คนมองหนัง | เมื่อเหล่า “ผู้กำกับฯ เด่นแห่งปี” จับเข่าคุยเรื่อง “เน็ตฟลิกซ์”

ช่วงปลายปี 2019 “ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์” ได้ทำสกู๊ปสัมภาษณ์พิเศษผู้กำกับภาพยนตร์ต่างรุ่นจำนวน 6 คน ในรูปแบบวงสนทนาโต๊ะกลม

ทั้ง 6 คน คือเจ้าของผลงานหนัง 6 เรื่อง ที่ติดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประจำปีของหลายสถาบัน/สำนัก และน่าจะมีโอกาสลุ้นรางวัลใหญ่ๆ ช่วงต้นปีหน้า

ผู้กำกับฯ 6 ราย ที่มาร่วมสนทนากับ “ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์” ประกอบไปด้วย “มาร์ติน สกอร์เซซี” เจ้าของผลงานเรื่อง “The Irishman” วัย 77 ปี

“ท็อดด์ ฟิลลิปส์” เจ้าของผลงานเรื่อง “Joker” วัย 48 ปี

“เฟอร์นันโด เมเรลลีส” เจ้าของผลงานเรื่อง “The Two Popes” วัย 64 ปี

“เกรตา เกอร์วิก” เจ้าของผลงานเรื่อง “Little Women” วัย 36 ปี

“โนอาห์ บอมบาค” เจ้าของผลงานเรื่อง “Marriage Story” วัย 50 ปี

และ “ลูลู่หวัง” เจ้าของผลงานเรื่อง “The Farewell” วัย 36 ปี

น่าสนใจว่าผลงานจำนวน 3 ใน 6 เรื่องข้างต้น (ได้แก่ The Irishman, The Two Popes และ Marriage Story) นั้นเป็น “หนังเน็ตฟลิกซ์” คือเผยแพร่ในแพลตฟอร์มเน็ตฟลิกซ์เป็นช่องทางหลัก และเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในโรงภาพยนตร์เพียงช่วงสั้นๆ หรือตระเวนไปตามเทศกาลหนังนานาชาติบ้างหากมีโอกาส

จึงไม่แปลกที่คำถามเปิดประเด็นข้อแรกซึ่งโยนเข้าสู่วงสนทนา จะมีความข้องเกี่ยวกับบทบาทในอุตสาหกรรมบันเทิงของเน็ตฟลิกซ์

“ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์” ตั้งคำถามเปิดหัวว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อะไรคือสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุดในอุตสาหกรรมบันเทิง และมันเปลี่ยนแปลงไปในทางดีหรือร้าย?

ฟิลลิปส์พูดขึ้นเป็นคนแรกว่า ในเมื่อผู้กำกับฯ 3 จาก 6 คนในวงสนทนานี้ หันไปทำหนังกับเน็ตฟลิกซ์แล้ว เรื่องดังกล่าวจึงเป็นความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่อย่างไม่ต้องสงสัย

จากนั้นผู้อาวุโสเช่นสกอร์เซซี จึงได้โอกาสอธิบายรายละเอียดเบื้องหลัง ที่ทำให้เขาตัดสินใจเข้าร่วมงานกับเน็ตฟลิกซ์

“The Irishman” เป็นโปรเจ็กต์แรกนับแต่ปี 1995 ที่สกอร์เซซีได้กลับมาร่วมงานกับนักแสดงคู่บุญอย่าง “โรเบิร์ต เดอ นิโร” อีกครั้งหนึ่ง

จุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดอ นิโร นำหนังสือเรื่อง “I Heard You Paint Houses” มาให้สกอร์เซซีอ่าน พออ่านจบ ยอดคนทำหนังรุ่นเก๋าก็ตัดสินใจในทันทีว่าเขาจะสร้างภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือเล่มนี้

เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นในปี 2009 หรือเมื่อทศวรรษก่อน!

ต่อมาสกอร์เซซีและทีมงานได้ร่วมกันร่างเค้าโครงเรื่องราวและแผนงานอื่นๆ ของหนังจนสำเร็จเรียบร้อย สิ่งเดียวที่ยังขาดแคลน คือ ทุนสร้าง (ผู้ออกทุน)

ในที่สุดสกอร์เซซีก็ได้รับการติดต่อจากเน็ตฟลิกซ์

นอกจากการสนับสนุนทางการเงิน อีก 2-3 ปัจจัยที่หนุนเสริมให้สกอร์เซซีเลือกทำงานร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ก็คือ การให้อิสระในการสร้างสรรค์ผลงาน และการเปิดช่องทางให้มีการจัดฉายหนังในโรงภาพยนตร์ แม้พื้นที่เผยแพร่หลักจะยังเป็นการสตรีมหนังผ่านระบบออนไลน์ก็ตาม

เมื่อ “ฮอลลีวู้ด รีพอร์ตเตอร์” ตั้งข้อสังเกตว่าหนังเน็ตฟลิกซ์ส่วนใหญ่นั้นได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ

สกอร์เซซีตอบว่า นั่นไม่ใช่ประสบการณ์ผิดแปลกสำหรับตนเอง เพราะก่อนหน้านี้ หนังบางเรื่องของเขาก็เคยมีโอกาสเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในโรงภาพยนตร์เพียงแค่ 1-2 สัปดาห์ แล้วถูกถอดหายออกจากโปรแกรม

เช่น “King of Comedy” (หนังที่ส่งอิทธิพลสำคัญต่อ “Joker” ของฟิลลิปส์) ซึ่งได้ลงโรงแค่หนึ่งสัปดาห์ครึ่ง แล้วก็ไม่เคยถูกนำกลับมาฉายซ้ำในโรงภาพยนตร์อีกเลย

เมเรลลีส ผู้กำกับฯ ชาวบราซิล พูดเสริมสกอร์เซซีว่า นับจนถึงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หนังเรื่อง “The Two Popes” ของเขาได้ตระเวนไปตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมาแล้วรวมทั้งสิ้น 35 แห่ง จากนั้นหนังจะได้เข้าฉายเชิงพาณิชย์ในโรงภาพยนตร์อีกราว 2-3 สัปดาห์ แล้วก็ปักหลักเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์เป็นลำดับถัดไป

สำหรับเขา ดูเหมือนจะไม่มีเงื่อนไขใดที่ดีไปกว่านี้อีกแล้ว ในบริบทของอุตสาหกรรมบันเทิงยุคปัจจุบัน

สกอร์เซซีกล่าวแทรกขึ้นว่า สิ่งที่พวกเรากำลังเผชิญหน้าไม่ใช่แค่วิวัฒนาการ แต่เป็นยุคปฏิวัติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารและภาพยนตร์

ก่อนที่เมเรลลีสจะพูดต่อโดยอ้างอิงกับข้อเท็จจริงว่า ฐานผู้ชมของเน็ตฟลิกซ์บนโลกออนไลน์นั้นมีจำนวนมากมายกว่าฐานผู้ชมที่เดินทางออกไปดูหนังตามโรงภาพยนตร์ต่างๆ

นี่อาจส่งผลให้เจ้าของแพลตฟอร์มออนไลน์รายใหญ่สามารถเลือกทำอะไรเสี่ยงๆ ได้มากกว่า (สตูดิโอที่มุ่งผลิตหนังป้อนโรงภาพยนตร์)

บอมบาคตั้งข้อสังเกตบ้างว่า ในอีกทางหนึ่ง เน็ตฟลิกซ์เองก็มีความพยายามจะปรับตัวเช่นกัน เห็นได้จากนโยบายที่ยอมให้ “หนังเน็ตฟลิกซ์” ได้มีโอกาสเข้าฉายรอบพิเศษในโรงภาพยนตร์เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนจะเข้าสู่ระบบสตรีมมิ่ง

จากเดิมที่ทางเน็ตฟลิกซ์คล้ายจะทำตัวเป็นคู่แข่งโรงภาพยนตร์ และไม่ยินยอมอย่างเด็ดขาดให้มีการนำหนังที่ตนเองออกทุนสร้างไปออกฉายในโรงภาพยนตร์ ก่อนจะเผยแพร่ในแพลตฟอร์ม

ขณะเดียวกัน ผู้กำกับฯ เจ้าของผลงานเรื่อง “Marriage Story” เห็นว่าวงจรการจัดจำหน่าย/เผยแพร่หนังเน็ตฟลิกซ์ในปัจจุบันนั้น ไม่ต่างอะไรจากสภาพการณ์ของหนังอิสระยุคก่อนๆ

ยกตัวอย่างตัวเขาเอง ที่ไม่เคยมีผลงานได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์วงกว้าง ตั้งแต่วันแรกของการเปิดตัว แต่วงจรของมันจะเริ่มต้นด้วยการออกฉายแบบจำกัดโรงในนิวยอร์กหรือแอลเอ จากนั้นจึงค่อยๆ ได้เพิ่มโรง เพิ่มรอบ ตามฟีดแบ็กที่เกิดขึ้น

ทว่าอุปสรรคขัดขวางสำคัญอีกหนึ่งด่านที่เขาต้องเจอเมื่อครั้งกระโน้นก็คือ การที่หนังของตัวเองจะต้องไปลงแข่งขัน-ยื้อแย่งรอบฉายกับพวกหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์

หากเปรียบเทียบประสบการณ์สมัยนั้นกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เน็ตฟลิกซ์จึงต่อยอด/สะท้อนถึงรูปแบบการแพร่กระจายผลงานของบรรดาหนังอินดี้/หนังอิสระที่เคยมีมาแต่เดิม

“หนังของคุณจะได้เผยแพร่แบบจำกัดในโรงภาพยนตร์ แล้วจึงเข้าถึงคนดูวงกว้างขึ้นผ่านทางเน็ตฟลิกซ์ นี่คือกระบวนการกระจายหนังออกสู่ผู้ชมที่เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

ลูลู่หวัง ผู้กำกับฯ หญิงเชื้อสายจีน ขอร่วมแสดงความเห็นบ้าง ด้วยมุมมองที่ผิดแผกออกไป

เธอมองว่าปัจจัยประการสำคัญที่จะทำให้หนังเรื่องหนึ่งๆ มีที่ทางในแพลตฟอร์มออนไลน์เจ้าใหญ่ๆ ก็คือ “แบรนด์” (อัตลักษณ์ ตัวตน ชื่อเสียง) ของคนทำหนังรายนั้นๆ

นี่ย่อมไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนทำหนังรุ่นใหญ่-รุ่นกลางที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว เพราะพวกเขาต่างมีสถานะเป็น “แบรนด์” ที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาทำธุรกิจด้วย

แต่ปัญหามักเกิดขึ้นกับคนทำหนังรุ่นใหม่ๆ ซึ่งยังไม่มีแบรนด์หรือยังไม่มีโอกาสสร้างแบรนด์ของตนเอง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายดายของคนรุ่นเธอ ที่จะสามารถแจ้งเกิดในบริบทเช่นนี้

“พวกเขา (เจ้าของแพลตฟอร์ม) อาจจะโฆษณาว่า “พวกเรามีแพลตฟอร์มที่ใหญ่โตมหึมาในระดับโลก, พวกเรามีคนดูจำนวนมหาศาลนับล้านราย” แต่ถ้าคุณลองชำเลืองมองไปที่ธุรกิจดนตรี คุณก็จะพบว่าคุณสามารถปล่อยเพลงของตัวเองลงไปบนไอทูนส์ได้ โดยไม่เกิดผลลัพธ์ใดๆ ตามมาเลย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้หนทางที่จะเข้าถึงเพลงของคุณ”

หวังฉายความจริงอีกด้าน ให้คนทำหนังรุ่นพ่อ-รุ่นพี่ได้รับฟัง

“นี่มันเป็นเรื่องที่น่าสิ้นหวังมากๆ สำหรับผม” สกอร์เซซี ผู้มองเห็นแง่งามของเน็ตฟลิกซ์ เผยความรู้สึกเมื่อได้ฟังคำบรรยายของหวัง

แปลสรุปความ-เรียบเรียงจาก https://www.hollywoodreporter.com/features/a-revolution-cinema-martin-scorsese-greta-gerwig-director-roundtable-1263404

ผู้ชมชาวไทยสามารถรับชม The Irishman, The Two Popes และ Marriage Story ได้ทางเน็ตฟลิกซ์

ขณะนี้ The Farewell กำลังเข้าฉายที่ลิโด้ คอนเน็คท์ และเฮาส์ สามย่าน

ส่วน Joker เคยเข้าฉายในไทยไปแล้ว และ Little Women กำลังจะลงโรงฉายที่บ้านเราเร็วๆ นี้

เครดิตภาพประกอบ Martin BUREAU / AFP