ศก.63 ผลพวงโรงงานปิดตัว โลกชะลอ ไทยวิกฤติแค่ไหน ? | เผ่าภูมิ พรรคเพื่อไทย

เศรษฐกิจไทย 2563 ไม่ระเบิด ไม่เผาจริง แต่ซึมๆ มอดๆ ไร้ความหวัง

“ถ้าปี 2563 รัฐบาลเรายังไม่ทำอะไร หรือทำเหมือนปีที่ผ่านมา มันก็จะกลายเป็นวิกฤตซึมๆ มอดๆ มันไม่เกิดเป็นระเบิด แต่เราก็จะถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงไปกันหมด แล้วในประเทศก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปผลักดันแล้ว เมื่อกำลังซื้อมีปัญหา-นโยบายการเงินมีปัญหา การคลังที่ผิดทิศทางอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แถมภาคเอกชนเองก็มีปัญหาจากเศรษฐกิจโลกภาคท่องเที่ยวที่เคยเป็นกำลังหลักก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ซึ่งเราไปผูกกับกำลังซื้อของต่างประเทศมาก เมื่อเศรษฐกิจของจีนมีปัญหา ต่างชาติมีปัญหา มันกระทบถึงการท่องเที่ยวเราแน่นอน แล้วเราเองก็ดันไม่มีนโยบายที่จะไปช่วงชิงจุดการท่องเที่ยวให้บูมกลับมาได้”

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมเศรษฐกิจคนรุ่นใหม่ของพรรค ฉายภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ที่น่าเป็นห่วงรอบด้าน

ดร.เผ่าภูมิฉายภาพว่า ปัญหาทั้งหมดมันเกิดมาจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาที่เราผูกกับเศรษฐกิจโลกอยู่มาก ซึ่งเศรษฐกิจโลกพอไปได้ไม่ได้แย่มาก เลยดูเหมือนว่าตัวเลข GDP พอจะถูไถไปได้

แต่พอรัฐบาลนี้ไม่ได้ทำอะไรที่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่วางนโยบายเชิงโครงสร้าง ผลที่ออกมาพอเศรษฐกิจโลกไม่ดี เราจึงไม่มีกันชนทางเศรษฐกิจ

เมื่อเศรษฐกิจโลกตกลงมาระดับหนึ่งเราจึงตกเพิ่มมากกว่าเดิมแล้วก็อ่อนปวกเปียก

ยิ่งในปีที่ผ่านมา การนำนโยบายเชิงการแจกจ่ายมาใช้ แล้วทำแบบไม่เข้าใจ หว่านเงินโดยไร้ทิศทาง มันจึงเป็นปัญหาและเป็นภาระต่องบประมาณค่อนข้างสูง

ซึ่งการที่เราแจกมันกลับไม่ได้สร้างอะไรให้กับประเทศ กลายเป็นใช้เงินจำนวนมากตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

สรุปคือที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแรงเชิงโครงสร้างให้กับเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และพอโลกมีปัญหา เราดันไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่มีกำแพงเลย เศรษฐกิจโลกทรุดเราจึงทรุดหนักกว่าเศรษฐกิจโลก แล้วส่งผลต่อกำลังซื้อภาคเอกชนขนาดใหญ่ จึงมีผลสูงต่อการจ้างงาน

สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมากก็คือ ผลจากเศรษฐกิจโลกที่มาถึงส่งผลได้รวดเร็วและจะส่งผลถึงตลาดแรงงาน เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายที่รับเงินเดือน ถ้าคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบมันก็จะส่งผลต่อกำลังซื้อโดยตรงของประเทศ เมื่อกำลังซื้อโดยตรงของประเทศมีปัญหา เอกชนขนาดกลาง ขนาดย่อมก็จะมีปัญหาตามกันมาเป็นทอดๆ แล้วมันจะนำไปสู่ “อันตราย”

อย่างที่ผมพูดเสมอว่า เศรษฐกิจเราไม่มีกำบัง สิ่งที่เราควรทำคือ “หยุดเลือด” ตรงนั้นไว้ก่อน ห้ามมิให้ผลเหล่านี้ไปลงสู่ตลาดแรงงาน

: นโยบายรัฐบาลจากที่มีพรรคร่วมจำนวนมากไร้ทิศทาง?

อย่างที่เราเห็นว่ามีแต่คนกระโดดหนีความรับผิดชอบทางเศรษฐกิจในรัฐบาลชุดนี้ ถามว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบเศรษฐกิจ ทุกคนก็โยนไปที่นายกรัฐมนตรีว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งเราไม่รู้จริงๆ ว่าใครคือ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจตัวจริง”

คำถามคือ นายกฯ ท่านมีความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจมากน้อยขนาดไหน มันก็ยังเป็นปัญหา มันก็เลยทำให้ไม่เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ประกอบกับการที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้เกิดพรรคเล็กพรรคน้อยจำนวนมากในรัฐบาล แล้วกระทรวงเศรษฐกิจก็ถูกแบ่งเค้กออกมาให้หลายๆ พรรค พรรคหนึ่งดูด้านการคลัง อีกพรรคดูแลด้านสินค้าการเกษตร เพราะฉะนั้น แน่นอนว่านโยบายจะไม่มีการสอดประสานกัน แล้วมันจะเป็นปัญหา

ประการต่อมา เสถียรภาพเป็นปัญหาต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นเป็นภาพที่เราต้องเชื่อ แต่คนเขาไม่ได้ดูผิวเผิน เขาจะดูเข้าไปที่เนื้อใน ว่าสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ กำลังดำเนินการคืออะไร รัฐบาลนี้พยายามที่สร้างความเชื่อมั่น ว่ามีเงินไปถึงมือประชาชน มีการแจกจ่าย มีมาตรการต่างๆ ออกมา

แต่ความเชื่อมั่นนี้มันไม่เพียงพอที่จะดึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้

: ใครเป็นรัฐบาลในตอนนี้ก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจดีได้หรอก เห็นด้วยกับคำพูดนี้

ผมไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ เพราะว่าที่ผ่านมานโยบายรัฐบาลซึ่งถือว่าเป็นทิศทางสำคัญของเศรษฐกิจ อย่างพรรคเพื่อไทยเองมีลักษณะพิเศษอย่างหนึ่ง คุณไปดูนโยบายการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราไม่ได้มีนโยบายโปะ เราไม่ได้ขายเรื่องผักชีโรยหน้า เราไม่ได้เข้ามาประคองเศรษฐกิจ

แต่เราต้องการนำธงเรื่องของการสร้าง นโยบายต่างๆ ที่คุณจะได้เห็น จากการเลือกตั้งมันเรียกว่า “นวัตกรรมเชิงนโยบาย”

เช่น เรื่องของกองทุนคนเปลี่ยนงาน กองทุนเปลี่ยนหน้าดิน สิ่งเหล่านี้มาจากการที่เรามองเห็นปัญหาว่าโครงสร้างของเศรษฐกิจปัจจุบันมันเป็นปัญหา เราควรจะต้องเข้าไปปรับ ควรจะเข้าไปแก้ที่โครงสร้าง

เช่น ถ้าเกิดเห็นว่าโครงสร้างการผลิตมีปัญหาเราก็เข้าไปดูที่ตลาดแรงงาน หรือถ้าเห็นว่าภาคเกษตรกรมีปัญหา เราก็เข้าไปดูหรือช่วยเสริมในส่วนที่ทำให้เขาได้ผลิต สินค้าที่สร้างมูลค่าได้ เราต้องเข้าไปดูที่ปัญหาแต่ละเรื่อง ไม่ใช่ว่ามีปัญหาแล้วเอาเงินแจกอย่างเดียว ซึ่งฐานะทางการคลังของประเทศเรา มันยังไม่เพียงพอที่จะใช้เงินแจกไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ผมเองไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการที่จะใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นครั้งๆ แจกเงินไปแบบนี้ มันใช้ไม่ได้สำหรับเมืองไทย คุณจ่ายไม่ไหวหรอก คุณจ่ายเงินแป๊บเดียวแล้วมันก็หมดไป แล้วคุณก็จะมีปัญหาเรื่องวินัยทางการคลัง เมื่อคุณเอาเงินไปโปะ แต่คุณไม่ได้เอาเงินออกมาสร้างเลย นี่คือปัญหาสำคัญ แล้วป็นกรอบที่เรามองต่างกับรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง

เปรียบเทียบง่ายๆ เมื่อเรามีเงินอยู่ก้อนเดียวเท่ากันเอาเงินไปสร้าง แต่เขาเอาไปแจก

: ข่าวการปิดโรงงานมีออกมาเรื่อยๆ สะท้อนอะไร?

ภาพการปิดโรงงานที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง มันเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าภาคเอกชนรายใหญ่มีปัญหาแล้ว มาจาก 2 สาเหตุคือ 1.เศรษฐกิจโลก 2.กำลังซื้อในประเทศมีปัญหา

ภาคเอกชนขนาดใหญ่จึงเป็นหน่วยที่ซึมซับปัญหาอย่างเต็มที่ว่ามีปัญหาหนักมาก

สิ่งที่กังวลต่อไปคือ อย่าปล่อยให้กระทบถึงตลาดแรงงาน การเลิกจ้างงานคือสัญญาณแรกที่สะท้อนว่ามันเริ่มลงมาสู่ตลาดแรงงานแล้ว

ภาคเอกชนใหญ่พอเริ่มมีปัญหาแล้ว ถ้าลงไปสู่ตลาดแรงงานเมื่อใด ตลาดแรงงานซึมซับผลนั้นอย่างเต็มที่ นี่คือปัญหาหนักมาก มันจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประเทศ แล้วจะกลายเป็นปัญหาลุกลาม ส่งไปถึงเอกชนขนาดกลาง-ขนาดย่อม แล้วทอดต่อไปถึงธนาคารพาณิชย์ จะได้รับผลกระทบเรื่องปัญหาการออกสินเชื่อ ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็จะมีปัญหาตามๆ มา

เพราะฉะนั้น ปรากฏการณ์ที่ท่านจะได้เห็นในการปิดโรงงานการเลิกจ้างพนักงาน มันเป็นสัญลักษณ์เริ่มต้นว่าผลมันกำลังจะไปสู่ตลาดแรงงาน

คำถามก็คือ ถ้ามันเข้าสู่ตลาดแรงงานเมื่อไหร่ ตามปกติผลจากเอกชนด้วยลักษณะของตลาดแรงงานประเทศไทย เมื่อลงไปสู่ตลาดแรงงาน มันจะส่งผลเต็มที่เห็นได้ชัดภายใน 1 ปี จึงคาดการณ์ได้ว่าอีกประมาณ 7-8 เดือนข้างหน้านี้เราจะเริ่มเห็นว่าตลาดแรงงานเริ่มจะมีปัญหา ถ้ารัฐบาลยังไม่ทำอะไร คนก็จะเริ่มตกงาน กำลังซื้อก็เริ่มมีปัญหาแล้วจะเกิดปัญหาใหญ่

พอนับไปประมาณ 7-9 เดือนข้างหน้า คือประมาณช่วงกลางปีมันดันประจวบเหมาะกับช่วงที่เศรษฐกิจในประเทศไทยอ่อนแอ นั่นคือไตรมาส 2-3 มันจะชะลอตัวเพราะเศรษฐกิจเราฝากไว้กับการท่องเที่ยวแล้วเผอิญกลายเป็นช่วงโลว์ซีซั่น (ไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจจะดีกว่าอันเนื่องมาจากการท่องเที่ยว)

เพราะฉะนั้น สมมุติว่าภาพตอนนั้นมันจะเริ่มกระจายไปสู่ภาคเอกชนกลางและย่อม มันยากที่จะควบคุมแล้ว

: ตกลงแล้ว 2563 เผาจริงหรือไม่?

ปี2563 คนชอบพูดว่าประเทศไทยจะเกิดวิกฤตเหมือนปี 2540

ผมไม่เชื่ออย่างนั้น ว่าจะระเบิด แต่วิกฤตที่ประเทศไทยจะต้องได้พบเจอคือวิกฤตทางด้านกำลังซื้อ วิกฤตด้านตลาดแรงงาน วิกฤตด้านผลผลิตที่ผลิตออกมาแล้วไม่มีคนซื้อ ภาคเอกชนมีปัญหา กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง เอกชนก็ไม่อยากจะผลิตไม่อยากเจ็บตัวเพราะผลิตออกมาแล้วไม่มีใครซื้อ คนซื้อก็ไม่มีความสามารถในการซื้อ เศรษฐกิจโลกก็ไม่ดี นโยบายการเงินของเราก็ค่อนข้างอนุรักษนิยม ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามประเทศมหาอำนาจเรา แทบจะไม่สร้างความหวังใหม่ๆ เลยในการที่จะสร้าง Fund Flow

ซึ่งประเทศไทยเรามีปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งอยู่มาก ปัญหาหลักๆ คือเรามีการนำเข้าที่น้อย เอกชนไม่ลงทุน ไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ แล้วบัญชีเดินสะพัดเกินดุลขึ้นไปเรื่อยๆ บาทก็ได้แข็งขึ้นเรื่อยๆ เครื่องมือที่เราควรจะต้องใช้คือนโยบายทางการเงินอัตราดอกเบี้ยนโยบายเราต้องกล้าที่จะปรับดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่เหนือความคาดหวังของตลาด นี่เป็นสิ่งที่เราอาจจะต้องลดความอนุรักษนิยมลงบ้าง

สุดท้ายนี้ อยากย้ำอีกครั้งถึง “ตลาดแรงงาน” อันเป็นจุดเปราะบางมากของประเทศ ที่เป็นหัวใจสำคัญมันเป็นจุดศูนย์กลางที่รวมของกำลังซื้อทุกอย่าง ถ้าปล่อยให้ตรงนี้มีปัญหาเมื่อไหร่มันก็ยากที่จะแก้ไขปัญหาอย่างอื่นได้ กำลังซื้อ เหมือนกับฟืนไฟที่เรามี ตราบใดที่มันมอดลงดับลงหรือเปียกน้ำ มันก็ยากที่จะจุดติดตรงนั้น

เราต้องรีบสร้างตลาดแรงงานให้มีความยืดหยุ่นสูง คนต้องสามารถย้ายงานได้ คนต้องมีทักษะอื่นๆ สามารถเปลี่ยนงานได้ อย่างที่เราพรรคเพื่อไทยเคยเสนอในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

เราไม่ได้เสนอลอยๆ เพราะเรามองเห็นแล้วว่าตรงนี้จะกลายเป็นปัญหาในปัจจุบัน เราเลยคิดเรื่องนโยบายกองทุนคนเปลี่ยนงานขึ้นมาซึ่งรัฐบาลอาจจะไม่ต้องทำเหมือนเราก็ได้

แต่ควรจะต้องมีโครงการที่ทำให้ตลาดแรงงานมันมีกันชนไว้สู้กับการที่ภาคเอกชนมันมีปัญหา