ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 มกราคม 2563 |
---|---|
คอลัมน์ | การศึกษา |
เผยแพร่ |
การศึกษา
ชำแหละ 4 รมต. ‘ก.ศึกษาฯ-อุดมฯ’ ปี ’62
จับตาปีหนูไฟ
ผลงานรุ่งหรือร่วง??
ผ่านปีหมูไฟ 2562 เป็นปีที่ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากการเลือกตั้งในช่วงเดือนมีนาคม
โดย ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ มีใบสั่งให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในขณะนั้น ยกทีมเสมา 2 และ 3 อย่าง พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ และ นพ.อุดม คชินทร ยื่นหนังสือลาออก เพื่อไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
ส่งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นั่งรักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการ ศธ. นานเกือบ 2 เดือน ทำให้การทำงานของ ศธ.เกิดสุญญากาศไปชั่วขณะ
เมื่อจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย ‘บิ๊กตู่’ ตัดสินใจส่งรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ’ มานั่งแท่นเสมา 1
พร้อมส่งคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นั่งเก้าอี้เสมา 2
และ ‘มาดามโอ๊ะ’ ‘กนกวรรณ วิลาวัลย์’ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นั่งเสมา 3…
อีกทั้งยังมีการแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ. หลังกลุ่มอธิการบดีเรียกร้องและยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คอยท่ามานานกว่า 10 ปี
โดยได้ประกาศตั้งกระทรวงใหม่ในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2562 ให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารวมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และ 5 หน่วยงานด้านการวิจัย
ทั้งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) มาเป็นกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
ส่งนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ มือดีจาก พปชร. ซึ่งร่วมยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ อว. และเป็นแกนหลักในการเสนอให้ดึง วท.เข้ารวมกับมหาวิทยาลัย เป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหม่คนแรก ตั้งเป้าให้ อว.ทำงานสำคัญดูแลในเรื่องการพัฒนากำลังคนและงานวิจัย เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ
ดังนั้น ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ทั้ง ศธ. และ อว.กระทรวงใหม่ จึงยังไม่มีผลงานที่จับต้องได้เป็นรูปธรรมชัดเจน…
เริ่มจากทางฟากกระทรวงครู รัฐมนตรีทั้ง 3 คน ภาพรวมผลงานยังไม่ถือว่าโดดเด่นเข้าตา แม้จะเป็นกระทรวงเกรดเอ แต่หลังการเลือกตั้งก็ดูเหมือนไม่มีใครอยากเข้ามากุมบังเหียน ทั้งที่ยังครองแชมป์กระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด แม้จะตัดในส่วนของ สกอ.ออกไปแล้ว ก็ยังมีแนวโน้มจะได้งบมากถึง 4 แสนกว่าล้านบาท
ส่วนหนึ่งอาจเพราะปัญหาที่หมักหมมมานาน โดยเฉพาะปัญหาทุจริตในวงการแม่พิมพ์ ซึ่งถือเป็นงานหินของทุกรัฐบาล
เพราะคลำไปตรงไหนก็เจอ แก้จุดนี้ไปโผล่จุดนั้น…
สำหรับผลงาน 5 เดือนแรก ไล่ตั้งแต่ นายณัฏฐพลเข้ามาเริ่มงาน ก็เจอประเด็นทุจริตอาหารกลางวัน ที่มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561
ดังนั้น จึงได้เห็นภาพ ‘ครูตั้น’ เดินสายฮันนีมูนตำแหน่งใหม่ นั่งกินข้าวกับเด็กในโรงเรียนต่างๆ แบบไม่แจ้งล่วงหน้าจนชินตา
แต่ไปมาหลายโรงเรียนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยังไม่เห็นนโยบายแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง แต่ก็เห็นความมุ่งมั่นในการเก็บข้อมูล รวบรวมประเด็นปัญหาที่เกิดในโรงเรียน ทั้งสุขอนามัย ห้องน้ำ ห้องเรียน
จากนี้ก็ต้องรอดูว่า ปี 2563 เสมา 1 จะนำข้อมูลทั้งหมดไปสู่การแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมอย่างไรบ้าง
ส่วนที่เหลือหมดไปกับการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง ซึ่งปีนี้ ศธ.มีซี 11 เกษียณถึง 3 ตำแหน่ง คือ ปลัด ศธ. เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) รวมถึงข้าราชการระดับ 10 อีกหลายตำแหน่ง
ขณะเดียวกันยังต้องสางปัญหาเก่าที่ค้างคา อย่างการสรรหาเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. และเลขาธิการคุรุสภา ที่ติดปัญหาฟ้องร้องจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถเดินหน้าสรรหาทั้ง 3 ตำแหน่งได้
สำหรับการแก้ปัญหาทุจริตซึ่งเคยเป็นผลงานชิ้นโบแดงในยุครัฐบาล คสช. นั้นก็ดูเหมือนจะแผ่วลง ตั้งแต่ช่วงที่ ‘หมอธี’ นั่งในตำแหน่งเสมา 1 การตรวจสอบทุจริตต่างๆ ยังไม่เห็นความคืบหน้าเท่าที่ควร
แต่เรื่องที่นายณัฏฐพลเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมคือ การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กแม้จะมีเสียงคัดค้านเล็ดลอดออกมาบ้าง แต่ก็ไม่หวั่นไหว
แอบส่งเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และมีมติออกมาอย่างเงียบๆ ให้ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า 6 กิโลเมตร ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการลง
ซึ่งข้อมูล มีโรงเรียนที่ควบรวมแล้วทั้งสิ้น 658 โรง, โรงเรียนไม่ควบรวมมีทั้งสิ้น 3,364 โรง
เป็นโรงเรียนที่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่เกาะ พื้นที่สูง ทำให้ไม่สามารถไปเรียนรวมกับโรงเรียนอื่นได้ จำนวน 445 โรง
และเป็นโรงเรียนที่ไม่ประสงค์ควบรวม 2,919 โรง
ขณะที่ปี 2563-2565 มีแผนจะควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั้งสิ้น 5,447 โรงเรียน โดยจะควบรวมในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 1,398 โรงเรียน ปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2,963 โรงเรียน และปีงบประมาณ 2565 จำนวน 1,086 โรงเรียน
อีกเรื่องคือ การปรับโครงสร้าง ศธ. โดยนายณัฏฐพลได้ตั้ง ‘นายวราวิช กำภู ณ อยุธยา’ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการ ศธ. เป็นประธานคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้าง ศธ. พร้อมมอบโจทย์ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน ระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โจทย์นี้ถูกนำไปตีความว่า อาจจะนำไปสู่การยุบ สพท. ซึ่งมีปัญหาเรื่องการทำงานซ้ำซ้อนกับ ศธจ.มานานกว่า 5 ปี โดยเฉพาะกรณีอำนาจการแต่งตั้งโยกย้าย ตามมาตรา 53(3) (4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบ
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ให้เป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมที่เป็นอำนาจของ สพท.เป็นชนวนเหตุให้เกิดศึกงัดข้อระหว่างผู้อำนวยการ สพท. กับ ศธจ. มาต่อเนื่อง!!
ขณะเดียวกันยังมีการเผยแพร่แผนผัง โครงสร้าง ศธ.ใหม่ ที่มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และปลัด เป็นผู้กำกับนโยบาย ลงสู่ระดับพื้นที่ ส่งผลให้เกิดกระแสข่าวลือ ยุบตำแหน่งซี 11 เหลือปลัด ศธ. เป็นซี 11 คนเดียว
มีอำนาจบริหารจัดการแบบซิงเกิลคอมมานด์
ขณะที่คุณหญิงกัลยาดูเหมือนจะมีเรื่องเดียวที่ทำอย่างจริงจัง ประกาศเป็นนโยบายแรกที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผลักดันภาษาคอมพิวเตอร์ หรือ Coding เป็นภาษาที่ 3 ในหลักสูตรการศึกษาของไทยอย่างเป็นรูปธรรม
แม้จะมีเสียงเมาธ์หนาหูว่าเป็นนโยบายไดโนเสาร์ แต่เสมา 2 ก็ยืนยันว่าจำเป็นกับการเรียนในปัจจุบัน
ส่วนหน่วยงานที่ได้รับหน้าที่ให้ดูแล ทั้งสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์นั้น
ยังไม่เห็นภาพนโยบายชัดเจน
ปิดท้ายด้วย ‘มาดามโอ๊ะ’ หรือเสมา 3 สร้างความฮือฮาด้วยการทำหลักสูตรกัญชา ตามนโยบายกัญชาเสรีของพรรคต้นสังกัด
เริ่มแรกเตรียมสั่งบรรจุในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของทุกโรงเรียน
แต่เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมก็ยอมถอย เปิดสอนเฉพาะสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) คาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปีการศึกษา 2563 นี้
ส่วนงานอื่นๆ อย่างการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ที่ได้รับมอบหมาย ถือว่ายังไม่ได้เข้าไปลงลึกเท่าที่ควร…
มาทางฝั่ง อว. ที่มีนายสุวิทย์เป็นรัฐมนตรีว่าการคนแรก เป้าหมายเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับงานวิจัยเพื่อขับเคลื่อนประเทศ โดยประกาศปฏิรูป 3 เรื่อง คือ ปฏิรูปการบริหารให้มีความเป็นระบบราชการน้อยที่สุด ปฏิรูปกฎหมาย และปฏิรูปงบประมาณ โดยจะขับเคลื่อนให้เป็น “กระทรวงแห่งปัญญา กระทรวงแห่งโอกาส และกระทรวงแห่งอนาคต”
แต่ 5 เดือนที่ผ่านมา กลับมีเสียงสะท้อนจากชาวอุดมฯ ในเชิงว่าหนีเสือปะจระเข้ เพราะถูกตัดงบฯ วิจัย และบังคับให้หาพาร์ตเนอร์สนับสนุนงบฯ วิจัยเอง
และมองว่านายสุวิทย์ไม่ได้สนใจเรื่องมหาวิทยาลัยเท่าที่ควร
แต่ไปเน้นทำงานในเรื่องยิบย่อย เช่น การปรับกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ (มคอ.)
ดังนั้น ต้องรอดูว่า ปี 2563 อว.จะมีผลงานอะไรมาปลอบใจชาวอุดมศึกษาบ้าง
สรุปภาพรวม การทำงานของทีมเสมาทั้ง 3 คน และรัฐมนตรี อว. กระทรวงน้องใหม่
แม้จะยังไม่เป๊ะปัง โดดเด่นเท่าที่ควร
แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ความหวัง
ต้องจับตาดูว่าปีหนูแสนซน 2563
หัวหอกการศึกษาทั้ง 2 กระทรวง จะมีไม้ตาย
หรือทีเด็ดอะไรมาให้ได้ว้าวกันบ้าง…