ฉัตรสุมาลย์ : ภิกษุณีสงฆ์คลื่นลูกที่ 3

คลื่นลูกที่ 3 หมายถึงชีวิตการออกบวชของผู้เขียนที่มีการเตรียมการมานานกว่า 10 ปี เมื่อภาวการณ์ถึงพร้อม ที่สำคัญมีการอุปสมบทภิกษุณีสายเถรวาทเกิดขึ้นแล้วใน พ.ศ.2541 ผู้เขียนเฝ้าติดตามเรื่องราวการบวชอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสนใจว่าการอุปสมบทครั้งนี้มีความถูกต้องตามพระวินัยมากน้อยเพียงใด

ผู้เขียนในฐานะประธานศากยะธิดานานาชาติเข้าไปช่วยจัดการประชุมศากยะธิดาครั้งที่ 3 ที่ศรีลังกา โดยผู้จัดท้องถิ่นคือคุณรันชนี เดอ ซิลวา (Ranjani de Silva)

ปีนั้น พ.ศ.2536 มีผู้ศรัทธาในงานภิกษุณีและมอบที่ดินให้ เป็นที่มาของศูนย์ศากยะธิดาที่สตรีไทยหลายคนออกบวชเป็นภิกษุณีที่นี่

ที่ดินอยู่ชายน้ำ ต้องลงทุนถมที่ให้สูงขึ้นมา คุณรันชนีขอทุนจากเยอรมนี สร้างศูนย์ฝึกสมาธิศากยะธิดาสำเร็จในเวลาไม่นาน

ผู้เขียนเองไม่เคยรู้ว่า งานที่ทำไว้จะส่งผลโดยตรงกับตัวเอง จนเมื่อออกบวช ก็ได้ไปพักที่นั่น

เมื่อมีการอุปสมบทภิกษุณีในศรีลังกาเอง เริ่มแต่ พ.ศ.2541 ผู้เขียนคอยติดตามข้อมูลผ่านคุณรันชนี ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและบริหารจัดการศูนย์ศากยะธิดาที่ศรีลังกา

ได้ติดต่อโดยตรงไปที่ท่านอาจารย์พระภิกษุศรีสุมังคโล เจ้าอาวาสวัดดัมบุลละ วัดนี้บางทีเรียกวัดทอง เพราะท่านสร้างพระพุทธรูปสีทองขนาดใหญ่เป็นหมายของวัด วัดนี้เป็นแห่งแรกที่มีการอุปสมบทภิกษุณีในศรีลังกา ท่านไม่ตอบ

คุณรันชนีก็เลยติดต่อผ่านหลวงปู่ธัมมโลก ซึ่งเป็นพระผู้ใหญ่ในนิกายอมรปุระที่ให้การสนับสนุนภิกษุณีมาตั้งแต่ต้น ท่านเป็นพระภิกษุรูปแรกที่เขียนหนังสือให้การสนับสนุนภิกษุณีเป็นภาษาสิงหล มีคนแปลบางส่วนส่งมาให้ผู้เขียน

ท่านจัดการบรรพชาให้ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 ผู้เขียนตั้งใจจะออกบวชวันมาฆบูชา ปีนั้นตรงกับวันที่ 9 แต่หลวงปู่บอกว่านิมนต์พระภิกษุมาร่วมงานยาก เพราะทุกรูปก็ต้องยุ่งกับงานที่วัดของตนเอง เลยขยับขึ้นมาเป็นวันที่ 6 กุมภาพันธ์

ผู้เขียนเดินทางไปคนเดียว มีคุณรันชนี ซึ่งต่อมากลายเป็นอุปัฏฐากคนสำคัญของท่านธัมมนันทาคอยรับอยู่ที่สนามบินปลายทาง

ผู้เขียนพักรอการบรรพชาที่ศูนย์ศากย ธิดา ชานเมืองโคลอมโบ

 

วันที่จะบรรพชา เป็นครั้งแรกที่ได้พบภิกษุณีที่ต่อมาเป็นอาจารย์ของผู้เขียน ท่านชื่อ รหตุงโคทะ สัทธา สุมนา

วัฒนธรรมศรีลังกานั้นต่างไปจากไทย ทุกรูปที่บวช จะมีชื่อตำบลที่อยู่นำหน้า เช่น ปวัตตินีของท่านธัมมนันทา ชื่อ สัทธา สุมนา บ้านเกิดของท่านอยู่ที่เมืองรหตุงโคทะ ถ้าเทียบกับไทย หากมีธัมมนันทา ฉายาซ้ำกันหลายรูป ท่านธัมมนันทาก็คงจะเป็นธัมมนันทาที่อยู่นครปฐมประมาณนั้น

หลังจากที่บรรพชาเป็นสามเณรีแล้ว อยู่มาวันดีคืนดี ท่านศรีสุมังคโลจากดัมบุลละ ก็ติดต่อมาทางอีเมลว่าจะมาเมืองไทย และจะมาเยี่ยม ตกลงกลายเป็นว่า ท่านมาเยี่ยมท่านธัมมนันทาถึงเมืองไทย เมื่อเห็นวัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอารามที่นครปฐมแล้ว การไปอุปสมบทที่ดัมบุลละในช่วงต่อมาจึงสะดวกมากขึ้น

สำหรับการอุปสมบทภิกษุณีที่ดัมบุลละนั้น ท่านให้สามเณรีชาวศรีลังกาเองมาอยู่ฝึกอบรมทั้งพรรษาที่ศูนย์ฝึกภิกษุณีที่ท่านได้รับการสนับสนุนในการก่อสร้างจากภิกษุณีสงฆ์เกาหลี ทำให้ท่านมีสถานที่ในการอบรมภิกษุณี แต่น่าเสียดายที่ท่านยังไม่มีอาจารย์ที่มีคุณภาพที่จะเปิดสอนในระดับนานาชาติ

การไปอุปสมบทที่ดัมบุลละก็เป็นเรื่องปราบเซียนพอสมควร หลังจากฝึกอบรมแล้วท่านให้สอบ ใครสอบไม่ผ่านก็ไม่ได้บวช

เท่าที่ทราบมีภิกษุณีไทยที่ได้อุปสมบทที่นี่เพียง 3 รูป รูปแรกคือท่านธัมมนันทา ไม่ได้สอบ ได้รับการยกเว้นเพราะเป็นอาจารย์สอนพุทธศาสนาในระดับมหาวิทยาลัยมาแล้ว แต่แม้กระนั้น ในจำนวนผู้ขอบวช 18 คน ท่านถูกจัดลำดับเป็นคนสุดท้าย

ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทโดยสอบผ่านจากที่นี่ มีเพียงสองท่าน คือ ท่านพูนสิริวรา (บ้านแพ้ว) และท่านธัมมธีรา ขณะนั้นไปจากวัตรทรงธรรมกัลยาณี

 

หลังจากที่ท่านธัมมนันทาบรรพชาเป็นสามเณรี กลับมาเมืองไทย ก็เป็นที่เล่าขานกันอยู่พักหนึ่ง ท่านต่อสู้โดยการไม่สู้ ธรรมะที่คุ้มครอง คือ ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ปฏิบัติธรรม ถ้าไม่มีธรรมะเป็นหลักใจก็อาจจะซวนเซได้ เพราะแรงอกุศลที่เข้ามาปะทะก็แสดงอิทธิพลมากอยู่ทั้งในทางเสียง เช่น รายการทางวิทยุ ทางโทรทัศน์ และทางสื่อสิ่งพิมพ์

เมื่อครบสองปีท่านก็กลับไปอุปสมบทเป็นภิกษุณี พ.ศ.2546

ทีนี้ ตามพระวินัยมีเงื่อนไขว่าท่านต้องอยู่กับปวัตตินี คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์ของท่านอีก 2 พรรษา ช่วงนั้น มารดาของท่าน คือภิกษุณีวรมัยกบิลสิงห์ อายุ 93 ย่าง 94 แล้ว ท่านธัมมนันทาไม่สามารถทิ้งมารดาไปเข้าพรรษาที่ศรีลังกากับปวัตตินีของท่านได้

ท่านก็เลยแก้ปัญหาโดยทำกลับกัน นั่นคือ นิมนต์ท่านสัทธา สุมนา มาเข้าพรรษากับท่านที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม

วัตรทรงธรรมกัลยาณีกลายเป็นศูนย์กลางในการอบรมภิกษุณีสายเถรวาทในช่วง 2 พรรษาแรก (พ.ศ.2546-2547) ที่เป็นเช่นนั้น เพราะในช่วงที่ท่านมาเข้าพรรษานั้น ท่านธัมมนันทาขอให้ท่านสัทธา สุมนา สอนการสวดปาติโมกข์ให้ด้วย เงื่อนไขในการสวดปาติโมกข์นั้น ต้องสวดกันเป็นสงฆ์ คืออย่างน้อย 4 รูป และเมื่อออกพรรษา จะมีการรับกฐิน ก็ต้องมีรูปที่ 5 เพื่อเป็นผู้สวดมอบผ้ากฐิน

ตอนนั้น เริ่มมีภิกษุณีสายเถรวาทแล้วในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งอินโดนีเซีย เวียดนาม และแม้กระทั่งออสเตรเลีย

 

ในช่วงสองพรรษาที่ท่านสัทธา สุมนามาฝึกสอนท่านธัมมนันทาในประเทศไทย ก็ได้สอนภิกษุณีที่มาจากทั้งอินโดนีเซีย ศรีลังกา เวียดนามและออสเตรเลีย เรียกว่า กลุ่มนี้เป็นศิษย์ภิกษุณีรุ่นแรกของท่านสัทธา สุมนา ทีเดียว

นอกจากเรื่องของการเรียนด้านพระธรรมวินัย และเรียนรู้ในภาคปฏิบัติแล้ว ยังได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องการสมมติสีมาโดยพระภิกษุสงฆ์สายเถรวาทไว้ด้วย เพื่อให้การทำสังฆกรรมที่ต้องกระทำในสีมาเป็นไปได้อย่างถูกต้อง

ทั้งหมดนี้ เกิดจากการเรียนรู้ จากช่องโหว่ที่ปรากฏในคลื่นลูกแรก ที่ขาดข้อมูลในคณะสงฆ์ที่บวชให้ และลูกที่สอง คือการบวชมาแล้วต้องมาพร้อมกับการฝึกฝนพระธรรมวินัยที่จะถ่ายทอดให้ภิกษุณีรุ่นต่อมาได้

ท่านธัมมนันทามีความชัดเจนในเป้าหมายในการสืบพระศาสนาของท่าน ท่านไม่ได้ออกบวชเพราะอยากจะเป็นภิกษุณีเฉพาะตนเพื่อให้คนกราบไหว้ แต่การออกบวชของท่านเป็นการปักหมุดแรก เพื่อยืนยันว่า ผู้หญิงสามารถที่จะออกบวชได้ตามพระพุทธานุญาต

ในความเป็นจริง น่าจะมีผู้หญิงไทยหลายคนที่คิดอยากจะออกบวชเป็นภิกษุณีอยู่ กลุ่มนี้ชัดเจนว่า ไม่พอใจกับสถานภาพของการเป็นแม่ชี ที่ต้องทำงานครัวบ้าง ขายดอกไม้หน้าพระวิหารบ้าง จึงแสวงหาทางเลือกอื่นอยู่ หลายคนรอการเปลี่ยนแปลงในสภาพอุบาสิกา หลายคนเป็นแม่ชี

ทันทีที่ท่านธัมมนันทาออกบวช ช่วงปีแรก (พ.ศ.2544) ผู้ที่สนับสนุน หรืออยากจะบวชเป็นภิกษุณีไม่ปรากฏตัวเลย เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง

ท่านธัมมนันทาก็อยู่ในฐานะเป็นเป้าที่ยืนในที่แจ้ง

เมื่อเวลาผ่านไป คนที่ไม่เห็นด้วย และออกแรงที่จะยับยั้งเริ่มหมดกระสุน หมดแรง ท่านธัมมนันทาท่านไม่สู้ หรือเรียกว่า สู้โดยไม่ต่อกรด้วย

ท่านธัมมนันทาท่านมั่นใจว่า หากมั่นคงในพระธรรมวินัย และตั้งจิตอยู่บนฐานของกุศล แรงต้านจะซาไปเอง เพราะแรงต้านนั้น ขาดข้อมูลที่ถูกต้อง แรงต้านที่มาจากความไม่พอใจส่วนตน อคติทางเพศ ฯลฯ ล้วนเป็นพลังเชิงลบ ในที่สุดจะบั่นทอนตัวเอง และเวลาก็เป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นจริงเช่นนั้น

แต่ท่านก็เข้าใจสถานการณ์ว่า สังคมไทยยังไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับภิกษุณีเลย จึงมีหน้าที่โดยตรงที่จะให้องค์ความรู้ ซึ่งปรากฏออกมาในรูปของการเขียน ออกหนังสือ ในการพูด เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ระมัดระวังที่สุดให้เป็นพลังกุศลเสมอ

ธัมโมหะเว รักขะติ ธัมมะจาริง

ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

 

เข้าปีที่สองเมื่อชัดเจนว่า ท่านธัมมนันทาก็ยังอยู่ดี ไม่มีตำรวจมาเชิญไปเข้าคุก ประมาณนั้น สตรีที่เคยตั้งความหวังว่าอยากจะบวชเป็นภิกษุณีก็เริ่มปรากฏตัวมากขึ้น ทั้งที่มาสมัครกับท่านธัมมนันทา และแสวงหาทางไปบวชโดยตรงที่ศรีลังกา

การขับเคลื่อนของภิกษุณีเริ่มขึ้นอย่างช้าๆ แต่เป็นจริง ปัจจุบันก้าวย่างมาได้ 18 ปี นับแต่ปีแรกที่ท่านธัมมนันทาออกบวช บัดนี้ มีภิกษุณีสงฆ์ ไม่น้อยกว่า 285 รูป กระจายกันอยู่ใน 42 จังหวัด ทุกภาคของประเทศไทย

แม้ยังไม่ได้รับสถานภาพอย่างเป็นทางการ แต่สังคมให้การสนับสนุนมาโดยตลอด ไม่น่าจะเกินความจริงที่จะกล่าวว่า ภิกษุณีสงฆ์มีความตั้งมั่นในสังคมไทยแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐ เพราะรัฐรอฟังคำตอบจากมหาเถรสมาคม

แต่กันยายน 2562 กรรมการมหาเถรสมาคมก็ยังไม่สามารถขับเคลื่อนประเด็นใดได้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะยังเป็นรักษาการอยู่ เพิ่งเป็นกรรมการตัวจริงหลังจากที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ในเดือนตุลาคม 2562

สถานการณ์ความคืบหน้าของภิกษุณีก็เหมือนกับหลายๆ โครงการที่เราเห็น คือ รอ

แต่ก็ไม่สิ้นหวัง เพราะคำสอนของพุทธศาสนาเองที่สอนเราว่า ทุกอย่างไม่เที่ยง การไม่ยอมรับภิกษุณี เป็นเพียงท่าทีที่ไม่มีธรรมวินัยรองรับ ก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน