รัฐสำคัญผิด หรือเจตนายิงประชาชนที่นราธิวาส : ปัญหาและทางออก

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเมตตากรุณาปรานีเสมอ มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของพระองค์ผู้ทรงอภิบาลแห่งสากลโลก ขอความสันติสุขจงมีแด่ศาสนทูตมุฮัมมัด ผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีแด่ผู้อ่านทุกคน

หลังจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคนของรัฐสังหารประชาชน 3 คนบนภูเขาตะเว จังหวัดนราธิวาส ดังข่าวช่วงแรกบอกว่ามีการปะทะกับกองกำลังติดอาวุธเพื่อให้รัฐเองสามารถรีบแก้ปัญหานำคนผิดมาลงโทษ

ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว

และเบื้องต้นขอชื่นชมที่ทาง กอ.รมน.ได้แสดงความเสียใจและแถลงข้อเท็จจริงบางส่วนสู่สาธารณะเพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้

รวมทั้งเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า รัฐบาลมีหน้าที่สำคัญในการปกป้องคุ้มครองประชาชนจากเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้รัฐสามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้เขียนขอนำกระแส/ทัศนะสังคมต่อเรื่องนี้ดังนี้

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกเพราะหากดูสถิติพบว่ามีเหตุการณ์ทำนองนี้ ดังนี้คือ

1. วันที่ 28 พฤศจิกายน 2518 สังหาร 5 ราย บนสะพานกอ อ้างว่าเป็นสายโจร

2. วันที่ 13 ธันวาคม 2518 โยนระเบิดใส่เวทีการประท้วงหน้าศาลากลาง ตาย 13 ราย

3. วันที่ 1 มีนาคม 2519 ยิงชาวบ้านคอลอแว อ. ยี่งอ กำลังจับปลา ตาย 4 ราย โดยอ้างว่าปะทะกับ ขจก.

4. วันที่ 30 ธันวาคม 2531 ยิงอาสาสมัครบ้านตามุง อ.ศรีสาคร ตาย 4 ราย โดยอ้างว่าเป็นคนร้ายลงจากเขา

5. วันที่ 25 ตุลาคม 2547 สลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ ยัดขึ้นรถตาย 86 ราย

6. วันที่ 21 มีนาคม 2551 จับอิหม่ามยะผา กาเซ็ง ไปสอบสวนแล้วซ้อมจนตาย

7. วันที่ 29 มกราคม 2554 ยิงชาวบ้านกำลังจะไปละหมาดญินาซะ ตาย 4 ราย เกิดเหตุที่บ้านปูโละปูโย อ.หนองจิก

8. วันที่ 25 มีนาคม 2558 ยิงชาวบ้านตาย 4 ราย ที่ทุ่งยางแดง อ้างว่าปะทะกับ RKK

9. วันที่ 21 กรกฎาคม 2562 คุมตัวสอบสวนนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ จนกระทั่งนายอับดุลเลาะต้องถูกส่งไปโรงพยาบาล เพราะเกิดอาการสมองไม่ตอบสนองและมีภาวะสมองตาย และตายในที่สุด

ดร.อิลยาส หญ้าปรัง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ให้ทัศนะผ่านเฟซบุ๊กต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า

เหตุการณ์ทหารพรานฆ่าชาวบ้านและเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันก่อนหน้านี้ จะไม่ใช่เหตุการณ์ (แรกและ) สุดท้าย เหตุการณ์แบบนี้จะมีต่อไปเรื่อยๆ มันเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็ง มันจะโผล่ขึ้นมาเรื่อยๆ

ภูเขาน้ำแข็งที่อยู่ข้างล่าง คืออำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายพิเศษและกฎอัยการศึก เจ้าหน้าที่รู้เป็นอย่างดีว่า แม้จะใช้อำนาจขนาดไหน กระทั่งการ extra judicial killing (ฆ่านอกระบบกฎหมาย) กฎหมายพิเศษจะมีช่องและปกป้องให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบเสมอ (ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาเป็นแบบนั้น)

เราไม่พูดเรื่องตัวบุคล ไม่พูดเรื่องโกรธ หรือเกลียดทหาร เราพูดว่า ระบบกฎหมายความมั่นคงในปัจจุบัน คือภูเขาน้ำแข็ง ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ โผล่ขึ้นมาและจะมีต่อไป

หากไม่ปฏิรูปเรื่องนี้ กฎมายความมั่นคงให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ครอบคลุมในทุกมิติ รวมทั้งเงิน พวกเขาย่อมปกป้องมันอย่างสุดความสามารถ การปกป้องนี้จะออกมาในรูปของ “การรักษาความสงบ” “ความมั่นคงปลอดภัย” “เพื่อความสะดวกในการทำงานของเจ้าหน้าที่”

แน่นอน ไม่มีใครหน้าด้านพอ (หรือมี?) ที่จะบอกว่า ให้คงกฎหมายนี้ไว้เถอะ เพราะข้าฯ ได้ประโยชน์

ผู้ปกครองและญาติผู้ตายเรียกร้องความเป็นธรรม

ผู้ปกครองและญาติผู้ตายเรียกร้องความเป็นธรรมทั้งการออกมาเรียกร้องให้แก้ข่าวที่ช่วงแรกกล่าวหาว่าทั้งสามชีวิตเป็นผู้ร้ายและรีบนำคนผิดมาลงโทษ รวมทั้งการเขียนสำนวนของตำรวจบอกว่าเกิดการปะทะกัน

แม้รัฐจะตั้งคณะกรรมการมาค้นหาความจริง แต่เป็นชุดเดิมกับคดีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ซึ่งประชาชนยังไม่เชื่อมั่นพอ

ดังที่รอมฎอน ปัญจอร์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า

“นึกไม่ออกจริงๆ ว่า คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีการตาย 3 ศพที่บองอ นราธิวาส อย่างตรงไปตรงมาได้อย่างไร?

คณะกรรมการชุดนี้ตั้งตามคำสั่ง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. (แม่ทัพภาคที่ 4 นั่นแล) และมีผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นประธาน (ก็ทหารอีกนั่นแหละ) มีประวัติทำงานมาแล้วกรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ทั้งอื้อฉาวและยังคงทิ้งปริศนาเอาไว้ ที่ยังทำไม่เสร็จและเป็นที่กังขาอยู่อีกจำนวนหนึ่ง

หัวใจของปัญหายังอยู่ที่ความชอบธรรมอันเบาบางของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจที่ผู้คนในพื้นที่จะมีให้ ไม่พักต้องพูดถึงเรื่องทักษะและความเชี่ยวชาญในการตั้งประเด็น ซักถาม และสืบเสาะเพื่อทำให้เรื่องราวสีเทานั้นเป็นที่กระจ่าง ตลอดจนความกล้าหาญที่จะพูดความจริงนะครับ เช่นนั้นแล้ว เราจะรู้ความจริงในกรณีนี้ได้อย่างไร?

คำถามนี้ยังคงปลายเปิด แต่ที่แน่ๆ เราควรกังขาสงสัยกับความจริงที่ถูกต้องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเอาไว้ก่อนนะครับ”

สำคัญผิดจริงหรือ?

หลังจากแถลงการณ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ยอมรับว่าเหตุการณ์ยิงประชาชนเสียชีวิตสามคนบนเขาตะเว ระแงะ นราธิวาส เกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่สำคัญผิดคิดว่าเป็นผู้ก่อเหตุ เตรียมสอบสวนและเยียวยาต่อไป

ปรากฏว่ามีการนำคำนี้มาวิเคราะห์ถึงความหมายในแง่ภาษาและกฎหมาย กล่าวคือ “สำคัญผิด”

หมายถึง

“ผู้ใดเจตนาต่อคนคนหนึ่ง แต่ดันไปทำร้ายคนอีกคน โดยสำคัญผิด ผู้นั้นจะยกเอาความสำคัญผิดเป็นข้อแก้ตัวว่าตัวเองไม่ได้ทำโดยความตั้งใจแต่อย่างใด”

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 60 ระบุว่า

การสำคัญผิดจะมีผู้เกี่ยวข้องในเรื่อง 2 คน ผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ โดยผู้กระทำเข้าใจว่า ผู้ถูกกระทำเป็นบุคคลที่ตนต้องการกระทำ

การสำคัญผิดในตัวบุคคลเป็นการเริ่มต้น โดยผู้กระทำมีเจตนาในการกระทำต่อบุคคลแต่กลับไปกระทำต่ออีกบุคคลหนึ่ง เหตุเช่นนี้กฎหมายถือว่า ผู้กระทำจะอ้างว่า ตนไม่ได้ตั้งใจกระทำต่อบุคคลที่ได้รับผลร้ายในการกระทำไม่ได้ เป็นบทกฎหมายปิดปากมิให้โต้แย้งเลยว่าตนไม่มีเจตนาในการกระทำต่อผู้ที่ได้รับผลร้าย

(หมายเหตุอ้างจากข้อมูล : Peesirilaw เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายพิเศษ Jasad)

ข้อสังเกตและเสนอแนะ

บทเรียนในครั้งนี้ ควรจบลงที่มีการลงโทษทางวินัยและลงโทษตามกฎหมายเพื่อให้เจ้าหน้าที่ระมัดระวังในปฏิบัติการทางทหารที่นำมาสู่ความสูญเสียเช่นนี้ และในการปฏิบัติการทางทหารควรตระหนักถึงกฎการปะทะเพื่อนำมาซึ่งการสร้างความไว้วางใจและเชื่อมั่นในปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ในอนาคต

กองทัพภาคที่ 4 ควรทบทวนนโยบายการใช้ความรุนแรงตอบโต้ความรุนแรง และควรส่งเสริมกระบวนการสันติภาพตามแนวทางของรัฐบาล

ในขณะที่มูลนิธิผสานวัฒนธรรมได้เสนอแนะไว้สี่ประการ ดังนี้

1. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานอัยการสูงสุดที่เป็นหน่วยงานพลเรือน ทำหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างตรงไปตรงมาเต็มความสามารถในการแสวงหาความจริงการวิสามัญฆาตกรรมครั้งนี้ โดยทำงานอย่างเป็นอิสระจากอิทธิพลของกองทัพ เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีไต่สวนการตายและการฟ้องร้องคดีอาญาต่อผู้ต้องหากระทำความผิดให้ถึงที่สุด

2. ขอให้หน่วยงานทางทหาร ไม่ว่าจะเป็นกองทัพภาคที่ 4 และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ความร่วมมือในการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญในการค้นหาความจริง โดยเฉพาะรายชื่อเจ้าหน้าที่ทหารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการในวันเกิดเหตุที่เขาตะเวในครั้งนี้ โดยขอให้มีการย้ายผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดออกจากพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบสวนสอบสวน

3. ขอให้รัฐจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายต่อครอบครัวผู้เสียชีวิตอย่างเป็นธรรมทั้งในรูปแบบตัวเงิน เชิงสัญลักษณ์ เช่น การขอโทษต่อสาธารณะ รวมทั้งการเยียวยาด้านความเป็นธรรมโดยการนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาในศาลพลเรือน และดำเนินการลงโทษทางวินัยอย่างจริงจังเปิดเผยต่อสาธารณะ

4. ขอให้มีการปฏิรูปแนวทางการปราบปรามการก่อเหตุความรุนแรงทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การอบรมเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธตามหลักการสากล การปรับทัศนคติการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง การติดตามจับกุมบุคคลต้องสงสัยก่อเหตุ ให้มีความรอบคอบ รอบด้าน และปราศจากซึ่งอคติทางเชื้อชาติที่เกิดขึ้นตลอดสิบห้าปีที่ผ่านมา

รวมทั้งการปรับทิศทางการเจรจาสันติภาพให้เกิดการมีส่วนร่วม (all inclusive) อย่างจริงจัง

กล่าวโดยสรุป ผู้มีอำนาจสูงสุดต้องรีบลงมาแก้ปัญหานี้ให้ได้มาตรฐานสากลของกระบวนการยุติธรรมที่โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพราะในทางวิชาการและเชิงประจักษ์ “ความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรมหรือความไม่เป็นธรรม”

เมื่อไม่มีความเป็นธรรม/ยุติธรรมรวมทั้งการปฏิบัติสี่ข้อตามหลักการ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” (ตามมาตรฐานสากล) เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีก คือ “การค้นหาความจริง การเยียวยา การนำคนผิดมาลงโทษ และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม”