สมหมาย ปาริจฉัตต์ : ด่านทดสอบสุดท้าย บ้านไม้อยู่ดี (7)

สมหมาย ปาริจฉัตต์

หลัง ผอ.พวงทองพูดถึงสิ่งที่โรงเรียนวาดหวังจะดำเนินการต่อไป ปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนไปสู่ Active Learning 100 % สร้างความเข้มแข็งให้หลักสูตรหุ่นยนต์ ส่งเสริมสมาร์ตฟาร์ม ส่งเด็กไปแสดงความสามารถในเวทีต่างๆ ให้มากขึ้น จบลง

เป็นคิวของฝ่ายวิชาการ ครูบัวเรียม พรมจีน รับไมค์ต่อ

“เด็กที่เข้ามาโรงเรียนจะดูพื้นฐานก่อน คัดกรองออกเป็น 4 กลุ่ม เพื่อจัดว่าควรเข้าเรียนห้องไหน ห้องเรียนที่หนึ่งเก่งเรียนได้ ทับสองปานกลาง ทับสามอ่อน สี่กลุ่มออทิสติก ปรึกษากับพ่อแม่ผู้ปกครอง วิเคราะห์เป็นรายบุคคล เพื่อครูจะได้ทำแผนการสอนที่เหมาะสม เด็กควรได้รับการพัฒนาด้านไหนอย่างไรต่อไป”

 

เวทีสนทนาจัดการศึกษาและฟื้นฟูสมรรถนะเด็กพิการ ได้เวลาปิดลง ผู้อำนวยการ ครู และ ดช.ณัฐมัย ไอซีที ทาเลนซ์ พาคณะ กพฐ.ผู้มาเยือนเยี่ยมชมห้องเรียน ดูการสอนจริงของครู การเรียนของนักเรียน มีทั้งที่นั่งอยู่บนโต๊ะ บนรถเข็น นอนกลิ้งอยู่กับพื้น แต่ทุกคนหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส

ต่อไปที่ห้องสมุด มีหนังสือ นิตยสาร หลากหลายประเภททั้งเก่า ใหม่ บนชั้นวางให้นักเรียนเลือกอ่านและค้นคว้า คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเรียงรายหลายตัว ครูขาพิการนั่งในรถเข็นกับเพื่อนครูอีกสองคนกำลังง่วนอยู่หน้าจอหาข้อมูลเตรียมการสอน

หน้าห้องติดตั้งบอร์ดพื้นสีม่วง เขียนข้อความ พระราชดำรัสสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ว่าด้วยความสำคัญของการอ่าน 7 ข้อ

ไปต่อที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ดูการเรียนการสอน ใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก (Assistive Technology : IT ) พัฒนากระบวนการคิดโดยใช้หุ่นยนต์ (SWCM ROBOTICS)

คลินิกทันตกรรม พยาบาลอาสาสมัครเกษียณแล้วมีจิตอาสามาช่วยโรงเรียนดูแลนักเรียนที่เข้ารับบริการ ถัดไปเป็นห้องพยาบาล มีเตียงไว้รองรับผู้ป่วยปกติและฉุกเฉิน 15 เตียง มากกว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ใกล้กันเป็นห้องอนุบาล ห้องฟื้นฟูสมรรถภาพ เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เอกการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาพิเศษ คณะเทคนิคการแพทย์ สาขากายภาพบำบัด เด็กนักเรียนพิการนั่งรถเข็นถึงห้องตามเวลามาทำกิจกรรมศึกษาวงจรชีวิตผีเสื้อ

ครูหัวหน้าฝ่ายฟื้นฟูสมรรถภาพนักเรียนบอกว่า การดูแลนักเรียน ใช้ชีวิตประจำวันทั้งด้านร่างกายและจิตใจ วันหนึ่งมีเด็กหายไป วุ่นวายทั้งโรงเรียน วิ่งหากันทั่วไปหมด ผลปรากฏว่าไปแอบหลับอยู่ใต้โต๊ะครู

ด้านความปลอดภัยแต่ละปีมีการฝึกเผชิญภัยพิบัติเป็นประจำ

 

เดินต่อไปที่ห้องธาราบำบัด บ่อน้ำวน อุปกรณ์ทันสมัยจากต่างประเทศ ให้เด็กลงปฏิบัติตามตารางเรียนเพื่อผลต่อการไหลเวียนของเลือด ส่วนอาชาบำบัด ครูเล่าว่า ต้องพาเด็กออกไปทำกิจกรรมที่กองพันสัตว์ต่าง อำเภอแม่ริม โดยรถบัสทุกวันศุกร์

ผมเกิดอาการงง สัตว์ต่าง หมายถึงอะไร ครูให้ความรู้ว่า คำว่าต่าง หมายถึง บรรทุก สัตว์สำหรับใช้บรรทุก บรรทุกคน บรรทุกของ เช่น ม้า ลา ล่อ สัตว์ผสมระหว่างลาตัวผู้กับม้าตัวเมีย ต่างไม่ได้หมายความถึงสัตว์ชนิดต่างๆ เลยถึงบางอ้อ ด้วยความเสียดาย เวลาไม่พอเลยไม่ได้ไปชมการฝึกเด็กพิการ วิชาอาชาบำบัด กับม้า ลา และล่อ

ออกจากห้องธาราบำบัด เจ้าภาพพาไปต่อที่ร้านหลานย่า ร้านค้าเพื่อกิจการสังคม รถขายกาแฟเคลื่อนที่คันใหญ่ สินค้าน่าชิมหลายอย่าง จากนั้นไปสวนของพ่อ สถานที่สอนและลงมือทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ เศรษฐกิจพอเพียง ปลูกพืช ผักสวนครัว บ่อเลี้ยงปลา พื้นที่ 8 ไร่ ราคา 14 ล้านเหตุเพราะที่ดินติดหมู่บ้านจัดสรร ทำเลดี ติดรั้วโรงเรียน เลยได้ฟังเรื่องเล่าเคล้าน้ำตา กว่าจะได้ที่มาใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ให้นักเรียน

จากเดิมที่ทั้งหมด 26 ไร่ โรงเรียนเคยเช่า ร่วมทำข้อตกลงกับ อบจ. เทศบาล วัดห้วยเกี๋ยง ช่วยกันพัฒนาจนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน

ต่อมาจู่ๆ ที่ถูกขายไปโดยโรงเรียนไม่รู้ พยายามขอซื้อกลับเฉพาะส่วนที่ใช้ทำการเรียนการสอนทั้งๆ ที่ไม่มีเงิน ผอ. รอง ผอ. และครูต้องร่วมกันกู้เงินสหกรณ์ และจัดทอดผ้าป่าหาเงินมาได้แต่ไม่ครบ 3 ปีกว่าถึงจ่ายหมด ถูกเรียกค่าปรับ 5 แสน หลวงพ่อวัดห้วยเกี๋ยงช่วยบิณฑบาตจากเจ้าของลดให้ 1 แสน ในที่สุดตกลงกันได้

แต่ ผอ.ถูกตั้งกรรมการสอบสวนอยู่ 2 ปี กว่าเรื่องจะจบ

 

ฟังเรื่องเศร้าจบ เดินมาต่อที่แหล่งฝึกทักษะชีวิตและทดสอบสมรรถนะ เด็กก่อนจบจากโรงเรียนไปใช้ชีวิตอยู่บ้านต้องผ่านบ้านสองหลัง

หลังแรก บ้านดิน มีห้องฝึกการเรียนรู้ Independent Living Classroom (ILC) ห้องครอบครัวศึกษา สอนโดยวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้เด็กพิการอยู่ที่บ้านอื่นได้เห็นด้วย

หลังที่สอง บ้านไม้อยู่ดี Happy Wooden House ที่ประเมินศักยภาพด่านสุดท้าย

ในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ให้เด็กแสดงออกว่าแต่ละวันต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ตั้งแต่ตื่นนอน ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ จนกระทั่งเข้านอน หากมีเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือภัยอันตรายใดเกิดขึ้น จะช่วยตัวเองได้อย่างไร

ครูหรือพี่เลี้ยงจะสมมติสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้นว่า ฝนทำท่าจะตก พายุกำลังมาแรง ต้องทำอะไรตามลำดับ ปิดหน้าต่าง แง้มประตู รีบเก็บเสื้อผ้าที่ตากไว้บนราว เอามาให้เพื่อนพับ ผ้าแห้งจะรีดอย่างไร ผ้าเปรอะจะซักที่ไหน ของอื่นๆ ถูกฝนเสียหายจะทำอย่างไร

ครูประจำบ้านไม้อยู่ดี บอกว่า “หนูพูดกับพ่อแม่ ผู้ปกครองเด็กบ่อยๆ ต้องพยายามให้เขาช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด”

“หากเราไม่ให้เขาทำอะไรด้วยตัวเอง ช่วยตัวเองก่อน แต่ทำให้เขาทุกอย่าง ถ้าเราตายไปเด็กเขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร”

 

ฟังเธอแล้ว ผมคิดถึงพ่อ แม่ เด็กปกติที่พูดถึงลูกตัวเองกับเพื่อนๆ ว่า ลูกบังเกิดเกล้า คุณหนูไม่ยอมโต

คิดเลยไปถึงคำกลอนสอนใจเรื่อง พ่อแม่รังแกฉัน มีซินแสแก่เฒ่าได้เล่าไข ของพระยาอุปกิตศิลปสาร ตอนหนึ่งว่า

 

ฝ่ายพ่อแม่รักบุตรสุดจะรัก บุตรสมัครทางไหนมิได้ว่า

ใช้เงินทองกอบกำไม่นำพา อยู่ไม่ช้าแกก็ตายทำลายชนม์

ทรัพย์สมบัติมรดกตกแก่ลูก ไม่ต้องปลูกเปลืองแรงแสวงผล

มีเพื่อนมาฮาฮือนับถือตน เฝ้าแต่ขนทรัพย์จ่ายสบายจริง

 

ครับ บอกลา ผู้อำนวยการ ครู เด็กๆ จากโรงเรียนศรีสังวาลย์ไปที่ใหม่ ผมยังท่องกลอนต่อไม่ทันจบ รถจอดหน้าโรงเรียนสันทรายวิทยาคมแล้ว