เอเชีย-แปซิฟิก กับวิกฤตภูมิอากาศที่เกิดขึ้นจริงแล้ว

“โลกกำลังจะเดินหน้าไปสู่วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นเรื่อยๆ” นี่เป็นสิ่งที่ไม่มีใครบนโลกนี้ปฏิเสธ

มีหลักฐานเป็นข่าวรายวันว่าหลายเมืองใหญ่ต้องเผชิญกับ “ฝุ่นพิษ” ผู้คนเสียชีวิตจาก “น้ำท่วม ดินถล่ม” หลายร้อยคนทุกๆ ปี “พายุ” พลังรุนแรงมากขึ้นพัดถล่มชายฝั่ง เกิด “ไฟป่า” แผ่ขยายเป็นวงกว้าง ภาวะแห้งแล้งรุนแรง คลื่นความร้อนที่ปกคลุมหลายพื้นที่จนแทบจะอยู่อาศัยไม่ได้

หายนะเหล่านี้รุนแรงมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่เรียกได้ว่า “วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ได้เกิดขึ้นแล้วในภูมิภาคแห่งนี้

ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นที่อาศัยของประชากรถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วโลก และเป็นพื้นที่เสี่ยงรับผลกระทบกับวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในโลกเช่นกัน

ในอีกแง่ เมืองใหญ่ในภูมิภาคนี้ก็เป็นต้นตอของปัญหาเช่นกัน ด้วยการเติบโตของพื้นที่เมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจ ตามมาด้วยการอพยพย้ายถิ่นสู่เมืองใหญ่ ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นตามไปด้วย

วิกฤตภัยธรรมชาติส่งผลให้เมืองใหญ่ๆ ที่เป็นเมืองชายฝั่งอย่างมุมไบ เซี่ยงไฮ้ โฮจิมินห์ซิตี้ จาการ์ตา หรือแม้แต่กรุงเทพมหานคร อาจเป็นด่านแรกๆ ที่ต้องเจอกับปัญหาระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง

 

รายงานจากคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือไอพีซีซี คณะกรรมการภายใต้องค์การสหประชาชาติ เผยแพร่รายงานในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมายืนยันว่าระดับน้ำทะเลนั้นเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าที่คาดกันไว้

รายงานระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ธารน้ำแข็ง ภูเขาน้ำแข็งละลาย อาจส่งผลให้น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2 เมตรในสิ้นสุดศตวรรษนี้ หากยังไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูง 2 เมตร หมายถึง คนราว 187 ล้านคนจะต้องไร้ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานครจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้ภายในปี 2050 หรืออีก 30 ปีข้างหน้านี้แล้ว

นอกเหนือจากเรื่องระดับน้ำทะเล ปัญหาพายุไต้ฝุ่นที่จะพัดถล่มชายฝั่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก็จะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เวลานี้มีประชากรราว 2.4 ล้านคนหรือราวครึ่งหนึ่งของประชากรในทวีปเอเชีย อาศัยในพื้นที่เสี่ยงกับหายนภัยจากสภาพอากาศ

หากนับในปีที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมและดินถล่ม ผลจากพายุมรสุมถล่มพื้นที่อินเดีย เนปาล ปากีสถาน และบังกลาเทศ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย

ส่วนจีน เวียดนาม ญี่ปุ่น อินเดีย บังกลาเทศ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย ก็ต้องเผชิญกับพายุโซนร้อน และพายุไต้ฝุ่น ทำให้มีผู้เสียชีวิต สร้างความเสียหายจำนวนมากเช่นกัน

 

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกเปิดเผยสถิติระหว่างปี 1970 ถึง 2019 พบว่าหายนภัยจากธรรมชาติ 10 อันดับแรกที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น มีถึง 7 อันดับที่เป็นพายุรุนแรงในระดับไต้ฝุ่น หรือพายุไซโคลน และยิ่งเผชิญกับหายนภัยรุนแรงมากเท่าไรก็ยิ่งส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจมากเท่านั้น โดยเฉพาะชาติยากจน

เมื่อปี 2015 พายุไซโคลนแพม ไซโคลนความรุนแรงระดับ 5 พัดถล่มประเทศวานูอาตู ประเทศเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก สร้างความเสียหาย คิดเป็น 64 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งประเทศ นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญกันมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการยื่นมือเข้าช่วยเหลือจากชาติที่ร่ำรวยกว่า

นอกจากปัญหาพายุ น้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้ว ปัญหาภัยแล้งและคลื่นความร้อนก็จะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิสูงขึ้นทำสถิติในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะคลื่นความร้อนที่ปกคลุมญี่ปุ่น จีน อินเดีย ปากีสถาน และออสเตรเลีย

ล่าสุดนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา ถึงขั้นระบุว่ามีบางสถานที่ซึ่งอาจจะร้อนจนเกินไป จนไม่สามารถอยู่อาศัยได้แล้ว

 

ในปีที่ผ่านมา เมืองเชนไน เมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของประเทศเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำครั้งรุนแรง อ่างเก็บน้ำหลัก 4 แห่งของเมืองที่หล่อเลี้ยงประชากรราว 5 ล้านคนแห้งลงเกือบทั้งหมด กลายเป็นวิกฤตขาดแคลนน้ำครั้งใหญ่ถึงขั้นโรงพยาบาลไม่มีน้ำเพียงพอสำหรับการผ่าตัดหรือใช้ทำความสะอาดอุปกรณ์ทางการแพทย์

ประชากร 600 ล้านคนทั่วประเทศอินเดียก็เผชิญกับการขาดแคลนน้ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน และคาดว่าจะรุนแรงขึ้นอีกเมื่อธารน้ำแข็งหิมาลัยต้นน้ำสำคัญละลายลงในอนาคต

สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานล่าสุดที่เปิดเผยว่า 1 ใน 4 ของประชากรโลกอาศัยในพื้นที่ซึ่งน้ำไม่เพียงพอกับความต้องการของประชากร และวิกฤตขาดแคลนน้ำ ที่ก่อนหน้านี้อาจไม่เคยนึกถึงกันมาก่อน กำลังจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปแล้ว และจะกลายเป็นวิกฤตต่อเนื่องไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร ความขัดแย้ง การอพยพย้ายถิ่นฐาน และความไม่มั่นคงทางการเงินได้

เวลานี้โลกมีอุณหภูมิสูงกว่าช่วงเริ่มต้นของยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 1.1 องศาเซลเซียส

และภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน หากต้องการไปให้ถึงเป้าหมายเพดานอุณหภูมิสูงกว่าต้นยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงกรุงปารีส โลกจำเป็นต้องร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 7.6 เปอร์เซ็นต์ทุกๆ ปี

แต่ปัจจุบันการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังเพิ่มขึ้นสวนทางกับวิถีทางที่ถูกที่ควร ขณะที่การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอาการขององค์การสหประชาชาติ ครั้งล่าสุดก็ดูเหมือนมีแต่ความล้มเหลว ประเทศผู้ปล่อยก๊าซยักษ์ใหญ่ของโลกไม่ได้แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน

ชาติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเวลานี้ไม่ใช่สิ่งที่รอได้อีกต่อไป

แต่เวลานี้วิกฤตได้เกิดขึ้นแล้วอย่างรวดเร็วและรุนแรง เหลือเพียงแต่ว่า ประชาคมโลกจะเห็นปัญหาและหันมาจับมือกันได้เมื่อใด