หลังเลนส์ในดงลึก / ปริญญากร วรวรรณ/’ลุง’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างแอฟริกา - ช้างแอฟริกาตัวผู้ จะแยกตัวไปอยู่ลำพัง หรือเดินตามฝูงที่นำโดยตัวเมียไปห่างๆ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘ลุง’

 

ช้างแอฟริกันตัวผู้อาวุโสตัวนั้น เดินตรงเข้ามายังตำแหน่งที่ผมยืนอยู่ช้าๆ

เมื่อเข้ามาใกล้เกินกว่าระยะของเลนส์เทเล 400 มิลลิเมตร จะเก็บภาพใบหน้าช้างตัวนั้นได้ครบ ผมเห็นความเหี่ยวย่น งาผุกร่อน และร่องรอยแห่งประสบการณ์ที่มันคงผ่านมาอย่างโชกโชน

ด้านขวามือของมัน มีช้างตัวผู้ ซึ่งคล้ายวัยจะอ่อนกว่า เดินมาข้างๆ

ช้างอ่อนวัยกว่า ทำหน้าที่คล้ายผู้ดูแลตัวอาวุโส

มันเดินเข้ามาใกล้ยิ่งขึ้น ผมละสายตาจากช่องมอง

สิ่งที่เห็นคือ แววตาอันอ่อนโยน…

 

ช้างคู่นี้ทำให้ผมนึกถึงกระทิงตัวผู้อาวุโส ที่เคยพบในค่ำวันหนึ่ง

ในโป่งมีกระทิงร่วม 20 ตัว ส่วนใหญ่เป็นตัวเมีย, เด็กๆ และกระทิงวัยรุ่น ก้มหน้ากินน้ำในแอ่งน้ำเล็กๆ กลางโป่งนั้นอยู่แล้ว

ทุกตัวเงยหน้าขึ้น หลบเว้นช่องให้กระทิงอาวุโสตัวนั้นเดินเข้ามากินน้ำ

กระทิงอาวุโสถูกประกบด้วยกระทิงหนุ่มๆ เดินขนาบ ทำหน้าที่ดูแล

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเห็นภาพเช่นนั้น ผมบันทึกภาพไว้ และใช้ลงในหนังสือ “ชีพจรไพร”…

และเป็นภาพที่ผมชอบมากภาพหนึ่ง

 

ผมเดินทางสู่ดอยสูง ในความตั้งใจอยากค้นหา “ปริศนา” แห่งกวางผา

ผมอยากรู้ว่า พวกมันดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรในสภาพพื้นที่อันเป็นดอยสูง หนาวเหน็บเช่นนั้น

วันแรกที่ผมเห็นกวางผา ในสภาพแสงยามบ่าย กวางผาตัวนั้นยืนนิ่งอยู่บนชะง่อนหินแคบๆ เหม่อมองไปในหุบเบื้องล่าง มันยืนนิ่งอย่างนั้น จนกระทั่งฟ้ามืด

ผมใช้เวลากว่าสิบปี “ตามหา” ปริศนา ปีนป่ายไปตามดอยที่ยังมีกวางผาอาศัยอยู่หลายดอย

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมก็พบว่า แท้จริงแล้ว “ปริศนา” ที่ผมตามหานั่น คำตอบเฉลยให้ผมเห็นตั้งแต่วันแรกที่ผมไปถึงหน้าผา

หยุดนิ่งอยู่กับที่ หยุดใจ ร้อนรุ่มกระวนกระวาย ยิ่งรีบเร่ง จุดหมายยิ่งรางเลือน

กวางผาสอนโดยกระทำให้ผมดูเช่นนั้น

 

ผมถูกเรียกว่า ลุง อย่างเป็นทางการ ในตอนที่ทำงานอยู่ในป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

แต่ด้วยเหตุผลที่คนทำงานในป่าทุ่งใหญ่กว่า 95% เป็นชนเชื้อชาติกะเหรี่ยง สัญชาติไทย และที่นี่ใช้ภาษากะเหรี่ยงเป็นภาษาที่สอง

เพื่อให้เข้าใจได้ทั่ว ผมจึงถูกเรียกว่า “หม่องโจ” อันมีความหมายว่าลุง

ว่าตามจริง ชาวกะเหรี่ยงที่อยู่รอบๆ ป่าทุ่งใหญ่ มักเรียกคนที่นับถือว่า “ลุง” โดยไม่ได้คำนึงถึงอายุมากนัก

อาจเป็นทำนองเดียวกับในยุคหนึ่ง เหล่าช่างภาพ นักเขียน เรียกบุคคลที่ชื่นชมว่า “น้า”

ในป่าทุ่งใหญ่ มีหลายคนถูกเรียกว่าลุง ส่วนใหญ่จะอาวุโส เดินป่าเชี่ยวชาญ ไม่ต้องใช้จีพีเอส หรือแผนที่

หลายครั้ง ลุงเหล่านี้พาเดินอ้อมหรือไกลกว่า นั่นเพราะหลีกเลี่ยงการเดินตัดตรงอย่างที่จีพีเอสแนะนำ ที่จะดิ่งลงหุบและไต่ขึ้นมาใหม่

ในวัยที่ถูกเรียกว่าลุง

การเดินในลักษณะนี้ไม่ง่ายสักเท่าใดแล้ว

 

ลุงเหล่านี้ เกือบทุกคนอาศัยอยู่ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่รอบป่า บางหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เป็นหมู่บ้านที่อยู่มาก่อนจะประกาศเป็นเขตอนุรักษ์

เดินป่ากับลุงๆ ที่ไม่ต้องห่วงเลยคือเรื่องเสบียง นอกจากข้าวสารแล้ว พวกเขาไม่ต้องการอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องมีเนื้อสัตว์ แค่ปลากระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป ก็อยู่ในป่าได้นับสิบวัน ทุกคนรู้จักใบไม้ ผักริมห้วยที่กินได้ทุกชนิด

“อยู่บ้าน เราไม่กินเนื้อสัตว์หรอก” พวกเขาบอก

“เราชอบกินปลามากกว่า”

ที่บ้านพวกเขายึดถือวิถีเดิมๆ ทำไร่หมุนเวียน ที่หลังจากทำจะทิ้งให้พื้นที่นั้นฟื้นตัวราว 6-7 ปี ไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์ การยึดถือวิถีที่อยู่กับป่าอย่างสอดคล้องเช่นนี้ ดูเหมือนทำให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้

“อีกนั่นแหละ ถึงวันนี้แล้วความต้องการ คนเยอะขึ้น ปัญหาก็เกิดขึ้นบ้าง” พวกเขายอมรับความจริง

“หนุ่มๆ ทุกวันนี้ขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งนั้นไม่มีใครเดิน ทำนาก็ใช้รถอีแต๊ก รถไถ ไม่ได้ใช้ควายอย่างเมื่อก่อน น้ำมันก็แพง”

ข้อดีคือ หลายแห่งพบว่า หนุ่มๆ ไม่นิยมการเข้าป่าหาของป่า เพราะลำบาก ส่วนพวกอาวุโสมากๆ ก็หมดแรงเดิน

ความเป็นไปในหมู่บ้านรอบๆ ป่า เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหมดสิ้นหนทางในการอยู่ร่วมกับป่า

หลายหมู่บ้านมีผู้นำรุ่นใหม่ๆ พวกเขากำลังพยายามนำวิถีชีวิตแบบเดิมๆ กลับคืน

วิถีซึ่งพวกเขารู้ว่าคนกับสัตว์ป่า และแหล่งอาศัยของพวกมันอยู่ร่วมกันได้ ดังที่บรรพบุรุษอยู่มานับร้อยปี

พวกเขารู้ดีว่า สัตว์ป่าก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการอาศัยอยู่ในป่าที่พวกเขาอยู่เช่นกัน…

 

ถึงวันนี้ คล้ายกับว่าไม่มีคำว่า “หลังเขา” แล้วความเป็นไปของหมู่บ้านในป่ากับเมือง ไม่แตกต่าง คนในเมือง “อิน” กับละครหลังข่าวเรื่องใด ในป่าก็อิน

คนในเมือง “แชร์” ข่าว รวมทั้งเรื่องราวใดๆ คนในป่าก็ทำเช่นนั้น

ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และจานรับสัญญาณดาวเทียม

ช่วยให้ “หลังเขา” เคลื่อนไปพร้อมกับโลกหนุ่ม-สาว ทำงานง่วนในทุ่งนา ด้วยชุดกางเกงขาลีบ เอวต่ำ ไม่ใช่เรื่องแปลก

“ข้างนอกเราดูเปลี่ยนไป แต่ข้างในเรายังเหมือนเดิมนะ”

ผมได้ยินคำพูดนี้เสมอๆ

 

ในป่าวันนี้

ผมไม่ใช่คนที่เดินอยู่ข้างหน้าดังเช่นในวันก่อนๆ แล้ว แต่มักเป็นคนอยู่ข้างหลังสุด

ตั้งแต่เริ่มทำงานในป่า ผมมีคำถามและบทเรียนมากมายที่สัตว์ป่าสอน

พวกมันเฉลยคำตอบให้ผมเห็นตั้งแต่แรกๆ

มีความเป็นจริงที่เราทุกคนรู้อยู่อย่างหนึ่งว่า

การเดินทางไปไกลแสนไกลของเรานั้น แท้จริงก็เป็นการหาสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ

หลายๆ คำถาม เราได้รับการเฉลยตั้งแต่วันแรกๆ

แต่ดูเหมือนในวันที่ถูกเรียกว่า “ลุง”

เราจึงเข้าใจ