ต่างประเทศอินโดจีน : โรคหมูที่ไม่หมูๆ

ตลอดปีที่ผ่านมานี้มีรายงานข่าวเรื่องการระบาดของโรค “อหิวาต์แอฟริกาในสุกร” ที่ฝรั่งเรียกให้สับสนเล่นว่า “แอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์” ที่ระบาดอย่างรุนแรงในหลายประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

หลังสุดเมื่อ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา อินโดนีเซียคือประเทศล่าสุดที่เจอะเจอเข้ากับโรคระบาดชนิดนี้

กระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียยอมรับว่า เกษตรกรเลี้ยงหมูทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราเจอโรคระบาดนี้เข้าไป หมูที่เลี้ยงไว้ตายลงรวดเดียวถึง 30,000 ตัว

โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู เกิดจากเชื้อไวรัส แต่ไม่ระบาดมาถึงคนเรา เป็นอันตรายเฉพาะหมูเท่านั้น ยิ่งเป็นหมูเลี้ยงในฟาร์มขนาดใหญ่ยิ่งแพร่ระบาดได้ง่ายมาก

ความร้ายแรงของโรคนี้ก็คือ มันสามารถฆ่าหมูป่วยได้ภายในเวลาเพียง 2-3 วัน อัตราการเสียชีวิตของหมูที่ติดเชื้อสูงถึง 100 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า พบว่าติดเชื้อเมื่อใดเป็นทำใจได้เลยทีเดียวว่าตายแน่ ทั้งนี้ ตามข้อมูลขององค์การโลกว่าด้วยสุขอนามัยในสัตว์ (โอไออี)

ไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคชนิดนี้แพร่ระบาดได้ง่ายมากเพราะแข็งแรงทนทานเป็นพิเศษ มันสามารถอยู่รอดได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพาหะนานถึง 7 วัน แถมยังสามารถอยู่รอดได้ในผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแช่แข็งได้นานหลายเดือนทีเดียว

 

ประเทศที่เกิดการระบาดและได้รับผลกระทบมากที่สุดจนถึงขณะนี้ก็คือจีน แต่ที่เป็นกังวลกันมากก็คือ โรคนี้กำลังแพร่ระบาดอยู่ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้เชี่ยวชาญด้านปศุสัตว์ของราโบแบงก์ ธนาคารเนเธอร์แลนด์ เชื่อว่าโรคแอฟริกัน สไวน์ ฟีเวอร์นี้จะทำลายปริมาณหมูในจีนลงไปเกินครึ่ง คือราว 55 เปอร์เซ็นต์ของประชากรหมูเลี้ยงทั้งหมดทั่วประเทศในปีนี้

ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่เจอการระบาดอย่างหนักก็คือ เวียดนาม กับฟิลิปปินส์

นักวิเคราะห์ของราโบแบงก์ประเมินว่า ผลผลิตหมูของเวียดนามในปีนี้จะลดลงมากถึง 21 เปอร์เซ็นต์ และลดลงต่อเนื่องอีก 8 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020

ฟิลิปปินส์ก็เจอปัญหาเดียวกัน ผลผลิตจะลดลง 13 เปอร์เซ็นต์ในปี 2020 ที่จะถึงนี้

องค์การอาหารและเกษตรกรรม (เอฟเอโอ) ของสหประชาชาติระบุว่า มีการตรวจสอบพบโรคนี้ระบาดอยู่ในมองโกเลีย, เกาหลีใต้, เกาหลีเหนือ, เมียนมา และติมอร์ตะวันออก

แต่ถ้าเป็นนอกภูมิภาคเอเชีย นอกจากจะพบในหมูป่าที่เยอรมนีในพื้นที่ป่าชายแดนติดต่อกับโปแลนด์แล้ว ยังพบแถบยุโรปตะวันออกอื่นๆ และในพื้นที่ของกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า

 

โรคระบาดเช่นนี้สร้างปัญหาปวดหัวให้กับทุกประเทศ ทั้งต้องเฝ้าระวังโรคและต้องตรวจสอบด้านสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด ซึ่งลำบากไม่ใช่น้อย แต่ไม่ทำก็ไม่ได้

อย่างเช่น ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาทางการออสเตรเลียตรวจสอบและยึดผลิตภัณฑ์หมูไปตรวจสอบมากถึง 32 ตัน ทั้งจากกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสารและไปรษณียภัณฑ์ที่ส่งมาจากต่างประเทศ

เมื่อตรวจอย่างละเอียดพบว่า 49 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์ที่นำไปตรวจสอบ มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโรคนี้อยู่ภายใน ต้องนำไปทำลายทิ้ง

โรคระบาดนี้ยังส่งผลต่อผู้บริโภค เพราะทำให้ราคาของเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างน่าตกใจ

ฟิตช์ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ระบุว่าราคาเนื้อหมูขายส่งในจีนปีนี้สูงขึ้นเกือบเป็นสองเท่าของปีที่ผ่านมา และคาดหมายว่าระดับราคาในชาติอาเซียนทั้งหลายก็จะแพงขึ้นกว่าเดิมแน่นอน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงตรุษจีน ที่ความต้องการเนื้อหมูเพิ่มสูงขึ้นเป็นพิเศษนั่นเอง