี้ไม่พบในดินแดนอื่นใดของอุษาคเนย์อีกเลย

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชนชาวมอญในประเทศพม่า

ไม่พบทั้งในวัฒนธรรมโบราณของเขมร หรือชาวจามปาในเวียดนาม

จริงอยู่ที่ประเทศเหล่านี้ย่อมมีการทำตุ๊กตาที่เป็นเครื่องรางในรูปแบบอื่นๆ แต่ไม่ใช่รูปคนจูงลิง หรือนางหาริตี

 

นางหาริตี ฆาตกรต่อเนื่อง

นางหาริตีคือใคร พบว่าในวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลางแทบทุกแห่งที่กล่าวมาแล้วนั้น รูปของนางหาริตีมักอยู่คู่กันกับตุ๊กตาคนจูงลิงเสมอ

นางคือใคร นางหาริตี (หริติ – Hariti) เป็นผู้หญิงในยุคพุทธกาลที่มีนิสัยประหลาด เป็นคนแต่ทำตนประหนึ่งยักษ์ คือเห็นเด็กเป็นไม่ได้ต้องจับกิน ทั้งๆ ที่ตัวเองก็มีลูกน้อยหลายร้อยคน

เมื่อทำผิดครั้งแรกไม่มีใครจับลงโทษ ความผิดครั้งที่ 2 3 4 จึงตามมา คล้ายองคุลิมาล ประมาณว่าผิดจนเคยชิน เป็น “ฆาตกรต่อเนื่อง” กระทั่งวันหนึ่งลูกคนสุดท้องของตัวเองหายบ้าง นางหาริตีร้องไห้คร่ำครวญมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

พระพุทธองค์เปิดบาตรที่คลุมลูกของนางหาริตีที่นอนอยู่ให้ดู พลางเทศนาสั่งสอนให้นางเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ว่า “หัวอกแม่ทุกคนย่อมรักลูก” หลังจากนั้นมานางหาริตีจึงหยุดพฤติกรรมลักขโมยเด็ก กลายมาเป็น “เทพีผู้พิทักษ์คุ้มครองเด็ก” แทน

การทำประติมากรรมรูปนางหาริตีถือดอกไม้ก็ดี อุ้มทารกก็ดี ถือนกแก้วก็ดี แล้วเด็ดหัวทิ้งนั้น เป็นแนวคิดที่มีมาก่อนการทำ “ตุ๊กตาเสียกบาล” ของสมัยสุโขทัย (เพราะสุโขทัยมีอายุ 740 ปีเศษ แต่ทวารวดีมีอายุ 1,400-1,600 ปีมาแล้ว)

กล่าวคือ เมื่อทารกหรือเด็กเจ็บไข้ได้ป่วย แม่มดหมอผีจะปั้นตุ๊กตาของนางหาริตีขึ้นมา 1 ตัว เป็นตัวแทนของยักษ์ลักเด็ก เสมือนว่านางหาริตีได้กินเด็กที่ป่วยไข้นั้นไปแล้ว โรคภัยไข้เจ็บของเด็กได้มลายหายสูญไปพร้อมกับนางยักษ์ จากนั้นก็บั่นคอนางหาริตี เอาไปโยนทิ้งไว้ที่ทางสามแพร่ง จะได้หลงทางไม่สามารถเอาโรคร้ายกลับคืนมาสู่เด็กได้อีก

เป็นพิธีกรรมสะเดาะเคราะห์ปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บให้เด็กในยุคโบราณ ด้วยเหตุนี้ เราจึงแทบไม่พบประติมากรรมบุคคลที่มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนใหญ่หัวไปทาง ตัวอยู่อีกทาง

 

คนจูงลิง หนุมานหรือกิเลสมนุษย์?

นักวิชาการด้านโบราณคดีได้พยายามถอดรหัสรูป “คนจูงลิง” กันไว้มากมายหลายนัย ในที่นี้จะขอนำเสนอเพียงสองนัย ซึ่งน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด

นัยแรก ลิงหมายถึง “หนุมาน” ทหารเอกของพระราม ซึ่งเป็นอวตารของพระวิษณุ เป็นไปได้ว่า การทำรูปคนจูงลิง อาจมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมของกลุ่มคนมอญที่มีรากเหง้าเคยนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไวษณพนิกายมาก่อน ซึ่งแนวความคิดนี้ก็สอดคล้องกับความเชื่อของชาวลพบุรี ที่มี “ศาลพระกาฬ” ประดิษฐานรูปพระวิษณุเป็นหลักเมือง และมีเรื่องราวของลิงที่เกี่ยวข้องกับชื่อบ้านนามเมืองในละแวกนั้นมากมาย

นักวิชาการผู้ที่ให้นิยามว่าลิง คือตัวแทนของหนุมานเป็นท่านแรกคือ อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ ลูกศิษย์ก้นกุฏิของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

นัยที่สอง นางสาวอลิซาเบธ ไลออนส์ นักโบราณคดีชาวตะวันตกผู้เชี่ยวชาญด้านภารตวิทยา อธิบายว่าลิงเป็นสัญลักษณ์ของความไม่หยุดนิ่ง ความซุกซน กิเลสตัณหา ที่มนุษย์ทุกคนต่างดิ้นรนไขว่คว้าอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

การทำรูปลิงถูกล่ามโซ่ในลักษณะที่มีผู้ควบคุมนั้น อลิซาเบธบอกว่า นี่คือปริศนาธรรม เป็นสัญลักษณ์อันลึกซึ้งทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท ที่มีนัยว่า หากบุคคลใดต้องการบรรลุธรรม จักต้องฝึกฝนควบคุมจิตใจตนเองให้ได้

ไม่ว่า “ตุ๊กตาคนจูงลิง” จะสร้างขึ้นด้วยความหมายใดก็ตาม จะเกี่ยวข้องกับหนุมานในลัทธิไวษณพนิกายหรือไม่ หรือจะเป็นปริศนาธรรมตามความเชื่อของเถรวาทก็สุดแท้แต่

นักโบราณคดีจำนวนมากต่างยอมรับว่า สุดท้ายแล้ว ตุ๊กตาคนจูงลิงก็ถูกเด็ดหัวให้แยกออกจากตัวเสมอ แล้วถูกนำไปโยนทิ้งบริเวณทางสามแพร่งให้วิญญาณหลงทางกลับบ้านเดิมไม่ถูก ไม่ต่างจากแนวคิดเรื่องเครื่องรางของนางหาริตีเท่าใดนัก

การหักคอรูปปั้นคนจูงลิงดินเผา เพื่อทำลาย “สิ่งชั่วร้าย” ด้วยสัญลักษณ์ของ “ลิง” นั้น ก็คือความพยายามที่จะประหารกิเลสตัณหาในใจมนุษย์ทิ้งไปนั่นเอง

 

หลักฐานยืนยันความเชื่อมโยงทวารวดี-หริภุญไชย

ความสำคัญประการที่สองของการค้นพบประติมากรรมดินเผาขนาดจิ๋วสองชิ้นที่ศาลากลางจังหวัดลำพูนนี้ ดิฉันคิดว่าต้องให้น้ำหนักมากเป็นพิเศษ เพราะเท่ากับเป็นเครื่องตอกย้ำว่า ในนครหริภุญไชยนั้น มีร่องรอยการอยู่อาศัยของประชากรที่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมทวารวดีที่ภาคกลางจริง

ในเมื่อตุ๊กตารูปคนจูงลิงและนางหาริตีของเมืองโบราณแถวภาคกลางทุกแห่งไม่ว่าที่จันเสน ลพบุรี เมืองอินทร์ อู่ทอง อุทัยธานี ล้วนถูกกำหนดอายุว่ามีความเก่าแก่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-14 คือสมัยทวารวดีตอนต้นจนถึงตอนกลางเท่านั้น ไม่ใช่ทวารวดีตอนปลาย

ฉะนั้น การค้นพบรูปคนจูงลิงและนางหาริตีดินเผาที่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดลำพูนเมื่อปี 2528 ด้วยรูปลักษณ์ ขนาด สัดส่วนที่คล้ายคลึงกับเมืองโบราณอื่นๆ จึงน่าจะเป็นชี้วัดได้ชัดเจนว่า วัฒนธรรมมอญแบบทวารวดีภาคกลางได้มีการแพร่กระจายมาถึงดินแดนตอนบนลุ่มน้ำแม่ปิงอย่างแท้จริงในช่วงระยะเวลาไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 14

สอดรับกับหลักฐานด้านเอกสารตำนานที่ระบุว่า พระนางจามเทวีอพยพผู้คนจำนวนมากกว่า 7,500 ชีวิต ขึ้นมาจากเมืองละโว้ (ลพบุรียุคนั้นเป็นมอญทวารวดี ไม่ใช่ขอม) เมื่อปลาย พ.ศ.1204 ต่อเชื่อมกับต้นปี 1205 ซึ่งอยู่ในช่วงต้นพุทธศตวรรรษที่ 13

ปัญหาที่ผ่านมานั้น นักวิชาการจำนวนมากมักไม่เชื่อว่าศักราชที่ปรากฏในตำนานเมืองเหนือนั้นตรงกับระยะเวลาที่แท้จริง เพราะเห็นว่าหากพระนางจามเทวีขึ้นมาลำพูนในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 13 แล้วไซร้ ไฉนหลักฐานด้านโบราณคดีที่พบส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเก่าไปถึงยุคนั้น (ทั้งนี้ ยังไม่นับประเด็นเรื่องศิลาจารึกอักษรมอญโบราณ 10 หลักที่ค้นพบก็มีอายุไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 15)

ทว่า ท่านจะปฏิเสธเรื่องราวของ “ตุ๊กตาคนจูงลิง” และ “นางหาริตี” ได้อย่างไรกันว่าเป็นของใหม่ ในเมื่อพบในชั้นดินหลุมขุดค้นที่ลึกมาก เป็นชั้นดินที่ได้รับการตรวจสอบแล้วว่าเป็นชั้นล่างสุด อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-14

จะอย่างไรก็แล้วแต่ เร็วๆ นี้ศาลากลางจังหวัดลำพูนจะมีการย้ายที่ทำการออกไปตั้งที่ศูนย์ราชการแห่งใหม่ ที่ตำบลศรีบัวบาน ใกล้ทางขึ้นดอยขุนตาน และจังหวัดลำพูนมีนโยบายจะปรับปรุงอาคารหลังเดิมเพื่อจัดทำเป็นหอประวัติศาสตร์หรือหอศิลปวัฒนธรรมเมืองลำพูนนั้น

ดิฉันหวังใจเป็นอย่างยิ่งว่า ก่อนที่จะมีการปรับปรุงส่วนจัดแสดงใดๆ ทางจังหวัดควรเปิดพื้นที่ให้นักโบราณคดีของกรมศิลปากรได้ทำการขุดตรวจศึกษาหลักฐานด้านโบราณวัตถุที่ชั้นใต้ดินอีกสักครั้ง เพราะสถานที่แห่งนี้เมื่อราว พ.ศ.1205 เคยเป็นเขตพระราชฐาน พระตำหนักของพระนางจามเทวีและกษัตริย์องค์อื่นๆ ในราชวงศ์หริภุญไชยมาก่อน

นอกเหนือจากตุ๊กตาคนจูงลิง และนางหาริตีแล้ว บางทีเราอาจพบหลักฐานอันซีนอื่นๆ อาทิ ศิลาจารึกอักษรปัลลวะ หรือหลังปัลลวะ ที่มีอายุเก่าแก่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 ตอนต้น ร่วมสมัยกับพระนางจามเทวี อีกก็เป็นได้

ลบคำสบประมาทของใครๆ ที่มักกล่าวว่า “เรื่องราวของพระนางจามเทวีนั้น เป็นแค่นิทานปรัมปรา (Legend, Myth) ไม่ใช่เรื่องจริงหรอก เพราะศิลาจารึกอักษรมอญโบราณในเมืองลำพูนที่ค้นพบนั้นเก่าไม่ถึง 1,400 ปี”