เกษียร เตชะพีระ | คำอธิบายของตัวแทนรัฐ: ประชาชน, เรา, และศัตรู (1)

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน : “ชีวิตผมหายไปนาน แต่เพื่อความกระจ่าง ผมขอคำถามเดียว ใครเป็นคนสั่งขังผมครับ”

พ.อ.พิทักษ์พล ชูศรี หรือ เสธ.พีท : “ศาลครับ”

รายงานข่าวของบีบีซีไทยเกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่เป็นประธาน ในวาระพิจารณากรณีการดำเนินคดีของรัฐต่อประชาชนผู้เห็นต่างทางการเมือง เมื่อเช้าวันที่ 27 พฤศจิกายนศกนี้ (www.bbc.com/thai/thailand-50573578) เปิดฉากด้วยคำถาม-ตอบดุเดือดแหลมคมระหว่าง…

ไผ่ ดาวดิน เลขานุการประจำ กมธ.กฎหมายฯ และอดีตผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ นาน 2 ปี 6 เดือน จากกรณีแชร์บทความพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ของบีบีซีไทย ทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนได้รับพระราชทานอภัยโทษเมื่อ 11 พฤษภาคมศกนี้ กับ

เสธ.พีท ผบ.กรมทหารพรานที่ 22 อดีต หน.ฝ่ายข่าวกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดขอนแก่น ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษไผ่ ดาวดิน

จะว่าไปคำตอบของ เสธ.พีทก็ไม่ผิด ทว่าออกจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ คำตอบที่ครบถ้วนกระบวนความตามบริบทที่เป็นจริงควรเป็นว่าผู้สั่งขังไผ่ได้แก่ ศาลทหาร ซึ่งได้รับมอบอำนาจจาก คสช. ในสภาวะยกเว้น (the state of exception) เป็นการพิเศษหลังรัฐประหาร ให้พิจารณาพิพากษาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2557

(www.isranews.org/isranews-news/29756-korsorchor_08_02.html)

การประชุม กมธ.กฎหมายฯ ของสภาผู้แทนราษฎร วาระนี้จึงสำคัญยิ่งในทางประวัติศาสตร์ในทรรศนะของผม เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการใช้เวทีสภาตรวจสอบย้อนหลัง (หรือ “เช็กบิล”) การละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เห็นต่างโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเผด็จการ

ในสภาพที่แต่ไหนแต่ไรมา เหล่าสถาบันการเมืองการปกครองของสังคมไทยมักให้แต่บริการทางริมฝีปาก (lip service) แก่ประเด็นสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชนผู้เห็นต่างเสมอ หรือไม่ก็ปัดไปเป็นประเด็นห้อยท้ายข้างหลังที่ด้อยความสำคัญกว่าประเด็นความมั่นคงแห่งชาติหรือการพัฒนาเศรษฐกิจ ฯลฯ

นอกจากนี้ มันยังเป็นวาระโอกาสให้เราได้ยินได้ฟังเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเผด็จการแสดง “ภาระความรับผิด” (accountability ตามคำแปลศัพท์บัญญัตินิติศาสตร์ของราชบัณฑิตยสถาน) หรือที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เลือกแปลว่า “อธิบาย” (account for = to be the explanation or cause of something; to give an explanation of something) การใช้อำนาจหน้าที่ของตน ว่าอะไรคือฐานคิด หลักการ เหตุผลหรือเหตุปัจจัยในการที่ตนใช้อำนาจหน้าที่ไปเช่นนั้นต่อประชาชนผู้เห็นต่าง?

น่าสนใจที่จะสังเกตว่านอกจาก “ผู้แทนราษฎร” และเจ้าหน้าที่สังกัดคณะกรรมาธิการกฎหมายฯ ของสภาแล้ว รายงานข่าวของบีบีซีไทยระบุเรียกถึงใครอื่นบ้าง? อย่างไร? ที่มา “เผชิญหน้าและถูกซักฟอก” กันในที่ประชุม

ฝ่ายหนึ่งได้แก่ “ตัวแทนนักกิจกรรมการเมืองและประชาชน (ผู้) เข้าร้องเรียน 10 ราย” ซึ่งต่างก็เป็น “ผู้ต้องหา-จำเลย-อดีตผู้ต้องขัง” ด้วย

ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ “ตัวแทนรัฐ”, “ผู้แจ้งความ” และ “ตัวแทน คสช.”

ในสภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้รับการยืนยันด้วยมติเอกฉันท์ของผู้ตรวจการแผ่นดินก่อนเลือกตั้งต้นปีนี้ว่าเป็น “รัฏฐาธิปัตย์” (sovereign, www.komchadluek.net/news/politic/365565 ) ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

จึงไม่น่าเกินเลยไปที่จะสรุปว่านี่เป็นการ “เผชิญหน้าและถูกซักฟอก” ระหว่างตัวแทนเหยื่อผู้ถูกดำเนินคดี กับตัวแทนรัฏฐาธิปัตย์นั่นเอง

ก็แล้วตัวแทนรัฏฐาธิปัตย์เข้าใจสัมพันธภาพทางการเมืองที่เป็นบริบทของการดำเนินคดีหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557 ของ คสช.เช่นใด? พวกเขาแบ่งแยกกลุ่มฝ่ายผู้คนเพื่อเลือกเป้าผู้ถูกแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างไร?

ต่อประเด็นนี้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ ผอ.สำนักงานพระธรรมนูญทหารบกและผู้ชำนาญการสำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า อดีตฝ่ายกฎหมาย คสช. ผู้รับผิดชอบคดีการเมือง อธิบายว่า :

เวลาพูดถึงฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ส่วนตัวไม่เคยมองประชาชนเป็นศัตรู แต่มองเป็นพลเมือง เป็นพี่น้องประชาชนคนไทยด้วยกัน

“เราไม่มีการผลักประชาชนให้เป็นศัตรูกับเรา ไม่มีประเทศไหน รัฐไหน หรือทหารที่ไหนผลักประชาชนเป็นศัตรู กองทัพต้องอยู่กับประชาชนอยู่แล้ว”

เมื่อไผ่ ดาวดิน ยกข้อมูลจำนวนประชาชนหลายร้อยคนผู้ถูกเรียกไปปรับทัศนคติบ้าง ถูกข่มขู่และติดตามตัวบ้าง และกล่าวหาว่าถูกซ้อมทรมานบ้างมาอ้างอิง (ดูแผนภูมิประกอบของบีบีซีไทยจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

พล.ต.บุรินทร์ก็อธิบายตอบเพิ่มเติมว่า :

“ผมไม่รู้รายละเอียดแต่ละข้อเท็จจริง ถ้าท่านเปรียบเทียบอย่างนี้ ทีตำรวจจับคนไปในเรือนจำเป็นหมื่นๆ ทำเพื่อประชาชนไหม ต้องแยกผู้กระทำผิดกับประชาชน ส่วนไหนที่เป็นพลเมืองปกติ เราก็ดูแลตามปกติไม่ว่าน้ำท่วมภัยแล้ง จะไปบอกว่าส่วนแค่นี้กับประชาชน 70 ล้านคน ไม่ใช่แล้ว ถ้าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย ผมเชื่อมั่น 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครไปยุ่งกับท่าน”

เมื่อประมวลจากคำกล่าวทั้งสองตอนของ พล.ต.บุรินทร์ ในฐานะตัวแทนรัฏฐาธิปัตย์ ก็จะพบว่ามีการแบ่งแยกกลุ่มฝ่ายต่างๆ ออกเป็น 3 ฝ่าย กล่าวคือ :-

ซึ่งละม้ายคล้ายคลึงกับทรรศนะต่อความสัมพันธ์ทางการเมืองการปกครองระหว่างกลุ่มฝ่ายต่างๆ ในสังคมไทยสมัยรัฐบาลเผด็จการทหารจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (หัวหน้าคณะปฏิวัติและนายกรัฐมนตรี พ.ศ.2501-2506) ดังแผนภูมิด้านล่าง (จากคำอธิบายใน ทักษ์ เฉลิมเตียรณ, การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ, 2526) :

โดยสัมพันธภาพทางการเมืองระหว่าง 3 ฝ่ายข้างต้นตามคำอธิบายของ พล.ต.บุรินทร์ เป็นเช่นนี้คือ :

“เรา” (ประเทศชาติ, รัฐ, ทหาร, กองทัพ) อยู่กับ “ประชาชน” (พลเมืองปกติ, พี่น้องประชาชนคนไทย) ด้วยกัน

ส่วน “ผู้กระทำผิดกฎหมาย” ถูกแบ่งแยกออกจาก “ประชาชน” (พลเมืองปกติ, พี่น้องประชาชนคนไทย) พวกเขาไม่ใช่และไม่ได้ถูกยอมรับนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของ “ประชาชน” (พลเมืองปกติ, พี่น้องประชาชนคนไทย) 70 ล้านคน

เพียงแต่ว่า “ผู้กระทำผิดกฎหมาย” ดังกล่าวเหล่านี้จะพลอยถูกผลักให้เป็น “ศัตรู” กับ “เรา” ด้วยหรือไม่? พล.ต.บุรินทร์ไม่ได้ระบุชัดไว้ในที่ประชุม

หรือพูดอีกอย่างก็คือ ตัวแทนรัฏฐาธิปัตย์อธิบายว่าที่แจ้งความฟ้องร้องบรรดาเหยื่อผู้ถูกดำเนินคดี ก็เพราะพวกเขาเหล่านั้นเป็น “ผู้กระทำผิดกฎหมาย” นั่นเอง

ประเด็นปัญหาในเรื่องนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ กล่าวคือ :

1) กฎหมายที่ พล.ต.บุรินทร์กล่าวถึงมีปัญหาความชอบธรรมตามหลักเสรีประชาธิปไตย เพราะเป็นกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่ได้บัญญัติออกมาโดยตัวประชาชนเอง หรือสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งโดยชอบของประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎหมายดังกล่าวตามกระบวนการประชาธิปไตย หากเป็นกฎหมายผิดปกติธรรมดาที่ออกโดยอำนาจเผด็จการอาญาสิทธิ์ของ คสช. ผู้เข้ายึดและควบคุมอำนาจรัฐไว้ด้วยการรัฐประหาร (ดูข้อถกเถียงเพิ่มเติมใน เกษียร เตชะพีระ, “4 ด่านวาทกรรมสิทธิมนุษยชนไทย”, ระหว่างปริศนาและศรัทธา : ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ กับการเมืองมนุษย์ในศตวรรษที่ 21, 2562, โดยเฉพาะ น.266-272)

2) บรรดามาตรการที่ “เรา” กระทำต่อ “ผู้กระทำผิดกฎหมาย” นั้นมิได้จำกัดเฉพาะการแจ้งความฟ้องร้องดำเนินคดีธรรมดาเท่านั้น หากรวมถึงการแจ้งความซ้ำๆ ควบคู่ไปกับปฏิบัติการข่าวสาร (information operation หรือ IO) ในลักษณะที่ผลักให้เป็น “ศัตรู” กับ “เรา” ด้วย ดังปรากฏหลักฐานในเอกสารที่ฝ่ายอัยการโจทก์ยื่นประกอบการพิจารณาของศาลอาญาในสำนวนคดีแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 (คดี RDN50 หมาย จ.14 ชื่อ “ข้อพิจารณากรณีกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้าน คสช. ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2561”) ซึ่งมีข้อความเกี่ยวข้องบางตอนว่า :

“หากครั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการแจ้งความซ้ำ และจะแจ้งความซ้ำทุกครั้งที่กลุ่มต่อต้าน คสช. ออกมาเคลื่อนไหว ก็อาจจะส่งผลให้แกนนำกลุ่มฯเกิดความกดดัน และเป็นการจำกัดเสรีในการปฏิบัติของฝ่ายต่อต้าน คสช. …”

“ทั้งนี้ การส่งฟ้องดำเนินคดีต่อแกนนำฯ ฝ่ายรัฐควรกระทำควบคู่ไปกับการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มุ่งส่งเนื้อหาต่อประชาชนเพื่อให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมิใช่การเคลื่อนไหวของพลังบริสุทธิ์ที่มีเพียงนักศึกษานักวิชาการ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีแกนนำมวลชนเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อน เพื่อเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างความแตกแยกในสังคม เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง รัฐบาลจึงจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อให้เกิดบรรยากาศเกื้อกูลต่อการเลือกตั้งตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้”

(ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, “เปิดเอกสาร “พล.ต.บุรินทร์” นำส่งคดี RDN50 : แจ้งความซ้ำๆ คู่ใช้ IO เพื่อจำกัดเสรีฝ่ายต้าน คสช.”

เปิดเอกสาร ‘พล.ต.บุรินทร์’ นำส่งคดี RDN50: แจ้งความซ้ำๆ คู่ใช้ IO เพื่อจำกัดเสรีฝ่ายต้าน คสช.

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)