มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส /นิสิตหญิงคนหนึ่ง

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

นิสิตหญิงคนหนึ่ง

 

เมื่อปีพุทธศักราช 2548 ในวันมอบตัวนิสิตใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในบรรดาผู้ปกครองหลายพันคนคือ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแต่เช้าตรู่ เพื่อทรงมอบตัวนิสิตหญิงน้องใหม่ คณะศิลปกรรมศาสตร์

หลังจากทรงปฏิบัติตามระเบียบของมหาวิทยาลัยครบถ้วนทุกขั้นตอน โดยไม่ได้รับการยกเว้นเป็นกรณีพิเศษแต่อย่างไรแล้ว ก่อนเสด็จกลับ พระบรมโอรสาธิราชฯ ในฐานะผู้ปกครอง ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในขณะนั้นคือ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาดา กีระนันทน์ ขอให้กำกับดูแลให้นิสิตใหม่ให้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และปฏิบัติตามกฎระเบียบของมหาวิทยาลัยอย่างเคร่งครัด

อีกทั้งทรงได้กำชับนิสิตหญิงผู้นี้ให้เชื่อฟังและประพฤติตนตามที่คณาจารย์จะอบรมสั่งสอนต่อไป

 

ต่อมาในงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ผู้นี้ ทรงเป็นผู้แทนนิสิต กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ ดังใจความดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ นิสิตใหม่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอถวายสัตย์ปฏิญาณ ก้มกราบน้อมบังคม ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สองพระจักรีภูมิบาล พระผู้พระราชทานกำเนิดสถานศึกษาแห่งนี้ไว้ จะมานะมุ่งมั่น บากบั่นศึกษาอบรมสั่งสมความรู้ คุณธรรมและจริยธรรม หมายเชิดชูเกียรติของชาติ เทิดพระศาสนาอันสูงส่ง ธำรงศักดิ์แห่งสถาบันในพระปรมาภิไธย ทั้งจะนำความรู้ไปพัฒนา เพื่อประชานิกรไทยและบ้านเมือง มีความรุ่งเรืองสมพระราชปรารถนา ตราบนิตยกาลชั่วฟ้าดินสลาย

นับจากเช้าวันนั้น จนถึงวันสุดท้ายของภาคการศึกษา อีกสี่ปีต่อมา นิสิตหญิงผู้นี้ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มที่และร่วมกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนนิสิต พร้อมกับทรงงานที่ได้รับหมายจากพระเจ้าอยู่หัวมากมาย

โดยเฉพาะเสด็จร่วมในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ ซึ่งนับได้ว่าเป็นภารกิจที่หนักกว่านิสิตจุฬาฯ ทั่วไป

แม้จะมีภารกิจมากมายในฐานะพระเจ้าหลานเธอฯ นิสิตหญิงผู้นี้ยังเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทั้งของคณะศิลปกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมเชียร์ การเชียร์โต้ การร่วมแข่งขันกีฬาน้องใหม่ ฯลฯ ทั้งของมหาวิทยาลัย ได้แก่ งานรับน้องใหม่ เป็นผู้แทนนิสิตในพิธีไหว้ครู

ทรงเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 62 เมื่อ พ.ศ.2549 ฯลฯ

หากมีเวลาว่างระหว่างชั่วโมงเรียน แทนที่นิสิตหญิงผู้นี้จะไปเที่ยวเล่นตามศูนย์การค้าที่มีอยู่มากมายรอบๆ มหาวิทยาลัย กลับใช้เวลาทบทวนบทเรียนที่ผ่านมา และเตรียมตัวสำหรับบทเรียนต่อไปในห้องพักเล็กๆ ที่มหาวิทยาลัยจัดเตรียมไว้บนชั้น 14 อาคารบรมราชกุมารี ด้วยรู้ว่า เมื่อกลับจากมหาวิทยาลัย ยังจะมีภาระหน้าที่หมายอื่นอีกมากมาย

แต่ก็มีสถานที่แห่งหนึ่งที่นิสิตหญิงและเพื่อนๆ จะไปเที่ยวเล่นเป็นประจำ เพื่อซื้อขนม ซื้ออุปกรณ์และเครื่องเขียน ด้วยน้ำใจไมตรี และการทักทายเช่นนิสิตทั่วไป จึงได้กลายเป็นหนึ่งในลูกค้าคนโปรดของเจ้าของร้านตงเอียง ที่อยู่ในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์

 

ผลจากมาปฏิบัติตามพระราชดำริ กอปรกับความมุมานะ เอาใจใส่ในการเข้าเรียนฟังคำบรรยาย ทบทวนวิชาเรียน และตั้งใจฝึกฝนปฏิบัติการด้านออกแบบแฟชั่นอย่างเต็มที่ระหว่างที่ทรงศึกษา ตลอด 4 ปี ทรงเป็นนิสิตที่มีวินัย ตรงต่อเวลา และมีความรับผิดชอบในการเรียนสูง

นอกจากจะทรงเข้าเรียนตามหลักสูตรแล้ว ยังทรงขอเรียนเสริมในวิชานอกหลักสูตรที่สนพระทัย เช่น จิตรกรรม เพ้นติ้ง ภาษาสถาปัตยกรรม และประวัติศาสตร์ศิลป์

จนทรงได้รับการถวายรางวัลนิสิตดีเด่นประจำปีการศึกษา 2551 และด้วยทรงมีผลการเรียนอันน่าพึงใจ ทำให้นิสิตหญิงผู้นี้สำเร็จการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต เอกมัณฑนศิลป์ ทางด้านแฟชั่นและสิ่งทอ ได้รับรางวัลเหรียญทอง (คะแนนเฉลี่ย 3.93) เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

เป็นหนึ่งในบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2552

 

ในงานพระราชทานปริญญาบัตรวันนั้น บัณฑิตหญิงผู้นี้ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้นำบัณฑิตจำนวน 2,275 คน กล่าวคำถวายสัตย์ต่อหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้เป็นพระปิตุฉา (อาหญิง) ในฐานะผู้แทนพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร พระอัยกา (ปู่) ในขณะนั้นว่า

ข้าพระพุทธเจ้า พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ผู้เป็นบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขอให้คำสัตย์ปฏิญาณต่อพระพักตร์ผู้แทนพระนฤบาลสยามินทร์ และท่านผู้มีเกียรติทั้งสิ้น ณ ที่นี้ว่า จะมีใจมุ่งผดุงชาติและพระศาสนาอันสูงส่ง อีกองค์พระมหากษัตริย์ เพื่อความวัฒนาสถาพร แห่งประชานิกรชาติไทย จะรักษาไว้ซึ่งความสามัคคีให้มีในหมู่คณะและสังคม อบรมใจให้มั่นคง ดำรงอยู่ในคุณธรรม ใช้ความรู้นำให้เกิดประโยชน์ ยังความรุ่งโรจน์ไพศาล มากประมาณคุณค่า แก่ประชาชาวไทย ให้สมกับที่ได้เรียนมาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันทรงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์ จะขอรักษาความเป็นบัณฑิต อันทรงศักดิ์และสิทธิ์แห่งปริญญา และชูเชิดชื่อจุฬาฯ นี้ไว้ ให้คงอยู่ตลอดไปชั่วดินฟ้า ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

เนื่องในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ.2563

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ