ธงทอง จันทรางศุ | ทำ “หัวร้อน” ให้เป็น “หัว (ร่ม) เย็น”

ธงทอง จันทรางศุ

ก่อนเทศกาลปีใหม่เพียงไม่กี่วัน ผมได้รับเชิญไปร่วมงานฉลองวาระครบรอบ 20 ปีที่คริสต์ศาสนานิกายรัสเซียน ออโธดอกซ์เข้ามาเริ่มกิจการเผยแผ่ในประเทศไทย

ศาสนิกของนิกายดังกล่าวในประเทศไทยส่วนใหญ่ก็เป็นชาวรัสเซียที่เข้ามาทำมาหากินอยู่ในบ้านเรา ส่วนมากอยู่ตามเมืองใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ

มีคนไทยเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายดังกล่าวอยู่บ้าง แต่มีจำนวนไม่มากนัก

หนึ่งในจำนวนที่มีอยู่ไม่มากนั้นบังเอิญให้เป็นลูกศิษย์ของผมด้วยคนหนึ่ง

สาเหตุนี้เองทำให้ผมได้รับเชิญไปร่วมงานดังกล่าวเพราะลูกศิษย์ที่คุ้นเคยกันมาเกือบ 40 ปี

เธอทราบอัธยาศัยของผมดีว่าผมน่าจะสนใจในเรื่องเหล่านี้ แม้ตัวผมเองเป็นที่ถนัดชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นพุทธศาสนิกชน

แต่การได้มีความรู้กว้างขวางมากขึ้นในเรื่องของศาสนาอื่นที่มีอยู่ในโลกใบนี้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอยู่ไม่ใช่น้อย และไม่เป็นข้อน่ารังเกียจเดียดฉันท์แต่ประการใด

โอกาสดังกล่าวทำให้ผมได้สนทนากับผู้เป็นศิษย์คนที่ว่า เพื่อแสวงหาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับนิกายรัสเซียน ออโธดอกซ์

ซึ่งถึงแม้ว่าผมจะพอเก็บความมาได้บ้างเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่มั่นใจพอที่จะมานำมาเล่าสู่กันฟังได้ในที่นี้ เพราะอาจจะผิดพลาดไปจากความจริงไกลตั้งโยชน์

สิ่งที่พอจะนำมาขยายความกันได้ จึงได้แก่ประเด็นพื้นๆ ทั่วไปที่ปรากฏอยู่ในคำสอนของทุกศาสนา ประเด็นนั้นคือเรื่องของความโกรธ

หรือเรียกให้เป็นภาษาชาววัดหน่อยก็ต้องบอกว่า โทสะ

ผมมั่นใจว่าทุกศาสนาย่อมมีคำสอนหรือวิธีการแนะนำให้ผู้เป็นศาสนิกพยายามงดเว้นหรือบรรเทาความโกรธลงให้ได้มากที่สุด

เพราะความโกรธนี้เองเมื่อเกิดมีขึ้นแล้ว รังแต่จะเกิดโทษกับทุกคน

อย่างน้อยก็ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง และอาจจะเลยเถิดไปจนกระทั่งทำให้เกิดความเสียหายอื่นๆ อีกหลายอย่างติดตามมาได้

เช่น กลายเป็นเรื่องวิวาทบาดหมาง ต้องแก้แค้นกันไม่รู้จบ

ผมมีอาชีพสอนหนังสือ และวิชาหนึ่งที่ผมรับผิดชอบสอนอยู่เป็นประจำทุกภาคการศึกษาคือวิชาประวัติศาสตร์กฎหมาย

ในวิชานั้นผมต้องพูดถึงกฎหมายตราสามดวง ซึ่งเป็นกฎหมายเก่าของเราที่ชำระขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

แต่เนื้อหาภายในส่วนใหญ่เป็นกฎหมายเก่ามีมากมายแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาแล้วด้วยซ้ำไป ในกฎหมายสำคัญเล่มดังกล่าวภายหลังจากเล่าประวัติที่มาที่ไปแล้ว จะมีหมวดที่เรียกชื่อว่า “อินทภาษ” นัยว่าเป็นคำสอนของพระอินทร์ที่นักกฎหมายทั้งหลายพึงยึดถือเป็นมาตรฐานในการทำงาน

หลักสำคัญที่สุดที่ท่านสอนไว้คือการงดเว้นจากอคติสี่ประการ

ได้แก่ ความลำเอียงเพราะความรักใคร่ เรียกว่าฉันทาคติ

ความลำเอียงเพราะความโกรธความชัง เรียกว่าโทสาคติ

ความลำเอียงเพราะความกลัวภัยอันตราย เรียกว่าภยาคติ

และข้อสุดท้าย ความลำเอียงเพราะความหลง เรียกว่าโมหาคติ

แม่ของผมเคยเขียนหนังสือฝากประสบการณ์ไว้ว่า เมื่อตอนที่แม่เป็นสาววัยรุ่น แม่มีชื่อเสียงมากในเรื่องของการไม่ยอมแพ้ใคร

ถ้ามีใครมาทำให้แม่โกรธแล้ว แม่จะไม่ปล่อยให้คนนั้นลอยนวลไปได้ อย่างน้อยก็ต้องต่อว่าต่อขานกันอย่างรุนแรงให้รู้แพ้รู้ชนะกันไปข้างหนึ่ง

เมื่ออีกฝ่ายนิ่งเงียบลงไปแม่ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชนะในเกมครั้งนั้น

แต่เมื่อแม่มีอายุมากขึ้น ประสบการณ์ทั้งหลายบอกแม่ว่า ข้อที่รู้สึกว่าชนะนั้น ไม่ใช่ชัยชนะที่แท้จริง

ตรงกันข้าม ความจริงที่เกิดขึ้นคือความพ่ายแพ้ ที่เราขาดสติไม่สามารถควบคุมอารมณ์ให้เป็นปกติได้

ปล่อยให้ใจก็ดี ปากก็ดี โลดเต้นไปตามความปรารถนา

ตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่งที่ผมพบเห็นอยู่เสมอ คือความโกรธที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เมื่อคนขับรถคนหนึ่งเห็นคนขับรถอีกคนหนึ่งทำอะไรไม่ถูกใจ

เช่น เห็นแท็กซี่ขับช้าๆ เพื่อตระเวนหาผู้โดยสาร รถคันหลังก็บีบแตรไล่ส่งเสียงดังลั่นถนน

หรือรถคันหนึ่งขับอยู่ในเลนของตนเป็นปกติ มีรถอีกคันมาปาดหน้า สองเรื่องข้างต้นนี้ สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นต้นทางของคดีฆ่ากันตายก็เป็นได้ และเป็นมาแล้วบ่อยครั้งในเมืองไทยของเรา

โดยทั่วไปแล้วเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ความขยันโกรธน่าจะลดน้อยถอยลง

แต่ข้อนี้ก็ไม่แน่นะครับ คนแก่ที่ “หัวร้อน” ก็มีอยู่ถมไป ลูกหลานต้องคอยดึงบังเหียนห้ามปรามกันอยู่ แต่ใครจะมาตามห้ามปรามกันอยู่เสมอก็ย่อมพ้นวิสัย ใครจะมาเตือนตัวเราได้นอกจากตัวเราเองเป็นไม่มีอีกแล้ว

ผมนึกว่าความโกรธส่วนใหญ่ของคนทั้งหลายเกิดขึ้นจากปากคนอื่นทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปากที่เขาว่าเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง

(แล้วมีผู้ปรารถนาดีแต่ประสงค์ร้ายนำมาบอกเล่าให้เราฟังอีกทอดหนึ่ง ฮา!)

พระเถระผู้ใหญ่รูปหนึ่ง ท่านเคยสอนวิธีคิดเมื่อมีใครเขาว่าเราเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ก่อนที่เราจะโกรธและแสดงอาการกราดเกรี้ยวอย่างใดไป ให้ย้อนถามตัวเองเสียก่อนว่า ที่เขาว่ามานั้นจริงหรือเปล่า

ถ้าเป็นความจริงก็ไม่ควรโกรธ เพราะมันเป็นความจริง

ถ้าไม่เป็นความจริงก็ไม่ควรโกรธ เพราะมันไม่เป็นความจริง

ถ้าทำอย่างที่ท่านสอนข้างต้นนี้ได้ ใจของเราก็เป็นสุขมากครับ

ชีวิตของผมที่ยืนยาวมาจนขึ้นปีใหม่คราวนี้ก็ย่างเข้า 64 ปีแล้ว ย่อมผ่านเรื่องทั้งที่น่าพอใจและไม่น่าพอใจมาแล้วจำนวนมหาศาล

แต่ที่ยังมีความสุขอยู่ได้ตามอัตภาพก็เพราะคอยเตือนตัวเองไม่ให้โกรธนี่แหละครับเป็นข้อสำคัญ ใครเขานินทาว่าร้ายว่าผมเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ผิดบ้างถูกบ้างก็ช่างเขา ใครจะมารู้จักตัวเราดีเท่ากับตัวเราเอง

ถ้าดูตัวเองแล้วเห็นว่ายังบกพร่องอยู่ก็เร่งทำให้ดีขึ้น

เขาว่าร้ายมา เราโกรธตอบไป เหนื่อยแย่เลยนะครับ

ใครทำอะไรให้เราไม่ได้ดั่งใจ เช่น เราสั่งงานไปแล้ว ทำผิดบ้าง ทำช้าบ้าง เมื่ออยู่ในหน้าที่เป็นครู เป็นผู้บังคับบัญชาของเขา เราต้องเตือนต้องบอกกันดีๆ อย่าไปขว้างแฟ้มใส่เขา ชักสีหน้าใส่เขา เวลาโมโหยักษ์แบบนั้นแล้ว ผู้คนเขาหมดนับถือกันพอดี เราเองขาดทุนยับเยิน

บางทีนึกในใจขำๆ ว่า ถ้าเขาทำได้เหมือนใจเรา ป่านนี้เขามิมาเป็นปลัดกระทรวงหรือเป็นอธิบดีแทนเราไปแล้วหรือ

บางทีก็นึกครับว่า ประเดี๋ยวก็ตายจากกันแล้ว ไม่เราตายก่อนก็เขาตายก่อน กรรมของใครทำอะไรไว้ก็ได้รับผลของกรรมอย่างนั้น

เวลาที่เหลืออยู่ไม่มากนี้ผมสมัครใจที่จะยิ้มแย้มและหัวเราะกับสรรพสิ่งที่อยู่รอบตัวมากกว่าการทำหน้าบึ้งตึงและเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน

ทำใจให้ร่มเย็นแล้วมีความสุขกับโลกใบนี้กันเถิดนะครับ