E-DUANG :​​​ สถานการณ์ สร้างคน สร้างพรรค จาก ไทยรักไทย ถึง อนาคตใหม่

การเคลื่อนไหวของนักการเมืองคนหนึ่ง การเคลื่อนไหวของพรรคการ เมืองพรรคหนึ่ง ดัชนีชี้วัดการเป็น”ผู้นำ”จะใช้อะไรมาเป็นเครื่องมือ มา เป็นบรรทัดฐาน

มองจากรากฐานคะแนนเสียงของแต่ละคน มองจากปริมาณการมีอยู่ของแต่ละพรรคการเมือง

หรือมองจากรากฐานในทาง “ความคิด”

หรือมองจากความสามารถในการแปร “นามธรรม” ทางความคิดให้กลายเป็น “รูปธรรม” ทางการปฏิบัติที่เป็นจริง

กรณีเปรียบเทียบระหว่าง นายทักษิณ ชินวัตร กับ นายชวน หลีกภัย และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กรณีเปรียบเทียบระหว่างพรรคไทยรักไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ มีความเด่นชัด

ความคิด การเมือง การจัดตั้ง 3 องค์ประกอบนี้คือคำตอบ

 

ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 กระบวนการนี้อาจดำเนินไป อย่างสะเปะสะปะ แม้จะเคยมีพรรคที่ก้าวหน้าอย่างพรรคพลังใหม่หรือพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม

แต่ก็มีระยะเวลาสั้นจนกระทั่งไม่สามารถพิสูจน์ถึงบทบาทและความหมายของ ความคิด การเมือง การจัดตั้ง ได้อย่างเด่นชัด

ต่อเมื่อเกิดพรรคไทยรักไทยที่สามารถ”คิดนอกกรอบ”ที่สามารถนำเอา “นโยบาย” มาเป็นเครื่องมือและอาวุธในการสร้างคะแนนและ การเติบใหญ่ได้จึงเริ่มเห็นเด่นชัด

เด่นชัดกระทั่งเป็นอานิสงส์ต่อเนื่องมายังพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ข้อดีนี้เป็น”บทเรียน”สำคัญยิ่งในทางการเมือง

น่าเสียดายที่แทบไม่ได้เป็นบทเรียนให้กับพรรคการเมืองอื่นไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม ก็ตาม

 

ผลสะเทือนจากพรรคไทยรักไทยก็คือการถดถอยของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม กลายเป็นพรรคประจำภาค กลายเป็นพรรคประจำจังหวัด

มีความพยายามจะใช้”รัฐประหาร”มาเป็นเครื่องมือมาเป็นอาวุธ

ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

แทนที่จะสามารถทำลายพรรคเพื่อไทยได้ ตรงกันข้าม กลับก่อให้เกิดพรรคอย่างพรรคอนาคตใหม่ขึ้น

ผงาดขึ้นมายืนเรียงเคียงกับพรรคเพื่อไทย