เรื่องกล้วยๆที่ไม่กล้วยในโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อไม่นานมานี้ คนในวงการศิลปะทั่วโลกต่างก็ฮือฮาไปกับผลงานศิลปะที่ทำขึ้นจากกล้วยหอมธรรมดาๆ ติดเทปกาวบนผนัง ในเทศกาลค้างานศิลปะ อาร์ต บาเซิล ณ ชายหาดไมอามี่ ของศิลปินจอมป่วนแห่งโลกศิลปะ เมาริซิโอ คัตเตลาน ที่ถูกขายไปในราคาแพงหูฉี่ถึง 120,000 เหรียญสหรัฐ หรือราวสามล้านกว่าบาท

เมาริสซิโอคัตเตลาน: Comedian (2019), ภาพถ่ายโดย Zeno ZottiJacopo Zotti
ภาพจากhttps://bit.ly/2PncoL

ไม่เพียงคนในวงการศิลปะเท่านั้น ชาวบ้านร้านตลาดและคนทั่วๆ ไปอย่างเราๆ ท่านๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นและขบขันไปกับความตลกโปกฮา และราคาอันเว่อร์วังอลังการของผลงานชิ้นนี้กันถ้วนหน้า

จนเรื่องกล้วยศิลปะกลายเป็นไวรัลไปทั่วโลกออนไลน์

อันที่จริงคัตเตลานไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่หยิบเอาผลไม้ยอดนิยมชนิดนี้มาทำงานศิลปะ

ในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะสมัยใหม่ ผลไม้อย่าง “กล้วย” ถูกหยิบมาเป็นองค์ประกอบและหัวข้อในการทำงานศิลปะอยู่บ่อยครั้ง

อาทิ ในผลงาน The Meal (The Bananas) (1891) ของศิลปินโพสต์-อิมเพรสชั่นนิสต์ชาวฝรั่งเศสอย่างพอล โกแกง (Paul Gauguin) ที่วาดภาพกล้วยขนาดใหญ่บนโต๊ะอาหารของชาวตาฮิติ, ในช่วงเวลานั้น โกแกงเพิ่งเดินทางไปถึงเกาะตาฮิติ และดูจะตื่นตาตื่นใจกับผลหมากรากไม้บนเกาะที่ชาวยุโรปอย่างเขาไม่คุ้นเคย

พอลโกแกง: The Meal (The Bananas) (1891), ภาพจากhttps://bit.ly/36BGAIv

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกล้วยสีน้ำตาลอมเหลืองขนาดมหึมาดังที่เห็นในภาพนี้ โกแกงแสดงออกถึงวัฒนธรรมการกินอยู่และความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของชนพื้นเมืองออกมาทางภาพนี้ได้อย่างอ่อนโยน

หรือผลงาน The Uncertainty of the Poet (1913) ของศิลปินผู้ริเริ่มกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวอภิปรัชญา (Metaphysical Art) อย่างจอร์โจ ดี คีรีโก (Giorgio de Chirico) ที่วาดขึ้นในช่วงเวลาที่กล้วยกลายเป็นผลไม้ที่แพร่หลายในยุโรปแล้ว

จอร์โจดีคีรีโก: The Uncertainty of the Poet (1913), ภาพจากhttps://bit.ly/2M1JAGm

แต่แทนที่จะเป็นกล้วยอวบแน่นเต่งตึงอยู่ในหวีเหมือนกล้วยของโกแกง กล้วยของดี คีรีโก กลับเป็นกล้วยที่มีรอยช้ำกะดำกะด่าง หลุดออกจากหวี กระจัดกระจายอยู่บนพื้น

ยิ่งเมื่อวางเคียงข้างกับรูปปั้นสตรีเปลือยไร้แขนขาและศีรษะในจัตุรัสอันเวิ้งว้างเงียบงัน ก็ดูเป็นเหมือนสัญลักษณ์ที่ขับเน้นให้เห็นถึงความห่อเหี่ยวตายด้านของบุรุษเพศก็ปาน

นอกจากจะเป็นอาหารแล้ว กล้วยยังเป็นสัญลักษณ์ทางเพศอันโดดเด่นชัดเจน ด้วยรูปทรงของมันที่ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันดีว่าดูเหมือนอะไร

ดังเช่นในผลงานของเจ้าพ่อป๊อปอาร์ต แอนดี้ วอร์ฮอล บนปกอัลบั้มชุดแรกของวงดนตรีร็อกอเมริกัน The Velvet Underground อย่าง The Velvet Underground & Nico (1967) ที่เขาออกแบบเป็นรูปกล้วยสีเหลืองอันเรียบง่ายบนปกแผ่นเสียงสีขาวสะอาดตา

แอนดี้วอร์ฮอล: ปกอัลบั้ม The Velvet Underground & Nico (1967), ภาพจากhttps://bit.ly/2PNstcd
แอนดี้วอร์ฮอล: ปกอัลบั้ม The Velvet Underground & Nico (1967), ภาพจากhttps://bit.ly/2PNstcd

แต่สิ่งที่พิเศษก็คือ รูปกล้วยที่ว่านี้แท้จริงแล้วเป็นสติ๊กเกอร์ที่สามารถลอกออกได้ เมื่อแฟนเพลงซื้อแผ่นเสียงไปแล้วลอกสติ๊กเกอร์รูปกล้วยสีเหลืองออก ก็จะพบเนื้อกล้วยสีชมพูสดใสอยู่ข้างใต้ (เหมือนอะไรให้ทาย?)

แต่น่าเสียดายที่แผ่นเสียงรุ่นนี้ถูกผลิตออกมาไม่นานก็เลิกทำไปด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงมาก

การแฝงนัยยะทางเพศอย่างโจ่งแจ้งบนปกอัลบั้มของวอร์ฮอลนี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ The Velvet Underground ได้รับความสนใจอย่างมากจากสาธารณชน

ถึงแม้อัลบั้มจะไม่ประสบความสำเร็จทางยอดขายในช่วงเวลานั้น

แต่ในเวลาต่อมามันก็กลายเป็นอัลบั้มระดับตำนาน และติดอันดับ 13 อัลบั้มที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลโดยนิตยสารโรลลิ่งสโตน

ถึงแม้ในภายหลังวอร์ฮอลจะตัดสัมพันธ์กับวง The Velvet Underground แต่เขาก็ยังคงทำงานศิลปะเกี่ยวกับกล้วยอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาพวาด ภาพถ่าย ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน สิ่งพิมพ์ ไปจนถึงวอลล์เปเปอร์

นอกจากรูปทรงที่แฝงนัยยะทางเพศแล้ว กล้วยยังเป็นสิ่งของธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้รอบๆ ตัวทั่วไป และเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่แพร่หลายในชีวิตประจำวันของคนอเมริกัน ซึ่งแสดงออกถึงวัฒนธรรมบริโภคนิยม อันเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นในผลงานของวอร์ฮอลตลอดมา

นอกจากศิลปินเพศชายแล้ว ศิลปินเพศหญิงเองก็หยิบเอากล้วยมาเป็นหัวข้อในการทำงานศิลปะกันอย่างเอิกเกริกเช่นเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Eating a Banana (1990) ของซาราห์ ลูคัส (Sarah Lucas) ศิลปินหญิงสุดแสบแห่งกลุ่ม YBAs หรือ Young British Artists ที่เป็นภาพถ่ายตัวเธอเองกำลังกินกล้วยอยู่ ผลงานชิ้นนี้ของลูคัสเล่นกับเส้นแบ่งระหว่างบทบาททางเพศระหว่างความเป็นชายและหญิง รวมถึงจงใจสร้างความขบขันเชิงเสียดสีทางเพศอย่างโจ่งแจ้ง

ซาราห์ลูคัส: Eating a Banana (1990), ภาพจากhttps://bit.ly/34oOS4T, https://bit.ly/34r4F36,

หรือผลงาน Consumer Art (1972-1975) ของศิลปินหญิงชาวโปแลนด์ นาตาเลีย แอลแอล (Natalia LL) ผลงานภาพถ่ายและภาพยนตร์ที่นำเสนอประเด็นทางเพศอย่างจะแจ้ง ด้วยการนำเสนอภาพหญิงสาวเซ็กซี่กำลังดูดเลียกล้วย (ไส้กรอก, ไอศกรีม ฯลฯ) อย่างเอร็ดอร่อยและอีโรติก

นาตาเลียแอลแอล: Consumer Art (1972–75), ภาพจากhttps://bit.ly/35vxCfK, ดูวิดีโอผลงานได้ที่นี่https://bit.ly/36K3sWp

ผลงานชุดนี้นอกจากจะวิพากษ์วิจารณ์สังคมบริโภคนิยมแล้ว ยังเยาะเย้ยความน่าขันของระบอบคอมมิวนิสต์ในโปแลนด์ยุค 1970s ที่คร่ำครึ ขาดไร้เสรีภาพ อีกทั้งยังตกอยู่ในสภาวะยากจนข้นแค้น แม้แต่กล้วยหรือไส้กรอกก็ยังเป็นอาหารที่หาได้ยาก เนื่องจากความขัดสน

ล่าสุดผลงานชุดนี้ของเธอก็เพิ่งถูกถอดออกจากการแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติโปแลนด์ เนื่องจากผู้บริหารคนใหม่ของพิพิธภัณฑ์เห็นว่ามันเป็นผลงานที่ลามกจกเปรต และเป็นอันตรายต่อเยาวชน

ส่งผลให้เหล่าศิลปิน นักการเมือง นักข่าว รวมถึงประชาชนทั่วไปในโปแลนด์ที่ได้ข่าว ต่างก็ออกมาแสดงการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการกินกล้วย (และผลไม้อื่นๆ) โชว์กันถ้วนหน้าทั้งโลกออนไลน์

และไปรวมตัวกันกินกล้วยกันที่หน้าพิพิธภัณฑ์ นับพันคน

กลุ่มศิลปินเฟมินิสต์อย่าง Guerrilla Girls เองก็ใช้กล้วยเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงความไม่เท่าเทียมทางเพศและระบบชายเป็นใหญ่ในโลกศิลปะมาหลายทศวรรษแล้ว

ดังเช่นในผลงาน Women Artists In The Andy Warhol And Tremaine Auctions At Sotheby”s (1989) ที่มีประโยคคำถามว่า “มีผลงานของศิลปินหญิงกี่คนที่ถูกประมูลในการประมูลศิลปะร่วมสมัยสำคัญๆ ของซัตเทบีส์?” และมีรูปกล้วยสองอันวางประกบคู่กันเป็นเลข “ศูนย์” เป็นคำตอบอยู่ด้านล่าง

Guerrilla Girls: Women Artists In The Andy Warhol And Tremaine Auctions At Sotheby’s (1989), ภาพจากhttps://bit.ly/2rEi0YN
Guerrilla Girls: $120,001.00 2019, ภาพจากhttps://bit.ly/2RXf5V

ล่าสุดหลังจากข่าวเรื่องกล้วยราคา 120,000 เหรียญของคัตเตลานแพร่สะพัดในโลกศิลปะ เธอก็ทำผลงานศิลปะออกมาตอบโต้เหมือนเป็นเพลงแก้ ด้วยการเอากล้วยสีเขียวที่ยังไม่สุก แปะเทปกาวบนผนัง โดยมีข้อความเขียนข้างใต้ว่า

“น่าขำที่ผู้ชายมักคิดว่าตัวเองเป็นคนคิดมุขตลกกล้วยๆ” ลงชื่อ Guerilla Girls Broadband ออกเผยแพร่ในอินสตาแกรมและเว็บไซต์ส่วนตัวของกลุ่ม โดยตั้งชื่อและราคาขายเป็นจำนวน 120,001 เหรียญ ราคาแพงกว่ากล้วยของคัตเตลานแค่ 1 ดอลลาร์ พร้อมคำบรรยายว่า

“มาพร้อมใบรับรองความเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้และสมบูรณ์แบบของเฟมินิสต์”

และ “คำเตือน ผลงานชิ้นนี้เน่าเสียง่าย เช่นเดียวกับความเป็นเฟมินิสต์ของมัน ถ้าผู้คนเพิกเฉยต่อประวัติศาสร์และความสำคัญทางสังคมของกล้วย (ในฐานะอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ส่งผลกระทบต่อการกดขี่แรงงานบนโลก)”

เรียกว่าเป็นการเสียดสีกล้วยศิลปะราคาแพงหูฉี่ได้อย่างแสบสันจริงๆ อะไรจริง!

ข้อมูลhttps://bit.ly/2PpOdvS, https://bit.ly/34r4F36, https://bit.ly/35tIPN