จาก “โหน่ง อะเดย์” สู่ “โหน่ง ทูเดย์” โดย “หนุ่มเมืองจันท์

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC
http://www.wongthanong.com/

ผมคิดอยู่นานทีเดียวว่าจะเขียนเรื่อง “โหน่ง” วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ดีหรือไม่

แต่คงรู้สึกผิดถ้าไม่ได้เล่าข้อมูลบางอย่างที่ได้เห็น

เหมือนที่ผมเคยเขียนเรื่อง “โน้ส” กับ “กลุ่มลูกเหรียง” ครั้งก่อน

ครั้งนี้ก็เช่นกัน

ผมกับ “โหน่ง” คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เขาเริ่มก่อตั้ง a day

แต่เราเจอกันน้อยมาก

จนช่วงปลายปีที่แล้วที่ “โหน่ง” ทำเว็บไซต์ momentum

เขาชวนผมไปทำ podcast รายการ carpe diem

เมื่อน้องชวนก็ต้องช่วย

เหมือนตอนที่ผมเชิญ “โหน่ง” ไปบรรยายที่ ABC

เขาคงคิดแบบเดียวกัน

เมื่อพี่ชวนน้องก็ต้องช่วย

รายการนี้เริ่มต้นเดือนตุลาคม

เราจึงได้เจอกันประมาณเดือนละครั้ง ตอนที่ไปอัดรายการ

วันที่ 27 ธันวาคม ที่มีข่าว “ขายหุ้น a day”

ช่วงนั้น “โหน่ง” ไปเที่ยวญี่ปุ่น จึงไม่ได้คุยกัน

เรานัดอัดรายการวันที่ 5 มกราคม หลัง “โหน่ง” กลับจากญี่ปุ่นได้วันเดียว

นัดกัน 11 โมง

วันนั้นผมขึ้นไปที่ห้องทำงาน “โหน่ง”

ยังไม่ทันที่จะเอ่ยปากถาม เขากลับเป็นฝ่ายพูดถึงเรื่องนี้ก่อน

เหมือนกับอัดอั้นตันใจมาก

“โหน่ง” ระบายความรู้สึกออกมาเป็นพายุ

“พี่เชื่อไหม ผมไม่รู้เรื่องการขายหุ้นครั้งนี้เลย”

“จริงเหรอ” ผมอุทานด้วยความแปลกใจ เพราะนึกไม่ถึงว่าเขาไม่รู้เรื่อง

คงคล้ายๆ กับหลายคนที่รู้ข่าวนี้

“จริงพี่ ผมรู้เรื่องนี้จากข่าวของโพสต์ทูเดย์ที่มีคนส่งไปให้ดูที่ญี่ปุ่น บางทีอาจจะรู้ช้ากว่าพี่ด้วย”

หน้าตาของ “โหน่ง” เครียดมาก

“เรื่องใหญ่ขนาดนี้ เขาน่าจะบอกผมก่อน”

และอีกเรื่องหนึ่งที่ “โหน่ง” ทำให้ผมตกใจ

“ผมเพิ่งรู้ว่าผมถือหุ้นในบริษัทแค่ 1 หุ้น”

ครับ เขารู้จากข้อมูลของสำนักข่าวอิศราที่เริ่มเจาะข่าวนี้

ตอนนั้นข่าวการซื้อขาย a day ยังเพิ่งเริ่มต้น เป็นแค่การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับบริษัทที่ซื้อ a day ที่ขาดทุนต่อเนื่องหลายปี กับราคาซื้อขายที่สูงมาก

ยิ่งคุย ยิ่งถาม ยิ่งตกใจ

“โหน่ง” เป็นนักฝัน เป็นนักบุกเบิก เป็นผู้นำที่เก่ง

เป็นหลายสิ่งหลายอย่าง

แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเป็นไม่ได้แน่นอน

คือ นักธุรกิจ

เพราะเขารู้เรื่อง “บัญชี-การเงิน” น้อยมาก

จากวันนั้นเรื่องราวก็บานปลายออกไป

ในที่สุด “โหน่ง” ก็ตัดสินใจ “ลาออก”

ยอมสละทิ้งนามสกุล “อะเดย์” ที่ติดตัวเขามายาวนาน

เรื่องราวการก่อตั้งนิตยสาร a day ถือเป็น “ตำนาน”

ชายหนุ่มคนหนึ่งกับ “ความฝัน” ที่จะทำนิตยสารสำหรับคนรุ่นใหม่ที่แตกต่างจากนิตยสารทั่วไปในตลาด

เมื่อไม่มีนายทุนคนไหนเห็นด้วยกับแนวคิดนี้

เขาก็ตัดสินใจระดมทุนจากผู้อ่านเพื่อทำนิตยสารเล่มนี้ขึ้นมา

นั่นคือ ตำนาน a day

พล็อตเรื่องเหมือนกับ “หนัง” เลยครับ

แต่เป็น “เรื่องจริง”

ผมยังจำวันที่ “โหน่ง” นำโครงการนี้มาเล่าให้ฟัง

บอกตรงๆ ว่าตื่นเต้น ให้กำลังใจ

แต่ไม่ค่อยเชื่อว่าจะเป็นจริงได้

ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ

เขากลายเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้คนหนุ่มสาวมากมาย

ให้ทุกคนรู้ว่าเมื่อเรามี “ความฝัน”

จงเชื่อมั่น และทำมันให้เป็นจริง

อย่าไปติดในกรอบเดิมๆ

เราสามารถวาดโลกของเราเอง

ผมเคยบอก “โหน่ง” ว่า “มูลค่า” สูงที่สุดของ a day ไม่ใช่ตัวนิตยสารหรือสื่อต่างๆ ในเครือ

แต่เป็น “story”

ตำนานการก่อตั้ง a day มี “มูลค่า” สูงมาก

ใช้เงินเท่าไรก็ซื้อไม่ได้

“โหน่ง” มีรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็น “คู่หู” ร่วมบุกเบิก a day มาด้วยกัน

“ปิงปอง” นิติพัฒน์ สุขสวย

เขาเป็นช่างภาพมือดีมากคนหนึ่ง

คนทั่วไปไม่ค่อยรู้จัก “ปิงปอง”

ทั้งที่คนคนนี้คือ “ลมใต้ปีก” ของ a day อย่างแท้จริง

เงียบๆ ไม่ค่อยพูด

ผมจำได้ว่าวันที่เขาตัดสินใจบุกเบิก a day กับ “โหน่ง”

“ปิงปอง” ออกจากบ้านในชุดทำงานทุกวัน

แต่ไม่ได้ทำงาน

เพราะเขาไม่กล้าบอกที่บ้านว่าเขาลาออกจากที่ทำงานเก่าแล้ว

ทำแบบนี้นานทีเดียวกว่า a day จะเป็นรูปร่าง

“ปิงปอง” เป็นคนที่ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ “โหน่ง” ขาด

คือ เรื่องธุรกิจ

ทั้งคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมายาวนาน

เหนื่อยด้วยกัน เป็นหนี้ด้วยกัน

และเมื่อ “โหน่ง” ตัดสินใจยื่นใบลาออก

คนหนึ่งที่เดินออกมาพร้อมกับเขา

คือ “ปิงปอง”

วันที่ตัดสินใจยื่นใบลาออก

ทั้งคู่น้ำตาซึม

ผมเข้าใจความรู้สึกนี้เป็นอย่างดี

นึกถึงวันที่ลาออกจาก “มติชน” ที่ทำงานมายาวนาน

ขนาดเป็นแค่พนักงานคนหนึ่งยังซึมเลยครับ

งงๆ อยู่พักใหญ่กว่าจะปรับตัวได้

แล้ว “โหน่ง” กับ “ปิงปอง” ที่เป็นคนสร้าง a day มากับมือ

ตั้งแต่ลงแรงขุดดิน เพาะเมล็ด จนเติบใหญ่

เขาย่อมผูกพันกับ a day ยิ่งกว่า

ในวันที่ทั้งคู่เริ่มต้นสร้างตำนาน a day เขาอายุ 30 กว่า

ยังเป็น “หนุ่มน้อย”

แต่วันนี้ “โหน่ง-ปิงปอง” อายุ 40 ปลายๆ แล้ว

เขาต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

แม้การลาออกจาก a day จะเจ็บปวด แต่ผมมองว่ามีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่หลายเรื่อง

ที่ดีที่สุดก็คือ การพิสูจน์ขนาดหัวใจและมิตรภาพของ “เพื่อน”

“โหน่ง” และ “ปิงปอง” พร้อมจะร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอีกครั้ง

นี่คือ สิ่งที่งดงามที่สุด

อีกเรื่องหนึ่งที่ถือเป็น “ความโชคดี” ของ “โหน่ง-ปิงปอง” ก็คือ วันนี้สื่อสิ่งพิมพ์กำลังเป็นตะวันตกดิน

แทนที่จะต้องสู้กับแรงโน้มถ่วงของโลกกับโครงสร้างองค์กรเดิม

เขามีโอกาสได้เริ่มต้นใหม่กับ “ความเปลี่ยนแปลง” ในวงการสื่อ

เหมือนได้สร้างบ้านใหม่

แทนที่จะต้องปรับปรุงบ้านเก่ารับความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งของ “การเริ่มต้น”

เส้นทางสายนี้ไม่เคยมี “พรมแดง”

ทั้งคู่คงต้องเหนื่อยกันอีกครั้ง

ผมเชียร์ให้เขาทำสำเร็จ

สร้างตำนานบทใหม่ขึ้นมา

เป็นการพิสูจน์ว่า “ความฝัน” ไม่มีวันหมดอายุ

ที่สำคัญนี่คือ การตอบโต้กับความคิดเดิมๆ

คนตะวันตกเคยบอกว่าสำหรับ “ผู้ชาย”

ชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40

ถ้า “โหน่ง-ปิงปอง” ทำสำเร็จ เขาจะลบความเชื่อนี้

ผู้ชาย เริ่มต้นที่อายุ 50

ดังนั้น ห้ามเรียกผู้ชายอายุ 50 กว่า

…ว่า “ลุง”