วางบิล | เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ : ขวากหนาม 66 ปี ยกเลิก ‘พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484’

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

ขวากหนาม 66 ปี

ยกเลิก ‘พระราชบัญญัติการพิมพ์ 2484’

 

มานิจ สุขสมจิตต์ บันทึกต่อมาว่า ช่วงที่ชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2540 ฝ่ายหนังสือพิมพ์และฝ่ายรัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงมีการประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลโดย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นิพนธ์ บุญญภัทโร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และข้าราชการกระทรวงมหาดไทยกับตำรวจจำนวนหนึ่ง ฝ่ายหนังสือพิมพ์มี มานิจ สุขสมจิตต์ พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร บัญญัติ ทัศนียะเวช กับคณะ

ได้ข้อยุติในการประชุม 2 ครั้งมีว่า ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 โดยสิ้นเชิง เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

แต่ก่อนที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะถูกส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตรวจแก้ตามกระบวนการการตรากฎหมายไว้นี้ ได้มีคำขอมาจากฝ่ายรัฐบาลว่า แทนที่จะยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีข้อความเพียงไม่กี่มาตรา ฝ่ายรัฐบาลอยากขอให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีบทบาทในการจดทะเบียนหนังสือพิมพ์ว่า หนังสือพิมพ์ที่จะออกชื่ออะไร ใครเป็นเจ้าของ บรรณาธิการ และผู้พิมพ์ผู้โฆษณาบ้าง ซึ่งฝ่ายหนังสือพิมพ์ไม่ขัดข้อง

เมื่อได้รับยืนยันว่า การ “จดแจ้ง” มิใช่การขออนุญาต และเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะให้ใครออกหรือไม่ออกหนังสือพิมพ์

ฉะนั้น ร่างกฎหมายนี้จึงเรียกว่า “พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. …”

 

เมื่อร่างกฎหมายได้ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วก็สงบนิ่งอยู่ที่นั่นจนกระทั่งรัฐบาลชวน หลีกภัย ต้องพ้นไปตามวิถีการเมือง

ระหว่างนี้ ฝ่ายหนังสือพิมพ์ประกอบด้วย มานิจ สุขสมจิตต์ วิภา สุขกิจ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ กับคณะ ยังคงเดินหน้าเพื่อให้มีการยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ต่อไป ได้ขอเข้าพบบรรหาร ศิลปอาชา ที่บ้านพักถนนจรัญสนิทวงศ์อย่างไม่เป็นทางการค่ำวันหนึ่ง

เหตุผลของฝ่ายหนังสือพิมพ์คือ พระราชบัญญัติฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้รับเลือกตั้งในสมัยบรรหาร ศิลปอาชา จัดให้มีขึ้น เป็นที่ยอมรับว่าคือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และเพื่อให้เกิดเสรีภาพกับหนังสือพิมพ์อย่างแท้จริง ซึ่งนายกรัฐมนตรียอมรับฟังเหตุผลและมีท่าทีจะให้ยกเลิก

ต่อเมื่อมีการยุบสภาจากนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชา จัดให้เลือกตั้งใหม่ นายกรัฐมนตรีคนต่อมา และต่อมา ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าพนักงานการพิมพ์สำหรับกรุงเทพมหานครได้ใช้อำนาจตักเตือนหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540

ขณะที่ทักษิณ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันที่ 19 กันยายน 2549 มีคำสั่งให้หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้น จึงถือว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เคยดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี

ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.สนธิเปลี่ยนตำแหน่งจากหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ ไปเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคง

หลังเกษียณ เมื่อ พ.ศ.2550 ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์

ฝ่ายหนังสือพิมพ์ โดยภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขณะนั้น มีโอกาสอธิบายความให้นายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ฟัง ซึ่งได้รับการตอบสนองด้วยดี

นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นคณะหนึ่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 มีวัฒนา รัตนวิจิตร เป็นประธาน ให้ทำหน้าที่ยกร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484

กรรมการประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล และนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ผู้แทนหนังสือพิมพ์ได้รับแต่งตั้ง 4 คน คือ มานิจ สุขสมจิตต์ สุวัฒน์ ทองธนากุล ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ และชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี

 

ปรากฏว่ากรรมการคณะนี้มีท่าทีจะนำเอาข้อความในหลายมาตรากลับมาบรรจุในร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ที่ได้ร่างขึ้นใหม่ เมื่อร่างไปถึงมาตรา 46 กรรมการฝ่ายหนังสือพิมพ์จึงได้ปรึกษาหารือกันที่สมาคม เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2550

ที่ประชุมมีมติให้กรรมการถอนตัวออกมาพร้อมกับออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนและเรียนให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ

พร้อมกันนั้น ผู้อยู่ในวงการหนังสือพิมพ์จำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยบัญญัติ ทัศนียะเวช เป็นผู้นำ ได้นำร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. … ที่ค้างการพิจารณาสมัยชวน หลีกภัย มาเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากนั้นจึงขอเจรจากับรัฐบาล โดยไปพบนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า

ผลการพบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ได้ให้เจ้าหน้าที่ต่อโทรศัพท์ถึงรองศาสตราจารย์ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ และรองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ให้คัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. … ที่ฝ่ายหนังสือพิมพ์นำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติไม่นำเอาร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. … ที่ฝ่ายหนังสือพิมพ์ขอถอนตัวจากการยกร่างฯ) เข้าไปประกบในการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติวันนั้นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้รับหลักการร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. … ที่ฝ่ายหนังสือพิมพ์เสนอ และให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณาจำนวน 17 คน

คณะกรรมาธิการประชุม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ครั้งสุดท้ายคือ ครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2550

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาการประชุมครั้งที่ 47/2550 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ร่างพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. … ฉบับนี้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้