วิเคราะห์ : “โรงงานขยะพิษในไทย” สื่อนอกรายงานอะไรจนเป็นประเด็นวิจารณ์

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์ส ฉบับตีพิมพ์วันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา พาดหัวเป็นข่าวใหญ่สุดว่า Thailand”s toxic trade-off แปลเป็นภาษาบ้านๆ ได้ความว่า ประเทศไทยเปิดทาง “สารพิษ”

ทั้งๆ ที่รู้ว่า อันตรายจากสารพิษที่ปนเปื้อนในขยะอิเล็กทรอนิกส์ร้ายแรงแค่ไหน แต่ประเทศไทยยอมเลือกเดินในเส้นทางนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อหลายสิบปีก่อนจีนนำเข้าแหล่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่ที่สุดของโลก นานาประเทศพากันดีใจที่เขี่ยขยะอันตรายเหล่านี้ส่งไปจีน

ส่วนจีนยังอยู่ระหว่างการพัฒนาประเทศก็ชื่นชอบเพราะมีความต้องการพลาสติกในปริมาณสูงมาก เมื่อชำแหละแยกวัสดุออกมา สามารถนำไปรีไซเคิลได้ ถ้าเป็นโลหะมีส่วนผสมของทองแดง นิกเกิล หรือทองคำอยู่ เอามาหลอมรวมก็สร้างมูลค่าขึ้นมา

เมืองกุ้ยหวี่ มณฑลกวางตุ้ง เป็นกรณีตัวอย่างของการเปิดทางนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี เพราะชาวเมืองราว 120,000 คน เข้าไปมีส่วนร่วมในการชำแหละขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายล้านตัน

เวลานั้นผู้บริหารเมืองปลื้มอกปลื้มใจในรายได้จากการชำแหละขยะเหล่านี้ปีละ 75 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกราวๆ 2,400 ล้านบาท ผู้คนมีงานทำ มีเงินในกระเป๋า ธุรกิจเฟื่องฟู

แต่การได้มาซึ่งเศรษฐกิจดีนั้นกลับต้องแลกกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวกุ้ยหวี่ซึ่งทรุดโทรมเนื่องจากสูดดมควันพิษและสัมผัสสารพิษปนเปื้อน

เมื่อปี 2553 กลุ่มนักวิจัยเข้าไปศึกษาและจัดรายงานสุขภาพของชาวกุ้ยหวี่ พบว่าเด็กๆ อายุต่ำกว่า 6 ขวบเกือบ 82 เปอร์เซ็นต์ มีสารโลหะหนักตกค้าง ส่วนในแม่น้ำปนเปื้อนไปด้วยสารพิษที่มาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และน้ำกรดซึ่งใช้ในการกัดหลอมโลหะ

รัฐบาลจีนทนดูชาวกุ้ยหวี่จมอยู่ในสภาพเช่นนี้ไม่ไหว จึงออกนโยบายปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม พร้อมกับห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีผลบังคับใช้เมื่อปี 2561

แต่นายทุนชาวจีนรู้ระแคะระคายมาก่อนแล้วจึงวางแผนย้ายโรงงานไปยังประเทศอื่นๆ ที่ด้อยพัฒนา

 

ประเทศไทย เป็น 1 ในเป้าหมายสำคัญของนายทุนจีน

ระยะแรกๆ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้ามาในไทย ถูกกระจายไปทั่วประเทศ ให้ชุมชนต่างๆ ไปคัดแยก ประเมินกันว่ามีจำนวนนับร้อยแห่ง เช่น ในพื้นที่ภาคอีสาน มีจังหวัดกาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ เป็นแหล่งใหญ่ที่สุด ส่วนภาคใต้ที่กระบี่

ภาคเหนือ ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่ ภาคกลาง กระจุกตัวในพื้นที่สระแก้ว ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร มีแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชนเสือใหญ่อุทิศ เขตจตุจักร

ระยะหลังๆ นายทุนจีนจับมือกับฝ่ายไทยจัดตั้งโรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมเปิดทางออกใบอนุญาตบำบัดและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่ง

เฉพาะจังหวัดฉะเชิงเทรา มีโรงงานชนิดนี้มากถึง 18 แห่ง

ไม่แค่นั้น กรมโรงงานอุตสาหกรรมยังเปิดให้ 7 โรงงาน มีโควต้านำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 117,000 ตันต่อปี

 

การเปิดทางเช่นนี้ ทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเพิ่มเข้ามาในไทยอย่างเห็นได้ชัด เฉพาะปี 2560 กรมศุลกากรระบุว่ามีการนำเข้าเศษพลาสติก 145,649 ตัน ปี 2561 แค่ 5 เดือนแรกทะลุไปถึง 212,051 ตัน เศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2560 มีจำนวน 64,000 ตัน และ 5 เดือนของปี 2561 จำนวน 52,221 ตัน

ปลายยุค “คสช.” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นทั้งหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี เริ่มหันมาสนใจกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ หลังจากมีหลายฝ่ายกระทุ้งเตือนว่าไทยจะเป็นถังขยะของโลกแทนจีน

คสช.ตั้งชุดเฉพาะกิจเข้าไปลุยโรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ในหลายแห่ง และประกาศปิดโรงงานที่ไม่มีใบอนุญาต

หลังการลุยปราบโรงงานแล้ว ในเว็บข่าวของกรมประชาสัมพันธ์ออกข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์สั่งให้รายงานผลให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง ด้วยความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

อีกทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อให้การบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกสามารถปฏิบัติได้จริง เป็นไปตามเงื่อนไขของระเบียบ กฎหมาย ข้อกำหนดต่างๆ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อส่วนรวม ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ในคอลัมน์นี้ก็ยังเคยเขียนชื่นชม พล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็นนายกฯ ที่ใส่ใจกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

แต่วันนี้ประเทศไทยกลับเข้าสู่ยุคประชาธิปไตย (แบบมัวๆ เทาๆ) ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์กลับมาฉาวโฉ่ถึงขนาดหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทม์สหยิบเอาไปพาดหัวตัวเบ้อเริ่ม

 

“นิวยอร์กไทม์ส” เขียนบรรยายสภาพโรงงานแยกขยะที่ผู้สื่อข่าวไปเห็นว่า “แมลงสาบวิ่งพล่านไปทั่วพื้น ท่ามกลางแสงไฟสลัวๆ กลุ่มคนงานหญิงหยิบจับชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีทั้งแผงวงจรไฟฟ้า แบตเตอรี่คอมพิวเตอร์ สายไฟที่พันกันขยุกขยิก

คนงานเหล่านี้ใช้ค้อนและมือเปล่าแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนคนงานชายเอาไฟเผาแยกโลหะออกจากสายไฟที่ห่อหุ้ม เปลวควันลอยฟุ้งไปทั่วหมู่บ้านและไร่นาที่อยู่รอบๆ โรงงาน”

ชาวบ้านใกล้ๆ ไม่รู้ว่าเป็นควันอะไร มาจากการเผาพลาสติกหรือโลหะหรือเปล่า รู้แต่ว่ามีกลิ่นเหม็นและรู้สึกไม่สบาย

โรงงานนี้มีชื่อว่า “นิว สกาย เมทัล” ตั้งอยู่ในเกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เป็น 1 ในโรงงานที่รัฐบาลสั่งปิด

นิวยอร์กไทม์สบอกว่า รัฐบาลไทยสั่งห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่ยังมีโรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์เปิดใหม่ทั่วประเทศ และมีปริมาณขยะชนิดนี้อยู่ในกระบวนการคัดแยกจำนวนมากมาย

เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรให้สัมภาษณ์เมื่อเดือนกันยายน ก่อนนิวยอร์กไทม์สจะตีพิมพ์ข่าวนี้ว่า โรงงานนิวสกาย เมทัลปิดไปนานแล้ว และประเทศไทยไม่อนุญาตให้นำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกต่อไป

แต่นิวยอร์กไทม์สบุกไปเห็นโรงงานนิวสกายฯ ยังเปิดกิจการอยู่ และโรงงานอื่นๆ ก็เปิดเหมือนกัน

“นี่เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการคอร์รัปชั่นและกฎระเบียบที่ล้มเหลว” นิวยอร์กไทม์สเขียนประจาน

 

ตั้งแต่รัฐบาลไทยห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีโรงงานแปรรูปขยะเปิดใหม่ 28 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่แถวฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา และแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

กระบวนการคัดแยกและชำแหละขยะอิเล็กทรอนิกส์ของโรงงานเหล่านี้คล้ายๆ กัน จับแยกเศษชิ้นส่วนที่เป็นพลาสติกและโลหะออกมาก่อน นำไปเผาจะเกิดควันพิษกระจายในสิ่งแวดล้อม โลหะหนักปนเปื้อนในน้ำและดิน

นิวยอร์กไทม์สตามไปสัมภาษณ์เจ้าอาวาสวัดแห่งหนึ่ง มีโรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์หลายแห่งอยู่รอบๆ

เจ้าอาวาสบอกว่า เมื่อโรงงานเปิด มีการปล่อยควันออกจากปล่องโรงงาน แรกๆ พระหลายรูปในวัดมีอาการไอ จากนั้นอาเจียนออกมา แล้วรู้สึกเวียนศีรษะ

“พระก็เป็นคนนั่นแหละ เราเจ็บป่วยเหมือนทุกคน”

หนังสือพิมพ์ชื่อดังของสหรัฐซึ่งเป็นสื่อที่โลกยอมรับยังนำเสนอเรื่องราวของชาวบ้านที่ลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้านการตั้งโรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์

แต่ถูกกลุ่มนายทุนตามไปข่มขู่คุกคาม บางคนนั้นเจอคนร้ายยิงกราดได้รับบาดเจ็บ

นี่คือภาพลักษณ์ที่เป็น “ลบ” ของประเทศไทย