วิรัตน์ แสงทองคำ : โรงเรียนอังกฤษ (4) : เกี่ยวโยงสังคมไทย สังคมธุรกิจ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

โรงเรียนอังกฤษกับสังคมไทยมีเรื่องราวหลายมิติ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับความเป็นไปของสังคมธุรกิจ

กรณี Brighton College Bangkok (2559) พัฒนาการอีกขั้นของเครือข่ายโรงเรียนนานาชาติที่ก่อตั้งในยุคเปิดกว้างแรกๆ ราว 2 ทศวรรษที่แล้ว จาก St. Stephen”s International School เขาใหญ่ (ปี 2538) ต่อด้วย ที่กรุงเทพฯ (ปี 2541) ช่วงโรงเรียนนานาชาติเริ่มบูมในประเทศไทย

การเริ่มต้นที่เขาใหญ่ นอกจากเป็นโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกในภาคอีสาน ยังมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อเนื่องสงครามเวียดนาม ตระกูลธุรกิจดั้งเดิมของไทยตระกูลหนึ่ง-อัสสกุล กับการบุกเบิกธุรกิจประกันชีวิตในช่วงศักราชใหม่ โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

“ไทยสมุทรฯ” เริ่มต้นอย่างไม่ค่อยราบรื่นนักในปี 2492 ในช่วงเดียวกับธุรกิจประกันอีกหลายแห่งของไทยก่อตั้งขึ้น ท่ามกลางอ้างอิงและแข่งขันกับธุรกิจประกันชีวิตรายสำคัญจากสหรัฐ –อเมริกันอินเตอร์เนชั่นแนล แอสชัวรันส์ จำกัด หรือ เอไอเอ (เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกปี 2481 และกลับเข้ามาอีกครั้งในปี 2492)

“ปี 2496 บททดสอบแรกในการฝ่าวิกฤต คุณกฤษณ์ อัสสกุล “บิดาแห่งไทยสมุทร” เข้ามากอบกู้ภาวะวิกฤตของบริษัท จนทำให้ผ่านพ้นไปได้ …ปี 2504 กระจายสาขาสู่ภูมิภาค พร้อมพัฒนาศักยภาพบุคลากรตัวแทนไทยสมุทรได้ขยายสาขาทั่วประเทศจำนวน 23 แห่ง พร้อมก่อตั้งศูนย์ฝึกอบรมพนักงาน ณ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา”

เรื่องราวไทยสมุทรเกี่ยวข้องกับ St. Stephen”s International School ว่าด้วยทำเลที่ตั้ง เชื่อมโยงผู้นำธุรกิจ – กฤษณ์ อัสสกุล กับตำนานกลุ่มไทยสมุทร (อ้างจาก https://www.ocean.co.th) เมื่อปี 2552 อนุสรณ์รูปเหมือนกฤษณ์ อัสสกุล ณ ศูนย์อบรมไทยสมุทรประกันชีวิต เขาใหญ่ ฐานะ “บิดาไทยสมุทร” ได้เปิดขึ้นในที่แห่งเดียวกัน

ถือเป็นช่วงโอกาสธุรกิจเปิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงพัฒนาการของกลุ่มไทยสมุทร จากบริษัทโอเชียนกลาส (ปี 2522) ธุรกิจผลิตแก้วน้ำ สำหรับใช้ภายในบ้านและธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ก่อตั้งเครือข่ายโรงแรมบัญดารา (bandara) ในปี 2525 เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในปี 2532

รวมไปจนถึงโอกาสใหม่ (ปี 2551) ร่วมมือเป็นพันธมิตรระหว่างไทยนสมุทรฯ กับ Dai-ichi Life Insurance Company แห่งญี่ปุ่น

 

แนวคิดเกี่ยวกับ St. Stephen”s International School มีที่มาน่าสนใจ เชื่อว่าเชื่อมโยงกับ Profile ผู้นำธุรกิจไทยเชื้อสายจีนในยุคเดียวกับ กฤษณ์ อัสสกุล

“เป็นเรื่องประหลาดมาก กลุ่มชาวจีนโพ้นทะเลในไทยส่งลูกหลานไปเรียนอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทยกำลังเริ่มเติบโต ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 (หลังจากอิทธิพลระบบอาณานิคมตะวันตกเสื่อมไปกับสงครามโลกครั้งที่ 1) และก้าวกระโดดในช่วงสงครามเกาหลีช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง” ผมเคยกล่าวเกี่ยวข้องกับ St.Stephen”s College โรงเรียนของ Church of England ที่ฮ่องกง (ก่อตั้งปี 2444)ไว้ (หนังสือ “หาโรงเรียนให้ลูก” แนวคิดแนวทางการศึกษาระดับมัธยมในต่างประเทศ พิมพ์ครั้งแรก ปี 2545)

จากยุค มา บูลกูล ผู้ทรงอิทธิพลในการค้าข้าวยุคสงครามโลกครั้งที่สอง ทรง บุญสุข ผู้บุกเบิกธุรกิจน้ำดำ (PEPSI) ในเมืองไทย เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง สร้างธุรกิจอย่างหลากหลายจากร่วมทุนกับญี่ปุ่น รวมไปถึงบุคคลสำคัญอีกหลายคน โดยเฉพาะ เกษม จาติกวนิช และ พงส์ สารสิน “เป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ ครั้งแรกๆ ผู้ประกอบการไทยมีความสัมพันธ์กับสังคมธุรกิจโลกในลักษณะร่วมมือมากกว่าการบังคับหรือความจำเป็นในยุคก่อนหน้านี้” (อ้างแล้ว)

ที่จริงแล้วเครือข่ายธุรกิจตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่งถือว่าอยู่ในยุคเดียวกัน ได้เข้าสู่ธุรกิจโรงเรียนอังกฤษแล้วด้วยเช่นกัน

 

เรื่องราวของ เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ในฐานะผู้นำ ผู้บุกเบิกธุรกิจเมืองไทย น่าสนใจไม่น้อยทีเดียว ผู้ผ่านการศึกษาทั้ง St.Stephen”s College และมหาวิทยาลัยในประเทศจีน เขาเริ่มทำงานในเมืองไทยครั้งสำคัญ ในการตั้งสาขาธนาคารมณฑลกวางตุ้งในประเทศไทย ในช่วงหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (2489-90) เมื่อธนาคารต้องปิดลงเพราะพรรคคอมมิวนิสต์ยึดอำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ เขาใช้ใบอนุญาตธนาคารตั้งธนาคารไทยแห่งใหม่ ด้วยการร่วมทุนกับนักธุรกิจไทยเชื้อสายจีนในยุคนั้นตระกูล เตชะไพบูลย์ กับอื้อจือเหลียง ต่อมากลายเป็นธนาคารศรีนคร

จากนั้นเขามีโอกาสใกล้ชิด และบริหารกิจการัฐวิสาหกิจ ภายใต้อำนาจของกลุ่มซอยราชครู (ผิน ชุณหะวัณ-เผ่า ศรียานนท์) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม โอกาสเปิดขึ้นสำหรับนักธุรกิจไทย เขาอาศัยความรู้และประสบการณ์เชื่อมต่อกับธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ในฐานะริเริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตกระจกแห่งแรกของไทย (บริษัท กระจกไทย-อาซาฮี ก่อตั้งปี 2506) โรงงานผลิตโซดาไฟ (ปัจจุบันคือ บริษัท ไทยอาซาฮีเคมีภัณฑ์ ก่อตั้งปี 2509) ด้วยการร่วมทุนกับ ASAHI GLASS แห่งญี่ปุ่น

รวมทั้งร่วมทุนสร้างโรงงานผลิตยางรถยนต์ร่วมทุนกับ Goodyear แห่งสหรัฐ (ปี 2511)

ซึ่งธุรกิจทั้งหลายยังคงต่อเนื่อง ส่งต่อผ่านมายังลูกหลานในยุคปัจจุบัน

 

กรณี Heathfield International School (ปี 2550) ด้วยความร่วมกับโรงเรียนอังกฤษ–Heathfield School เป็นธุรกิจที่แตกแขนงออกไป ภายใต้การบริหารของลูกหลานรุ่นหลังๆ ตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง เป็นเรื่องราวเชื่อมโยงกับมรดกซึ่งเป็นที่ดินที่สะสมไว้จำนวนมาก อย่างกระจัดกระจาย กับโอกาสธุรกิจในมุมมองที่แตกต่างจากเดิมไปบ้าง ว่าไปแล้วมีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ธุรกิจการศึกษาซึ่งมีบางคนเริ่มไว้เมื่อไม่นานมานี้บ้างเหมือนกัน

โดยเฉพาะกับวิทยาลัยเทคโนโลยีเซนต์เทเรซาบริหารธุรกิจ (ถนนรามคำแหง) กับ วิทยาลัยนานาชาติเซนต์เทเรซา (รังสิต-นครนายก)

ทั้งนี้ ในภาพรวมเชื่อว่าเชื่อมโยงกับประสบการณ์ในองค์รวมของธุรกิจตระกูลศรีเฟื่องฟุ้ง ซึ่งอ้างอิง อาศัยความสัมพันธ์กับธุรกิจระดับโลกอย่างมั่นคง ต่อเนื่อง

 

อีกกรณีหนึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างแท้จริง ที่ได้เปิดขึ้นตามจังหวะที่มาถึงในช่วงเวลาที่เหมาะสม

โอกาสใหม่ของ ชาลี โสภณพนิช บุตรชายคนรองของ ชาตรี โสภณพนิช แห่งธนาคารกรุงเทพ ผู้ซึ่งเป็นนักเรียนอเมริกา (ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์จาก Brown University และ MBA จาก University of Chicago) เข้าสู่ธุรกิจการเงินตามรอยบิดา ประมาณปี 2537 ผ่านช่วงเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนักในปี 2540 มาแล้ว

กลายเป็นเจ้าของบริษัทเป็นบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส แต่ที่จริงแล้ว ชาลี โสภณพนิช สามารถสร้างกิจการตนเองมาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่ประมาณปี 2529 โดยเฉพาะกิจการอสังหาริมทรัพย์

บริษัท ซิตี้เรียลตี้ ก่อตั้งขึ้นปี 2530 เริ่มมีบทบาทพัฒนาย่านธุรกิจและแหล่งบันเทิงใหม่ที่ถนนพระราม 9 –อาร์ซีเอ อาคารสำนักงาน–โครงการบางกอก การ์เด้น สาทรซีตี้ ทาวเวอร์ และคอนโดมิเนียม ฯลฯ ก่อนปี 2540 ซิตี้ เรียลตี้ ถือเป็นเครือข่ายธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ดาวรุ่ง แต่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ดูเเงียบๆ ไปบ้าง แต่ความจริงมีผลงานอยู่ โดยเฉพาะการร่วมทุนกับกลุ่มเดอะมอลล์ สร้างศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม (เปิดตัวในปี 2540)

ในช่วงเวลาเดียวกันกับการผนึกกำลังสร้าง กลุ่มธุรกิจเอเซีย พลัส ให้กลับมายิ่งใหญ่ในตลาดหุ้น ซิตี้ เรียลตี้ กลับเข้าสู่โหมดรุกธุรกิจอีกครั้ง โดยเฉพาะโครงการริเวอร์ไซด์ การ์เด้น ริมฝั่งแม้น้ำเจ้าพระยา

ที่สำคัญถือเป็นการเริ่มต้นเครือข่ายโรงแรม (ปี 2551) — Chatrium Hotels & Residences ปัจจุบันมีเครือข่ายถึง 6 แห่ง รวมทั้งโรงแรมที่ประเทศพม่าด้วย

ส่วนการเข้าสู่ธุรกิจใหม่จริงๆ ปี 2545 เชื่อว่าไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับบริบท กับธุรกิจเก่าแก่ในรุ่นก่อนๆ เลย แม้ว่าบิดาของเขาจะผ่านหลักสูตรการธนาคารจากอังกฤษ ด้วยการลงทุนในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ร่วมมือโรงเรียนอังกฤษ– Shrewsbury School นั่นเป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมือนกัน

แต่เดิม Harrow International School Bangkok เช่าที่ของเขา (โครงการบางกอก การ์เด้น) เมื่อมีแผนย้ายออก ครูใหญ่ไม่ยอมย้ายตาม รวมทั้งนักเรียนส่วนใหญ่ เขาจึงตัดสินใจดึงดีล Shrewsbury เข้ามาสวมแทน ซึ่งทำได้ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง

เมื่อผ่านระยะหนึ่งเขามองว่าเป็นธุรกิจโรงเรียนอังกฤษเป็นไปด้วยดี จึงมาลงทุนสร้างในที่ใหม่ซึ่งแยกต่างหาก

 

มีบางกรณีเกี่ยวกับโรงเรียนอังกฤษ มีมุมมองกว้างออกไปกว่าที่คิดไว้

กรณี Harrow School เข้ามาเปิดโรงเรียนในเมืองไทยช่วงแรกๆ ของกระแสโรงเรียนอังกฤษ (ปี 2541) หลายคนคงไม่คาดคิดว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่มีมุมมองระดับภูมิภาค แต่มีความเข้าใจบริบทสังคมไทยอย่างดี “Thailand was thought to be an appropriate location for the first Harrow International School owing to the strong links between Harrow-on-the-Hill School in London and Thailand”s royal family, with 23 princes of the royal household having been educated at Harrow from the late Nineteenth Century to the late Twentieth Century including His Majesty the King”s father, Prince Mahidol” ข้อมูลทางการของ Harrow International School Bangkok กล่าวถึงแรงจูงใจอันสำคัญไว้ (http://www.harrowschool.ac.th)

แท้จริงแล้ว Harrow International School Bangkok ก่อตั้งขึ้นเป็นธุรกิจ ภายใต้การบริหาร HARROW ASIA LIMITED ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนขึ้นในฮ่องกงในปี 2545 ถือว่าเกิดขึ้นภายหลังการก่อตั้งโรงเรียนที่เมืองไทยแล้ว ประสบการณ์และความสำเร็จในธุรกิจโรงเรียนอังกฤษในเมืองไทย ได้ขยายโอกาสจินตนาการ และโอกาสทางธุรกิจกว้างขึ้น ปัจจุบันขยายเครือข่าย Harrow School ไปทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ (ที่ปักกิ่ง ปี 2548) และฮ่องกง (ปี 2555) แล้ว

เจ้าของคือคนฮ่องกง — Mr. Daniel Chiu ดำเนินธุรกิจการค้าการส่งออกระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับตะวันออกกลาง ปัจจุบันเป็นประธาน Fortune Oil Limited ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง เป็นกิจการลงทุนด้านพลังงานน้ำมันและก๊าซในประเทศจีน และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นลอนดอน