แมลงวันในไร่ส้ม /ข่าวใหญ่ในสื่อ 62-63 จากเลือกตั้ง 24 มี.ค. และชะตากรรม ‘อนค.’

แมลงวันในไร่ส้ม

ข่าวใหญ่ในสื่อ 62-63

จากเลือกตั้ง 24 มี.ค.

และชะตากรรม ‘อนค.’

 

เป็นอีกปีของความผันผวนและเปลี่ยนผ่าน

นั่นคือ 2562 ปีที่เพิ่งผ่านไป

หลังจากรัฐประหาร 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และคำมั่นสัญญาว่า จะเลือกตั้ง แล้วเลื่อนออกไปครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาล คสช.ลากยาวมา 5 ปี กว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนในปี 2562

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 พรรคที่ชนะการเลือกตั้ง คือ เพื่อไทย ได้ ส.ส.เขตเข้ามา 135 เสียง ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อแม้แต่คนเดียว ด้วยบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ผลงานของคณะกรรมาธิการยกร่าง ที่นำโดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์

อันดับสอง คือพรรคพลังประชารัฐ อันเป็นพรรคที่มี คสช.เป็นผู้สนับสนุน ด้วยจำนวน ส.ส. 117 ที่นั่ง

อันดับสาม พรรคอนาคตใหม่ ได้ ส.ส. 81 คน โดยมี ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมาก จากป๊อปปูลาร์โหวตจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

อันดับสี่ พรรคประชาธิปัตย์ 53 ที่นั่ง พรรคเก่าแก่ที่อยู่ในช่วงยุ่งยาก เกิดการแย่งชิงการนำ โดยกลุ่ม กปปส.พยายามส่งผู้สมัครเข้ามาชิงหัวหน้าพรรค แต่กลุ่มอำนาจเดิมในพรรค ปชป. ใช้กึ๋นทางการเมืองที่เหนือกว่า รักษาพรรคเอาไว้ได้

อันดับห้า พรรคภูมิใจไทย 51 ที่นั่ง

พรรคพลังประชารัฐอ้างคะแนนป๊อปปูลาร์โหวตที่มากเป็นอันดับ 1 แม้จำนวน ส.ส.เป็นรอง จับขั้วกับ ปชป.และภูมิใจไทย จัดตั้งรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

เวลาผ่านไป 1 เดือนเศษ วันที่ 7 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.ประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ

5 มิถุนายน สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. 19 พรรค นับเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

วันที่ 9 มิถุนายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ โดยมีการเผยแพร่พระบรมราชโองการในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 11 มิถุนายน

การเจรจาจัดตั้งรัฐบาลใช้เวลาต่อรองยาวนาน หลังจากพรรค ปชป.เข้าร่วมรัฐบาลด้วยเงื่อนไขว่า รัฐบาลต้องสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

10 กรกฎาคม มีประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จากพรรคพลังประชารัฐ 18 คน พรรคประชาธิปัตย์ 7 คน ภูมิใจไทย 7 คน ชาติไทยพัฒนา 2 คน รวมพลังประชาชาติไทย 1 คน และชาติพัฒนา 1 คน

จำนวน ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้านใกล้เคียงกันมาก อย่างที่เรียกว่าเสียงปริ่มน้ำ ทำให้เกิดปรากฏการณ์ “งูเห่า” คือการดึงเอา ส.ส.ฝ่ายค้านมาช่วยลงมติให้กับฝ่ายรัฐบาล โดยมีการนัดพบปะระหว่างแกนนำรัฐบาลกับ ส.ส.ฝ่ายค้านเป็นระยะๆ โดยเฉพาะก่อนการประชุมวาระสำคัญๆ

ข่าวการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากระบบภายใต้ คสช. มาสู่ระบบที่มีรัฐบาลจากพรรคการเมือง ช่วยคืนความคึกคักให้กับวงการสื่ออีกครั้ง ทั้งสื่อเก่าอย่างหนังสือพิมพ์ และสื่อใหม่ได้แก่ เว็บไซต์ข่าว เพจข่าวต่างๆ

 

ข่าวการเมืองที่มีการนำเสนออย่างร้อนแรงต่อเนื่องตลอดปี 2562 ได้แก่ ข่าวเลือกตั้ง ข่าวการจัดตั้งรัฐบาล การกลับมาของ พล.อ.ประยุทธ์ การผนึกกำลังของฝ่ายค้านที่มีจำนวนเสียงไม่ทิ้งห่างจากรัฐบาลมากนัก และปัญหาทางการเมืองที่ติดตามมา

ได้แก่ ความไม่ลงตัวในพรรคพลังประชารัฐ ที่นำเอา ส.ส.จากกลุ่มต่างๆ มารวมตัวกัน ทำให้มีปัญหาการแบ่งบทบาท การจัดเก้าอี้รัฐมนตรี และปัญหาเอกภาพในพรรค

บทบาทของสภาที่เพิ่มมากขึ้น มีระบบการยื่นญัตติ กระทู้ถาม รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลจากพรรคฝ่ายค้าน การต้องเข้าร่วมการประชุมสภา การชี้แจงต่อสภา การถูกกรรมาธิการเชิญไปชี้แจง ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์เกิดความยุ่งยากในการปรับตัว

ฝ่ายค้านใช้กลไกสภาอย่างได้ผล โดยเฉพาะการใช้กรรมาธิการสามัญชุดต่างๆ ในการตรวจสอบ ซักถามการทำงาน การตัดสินใจการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล

สมัยประชุมสามัญแรกผ่านไป ท่ามกลางความตื่นเต้นของสังคม ที่ไม่มีสภาเลือกตั้งถึง 5 ปี สมัยประชุมสามัญที่สอง เริ่มต้นเมื่อ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ฝ่ายค้านเสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการใช้อำนาจของ คสช. และการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้า คสช.

ซึ่งหากสภาอนุมัติ ก็เท่ากับการตรวจสอบ คสช.ย้อนหลัง และบุคคลสำคัญที่จะต้องอธิบายมากที่สุด คือ พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น แนวคิดของรัฐบาลจึงชัดเจนว่าไม่ยอมรับญัตตินี้

ข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้น คือ การปะทะในสภา ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล การโหวตครั้งแรก ส.ส.รัฐบาลไม่อยู่ในห้องประชุม ทำให้รัฐบาลแพ้ไป ต้องขอนับคะแนนใหม่

สุดท้ายรัฐบาลเอาชนะจนได้ ทั้งในการสร้างองค์ประชุม แม้ว่าฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ และในการลงมติ ด้วยการช่วยเหลือของ “งูเห่า” จากพรรคต่างๆ โดยเฉพาะอนาคตใหม่ และเพื่อไทย

พรรคอนาคตใหม่มีมติเมื่อ 16 ธันวาคม ขับ น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี, พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี, น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ และนายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พ้นพรรค แต่รัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ 4 ส.ส.หาพรรคสังกัดใหม่ใน 30 วัน

โดยมีพรรคการเมืองในสายของรัฐบาลอ้าแขนรับเข้าสังกัด รอดพ้นจากการสิ้นสมาชิกภาพ ส.ส.ไป

ยังเหลือแต่พรรคเพื่อไทย ที่อยู่ระหว่างการตั้งกรรมการสอบ นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี และนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ส.ส.กทม. ซึ่งไม่ได้วอล์กเอาต์จากที่ประชุมตามแนวทางของพรรค

 

ข่าวการเมืองสำคัญอีกข่าวในปี 2562 ได้แก่ การแจ้งเกิดของพรรคอนาคตใหม่

กลุ่มอำนาจมัวแต่ระวังหวั่นกลัวการกลับมาของพรรคเพื่อไทย จึงตกใจ เมื่อพบว่ามีอีกพรรคการเมืองเป็นม้ามืดวิ่งเข้าป้าย

พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครครบ 250 เขต และเกิดการยุบพรรคไทยรักษาชาติ อันเป็นพรรคในเครือข่ายเดียวกัน ทำให้คะแนนเสียงส่วนหนึ่งเคว้งคว้างไม่รู้จะลงคะแนนให้พรรคไหน

และเทคะแนนให้กับพรรคอนาคตใหม่ จนมีคะแนนเสียงรวมมากถึง 7 ล้านเสียง ไม่ห่างจากพรรคระดับหัวแถวมากนัก

อนาคตใหม่มี ส.ส. 81 คน ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ เป็นดุลสำคัญของการเมือง ที่สำคัญคือการเสนอนโยบายที่โดนใจคนรุ่นใหม่ ไม่ว่าการเลิกเกณฑ์ทหาร ปฏิรูปกองทัพ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และหาหนทางตรวจสอบการใช้อำนาจของทหารและ คสช.

ก่อนสิ้นปี 2562 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้น ส.ส. เนื่องจากถือหุ้นสื่อ และมีคดีร้องเรียนพรรคอนาคตใหม่ว่ากระทำความผิดถึงขั้นยุบพรรค เฉพาะหน้านี้อย่างน้อย 2 คดี

คดีแรก ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำพิพากษา วันที่ 21 มกราคม 2563 ส่วนคดีเงินกู้ 191 ล้านบาท ที่พรรคอนาคตใหม่กู้จากนายธนาธร เพื่อใช้จ่ายเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณา โดยให้ชี้แจงภายใน 15 วัน

น่าสนใจว่าในปี 2563 อะไรจะเกิดขึ้นกับพรรคอนาคตใหม่ และการเมือง 2563 ที่ต่อเนื่องจากสถานการณ์ในปี 2562 จะร้อนระอุขนาดไหน

สวัสดีปีใหม่ 2563