การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ รำลึก/ Toy Story

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

รำลึก Toy Story

ควรบันทึกไว้ว่าหนังการ์ตูน Toy Story ภาคแรก ปี 1995 เป็นหนังการ์ตูนเรื่องแรกที่สร้างด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ไม่มีการใช้พู่กันวาดรูปและไม่มีการใช้เทคโนโลยีแผ่นเซล (cel) เลย

คือผลงานชิ้นเอกตลอดกาลของผู้กำกับฯ จอห์น แลสซิเตอร์ เป็นผลงานร่วมของดิสนีย์และพิกซาร์

การ์ตูนที่รักครั้งที่แล้วเล่าเรื่อง A Town Called Panic ซึ่งนักวิจารณ์ต่างประเทศทุกคนจะนำไปเปรียบเปรยกับทอยสตอรี่ ทอยสตอรี่เดินเรื่องมาถึงภาคที่ 4 แล้ว

เรามารำลึกภาคแรกกัน

 

หนังเล่าเรื่องตุ๊กตาคาวบอยวู้ดดี้และตุ๊กตาสเปซแรนเจอร์บั๊ซไลต์เยียร์ที่มีนิสัยใจคอแตกต่างกันมาพบกัน ผจญภัยร่วมกัน แล้วร่วมมือกัน เป็นจิตวิทยาพัฒนาการของเด็กประถม อายุ 7-12 ปี คือพบเพื่อน และปรับตัวเข้าหากันแม้ว่าจะไม่ชอบหน้ากันเท่าไรนักในตอนแรก จากนั้นเล่นด้วยกันหรือทำงานด้วยกัน เรียกว่า Compete, Compromise และ Coordinate

ฉากหลังของเรื่องทอยสตอรี่เป็นกองของเล่น ตัวแสดงที่เป็นคนจะมองไม่เห็นว่าของเล่นเหล่านี้มีชีวิต วู้ดดี้และบั๊ซเป็นตุ๊กตา ไม่มีการแสดงออกทางสีหน้าและไม่มีการเคลื่อนไหว พวกเขาไม่มีอารมณ์และไม่รู้สึกเจ็บปวด แต่ที่เด็กๆ จะเห็นบนจอคือตุ๊กตาที่มีชีวิต พูดได้และเจ็บปวดได้ทั้งกายและใจ ลำพังบริบทที่ว่านี้ก็น่าสนใจมากและเข้าใกล้ปรัชญาแล้ว

คำถามคือ วู้ดดี้และบั๊ซมีอยู่จริง (exist) หรือไม่

 

ถัดจากมีอยู่จริงหรือไม่ มาถึงคำถามถัดมาคือมีคุณค่าหรือไม่ เมื่อเด็กๆ เติบโต ไปโรงเรียน ไปมหาวิทยาลัย แล้วมีคนรัก เด็กทุกคนทิ้งตุ๊กตาไว้ข้างหลัง แม้ว่าพวกเขาจะมีตุ๊กตาตัวใหม่ตามยุคสมัย หลายครั้งเป็นคนรักนั้นเองที่ให้มาเนื่องในวันเกิด

แต่ตุ๊กตาที่ได้มาใหม่ตอนเป็นวัยรุ่นและเด็กโตไม่เหมือนตัวที่พวกเขาถือครองตอนเป็นเด็กเล็ก คุณค่าของตุ๊กตาต่างกันไกลมาก

ตุ๊กตาของเด็กเล็กมากจะเป็นตัวแทนของแม่

ตุ๊กตาของเด็กโตจะเป็นร่างแปลงหรือส่วนขยายของร่างกายให้ไปทำสิ่งที่เด็กโตทำมิได้ในชีวิตจริง

คำถามคือ วู้ดดี้และบั๊ซมีคุณค่า (value) หรือไม่

นี่คือการ์ตูนที่ตั้งอยู่บนฐาน existentialism และ gestalt psychology พร้อมๆ กัน

จอห์น แลสซิเตอร์ เป็นแอนิเมเตอร์มาก่อน เขาสนใจเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นเป็นคนแรกๆ งานทดลองของเขาคือการ์ตูนสั้นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ Luxo Jr 1986 และ Tin Toy 1988 แต่นั่นเป็นการ์ตูนสั้น เขาไม่มีประสบการณ์ทำหนังการ์ตูนขนาดยาวมากกว่าหนึ่งชั่วโมงโดยที่ตัวการ์ตูนเป็นตัวละครในความจริงเสมือน

ขณะที่ดิสนีย์เป็นผู้เชี่ยวชาญการเล่าเรื่องขนาดยาวมาแล้วหลายสิบปี ความร่วมมือของพิกซาร์และดิสนีย์จึงบังเกิดขึ้น

การ์ตูนเรื่องนี้จะมีอยู่จริงและมีคุณค่าเพียงใด เป็นคำถามถึงกระบวนการผลิตเท่าๆ กับเป็นคำถามถึงเนื้อเรื่อง

 

เนื้อเรื่องสั้นๆ มีว่า วันหนึ่งเด็กชายแอนดี้ได้ตุ๊กตาตัวใหม่คือบั๊ซไลต์เยียร์ เขาเป็นนักบินอวกาศเก๋ไก๋ใหม่เอี่ยมเหาะได้ ที่สำคัญคือ บั๊ซเชื่อว่าเขาเป็นสายตรวจอวกาศจริงๆ มิใช่ตุ๊กตา!

นี่คือภัยคุกคามต่อตุ๊กตาเคาบอยตัวเดิม วู้ดดี้ที่ไม่มีอะไรนอกจากให้ความสุขแก่เจ้านายคือเด็กชายแอนดี้ ยังมีภัยคุกคามที่น่ากลัวกว่าคือซิด เด็กชายข้างบ้านที่ชอบใช้ความรุนแรงกับตุ๊กตาในรูปแบบต่างๆ วู้ดดี้และบั๊ซต้องแข่งขันกันเองพร้อมๆ กับร่วมมือกันรับมือภัยร้ายที่กล้ำกรายโดยมีตุ๊กตาอีกหลายสิบตัวเป็นตัวประกอบ

วู้ดดี้คือทอม แฮงก์ เราปฏิเสธมิได้ว่าหากมิใช่ทอม แฮงก์ แล้ววู้ดดี้ก็จะมิใช่วู้ดดี้ ด้วยความที่เป็นเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์แอนิเมชั่นเรื่องแรก การดึงให้เด็กๆ เชื่อได้ว่าตัวการ์ตูนที่เห็นมีอยู่จริงเท่าๆ กับสีจากปลายพู่กันบนแผ่นเซลจำเป็นต้องใช้นักแสดงระดับแม่เหล็กที่มีภาพลักษณ์และเสียงนุ่มชัดเจนช่วย ทั้งนี้เพื่อปิดประตูความล้มเหลวนั่นเอง

วู้ดดี้เป็นตุ๊กตาแบบเดิมคล้ายๆ ทอม แฮงก์ ที่เขามีแคแร็กเตอร์ของพระเอกแบบเดิมๆ ด้วยเช่นกัน

นั่นคือพระเอ๊กพระเอก

 

บั๊ซไลต์เยียร์ซึ่งให้เสียงพากย์โดยทิม อัลเลน ไม่เหมือนกัน เขามิใช่พระเอ๊กพระเอก เขามีจุดอ่อน บั๊ซในหนังคิดว่าตนเองเป็นสายตรวจอวกาศจริงๆ มิใช่นักบินอวกาศธรรมดา แต่เป็นถึงหน่วยพิทักษ์จักรวาล เขาบินได้ แม้ว่าจะ “ผลิตในไต้หวัน” วันหนึ่งเขา “บิน” ออกจากหน้าต่างแล้วก็แขนหักหมดสภาพ เป็นวู้ดดี้ที่มาคุยกับเขาให้เห็นถึงคุณค่าของตนเองตามที่เป็นจริง นั่นคือเป็นตุ๊กตาของแอนดี้ แต่แอนดี้ก็ต้องการเขาในแบบที่เขาเป็น นั่นคือบั๊ซไลต์เยียร์

แอนดี้คือเด็กชายเจ้าของตุ๊กตา เขาเป็นตัวละครที่เป็นแกนกลางของเรื่อง แต่มิใช่ตัวละครหลัก หากปราศจากแอนดี้ ตุ๊กตาทุกตัวก็จะหมดความหมายไปเลย นี่คือภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมด (exist & gestalt)

ตัวละครจืดๆ อย่างแอนดี้ต้องการตัวละครที่มีสีสันมากกว่าอย่างซิด ฟิลลิปส์ มาช่วย

ซิดเป็นเด็กเกเร เกเรทั้งสีหน้า ท่าทางและวิธีการพูด มากที่สุดคือการกระทำ เขากลั่นแกล้งตุ๊กตาสารพัด ทั้งของตัวเอง ของน้องสาว และของแอนดี้ เขาใช้แว่นขยายเผาหน้าผากวู้ดดี้และเกือบจะย่างวู้ดดี้สำเร็จ แต่ที่เด็ดที่สุดคือฉากผ่าตัดตุ๊กตาแล้วสร้างมิวแทนต์น่าสะพรึงกลัวมากมาย

เด็กๆ ระบายอารมณ์ส่วนเกินใส่ตุ๊กตาเสมอ เวลาเราพบเด็กที่ “มากไป” ไม่ว่าเรื่องอะไร การเล่นจะเป็นช่องทางระบายความมากเกิน ความโกรธ เกลียด เคียดแค้นหรือคับข้องใจได้เสมอ

การเล่นทุกชนิดมีประโยชน์รวมทั้งตุ๊กตา

ในทางจิตวิทยาแล้วตุ๊กตาเป็นที่สิงสู่ของบุคคลในชีวิตจริงของเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ หรือครู การระบายออกกับตุ๊กตาเป็นทางออกที่ดีและเหมาะสม

ตุ๊กตาเป็นของสำคัญมาก เด็กที่ไม่มีตุ๊กตาเป็นเด็กที่น่าสงสาร เรื่องนี้จริง