จัตวา กลิ่นสุนทร : การปรับเปลี่ยนของ “สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์” ในยุครัฐบาลเปรม

ผ่านแล้วผ่านเลยอีก 1 ปี “สวัสดีปีใหม่ 2563”

ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆ ท่านมีสุขภาพที่ดี มีจิตใจเข้มแข็งเพื่อต่อสู้กับ “เศรษฐกิจ” ซึ่งทำนายทายทักกันว่าไม่ค่อยจะสดชื่นแจ่มใสสว่างไสวในปี พ.ศ.2563 นี้

ถึงอย่างไรย่อมต้องดำเนินชีวิตต่อไปในสภาพที่เราไม่สามารถเลือกอะไรได้เอง อยากได้สิ่งใด อยากได้รัฐบาลที่เป็น “ประชาธิปไตย” ก็เลือกไม่ได้? อยากได้ผู้แทนฯ ดีมีจิตใจรัก “ประชาธิปไตย” ยึดมั่นในอุดมการณ์ รับใช้ประชาชน กลับมาได้พวกประจบสอพลอแสวงหาแต่ประโยชน์ส่วนตัวร่วมมือกับนักการเมืองที่ตรงข้ามกับ “ประชาธิปไตย” เพื่อสนับสนุนให้ “เผด็จการทหาร” สืบทอดอำนาจ

ไม่รู้ว่าจะต้องอดทนไปถึงไหน จนกระทั่งถึงครบ 4 ปีหรือไม่?

 

กลับมาเล่าเรื่อง “สื่อสิ่งพิมพ์” ที่เรียกว่า “หนังสือพิมพ์” กันต่ออีกดีกว่า เพราะถึงวันนี้สำนักงานหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ริมถนนราชดำเนินกลางได้โยกย้ายเปลี่ยนสถานที่ไปแล้ว สำหรับหนังสือพิมพ์ซึ่งมีอายุยืนยาวของประเทศนี้

ระหว่างปี พ.ศ.2520-2529 ผมต้องรับผิดชอบนิตยสาร “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” (สยามรัฐรายสัปดาห์) ในฐานะ “บรรณาธิการบริหาร” ทำการปรับเปลี่ยนทั้งรูปแบบและเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ ทั้งหมด

ที่คงเหลืออยู่บ้างเห็นจะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ และนโยบายเดิมๆ เช่น หยิกแกมหยอกกับการเมือง

บางครั้งสอดแทรกอารมณ์ขัน สารคดีภาพบ้าง รวมทั้งยึดมั่นคาถา– “พึงข่มคนที่ควรข่ม พึงชมคนที่ควรชม” สืบต่อตลอดมา

จำได้ว่าได้สัมภาษณ์พิเศษ (ป๋า) พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีต “นายกรัฐมนตรี” (คนที่ 16) ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นฉบับแรกเมื่อท่านเข้าสู่การเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ของรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ปี พ.ศ.2520

และถัดมาในปี 2523 ซึ่งท่านเข้ารับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” กลับได้พบกับท่านยังต่างแดนโดยบังเอิญ ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) แต่ท่านคงจำผมไม่ได้

ย้อนอดีตอันยาวนานเพื่อที่จะบอกว่า ในระยะที่ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีถึง 8 ปีเศษ ผมเพียงวิเคราะห์เจาะลึกการเมืองอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งเสนอบทความ ข้อเขียนต่างๆ เสียเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากรับหน้าที่ดำเนินงานหนังสือรายสัปดาห์

ในส่วนของการติดตามข่าวประจำวันในสยามรัฐรายวัน ได้เพียงเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมเสียมากกว่า

 

ต้องย้อนอดีตเหมือนกับซ้ำซากจำเจต่อไปอีกว่า ในระยะเวลา 10 ปีของการเปลี่ยนแปลง “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สามารกล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จมากทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการปลุกจิตวิญญาณ สืบทอดคอลัมน์ เรื่องสั้น เรื่องยาว ริเริ่มคอลัมน์ ศิลปะร่วมสมัยให้นักเขียนทั้งหลายได้มีเวทีแสดงความคิด เป็นสนามปลดปล่อย รวมทั้งคอลัมน์เรื่องราวอันหลากหลายได้ก่อเกิดขึ้น

ทำให้เป็นที่ยอมรับจากนักอ่านเพิ่มขึ้น ยอดหนังสือจึงเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ส่งผลกับรายได้ทางธุรกิจจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้

และอาจเป็นแบบอย่างหนังสือรายสัปดาห์ในแนวทางไม่แตกต่างกันเกิดตามมาอีก ในขณะที่ “สยามรัฐรายวัน” ซึ่งมีกองบรรณาธิการขนาดใหญ่กว่า ยังต้องลำบากพอสมควรกับเรื่องของธุรกิจจากรายรับที่น้อยกว่ารายจ่ายที่ต้องจ่าย

โดยทีมกองบรรณาธิการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” ที่พยายามเสริมสร้างขึ้นอีกบางส่วน รวมกับนักเขียนนักข่าวจากสยามรัฐรายวัน ทำให้การทำงานมั่นคงแข็งแรง

กระทั่งผมเบาใจสามารถวางมือได้ จึงได้จัดสรรเวลาเว้นวรรคเพื่อเดินตามความฝันของตัวเองกับการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของศิลปะตามความชอบพอ

จึงขอลาพักเดินทางสู่สหรัฐอเมริกาไปพึ่งพาการแสวงหาจากศิลปินร่วมสมัยซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเป็นเวลา 1 เดือนเต็มๆ

 

ได้พบปะเพื่อนหลายๆ วงการ หลายอาชีพ ยังนครลอสแองเจลิส (Los Angeles) มลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California,USA.) โดยเฉพาะกับวงการสื่อ ซึ่งขณะนั้นนิยมทำหนังสือพิมพ์ (ไทย) ในสหรัฐอเมริกากันมาก นอกจากการเป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์ในเมืองไทย โดยเฉพาะในเมืองแอลเอ (LA) ดังกล่าว ซึ่งมีคนไทยอาศัยอยู่มากทั้งนักเรียน นักศึกษาแล้วยังมีคนทำงานหลายหลากอาชีพ คนเดินทางไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า สร้างครอบครัวเกิดบุตรหลานกันมากมาย

1 เดือนเต็มๆ บนแผ่นดินอันกว้างใหญ่ไพศาลได้พบพูดคุยกับคนไทยหลายอาชีพต่างๆ กัน ทั้งชายจริงหญิงแท้ และเหล่าเพื่อนข้ามเพศ ซึ่งต่างมีความคิดจะรวมกลุ่มคนไทยจัดตั้งสมาคม ชมรมต่างๆ เพื่อพบปะสังสรรค์ ทำความรู้จักช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และพยายามรวบรวมจัดทำบันทึกต่างๆ เช่น “ปฏิทินเด็กไทยในสหรัฐอเมริกา” ซึ่งผมเองได้มีโอกาสสนับสนุนตามกำลังความสามารถ

ขณะเดียวกัน “กมล ทัศนาญชลี” ศิลปินแห่งชาติ (สาขาทัศนศิลป์ (2540) ศิลปินสองซีกโลก ขณะนั้นทำงานหนักเกี่ยวกับเรื่องศิลปะร่วมสมัยจนมีชื่อเสียง พยายามผสมผสานเชื่อมต่อศิลปินทั้งสองซีกโลกระหว่างตะวันตกกับตะวันออกโดยเฉพาะประเทศไทย พยายามทุ่มเททุนทรัพย์ส่วนตัวเชื้อเชิญศิลปินอาวุโสที่มีชื่อเสียง ศิลปินอาจารย์ทั้งหลายนำผลงานไปเปิดนิทรรศการ และพาอาจารย์สอนศิลปะ ไปศึกษาเรียนรู้ต่อยอดในประเทศใหญ่โตดังกล่าวนั้น

และ ฯลฯ จนถึง พ.ศ.นี้นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง

 

พยายามรำลึกเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2527 ตรงกับ “โอลิมปิกเกมส์” (Olympic Games1984) มหกรรมกีฬาอันยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ ณ นครลอสแองเจลิส (Los Angeles) ซึ่งเป็นปีที่ “ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” (ทวี อัมพรมหา) นักมวยสากลสมัครเล่นของเราได้เข้าชิงเหรียญทองกับนักชกชาวอเมริกัน แต่ก็ได้เพียงเหรียญเงินดังที่ทราบ แต่แค่นี้มันก็พลิกชีวิตของเขาให้เปลี่ยนแปลงไป ในฐานะผู้ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย

ผมมีส่วนเป็นธุระดำเนินการไม่น้อยทีเดียวในระยะแรกๆ เพื่อพาอาจารย์สอนศิลปะให้ได้เดินทางไปทัศนศึกษายังสหรัฐ โดยพยายามช่วยกันจัดหาผู้อุปถัมภ์สำหรับการเดินทางประมาณนั้น โดยครอบครัวของกมล ทัศนาญชลี เจ้าของความคิดแบกรับเรื่องที่พัก อาหาร และการเดินทางในสหรัฐ จนกระทั่งได้คณะอาจารย์ และกำหนดจะเดินทางในปี พ.ศ.2529 ซึ่งผมตั้งใจจะร่วมคณะไปด้วย

เมื่อข่าวจะไปสหรัฐอีกครั้งหนึ่งของผมไปถึงหูผู้บริหารของ “บริษัท สยามรัฐ จำกัด” เจ้าของหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” ทั้ง 2 ฉบับขณะนั้น จึงได้ถูกเรียกตัวเข้าพบเพื่อยับยั้ง โดยแจ้งว่าจะมีงานสำคัญต้องทำ โดยให้เปลี่ยนไปทำหน้าที่ในตำแหน่ง “บรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา” หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน

ผมเข้ารับตำแหน่ง “บรรณาธิการ” หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน เป็นช่วงเวลาที่การเมืองค่อนข้างตึงเครียดพอสมควร แม้ว่า (ป๋า) พล.อ.เปรมจะสามารถประคับประคองแก้ไขปัญหา “เศรษฐกิจ” ให้กระเตื้องขึ้นก็ตาม แต่ปัญหาของรัฐบาลผสม การต่อไม่ต่ออายุราชการ “ผู้บัญชาการทหารบก” (พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก)-(เสียชีวิต) ท่ามกลางข่าวลือเรื่องการ “ปฏิวัติ” แพร่กระจาย แรงกดดันจากพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล นำไปสู่การ “ยุบสภา” ในปี พ.ศ.2529 อีกครั้งหนึ่ง

การวิเคราะห์การเมือง หาข่าวการเมือง จึงเป็นเรื่องไม่ค่อยลึกลับนักสำหรับประเทศนี้ที่ “กองทัพ” ยังเกี่ยวข้องกับการเมือง ในเวลาเดียวกันทำท่าว่าไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาล นายกรัฐมนตรียังต้องเป็นทหาร

รัฐบาลย่อมต้องเป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งๆ กลางๆ เป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ จนถึงทุกวันนี้

 

หลังการเลือกตั้งเดือนกรกฎาคม 2529 ก็ดำเนินไปเช่นเดิมคือไม่มีพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมากจนจัดตั้งรัฐบาลได้เพียงพรรคเดียว หรือ 2 พรรค ต้องเป็นรัฐบาลผสม และนายกรัฐมนตรียังคงเป็น (ป๋า) พล.อ.เปรมคนเดิมหลังจากที่พรรคการเมืองไม่สามารถตกลงกันได้ ภาวะเศรษฐกิจจึงได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีใน “รัฐบาลเปรม 5” ด้วยนโยบายและทีมงาน และรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันราคาน้ำมันเริ่มลดลง

ผมทุ่มเทเคี่ยวเข็ญหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐรายวัน” เต็มกำลังความสามารถ ปรับปรุง เพิ่มพูน เปลี่ยนถ่ายทีมงาน และรูปแบบการทำงาน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามหาทางเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยให้ได้

วาดฝันกันงดงามสวยหรู ทำงานหนัก ตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์อยู่กับรัฐบาล (ป๋า) พล.อ.เปรมอีกกว่า 2 ปี ก่อนท่านจะบอกว่า “ผมพอแล้ว” ไม่รับตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” อีกในปี พ.ศ.2531 ทำให้บ้านเราได้ “นายกรัฐมนตรี” คนใหม่ที่เป็นทหาร แต่มาจากการ “เลือกตั้ง” ชื่อ (น้าชาติ) พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (เสียชีวิต)

ขออนุญาตย้อนระลึกนึกถึงความหลังในสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง