ฐากูร บุนปาน : ชินกับนรกจนลืมสวรรค์

ชั่งใจอยู่เป็นนานสองนานว่าจะเขียนถึงสองเรื่องที่เป็นข่าวดังอยู่ในช่วงนี้ดีหรือไม่

ไม่ได้กลัวว่าเขียนแล้วจะกระทบหรือกระแทกใครหรอกครับ

แต่สารพัดแง่สารพัดมุมของทั้งสองเรื่อง มีทั้งท่านผู้รู้ ผู้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด และท่านผู้มีมุมมองแหลมคมสะท้อนกันเอาไว้มากแล้ว

เดี๋ยวจะเชยน่ะครับ

แต่คิดอีกที เชยก็ไม่เป็นไร

อย่างน้อยก็ได้พูดที่ตรงกับใจ

เรื่องแรก กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

เรื่องนี้ฝ่ายต่อต้านและประชาชนผู้คัดค้านได้เปรียบอยู่เต็มๆ

เพราะกระบี่นั้นมีประสบการณ์อันเลวร้ายจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงเก่ามาก่อน

วันนี้ให้อมพระมาพูดว่าโรงไฟฟ้าใหม่ไม่มีมลพิษเลย

ทำใจให้เชื่อได้ยากมากนะครับ

ใครไม่โดนกับตัวอาจจะไม่เข้าใจ

แต่ลองให้ไปถามคนแม่เมาะดู ว่าถึงวันนี้ที่นอนฝันร้ายนั้นหายหรือยัง

ยิ่งพอบอกว่าเป็นโรงไฟฟ้าจีนประมูลได้ในราคา “ต่ำ”

ขวัญที่ไม่อยู่กับเนื้อกับตัวอยู่แล้วยิ่งไม่กลับมาใหญ่

เรื่องที่สอง กรณีบุกธรรมกาย

เสียงสนับสนุนกับคัดค้านในสังคมนั้นดังพอๆ กัน

ที่หนุนนั้นจำนวนไม่น้อยเพราะหมั่นไส้ ที่สำนักนี้รวยแล้วกร่างมาตั้งแต่อดีต

วันนี้พอเห็นโดนเข้าบ้างจึงสะใจ

จะควรหรือไม่ จะถูกหรือเปล่าก็อีกเรื่อง

อีกส่วนหนึ่งหนุนด้วยหลักการว่า ไม่ว่าใครทำผิด (หรือสงสัยว่าจะทำผิด) ก็ต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบเช่นกัน

จะอ้างคุณวิเศษหรือข้อยกเว้นใดๆ หาได้ไม่

ฝ่ายคัดค้านนั้น มีทั้งที่เป็นศิษยานุศิษย์ชนิดเข้ากระดูกดำ และกลุ่มที่จริงๆ ไม่ได้ยินดียินร้ายกับธรรมกาย แต่ไม่นิยมการแก้ปัญหาสารพัดด้วยอำนาจ

โดยเฉพาะอำนาจเด็ดขาด

จนชวนให้สงสัยว่าอะไรจะต้องเด็ดขาดขนาดนั้น

อะไรเป็นต้นตอที่มาของความเด็ดขาดแบบเอาตาย

ทั้งสองกรณีที่ดูเหมือนเป็นคนละเรื่องกัน กลายเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” ได้

เพราะวิธีการปฏิบัติของภาครัฐ

ขณะที่ด้านหนึ่งได้รับการปฏิบัติแบบ “นุ่มนวล” ยิ่งกว่ากำปั้นหุ้มกำมะหยี่ เพราะข้างในไม่ได้มีกำปั้น

เอาไปคุมตัวแบบผิดกฎหมายก็ไม่ตั้งข้อหา

จากยืนยันเสียงแข็งว่าจะเอาโครงการให้ได้ ก็ให้กลับไปตั้งต้นนับหนึ่งกันใหม่

อีกคดีหนึ่งนั้นถ้าไม่รู้ว่าภารกิจคืออะไร

ก็จะนึกว่าตระเตรียมจะไปรบทัพจับศึกที่ไหน

เพราะเล่นกันเต็มอัตราศึก

ถึงขนาดผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหารลงมาสั่งการเอง

ไม่ธรรมดาเลย

ประเด็นของเรื่องก็คือ บุคคลหรือองค์กรอื่นๆ ที่เห็นต่างกับรัฐบาล

ไม่เคยได้รับการปฏิบัติอย่างนุ่มนวลอย่างกรณีผู้คัดค้านโรงไฟฟ้ากระบี่

และที่ห่มเหลืองเหมือนธรรมกาย มีพฤติกรรมกร่าง (แต่คนละอย่างกัน) มีคดีค้างเก่าอยู่เหมือนกัน

ทำไมได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างไปจากรัฐ

ไม่ใช่แค่ดำเนินคดีแบบเอื่อยๆ เฉื่อยๆ

แต่หลายครั้งหลายหนยังยกย่องเชิดชูด้วย

ตกลงว่ากฎหมายมีกี่มาตรฐาน

และความหลายมาตรฐานของกฎหมายหรือการปฏิบัติของรัฐ

จะนำไปสู่การปรองดองอย่างที่โฆษณา

หรือว่านำไปสู่อย่างอื่น

และขออนุญาตส่งท้ายเอาไว้นิดเถอะครับ

ในขณะที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายเชียร์ธรรมกายแบบไม่ลืมหูลืมตา

ประเภทที่ว่า ถ้าเปลี่ยนรัฐบาลแล้วการตรวจสอบก็จะหมดไปเอง

ก็ไม่เห็นด้วยกับแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้ากระบี่บางท่าน

ที่เพ้อไปถึงว่า อาจจะต้องใช้บริการ “รถถัง” หากต่อไปท่าทีประนีประนอมของรัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง

ไม่ใช่เพราะการใช้กฎหมายอย่างไม่ตรงไปตรงมา

หรือว่าการไม่เคารพกฎหมายเอาเลย (แต่พร้อมจะเรียกใช้กำลังมาจัดการเรื่องที่ตัวเองไม่ถูกใจ)

อย่างนี้หรอกหรือ

ที่ถีบเราทุกคนในสังคมมายืนอยู่จุดนี้

ไม่คิดจะขยับไปอยู่ในภพภูมิที่ดีกว่า (สำหรับคนส่วนใหญ่) กันบ้างละหรือ

หรือชินกับนรกจนลืมสวรรค์กันไปแล้ว?