จรัญ มะลูลีม : รัฐ-ศาสนา กับ “ความสมัยใหม่” ในมหาวิทยาลัยอินเดีย

จรัญ มะลูลีม

ผู้แทนระดับสูงของประเทศต่างๆ ที่เคยมาเยือนมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ได้แก่ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งอัฟกานิสถาน อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย คูเวต และอดีตนายกรัฐมนตรีตุนกู อับดุลเราะห์มาน (Tunku Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีคนแรกของมาเลเซีย เป็นต้น

ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ อาทิ แม่ชีเทเรซ่า องค์ทะไลลามะ ศาสตราจารย์ ซี.วี. รามาน (C.V.Raman) เซอร์อเล็กซานเดอร์ ทอดด์ (Sir Alexander Todd) และศาสตราจารย์อับดุสสะลาม (Prof.Abdus Salam) เป็นต้น

มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ได้ทำความตกลงด้านการศึกษากับมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างๆ จากทั่วโลก อาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิหร่าน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้

รวมทั้งประเทศไทย (เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นต้น

 

สําหรับผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยแห่งนี้อย่างเซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่านนั้น เราจะพบว่าเป็นผู้ที่มีความเป็นสมัยใหม่มาก แม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม โดยแยกขอบเขตที่เหมาะสมของศาสนาและรัฐภายในองค์ประกอบแห่งเอกภาพของทัศนวิสัยทางจิตวิญญาณซึ่งมีรากเหง้าอยู่ในความมีใจกว้างทางศาสนา

หนทางนี้นำไปสู่การถือศาสนาแบบนักพหุนิยม

เซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน (Sir Syed Ahmad Khan – 1817-1898) ได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกแห่งอินเดียสมัยใหม่ (architect of modern India) ในทางหนึ่งเขาได้ใช้ความสามารถทุกอย่างที่มีรับใช้ศาสนาอิสลามและชาวมุสลิม และในอีกทางหนึ่งเขาได้ใช้ความสามารถเพื่อรับใช้เพื่อนร่วมชาติ

เขาเป็นคนรุ่นแรกๆ ของอินเดียเฉกเช่นมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) บิดาของอินเดียที่เป็นเพื่อนร่วมชาติของเขา เช่นกัน ทั้งมหาตมะ คานธีและเซอร์ซัยยิดต่างก็ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับชาวอินเดียในสมัยของตน

และมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเพื่อนร่วมชาติ ใช้นโยบายอหิงสา (Ahimsa) เช่นเดียวกัน และต่างก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปกครองของอังกฤษเช่นกัน

ทั้งมหาตมะ คานธีและเซอร์ซัยยิดต่างก็รับรู้ว่าชาวอินเดียจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยากได้ก็ต่อเมื่อชาวอินเดียได้ก้าวพ้นจากความเขลา พ้นจากความเคร่งครัดศาสนาจนกลายเป็นความคลั่ง รวมทั้งการก้าวพ้นจากความขัดแย้งและอคติของชุมชนที่นับถือศาสนาต่างกัน (communal hatred and prejudices)

ความสำเร็จที่เหมือนกันของทั้งสองนักคิดคนสำคัญของอินเดียได้แก่ การนำเอาชาวอินเดียกลับมาสู่ศรัทธาและความมั่นใจในตนเอง หลังจากได้เคยสูญเสียไปอันเนื่องมาจากผลของการลุกฮือต่อต้านอังกฤษในปี 1857 มาก่อน

 

เซอร์ซัยยิดเป็นผู้สืบทอดปัญญาชนมุสลิมอย่างชาฮ์ วะลีญุลลอฮ์ (Shah Wali-Allah 1703-1762) ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิวัติการศึกษาของอินเดียสมัยใหม่ เซอร์ซัยยิดเป็นทั้งนักการศึกษา นักปฏิรูปสังคมศาสนาซึ่งมีผลงานด้านการเขียนจำนวนมาก ทั้งในภาษาอุรดูและภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ เซอร์ซัยยิดยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สถาปนาแนวคิดอิสลามทันสมัย (Islamic modernism) ในอนุทวีปอินเดียอีกครั้ง ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาทางปัญญาและการศึกษาของอินเดียเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะชาวมุสลิม เซอร์ซัยยิดมีความเชื่อมั่นในคำสอนของพระผู้เป็นเจ้าและความเที่ยงแท้ของอัลกุรอาน

ลักษณะเด่นในความคิดทางศาสนาของเซอร์ซัยยิดก็คือการใช้หลักเหตุผลในเรื่องศาสนาที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานเขียนของชาฮ์ วะลีญุลลอฮ์ ในการตีความคำสอนและแนวคิดของอิสลามนั้น เซอร์ซัยยิดได้ใช้สปิริตทางวิทยาศาสตร์ของอัลกุรอานที่กระจายคำสอนของอิสลามออกไปอย่างกว้างขวางมาเป็นที่ตั้ง

เซอร์ซัยยิดพบว่าวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็นมรดกสำคัญของปัญญาชนมุสลิมและได้รับการพัฒนาต่อมาโดยตะวันตกนั้นมีความสอดคล้องกับเรื่องราวแห่งศรัทธาของอิสลาม และมีส่วนส่งเสริมภารกิจของอิสลาม

แนวคิดของเซอร์ซัยยิดได้กลายมาเป็นพื้นฐานความคิดด้านสังคม-ศาสนา และขบวนการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งเซอร์ซัยยิดได้นำเสนอให้กับชาวอินเดียมุสลิมมาแล้วนับชั่วอายุคน บางทีอาจจะกล่าวได้ว่าความเป็นนักสมัยนิยมอิสลามของเซอร์ซัยยิดคือการปูทางไปสู่การฟื้นฟูศิลปวิทยาการ และเทคโนโลยีในอนุทวีปอินเดียในทางหนึ่ง

และเป็นการเตรียมตัวชาวอินเดียมุสลิมสู่พลังทางปัญญาและพลังทางการศึกษาในอีกทางหนึ่ง

เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุประสงค์เหล่านี้ ตลอดจนการสร้างการรับรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ในหมู่ชาวอินเดีย เซอร์ซัยยิดจึงได้ก่อตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์ (Scientific Society) ขึ้นในปี 1864

และสร้างวิทยาลัยมุฮัมมะดัน แอลโกล โอเรียนตัล (Muhammadan Anglo-Oriental Collage) ขึ้นในปี 1875 ซึ่งใช้รูปแบบของมหาวิทยาลัยเก่าแก่อย่างออกซ์ฟอร์ดและเคมบริดจ์ของอังกฤษ

 

เซอร์ซัยยิดเป็นนักเขียนที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและมีคุณูปการต่อความอุดมสมบูรณ์ของวรรณกรรมอิสลามร่วมสมัย ซึ่งเซอร์ซัยยิดได้เขียนหนังสือที่บรรจุหัวข้อต่างๆ ที่สำคัญเอาไว้จำนวนมาก

เซอร์ซัยยิดเป็นชาวอินเดียมุสลิมคนแรกที่อรรถาธิบายคัมภีร์ไบเบิลตามแนวตรรกศาสตร์ ในปี 1862 หนังสือเล่มสำคัญอื่นๆ ของเขาก็เช่น รวมบทความว่าด้วยชีวิตของศาสดามุฮัมมัด (Essays in the life of Muhammad-1870) ซึ่งงานของเซอร์ซัยยิดพิสูจน์ได้ถึงความเป็นต้นฉบับและความรู้ที่กว้างขวาง

แม้แต่หนังสือประวัติศาสตร์และโบราณคดีของเซอร์ซัยยิดก็ยังถูกเสริมด้วยวรรณกรรมอิสลามที่ทรงคุณค่า

บางทีอาจกล่าวได้ว่า เซอร์ซัยยิดอาจเป็นชาวมุสลิมอินเดียคนเดียวที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับการลุกฮือแห่งปี 1857 ซึ่งหนังสือนี้มีชื่อว่าอัสบาบ บะฆวัตติฮินด์ (Asbab Bghawat-e-Hind) ซึ่งเซอร์ซัยยิดมีความเห็นว่าการลุกฮือของชาวอินเดียดังกล่าวนั้นอังกฤษสมควรได้รับการตำหนิ

ในทำนองเดียวกัน งานที่ถือได้ว่าเป็นอมตะของเซอร์ซัยยิดก็คืองานเขียนเรื่องอาษารุส สะนาดีด (Athar-us-Sanadid) ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1847 เป็นงานเขียนเกี่ยวกับอาคารและอนุสาวรีย์ของกรุงนิวเดลี ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในหนังสือที่ดีที่สุดที่ได้เขียนในเรื่องนี้ และได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสโดย Garcin T.Tassy ในปี 1861 จนทำให้เซอร์ซัยยิดมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ และได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของ Royal Asiatic Society of London

เซอร์ซัยยิดได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิต ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก ในฐานะนักเขียนผู้มีคุณูปการและนักการศึกษา อาจกล่าวได้ว่า เซอร์ซัยยิด อะห์มัด ข่าน คือสถาปนิกนักสมัยนิยมแห่งอินเดีย ที่ต่อสู้อย่างห้าวหาญกับความล้าหลัง ความใจแคบ ไสยศาสตร์ ความสุดโต่ง และปูทางให้แก่การศึกษาที่เป็นระบบโดยให้ความสำคัญทั้งทางจิตวิญญาณ (spiritual) และทางโลก (temporal) ในเวลาเดียวกัน

 

เมื่อกล่าวโดยภาพรวม เซอร์ซัยยิดจึงเป็นแกนหลักของขบวนการอะลิฆัร (Aligarh) หรืออลิการ์ เป็นบิดาแห่งลัทธิสมัยใหม่นิยม เป็นคนแรกที่รู้ถึงความจำเป็นของแวดวงความเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างศาสนากับวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

การเดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนและแนะแนวการศึกษาให้กับนักศึกษาไทยในอินเดียของผมจบลงที่มหาวิทยาลัยมุสลิมแห่งอลิการ์ท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่นของนักศึกษาที่มาร่วมรับฟังกันอย่างพร้อมเพรียง และหวังว่าการพูดพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะยังประโยชน์ให้นักศึกษาไทยทุกคนทั้งที่ดารุลอุลูมฯ และอลิการ์ตลอดไป

ขอขอบคุณเอกอัครราชทูตชุตินทร คงศักดิ์ อัครราชทูตธีรภัทร มงคลนาวิน เลขานุการเอก กฤชณรงค์ เสรีสวัสดิ์ และคณะ ที่ทำให้การจัดงานครั้งนี้เต็มไปด้วยบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนและเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของนักศึกษาไทยอย่างแท้จริงและตลอดไป